คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Faculty of International Maritime Studies,
Kasetsart University
ตราพระพิรุณทรงนาค
ตราประจำคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ
ชื่อย่อพณว./IMS.
สถาปนาวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2549
(16 ปี 104 วัน)
คณบดีผศ.ดร.ศรินยา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ที่อยู่
199 หมู่ 6 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20230
สี███ สีน้ำเงินดำ [1]
เว็บไซต์www.ims.src.ku.ac.th, fb.com/KUIMS.Sriracha

คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Faculty of International Maritime Studies, Kasetsart University) เป็นหน่วยงานระดับคณะที่เปิดทำการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนองความต้องการและแก้ปัญหาเกี่ยวกับการพาณิชยนาวีทั้งระบบและเพื่อรองรับนโยบายเพิ่มเติมศักยภาพทางสมุทานุภาพ และการพาณิชยนาวีของประเทศ รวมทั้งผลิตบุคลากรทางการพาณิชยนาวีเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งความต้องการบุคลากรมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอัตราการขยายตัวของการค้าทางทะเล โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ใช้ชื่อแรกเริ่มว่า “สถาบันพาณิชยนาวีนานาชาติ” ต่อมาเป็น “วิทยาลัยพาณิชยนาวีนานาชาติ” และสภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ”

ประวัติ[แก้]

พุทธศักราช 2498 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับอนุญาตการใช้พื้นที่บริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์เชิงเขาน้ำซับจากกระทรวงมหาดไทย ลงนามโดยจอมพลผิน ชุณหวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงในขณะนั้น ตั้งเป็นสถานีวิจัยศรีราชาเพื่อใช้พื้นที่วิจัยและฝึกงานของนิสิตคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภายหลังที่รัฐบาลได้จัดทำแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยมีเป้าหมายให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหลัก เขตพาณิชยกรรม และการค้า เขตส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว เขตพัฒนาเมืองและชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมทางวิชาการ จึงได้ปรับ เปลี่ยนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่เดิมเป็นสถานีวิจัยและฝึกงานให้เป็นที่ตั้งของวิทยาเขตแห่งใหม่เพื่อเป็นสถานศึกษาทำการผลิต และพัฒนากำลังคนระดับสูง ตอบสนองแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดเตรียมการจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ในแนวคิดการจัดการศึกษาที่มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนเฉพาะสาขาที่สนองตอบความต้องการกำลังคนของ ภาคตะวันออก ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนศรีราชา เพื่อทำหน้าที่เตรียมการเรียนการสอน วางแผนจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการ และคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

พุทธศักราช 2539 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชา โดยมีโครงการจัดตั้งคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งคณะวิทยาการจัดการ โครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา) ทั้งนี้โครงการจัดตั้งคณะวิทยาการจัดการ ได้เปิดรับนิสิตสาขาการจัดการ สาขากาตลาด ในปีการศึกษา 2539 เป็นรุ่นแรก คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้รับการอนุมัติจากมติของสภามหาวิทยาลัยให้เป็นคณะวิชาที่เกิดจากการแบ่งส่วนราชการภายในของวิทยาเขตศรีราชา ตามประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เพื่อดำเนินการเรียนการสอนให้แก่นิสิต ณ วิทยาเขตศรีราชา[2][3]

พุทธศักราช 2543 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมได้เปิดรับนิสิต สาขาวิศวกรรมต่อเรือและเครื่องกลเรือ และในปีเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อคณะเป็น คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา (Faculty of Engineering At Siracha)

พ.ศ. 2549 ได้ปรับปรุงหลักสูตรวิศวกรรมต่อเรือและเครื่องกลเรือ ให้สามารถเลือกเรียนสาขาได้ 3 สาขา และเปิดหลักสูตรสาขาวิทยาศาสตร์เดินเรือโดยรับนิสิตเป็นปีแรก ในปีเดียวกันหลักสูตรดังกล่าวได้รับการจัดตั้งเป็น "วิทยาลัยพาณิชยณาวีนานาชาติ" มีฐานะเป็นคณะวิชาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีประกาศเมื่อ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549

พ.ศ. 2557 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ" เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

หลักสูตร[แก้]

ปัจจุบันคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เปิดสอนหลักสูตรในระดับปริญญาตรี 5 หลักสูตร[4] ดังนี้

หลักสูตรคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.)

  • วิศวกรรมต่อเรือและวิศวกรรมสมุทรศาสตร์
  • วิศวกรรมเครื่องต่อเรือและกลเรือ
  • วิศวกรรมเครื่องกลเรือ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเดินเรือ
  • สาขาวิชาการขนส่งทางทะเล

ทำเนียบคณบดี[แก้]

ทำเนียบคณบดีคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายนามคณบดี ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง หมายเหตุ
1. พลเรือโท ศาสตราจารย์เกียรติคุณ จิตต์ ณ นคร ผู้ก่อตั้งคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ
2. พลเรือเอก สุรศักดิ์ ศรีอรุณ พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2551
3. พลเรือเอก สุพิทย์ อำนวย พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2559
4. พลเรือโท ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นิรุทธ์ หงส์ประสิทธิ์ พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2563
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรินยา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

โครงสร้างหน่วยงาน[แก้]

หน่วยงาน[แก้]

คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะประกอบไปด้วยหน่วยงาน ภาควิชา ประกอบด้วย 2 ภาควิชา และสำนักงานเลขานุการ 5 งาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หน่วยงานภายในคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภาควิชา หน่วยงานวิจัย พัฒนา และสนับสนุน
  • ภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล
  • ภาควิชาวิทยาการเดินเรือ และโลจีสติกส์ทางทะเล


  • สำนักงานเลขานุการ
    • งานบริหารและพัฒนาองค์กร
    • งานคลังและพัสดุ
    • งานกายภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล
    • งานบริการการศึกษาและพัฒนานิสิต
    • งานวิจัยและบริการวิชาการ


อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ชื่อปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประกาศเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๑๓ มิ.ย. ๒๕๕๙ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง หน้า ๖ สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566
  2. คู่มือนิสิตคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2542
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-02. สืบค้นเมื่อ 2010-08-25.
  4. สำนักงาน กพ., การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรวิชาชีพของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ. นร 104/ ว.26 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 หน้าที่ 45 สืบค้นวันที่ 23 มกราคม 2567