วิจิตร เกตุแก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิจิตร เกตุแก้ว
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (86 ปี)
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองพลังคนกีฬา

ดาโต๊ะ วิจิตร เกตุแก้ว อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2550) มีฉายาที่ได้รับจากสื่อมวลชนว่า "วีเจ" เป็นอดีตข้าราชการกรมพลศึกษา

ประวัติ[แก้]

นายวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

การศึกษา[แก้]

เตรียมอุดมศึกษา: โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร พญาไท กรุงเทพมหานคร

ประกาศนียบัตร: วิชาการศึกษาชั้นต้น (พลานามัย) โรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย ต.วังใหม่ อ.ปทุมวัน ภายในสนามกีฬาแห่งชาติ (ศุภชลาศัย) กรุงเทพมหานคร

ประกาศนียบัตร: วิชาการศึกษาชั้นสูง (พลศึกษา) วิทยาลัยพลศึกษา ต.วังใหม อ.ปทุมวัน ภายในสนามกีฬา แห่งชาติ (ศุภชลาศัย) กรุงเทพมหานคร

อุดมศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2518 ต่อมา ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาพลศึกษา จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

วงการกีฬา[แก้]

เอเชียนเกมส์ 1982[แก้]

เหตุการณ์ที่ทำให้นายวิจิตรเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะครั้งแรก คือการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 1982 (พ.ศ. 2525) นายวิจิตร ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน การแข่งขันฟุตบอลชาย ระหว่าง ทีมชาติเกาหลีเหนือ กับทีมชาติคูเวต ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทีม นักฟุตบอล และแฟนฟุตบอลเกาหลีเหนือ รุมทำร้ายร่างกายอย่างหนัก ด้วยไม้ เก้าอี้ และพลาสติกแข็ง จนได้รับบาดเจ็บ ต้องเย็บแผลถึง 21 เข็ม ภายหลังการแข่งขัน เนื่องจากนายวิจิตรตัดสินให้ลูกโทษที่จุดโทษแก่คูเวตก่อนหมดเวลา ทำให้คูเวตชนะไป 3-2 โดยทีมเกาหลีเหนือกล่าวหาว่า นายวิจิตรรับสินบนจากทีมชาติคูเวต ต่อมา สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียได้ตัดสินปรับทีมเกาหลีเหนือให้ตกรอบ และห้ามเกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลเป็นเวลา 2 ปี โดยข่าวนี้ สำนักข่าวเอพีได้จัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 10 ข่าวดังกีฬาโลก ในอันดับที่ 8 ด้วย[1]

ตำแหน่งในสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย[แก้]

หลังทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน นายวิจิตรได้เข้ารับตำแหน่ง อุปนายก เลขาธิการ และนายกสมาคมฯ ตามลำดับ โดยในช่วงแรกที่รับตำแหน่งนายกสมาคมฯ นายวิจิตรยังได้ร่วมกับ บิ๊กหอย-ธวัชชัย สัจจกุล ผลักดันทีมชาติไทยชุดดรีมทีม ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในยุคนั้น [2] และในปี พ.ศ. 2545 นายวิจิตร ได้ร่วมกับ บังยี-วรวีร์ มะกูดี เสนองบประมาณแก่สมาคมฯ และฟีฟ่าบริจาคที่ดินร่วมด้วย เป็นจำนวน 20 ไร่ เพื่อสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่เก็บตัวนักฟุตบอลทีมชาติไทย 12 ชุด อย่างเป็นทางการ ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย[3]

ทั้งนี้ ในวาระการดำรงตำแหน่งของนายวิจิตร ทีมชาติไทยได้รับการจัดอันดับโลกฟีฟ่า มีอันดับสูงสุดในประวัติฟุตบอลไทย โดยสูงสุดที่อันดับ 43 ของโลก (ก.ย. 2541)[4] เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2546 มีกลุ่มผู้สนับสนุนฟุตบอลทีมชาติไทย จำนวน 15 คน นำโดย นายพินิจ งามพริ้ง ประธานชมรมเชียร์ไทยดอตคอม แสดงป้ายผ้า สวมเสื้อที่สกรีนข้อความขับไล่ รวมถึงการตะโกนประท้วงบนอัฒจันทร์ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศ ระหว่างสโมสรฟุตบอลบีอีซีเทโรศาสนของไทย กับสโมสรจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อขับไล่นายวิจิตร แต่เหตุการณ์ก็จบลงด้วยดี โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ให้สัมภาษณ์ขอโทษนายวิจิตรผ่านหนังสือพิมพ์ พร้อมให้เหตุผลในการประท้วงว่า "คุณวิจิตร เป็นผู้ใหญ่แล้ว การกระทำเพื่อการขับไล่นายวิจิตรนั้น ทำให้คุณวิจิตรเสียชื่อเสียง" และยังให้สัญญาว่าจะไม่ยอมให้มีการประท้วงขับไล่นายกสมาคมฯ อีก ซึ่งนายวิจิตรก็มิได้ติดใจเอาความกับกลุ่มผู้ประท้วงแต่อย่างใด [5] [6] [7] [8]

ในปี พ.ศ. 2549 มีการตั้งข้อสงสัยถึงตัวเลขงบดุลของสมาคมฯ ที่มีปัญหา โดยเฉพาะสโมสรที่ชนะเลิศ การแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ดิวิชัน 1 ยังไม่ได้รับเงินรางวัลจำนวน 2,500,000 บาท และอีกหลายสโมสรก็ยังไม่ได้รับเงินบำรุงทีม นายวิจิตร และนายวรวีร์ ในฐานะเลขาธิการสมาคมฯ จึงเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงรายรับรายจ่ายประจำปี ซึ่งปรากฏว่า สมาคมฯ มีรายรับสูงกว่ารายจ่ายประมาณ 1,166,765.43 บาท พร้อมให้เหตุผลว่า สาเหตุที่มีการเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน โอกาสดังกล่าว สมาคมฯ ยังได้แต่งตั้งให้พันตรีประชา ธรรมโชติ เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีต่อไป[9][10]

ตำแหน่งดาโต๊ะ[แก้]

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2542 สุลต่านอาหมัด ชาห์แห่งรัฐปะหัง ประเทศมาเลเซีย ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลอาเชียน(เอเอฟเอฟ) และนายกสมาคมฟุตบอลแห่งมาเลเซีย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเข็ม และสายสะพาย ตำแหน่งดาโต๊ะ แก่นายวิจิตร โดยพิธีดังกล่าว จัดขึ้นที่ ดิ ลาเลรัง เสรี, อิสตาน่า อาบู บาการ์, เปกัน, ปะหัง ดารุล มากมูร์ ในรัฐปะหัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนายวิจิตร เป็นบุคคลที่ 3 ที่ได้รับพระราชทานตำแหน่งดาโต๊ะ ต่อจาก ดร.โจอัว ฮาเวลานจ์ อดีตประธานฟีฟ่า และเซปป์ แบล๊ตเตอร์ ประธานฟีฟ่าคนปัจจุบัน โดยนายวิจิตรให้สัมภาษณ์หลังรับพระราชทานตำแหน่งดาโต๊ะว่า "ตลอดเวลา 30 กว่าปี ที่ผมอยู่กับวงการฟุตบอลมา มีหลายเรื่องที่ผมโดนกลั่นแกล้ง โดนปรักปรำ โดนใส่ร้าย ใส่ความมาตลอด ซึ่งผมไม่เคยปริปากเอ่ยให้ใครฟัง มาวันนี้สวรรค์มีตา หากผมเป็นคนไม่ดีจริง คงไม่มีใครมอบรางวัลที่มีเกียรติอย่างดาโต๊ะให้หรอก"[ต้องการอ้างอิง]

ลาออกจากนายกสมาคมฟุตบอลฯ[แก้]

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้โทรศัพท์สอบถามนายวิจิตร ถึงกรณีที่มีข่าวว่า นายวิจิตรได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ แล้ว ซึ่งนายวิจิตรตอบตนว่าเป็นความจริง โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถพัฒนาผลงานของสมาคมฯ ได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว จึงเปิดโอกาสให้สมาคมฯ ได้เฟ้นหานายกสมาคมฯ คนใหม่ เพื่อมาช่วยพัฒนาสมาคมฯ ให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าที่ตนได้ทำไว้

วงการการเมือง[แก้]

นายวิจิตร ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดสุพรรณบุรี ในนามพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ได้เข้าร่วมกับนายวนัสธนา สัจจกุล หรือบิ๊กหอย จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น โดยมีชื่อว่า "พรรคพลังคนกีฬา" โดยมีนโยบายมุ่งพัฒนาการกีฬาของชาติ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ข่าวอันธพาลลูกหนัง 2525". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-12. สืบค้นเมื่อ 2006-12-11.
  2. สมาคมฟุตบอล ถึงทางสามแพร่ง สำหรับวิจิตร เกตุแก้ว โดย สันทิฎฐ์ สมานฉันท์ จากนิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2539
  3. "ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-20. สืบค้นเมื่อ 2006-12-14.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-13. สืบค้นเมื่อ 2014-07-02.
  5. "พินิจ งามพริ้ง ชายผู้กล้าท้าทายสมาคมฟุตบอลฯ (ผู้จัดการ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-19. สืบค้นเมื่อ 2006-12-14.
  6. ""วีเจ" จูบปากเชียร์ไทยดอตคอม (คมชัดลึก)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-19. สืบค้นเมื่อ 2006-12-14.
  7. ยุติโค่นเก้าอี้"วีเจ" เว็บฯดังยอมขอโทษย้ำไม่มีเบื้องหลัง (แนวหน้า)[ลิงก์เสีย]
  8. ข้อเท็จจริงจากใจ พินิจ งามพริ้ง[ลิงก์เสีย]
  9. "งานเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลประจำปี 2549 : สรุปงบดุลฟันกำไร 1 ล้านบาท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-19. สืบค้นเมื่อ 2006-12-14.
  10. งามหน้า!!สมาคมฯ เงียบกริบเงินรางวัลไทยลีกล่องหน เก็บถาวร 2007-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวจาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2010-02-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๕, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๐, ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๖
ก่อนหน้า วิจิตร เกตุแก้ว ถัดไป
พลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย
(พ.ศ. 2538- 2550)
วรวีร์ มะกูดี