วิกิพีเดีย:บทความคัดสรรประจำเดือน/พ.ศ. 2558

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


บทความคัดสรรแบ่งตามปี
2548 - 2549 - 2550 - 2551 - 2552 - 2553 - 2554 - 2555 - 2556 - 2557 - 2558 - 2559 - 2560 - 2561 - 2562 - 2563 - 2564 - 2565 - 2566 - 2567


มกราคม 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

ทฤษฎีบิกแบง

บิกแบง เป็นแบบจำลองของการกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพในจักรวาลวิทยาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และจากการสังเกตการณ์ที่แตกต่างกันจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปใช้คำนี้กล่าวถึงแนวคิดการขยายตัวของเอกภพหลังจากสภาวะแรกเริ่มที่ทั้งร้อนและหนาแน่นอย่างมากในช่วงเวลาจำกัดระยะหนึ่งในอดีต และยังคงดำเนินการขยายตัวอยู่จนถึงในปัจจุบัน

ฌอร์ฌ เลอแม็ทร์ นักวิทยาศาสตร์และพระโรมันคาทอลิก เป็นผู้เสนอแนวคิดการกำเนิดของเอกภพ ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ ทฤษฎีบิกแบง ในเบื้องแรกเขาเรียกทฤษฎีนี้ว่า สมมติฐานเกี่ยวกับอะตอมแรกเริ่ม (hypothesis of the primeval atom) อเล็กซานเดอร์ ฟรีดแมน ทำการคำนวณแบบจำลองโดยมีกรอบการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1929 เอ็ดวิน ฮับเบิลค้นพบว่า ระยะห่างของดาราจักรมีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กับการเคลื่อนไปทางแดง การสังเกตการณ์นี้บ่งชี้ว่า ดาราจักรและกระจุกดาวอันห่างไกลกำลังเคลื่อนที่ออกจากจุดสังเกต ซึ่งหมายความว่าเอกภพกำลังขยายตัว ยิ่งตำแหน่งดาราจักรไกลยิ่งขึ้น ความเร็วปรากฏก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น หากเอกภพในปัจจุบันกำลังขยายตัว แสดงว่าก่อนหน้านี้ เอกภพย่อมมีขนาดเล็กกว่า หนาแน่นกว่า และร้อนกว่าที่เป็นอยู่ แนวคิดนี้มีการพิจารณาอย่างละเอียดย้อนไปจนถึงระดับความหนาแน่นและอุณหภูมิที่จุดสูงสุด และผลสรุปที่ได้ก็สอดคล้องอย่างยิ่งกับผลจากการสังเกตการณ์ ทว่าการเพิ่มของอัตราเร่งมีข้อจำกัดในการตรวจสอบสภาวะพลังงานที่สูงขนาดนั้น หากไม่มีข้อมูลอื่นที่ช่วยยืนยันสภาวะเริ่มต้นชั่วขณะก่อนการระเบิด ลำพังทฤษฎีบิกแบงก็ยังไม่สามารถใช้อธิบายสภาวะเริ่มต้นได้ มันเพียงอธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเอกภพที่เกิดขึ้นหลังจากสภาวะเริ่มต้นเท่านั้น (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีไดโอรามา


กุมภาพันธ์ 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์แพลนทาเจเน็ทของราชอาณาจักรอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1327 ถึงปี ค.ศ. 1377 พระองค์นับเป็นกษัตริย์อังกฤษผู้ประสบความสำเร็จที่สุดพระองค์หนึ่งในยุคกลาง โดยทรงฟื้นฟูความมั่นคงของราชบัลลังก์ หลังจากที่เสื่อมโทรมลงไปมากในรัชสมัยของพระราชบิดา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 และทรงเป็นผู้ที่ทำให้ราชอาณาจักรอังกฤษเป็นรัฐที่มีอำนาจทางทหารมากที่สุดในยุโรป และเป็นรัชสมัยที่มีการวิวัฒนาการทางการปกครองทางนิติบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิวัฒนาการของระบบรัฐสภา แต่ในสมัยเดียวกันนี้พระองค์ก็ทรงต้องเผชิญกับความหายนะจากกาฬโรคระบาดในยุโรป พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงครองราชย์เป็นเวลานานถึง 50 ปีซึ่งไม่มีพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดที่ครองราชย์นานเช่นนั้นตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 และต่อจากนั้นก็ไม่มีพระองค์ใดจนมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ในฐานะกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้เพียง 14 พรรษา หลังจากที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 พระราชบิดา ทรงถูกถอดจากการเป็นกษัตริย์ เมื่อพระชนมายุได้ 17 พรรษา พระองค์ก็ทรงเป็นผู้นำในรัฐประหารโค่นล้มโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ชที่ 1 ผู้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงเริ่มครองราชย์ด้วยพระองค์เอง หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะต่อราชอาณาจักรสกอตแลนด์ ก็ทรงประกาศอ้างสิทธิ์ของพระองค์ว่าเป็นผู้สืบทอดอันชอบธรรมต่อราชบัลลังก์ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1340 อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามซึ่งเรียกกันว่า สงครามร้อยปี หลังจากที่เพลี่ยงพล้ำในระยะแรกของสงคราม สถานการณ์ก็ดีขึ้นมากสำหรับฝ่ายอังกฤษ ชัยชนะที่เครซีและปัวติเยร์ทำให้อังกฤษได้รับผลประโยชน์เป็นอย่างมากจากสนธิสัญญาเบรทินยี (Treaty of Brétigny) แต่ตอนปลายรัชสมัย ก็ทรงประสบกับความล้มเหลวในกิจการระหว่างประเทศและการเมืองภายใน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะความเฉื่อยชาและพระสุขภาพพลานามัยที่ทรุดโทรมลงอย่างมาก (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: บิกแบงทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี


มีนาคม 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

พลร่มฝรั่งเศสกำลังกระโดดร่มลงจากเครื่องบินลำเลียง ซี-119

ยุทธการที่เดียนเบียนฟู เป็นการเผชิญหน้าครั้งสำคัญสุดยอดในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง ระหว่างกองทัพรบนอกประเทศภาคพื้นตะวันออกไกลของสหภาพฝรั่งเศส (ทหารฝรั่งเศสในภาพ) และนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์-ชาตินิยมเวียดมินห์ ยุทธการนี้เกิดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ค.ศ. 1954 และสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างกว้างขวางของฝรั่งเศสซึ่งส่งอิทธิพลต่อการเจรจาเหนืออนาคตของคาบสมุทรอินโดจีนที่นครเจนีวา นักประวัติศาสตร์การทหาร มาร์ติน วินโดรว์ เขียนว่า เดียนเบียนฟูเป็น "ครั้งแรกซึ่งขบวนการเรียกร้องเอกราชอาณานิคมวิวัฒนาผ่านทุกขั้นตอนจากกองโจรไปเป็นกองทัพซึ่งจัดระเบียบและติดอาวุธตามแบบจนสามารถเอาชนะเจ้าอาณานิคมตะวันตกสมัยใหม่ในการรบแบบที่ตั้งมั่น"

ผลจากความผิดพลาดในกระบวนการตัดสินใจของฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสเริ่มปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนทหารของตนที่เดียนเบียนฟู ลึกเข้าไปในหุบเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม จุดประสงค์ของปฏิบัติการนี้เพื่อตัดเส้นทางเสบียงของเวียดมินห์ที่เข้าสู่ราชอาณาจักรลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านและพันธมิตรของฝรั่งเศส และเพื่อดึงให้เวียดมินห์มาเผชิญหน้าครั้งสำคัญที่จะทำลายศักยภาพของเวียดมินห์ในทางยุทธวิธี อย่างไรก็ดี เวียดมินห์ ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอก หวอ เงวียน ซ้าป ได้ปิดล้อมฝรั่งเศส โดยที่ฝรั่งเศสไม่ทราบมาก่อนว่าเวียดมินห์มีปืนใหญ่หนัก รวมทั้งปืนต่อสู้อากาศยานอยู่ในครอบครอง ตลอดจนความสามารถของเวียดมินห์ในการเคลื่อนย้ายอาวุธดังกล่าวผ่านภูมิประเทศทุรกันดารยิ่งมายังยอดเขาที่มองไปเห็นที่มั่นของฝรั่งเศส เวียดมินห์ได้ยึดครองที่สูงรอบเดียนเบียนฟูและยิงปืนใหญ่ถล่มที่มั่นของฝรั่งเศส ได้เกิดการรบภาคพื้นดินอย่างยืนหยัดขึ้นตามมา ซึ่งคล้ายกับการสงครามสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารฝรั่งเศสได้ขับไล่การโจมตีที่มั่นของฝ่ายเวียดมินห์หลายครั้ง เสบียงและกำลังหนุนถูกส่งเข้ามาทางอากาศ แต่ก็ถูกขัดขวาง เพราะที่ตั้งฝรั่งเศสถูกยึดและได้รับความสูญเสียจากปืนต่อสู้อากาศยาน ทำให้มีเสบียงไปถึงทหารน้อยลงทุกขณะ หลังจากการล้อมนานสองเดือน ที่มั่นของฝรั่งเศสได้ถูกยึดและกำลังฝรั่งเศสส่วนใหญ่ยอมจำนน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถหลบหนีไปยังประเทศลาวได้ รัฐบาลฝรั่งเศสลาออกและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปีแยร์ ม็องแด็ส-ฟร็องส์ ฝ่ายซ้ายกลาง สนับสนุนการถอนทหารฝรั่งเศสออกจากอินโดจีน (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษบิกแบงทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์


เมษายน 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

ผื่นลักษณะเฉพาะของไข้เลือดออกเด็งกี

ไข้เด็งกี หรือในประเทศไทยนิยมเรียกว่า ไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อซึ่งระบาดในเขตร้อน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และมีผื่นลักษณะเฉพาะ (ในภาพ) ซึ่งคล้ายกับผื่นของโรคหัด ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีอาการรุนแรง จนกลายเป็นไข้เลือดออกเด็งกี (Dengue hemorrhagic fever) ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งทำให้มีเลือดออกง่าย มีเกล็ดเลือดต่ำ และมีการรั่วของพลาสมา หรือรุนแรงมากขึ้นเป็นกลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (Dengue shock syndrome) ซึ่งมีความดันโลหิตต่ำอย่างเป็นอันตรายได้

ไข้เลือดออกติดต่อผ่านทางพาหะคือยุงหลายสปีชีส์ในจีนัส Aedes โดยเฉพาะ A. aegypti หรือยุงลายบ้าน ไวรัสเด็งกีมีชนิดย่อยอยู่สี่ชนิด การติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งมักทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนั้น ๆ ไปตลอดชีวิต แต่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเด็งกีชนิดอื่น ๆ ในเวลาสั้น ๆ การติดเชื้อไวรัสเด็งกีชนิดอื่นในภายหลังเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนรุนแรง การป้องกันโรคทำโดยลดจำนวนแหล่งเพาะพันธุ์และจำนวนของยุง และป้องกันมิให้ยุงลายกัด เพราะยังไม่มีวัคซีนในทางพาณิชย์ (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ยุทธการที่เดียนเบียนฟูพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษบิกแบง


พฤษภาคม 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

เนบิวลาปู

เนบิวลาปู เป็นซากซูเปอร์โนวาและเนบิวลาลมพัลซาร์ในกลุ่มดาววัว เนบิวลานี้ได้รับการสังเกตโดยจอห์น เบวิส ในปี พ.ศ. 2274 ซึ่งสอดคล้องกับการบันทึกเหตุการณ์ซูเปอร์โนวาสว่างโดยนักดาราศาสตร์ชาวจีนและชาวอาหรับใน พ.ศ. 1597 ที่ระดับรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาสูงกว่า 30 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ เนบิวลาปูเป็นแหล่งพลังงานที่เข้มที่สุดบนท้องฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถวัดฟลักซ์ได้ถึงสูงกว่า 1012 อิเล็กตรอนโวลต์ เนบิวลาปูตั้งอยู่ห่างจากโลก 6,500 ปีแสง (2 กิโลพาร์เซก) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 11 ปีแสง (3.4 พาร์เซก) และขยายตัวในอัตรา 1,500 กิโลเมตรต่อวินาที

ณ ใจกลางเนบิวลาปูเป็นที่อยู่ของพัลซาร์ปู ดาวนิวตรอนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 28-30 กิโลเมตร ซึ่งปลดปล่อยรังสีตั้งแต่รังสีแกมมาไปจนถึงคลื่นวิทยุด้วยอัตราการหมุน 30.2 รอบต่อวินาที เนบิวลาปูเป็นวัตถุทางดาราศาสตร์วัตถุแรกที่สามารถระบุได้จากการระเบิดซูเปอร์โนวาในประวัติศาสตร์

เนบิวลานี้ทำตัวเสมือนหนึ่งแหล่งกำเนิดรังสีสำหรับการศึกษาเทห์ฟากฟ้าที่เคลื่อนผ่านตัวมัน ในช่วงปีพ.ศ. 2493 และ 2512 มีการทำแผนภูมิโคโรนาของดวงอาทิตย์ขึ้นจากการเฝ้าสังเกตคลื่นวิทยุจากเนบิวลาปูที่ผ่านชั้นโคโรนาไป และในปี พ.ศ. 2546 เราสามารถวัดความหนาของชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ไททัน ดาวบริวารของดาวเสาร์ได้จากการที่ชั้นบรรยากาศนี้กีดขวางรังสีเอกซ์จากเนบิวลา (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ไข้เด็งกียุทธการที่เดียนเบียนฟูพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ


มิถุนายน 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

ธงชาติตองงา

ประเทศตองงา มีชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรตองงา เป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคโพลินีเซีย ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา โดยทะเลอาณาเขตทางตะวันตกติดกับประเทศฟิจิ ส่วนทางตะวันออกติดกับหมู่เกาะคุก นีอูเอและอเมริกันซามัว ในขณะที่ทางทิศเหนือติดกับหมู่เกาะวาลิสและหมู่เกาะฟูตูนา ประเทศซามัวและอเมริกันซามัว ชื่อประเทศในภาษาตองงาแปลว่าทิศใต้ นอกจากนี้ประเทศนี้ได้รับฉายาว่าหมู่เกาะมิตรภาพ จากกัปตันเจมส์ คุก

ประเทศตองงาเป็นประเทศขนาดเล็กมีเนื้อที่เพียง 747 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอันดับที่ 189 ของโลก หมู่เกาะตองกาประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 169 เกาะ โดยมีเพียง 36 เกาะเท่านั้นที่มีการอยู่อาศัย เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะตองกาตาปู ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองคือนูกูอาโลฟา เกาะส่วนใหญ่ของตองกาเป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของปะการัง ประชากรของตองกามีทั้งสิ้น 103,036 คน นับเป็นอันดับที่ 192 ของโลก (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: เนบิวลาปูไข้เด็งกียุทธการที่เดียนเบียนฟู


กรกฎาคม 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

เจ. เค. โรว์ลิง

เจ. เค. โรว์ลิง เป็นนักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ประพันธ์วรรณกรรมแฟนตาซีชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งได้รับความความสนใจจากทั่วโลก ได้รับรางวัลมากมาย และมียอดขายกว่า 400 ล้านเล่ม และยังเป็นหนังสือชุดที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้านภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือก็เป็นภาพยนตร์ชุดที่ทำรายได้มากที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ โรว์ลิงอนุมัติบทภาพยนตร์ทุกภาค และตลอดจนควบคุมงานฝ่ายสร้างสรรค์ภาพยนตร์ภาคสุดท้ายในฐานะผู้อำนวยการสร้าง

โรว์ลิงเกิดที่เมืองเยตส์ มณฑลกลอสเตอร์เชอร์ เคยทำงานเป็นนักวิจัยและเลขานุการสองภาษาให้กับองค์การนิรโทษกรรมสากล ก่อนได้ความคิดสำหรับชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์บนขบวนรถไฟที่ล่าช้าจากแมนเชสเตอร์ไปลอนดอนเมื่อปี 1990 อีกเจ็ดปีถัดมา เธอเสียมารดา หย่าร้างกับสามีคนแรกและค่อนข้างยากจน จนโรว์ลิงเขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เสร็จในปี 1997 มีภาคต่อหกเล่ม เล่มสุดท้ายคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ในปี 2007 จากนั้นโรว์ลิงเขียนหนังสือสำหรับผู้อ่านผู้ใหญ่สามเรื่อง ได้แก่ เก้าอี้ว่าง (2012) และนวนิยายสืบสวนสอบสวน เรื่อง เสียงเพรียกจากคักคู (2013) และ The Silkworm (2014) โดยใช้ชื่อปลอมในการเขียนว่า โรเบิร์ต กัลเบรธ (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ประเทศตองงาเนบิวลาปูไข้เด็งกี


สิงหาคม 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

ฮาเร็มของสุลต่านภายหลังการระดมยิง

สงครามอังกฤษ–แซนซิบาร์ เป็นการสู้รบระหว่างสหราชอาณาจักรและรัฐสุลต่านแซนซิบาร์ในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1896 ความขัดแย้งนี้กินเวลาเพียง 38 นาที นับเป็นสงครามที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ สาเหตุที่ใกล้ชิดของสงครามนี้เกิดจากฮาเม็ด บิน ทูเวไน (Hamad bin Thuwaini) สุลต่านที่ได้รับความเห็นชอบจากสหราชอาณาจักร สวรรคตในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1896 และคาลิด บิน บาร์กาช (Khalid bin Barghash) สืบราชสันตติวงศ์ ขณะที่สหราชอาณาจักรเห็นชอบให้ฮามัด บิน มุฮามเม็ด (Hamud bin Muhammed) ผู้ที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่สหราชอาณาจักรได้มากกว่า เป็นสุลต่าน ตามสนธิสัญญาที่ลงนามใน ค.ศ. 1886 เงื่อนไขการขึ้นครองราชย์ คือ ผู้มีคุณสมบัติต้องได้รับการอนุญาตจากกงสุลสหราชอาณาจักรเสียก่อน แต่คาลิดนั้นมิได้เป็นไปตามข้อกำหนดนี้ สหราชอาณาจักรถือว่าเป็นเหตุแห่งสงคราม และยื่นคำขาดต่อคาลิดให้พระองค์มีพระบรมราชโองการให้กองกำลังของพระองค์วางอาวุธ และให้ออกจากพระราชวัง สุลต่านคาลิดโต้ตอบโดยทรงระดมยามพระราชวังและทรงขังพระองค์อยู่ในพระราชวัง

เส้นตายสิ้นสุดที่เวลา 09:00 น. ตามเวลาแอฟริกาตะวันออก (EAT) ของวันที่ 27 สิงหาคม ณ เวลานั้นกองกำลังของอังกฤษประกอบด้วยเรือลาดตระเวน 3 ลำ เรือปืน 2 ลำ นาวิกโยธินและลูกเรือ 150 นาย และชาวแซนซิบาร์ 900 คนได้ชุมนุมกันที่บริเวณท่าเรือ กองทัพเรือสหราชอาณาจักรอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพลเรือตรีแฮร์รี รอว์ซัน (Harry Rawson) ขณะที่ชาวแซนซิบาร์อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลจัตวาลอยด์ แมตทิวส์ (Lloyd Mathews) แห่งกองทัพบกแซนซิบาร์ กองกำลังป้องกันพระราชวังฝ่ายแซนซิบาร์มีประมาณ 2,800 คน กองกำลังส่วนมากเกณฑ์มาจากประชาชนทั่วไป มียามพระราชวังปะปนอยู่บ้าง และมีคนรับใช้และทาสของคาลิดอีกหลายร้อยคน ฝ่ายป้องกันมีปืนใหญ่สองสามกระบอกและปืนกลที่ติดตั้งอยู่หน้าพระราชวังโดยเล็งไปยังเรือของอังกฤษ การระดมยิงเปิดฉากเมื่อเวลา 09:02 น. ผลทำให้พระราชวังไฟไหม้และปืนใหญ่ฝ่ายตั้งรับไม่สามารถใช้การได้ มีการปฏิบัติทางเรือขนาดเล็ก โดยฝ่ายอังกฤษสามารถจมเรือยอตช์หลวงของแซนซิบาร์และเรือที่เล็กกว่าได้สองลำ มีการยิงมาที่ทหารแซนซิบาร์ที่นิยมอังกฤษบ้างขณะที่เคลื่อนเข้าสู่พระราชวัง แต่ไร้ผล ธงที่พระราชวังถูกยิงล้ม และการยิงสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 09:40 น. (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: เจ. เค. โรว์ลิงประเทศตองงาเนบิวลาปู


กันยายน 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

การจัดเรียงอิเล็กตรอนของแฟรนเซียม

แฟรนเซียม เป็นธาตุที่มีเลขอะตอม 87 สัญลักษณ์ Fr แฟรนเซียมเคยเป็นที่รู้จักในชื่อ เอคา-ซีเซียม และ แอกทิเนียม K มันเป็นหนึ่งในสองธาตุที่มีอิเล็กโตรเนกาติวิตีต่ำที่สุด อีกหนึ่งคือ ซีเซียม แฟรนเซียมเป็นกัมมันตรังสีอย่างสูง สามารถสลายไปเป็นแอสทาทีน เรเดียม และเรดอนได้ ด้วยที่มันเป็นโลหะแอลคาไล มันจึงมีเวเลนซ์อิเล็กตรอนเพียงตัวเดียว

ยังไม่เคยมีใครเห็นแฟรนเซียมเป็นก้อนในปริมาณมากเลย คุณสมบัติทั่วไปของธาตุอื่น ๆ ในแถวเดียวกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าแฟรนเซียมเป็นโลหะที่สะท้อนแสงได้สูง ถ้าเก็บแฟรนเซียมมาไว้รวมกันเป็นก้อนหรือของเหลวปริมาณมากพอ การได้สารตัวอย่างดังกล่าวมานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากความร้อนจากการสลายตัว (ครึ่งชีวิตของไอโซโทปที่ยาวนานที่สุดคือเพียง 22 นาที) จะทำให้ธาตุปริมาณมากพอที่จะมองเห็น กลายเป็นไอได้

แฟรนเซียมถูกค้นพบโดยมาร์เกอริต เปอแรที่ฝรั่งเศส (ซึ่งได้นำมาตั้งเป็นชื่อธาตุนี้) ในปี พ.ศ. 2482 แฟรนเซียมเป็นธาตุสุดท้ายที่ค้นพบครั้งแรกจากในธรรมชาติ แทนที่ได้จากการสังเคราะห์ นอกห้องปฏิบัติการ แฟรนเซียมหายากมาก พบเป็นปริมาณน้อยมากในสินแร่ยูเรเนียมและทอเรียม ซึ่งแฟรนเซียม-223 เกิดขึ้นและสลายตัวตลอดเวลา ในเปลือกโลกสามารถพบแฟรนเซียม-223 ได้แค่ 20-30 กรัม (1 ออนซ์) ส่วนไอโซโทปอื่น ๆ (ยกเว้นแฟรนเซียม-221) ถูกสังเคราะห์ขึ้นทั้งหมด จำนวนแฟรนเซียมที่ผลิตมากที่สุดในห้องปฏิบัติการคือ 300,000 อะตอม (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สงครามอังกฤษ–แซนซิบาร์เจ. เค. โรว์ลิงประเทศตองงา


ตุลาคม 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

การจัดเรียงอิเล็กตรอนของแฟรนเซียม

สมเด็จพระราชินีมารีแห่งโรมาเนีย (29 ตุลาคม ค.ศ. 1875 – 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1938) เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนียพระองค์สุดท้าย โดยเป็นพระมเหสีในพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย

ทรงประสูติในฐานะพระราชวงศ์อังกฤษ พระองค์ทรงได้รับพระอิสริยยศเจ้าหญิงมารีแห่งเอดินเบอระเมื่อครั้งประสูติ พระบิดาและพระมารดาของพระองค์คือ เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินเบอระและแกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย ในวัยเยาว์ เจ้าหญิงมารีทรงใช้พระชนมชีพในเคนต์, มอลตาและโคบูร์ก หลังจากการปฏิเสธข้อเสนอที่จะอภิเษกสมรสกับพระญาติของพระองค์เองคือ พระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรในอนาคต พระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นพระชายาในมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์แห่งโรมาเนีย องค์รัชทายาทของพระเจ้าคาโรลที่ 1 แห่งโรมาเนีย ใน ค.ศ. 1892 เจ้าหญิงมารีทรงดำรงเป็นมกุฎราชกุมารีอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1893 ถึง 1914 ซึ่งทรงดำรงในพระอิสริยยศนี้ยาวนานที่สุดในบรรดาผู้ครองพระอิสริยยศนี้ และทรงกลายเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ประชาชนชาวโรมาเนียในทันที เจ้าหญิงมารีทรงควบคุมพระสวามีผู้ทรงอ่อนแอและเอาแต่ใจก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1914 เป็นแรงกระตุ้นให้นักหนังสือพิมพ์ชาวแคนาดาได้ให้ความเห็นว่า "มีพระมเหสีเพียงไม่กี่พระองค์เท่านั้นที่จะทรงมีอิทธิพลยิ่งใหญ่กว่าสมเด็จพระราชินีมารีในช่วงรัชสมัยพระสวามีของพระองค์" (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: แฟรนเซียมสงครามอังกฤษ–แซนซิบาร์เจ. เค. โรว์ลิง


พฤศจิกายน 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน เป็นความลำเอียงในข้อมูลที่ยืนยันความคิดหรือทฤษฎีหรือสมมติฐานฝ่ายตน เรียกว่ามีความลำเอียงนี้เมื่อสะสมหรือกำหนดจดจำข้อมูลที่เลือกเฟ้น หรือว่าเมื่อมีการตีความหมายข้อมูลอย่างลำเอียง

ความลำเอียงนี้มีอยู่ในระดับสูงในประเด็นที่ให้เกิดอารมณ์หรือเกี่ยวกับความเชื่อที่ฝังมั่น นอกจากนั้นแล้ว คนมักตีความหมายข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจนว่าสนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง มีการใช้การสืบหา การตีความหมาย และการทรงจำข้อมูลประกอบด้วยความลำเอียงเช่นนี้ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้น คือเมื่อข้อขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้นแม้ว่าทุก ๆ ฝ่ายจะได้หลักฐานเดียวกัน, ความยึดมั่นอยู่กับความเชื่อ แม้ว่าหลักฐานจะแสดงว่าเป็นความเชื่อผิด ๆ, การให้น้ำหนักกับหลักฐานที่ได้ตอนต้น ๆ ที่ไร้เหตุผล เป็นการให้น้ำหนักกับหลักฐานที่ได้ในตอนต้นและตอนอื่น ๆ ที่ไม่เท่ากัน, สหสัมพันธ์ลวง คือมีการเชื่อมเหตุการณ์หรือสถานการณ์สองอย่างเข้าด้วยกัน โดยสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นจริง (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สมเด็จพระราชินีมารีแห่งโรมาเนียแฟรนเซียมสงครามอังกฤษ–แซนซิบาร์


ธันวาคม 2558

ดู - สนทนา - ประวัติ

เมสสิเยร์ 80 กระจุกดาวทรงกลมในกลุ่มดาวแมงป่อง อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ของเรา 28,000ปีแสง ประกอบด้วยดาวฤกษ์นับแสนดวง

กระจุกดาวทรงกลม เป็นแหล่งรวมของดวงดาวที่มีรูปร่างเป็นทรงกลม โคจรไปรอบๆ แกนกลางดาราจักร ดาวฤกษ์ในกระจุกดาวทรงกลมมีแรงโน้มถ่วงดึงดูดต่อกันค่อนข้างมาก ทำให้พวกมันรวมตัวเป็นกลุ่มทรงกลม มีความหนาแน่นของดาวค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในจุดศูนย์กลาง บางครั้งเรียกชื่อโดยย่อเพียงว่า globular

กระจุกดาวทรงกลมมักพบอยู่ในกลดดาราจักร มีดวงดาวรวมตัวกันอยู่มากและมักมีอายุเก่าแก่กว่าส่วนที่เหลือของดาราจักร หรือกระจุกดาวเปิดซึ่งมักพบในจานดาราจักร ในดาราจักรทางช้างเผือกมีกระจุกดาวทรงกลมอยู่ราว 158 แห่ง และคาดว่ายังมีกระจุกดาวที่ยังค้นไม่พบอีกราว 10-20 แห่ง ดาราจักรขนาดใหญ่อาจมีกระจุกดาวมากกว่านี้ เช่น ดาราจักรแอนโดรเมดาอาจมีกระจุกดาวอยู่ราว 500 แห่ง ดาราจักรชนิดรีขนาดยักษ์บางแห่ง เช่น ดาราจักร M87 อาจมีกระจุกดาวทรงกลมอยู่มากถึงกว่า 10,000 แห่ง กระจุกดาวทรงกลมเหล่านี้โคจรอยู่ในดาราจักรด้วยรัศมีขนาดใหญ่ราว 40 กิโลพาร์เซ็ก (ประมาณ 131,000 ปีแสง) หรือมากกว่านั้น (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ความเอนเอียงเพื่อยืนยันสมเด็จพระราชินีมารีแห่งโรมาเนียแฟรนเซียม