วิญญาณ (ศาสนาพุทธ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในศาสนาพุทธ คำว่าวิญญาณ (บาลี: viññāṇa; สันสกฤต: विज्ञान) ใช้หมายถึงพิชาน (consciousness) คือความรู้แจ้งอารมณ์[1] พระไตรปิฎกระบุว่าพระพุทธเจ้าทรงจำแนกวิญญาณออกเป็น 6 ประเภท[2] ได้แก่

  1. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา คือรู้รูปด้วยตา หรือการเห็น
  2. โสติวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู คือรู้เสียงด้วยหู หรือการได้ยิน
  3. ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก คือรู้กลิ่นด้วยจมูก หรือการได้กลิ่น
  4. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น คือรู้รสด้วยลิ้น หรือการรู้รส
  5. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย คือรู้โผฏฐัพพะด้วยกาย หรือการรู้สึกกายสัมผัส
  6. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ คือรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ หรือการนึกคิด

นอกจากนี้วิญญาณยังปรากฏในหลักธรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น วิญญาณขันธ์ในขันธ์ 5 วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท

คำว่าวิญญาณยังถือเป็นคำไวพจน์ของคำว่าจิต มีความหมายเหมือนกัน ใช้แทนกันได้[3]

หน้าที่ของวิญญาณ (วิญญาณกิจ)[แก้]

คัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆสะและคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะของพระอนุรุทธาจารย์ กล่าวว่าวิญญาณมีหน้าที่ 14 อย่าง[4][5] คือ

  1. ปฏิสนธิ สืบต่อภพใหม่
  2. ภวังคะ เป็นองค์ประกอบของภพ
  3. อาวัชชนะ คำนึงถึงอารมณ์ใหม่
  4. ทัสสนะ เห็นรูป (ตรงกับจักขุวิญญาณ)
  5. สวนะ ได้ยินเสียง (ตรงกับโสตวิญญาณ)
  6. ฆายนะ ได้กลิ่น (ตรงกับฆานวิญญาณ)
  7. สายนะ รู้รส (ตรงกับชิวหาวิญญาณ)
  8. ผุสนะ ถูกต้องโผฏฐัพพะ (ตรงกับกายวิญญาณ)
  9. สัมปฏิจฉนะ รับอารมณ์
  10. สันตีรณะ พิจารณาอารมณ์
  11. โวฏฐัพพนะ ตัดสินอารมณ์
  12. ชวนะ เสพอารมณ์
  13. ตทาลัมพณะ รับอารมณ์ต่อจากชวนะก่อนจะกลับสู่ภวังค์
  14. จุติ เคลื่อนจากภพปัจจุบันเพื่อจะไปสู่ภพหน้า

อ้างอิง[แก้]

  1. วิญญาณ 6. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
  2. ที.ปา.11/306/255
  3. พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2546
  4. วิสุทธิ 3/29
  5. สงฺคห15