วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วิกฤตซับไพรม์)

วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (อังกฤษ: subprime mortgage crisis) หรือ วิกฤติซับไพรม์ และยังรู้จักกันในชื่อ วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ในประเทศไทยอาจเรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ปรากฏให้เห็นชัดในช่วงปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2551 จุดเด่นของวิกฤตินี้คือการที่ความคล่องตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลกและระบบธนาคารลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา การกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป วิกฤติครั้งนี้มีผลหลายขั้นและค่อย ๆ เผยให้เห็นความอ่อนแอในระบบการเงินและระบบการควบคุมทั่วโลก

วิกฤติครั้งนี้เริ่มจากการที่ภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐอเมริกาแตก[1][2] และการผิดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัว ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วง พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2549 ผู้กู้ยืมนั้นกู้ยืมสินเชื่อที่เกินกำลังโดยคิดว่าตนจะสามารถปรับโครงสร้างเงินกู้ได้โดยง่าย เพราะในตลาดการเงินนั้นมีมาตรฐานการปล่อยกู้ที่ต่ำลง ผู้ปล่อยกู้เสนอข้อจูงใจในการกู้ยืม เช่นเงื่อนไขเบื้องต้นง่าย ๆ และแนวโน้มราคาบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ทว่าการปรับโครงสร้างเงินกู้กลับเป็นไปได้ยากขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้นและราคาบ้านเริ่มต่ำลงในปี พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2550 ในหลายพื้นที่ในสหรัฐ การผิดชำระหนี้และการยึดทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อหมดเงื่อนไขเบื้องต้นอย่างง่าย ราคาบ้านไม่สูงขึ้นอย่างที่คิด และอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเริ่มสูงขึ้น การยึดทรัพย์สินในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2549[3] และทำให้ปัญหาทางการเงินนั้นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกในปี พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2551

ธนาคารและสถาบันทางการเงินที่สำคัญทั่วโลกรายงานยอดการขาดทุนที่สูงกว่า 4.35 แสนล้านดอลลาร์ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551[4][5]

สาเหตุ[แก้]

วิกฤติครั้งนี้มีสาเหตุที่ซับซ้อนและมาจากหลายปัจจัยซึ่งค่อยๆ พัฒนาตัวขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อ[6] เช่น การที่เจ้าของบ้านไม่สามารถชำระเงินที่กู้ยืมมา การตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้กู้ยืมหรือผู้ปล่อยกู้ การเก็งกำไรและการสร้างบ้านมากเกินไปในช่วงที่ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว สินค้าทางสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง อัตราหนี้สินของบุคคลและบริษัทที่สูง นวัตกรรมทางการเงินที่กระจาย (ในขณะที่อาจจะปกปิด) ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ นโยบายและการควบคุม (หรือการขาดการควบคุม) ของธนาคารกลาง[7]

การขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยและภาวะฟองสบู่แตก[แก้]

จำนวนสินทรัพย์ที่ถูกยึดแบ่งตามไตรมาส

ผลจากทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและเงินทุนที่หลั่งไหลเข้ามาจากต่างประเทศก่อให้เกิดกองทุนที่สามารถปล่อยกู้มากมาย และทำให้สามารถขออนุมัติสินเชื่อได้ง่ายเป็นเวลาหลายปีก่อนจะเกิดวิกฤติ[8] สินเชื่อชั้นรองเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อัตรากรรมสิทธิ์และความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น อัตรากรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยทั่วทั้งสหรัฐเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64 ในปี 2537 (ซึ่งเป็นระดับที่คงตัวมาตั้งแต่ 2523) เป็นร้อยละ 69.2 ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในปี 2547 [9]

อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ราคาบ้านถีบตัวสูงขึ้นและทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น[10] ระหว่างปี 2540 และปี 2549 ราคาบ้านในสหรัฐเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.4[11] เจ้าของบ้านหลายคนใช้ราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงภาวะฟองสบู่นี้เพื่อปรับโครงสร้างเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงและกู้สินเชื่อเพิ่มจากการจำนองเคหะเดิมในส่วนที่ราคาสูงขึ้นเพื่อใช้บริโภค อัตราหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ในสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 130 ในปี 2550 ซึ่งมากกว่าร้อยละ 100 ในช่วงต้นทศวรรษ[12]

ในที่สุด การสร้างบ้านมากเกินไปในช่วงตลาดขยายตัวก็ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน และทำให้ราคาบ้านตกลงตั้งแต่หน้าร้อนของปี พ.ศ. 2549 การปล่อยสินเชื่อให้ผู้กู้โดยง่ายและการคาดคะเนว่าราคาบ้านจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ กระตุ้นให้ผู้กู้ชั้นรองกู้สินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวที่พวกเขาไม่สามารถชำระหนี้ได้หลังพ้นจากช่วงเงื่อนไขจูงใจตอนต้น การปรับโครงสร้างเงินกู้เริ่มยากขึ้นเมื่อราคาบ้านเริ่มลดลงพอสมควรในหลายพื้นที่ของสหรัฐ เจ้าของบ้านหลายคนไม่สามารถปรับโครงสร้างเงินกู้ได้ จึงผิดนัดชำระหนี้เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและทำให้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนเพิ่มตามไปด้วย

จากการประมาณการในเดือนมีนาคม 2551 เจ้าของบ้านกว่า 8.8 ล้านคน (หรือเกือบร้อยละ 10.3 ของเจ้าของบ้านทั้งหมด) ตกอยู่ในสภาพที่มีหนี้เท่ากับหรือสูงกว่าราคาทรัพย์สิน ซึ่งหมายความว่าบ้านของเขามีมูลค่าน้อยกว่าสินเชื่อค้างชำระ และทำให้พวกเขาเกิดแรงจูงใจที่จะทิ้งบ้านไป แม้จะทำให้ประวัติการกู้ยืมเสียไปก็ตาม[13]

อัตราการยึดทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นและการที่เจ้าของบ้านจำนวนมากไม่ยอมขายบ้านในราคาตลาดที่ต่ำลงทำให้มีสินค้าบ้านคงคลังจำนวนมาก ปริมาณการขายบ้านใหม่ในปี 2550 ลดลงร้อยละ 26.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในเดือนมกราคม 2551 สินค้าบ้านใหม่คงคลังมีมากถึง 9.6 เดือน (หากคำนวณโดยใช้ยอดขายในเดือนสิงหาคม 2550) ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2524[14] มีบ้านประมาณ 4 ล้านหลังที่ขายไม่ได้[15]

สินค้าบ้านคงคลังส่วนเกินนี้ก็กดราคาบ้านให้ต่ำลงไปอีก และยิ่งราคาบ้านต่ำลงเจ้าของบ้านที่เสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้และถูกยึดทรัพย์สินก็ยิ่งเพิ่มขึ้น จากดัชนีราคาบ้าน S&P/Case-Shiller ราคาบ้านในสหรัฐเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2549 ลดลงร้อยละ 10.4 และราคาเดือนพฤษภาคม 2551 ลดลงร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า[16] คาดว่าราคาบ้านจะลดลงต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าสินค้าบ้านคงคลังเหล่านี้จะลดลงจนเหลือระดับปกติที่เคยเป็นมา

การเก็งกำไร[แก้]

การเก็งกำไรก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องอันหนึ่ง ในปี 2549 ร้อยละ 22 ของบ้านที่ถูกซื้อ (1.65 ล้านหลัง) เป็นการซื้อเพื่อการลงทุน และอีกร้อยละ 14 (1.07 ล้านหลัง) เป็นการซื้อเพื่อเป็นบ้านตากอากาศ และในปี 2548 คิดเป็นร้อยละ 28 และ 12 ตามลำดับ ซึ่งสรุปได้ว่าร้อยละ 40 ของการซื้อบ้านนั้นไม่ใช่เพื่อการใช้เป็นที่อยู่อาศัย เดวิด ลีรีอาห์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสมาคมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ กล่าวว่า นักลงทุนถอนตัวออกจากตลาดในปี 2549 ซึ่งทำให้การซื้อขายเพื่อการลงทุนลดลงมากกว่าในตลาดเพื่อการอาศัย[17]

แม้ว่าแต่เดิมการซื้อบ้านมักจะไม่มีจุดประสงค์เพื่อการลงทุนดังเช่นหุ้น แต่พฤติกรรมในระหว่างที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวนั้นก็เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น มีการประมาณว่าเกือบร้อยละ 85 ของคอนโดมีเนียมที่ถูกซื้อในไมอามีเป็นการซื้อเพื่อการลงทุน สื่อต่าง ๆ พากันรายงานถึงพฤติกรรมการซื้อคอนโดมีเนียมก่อนที่จะสร้างเสร็จ แล้วก็ขายทำกำไรโดยไม่อาศัยในบ้านนั้นเลย[18] บริษัทสินเชื่อหลายแห่งเริ่มสังเกตเห็นความเสี่ยงจากพฤติกรรมแบบนี้ตั้งแต่ 2548 หลังจากที่พบว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากเป็นการลงทุนที่มีสัดส่วนการกู้เงินมาลงทุนสูง[19]

ไฮแมน มินสกี นักเศรษฐศาสตร์สายเคนส์ กล่าวถึงการกู้ยืมเพื่อเก็งกำไรสามแบบที่สามารถทำให้เกิดหนี้สะสมและทำให้มูลค่าสินทรัพย์ต้องหมดไปในที่สุด[20][21] ได้แก่ ผู้กู้ยืมป้องกันความเสี่ยงคือผู้กู้ยืมที่สามารถชำระหนี้คืนได้ด้วยเงินในการลงทุนส่วนอื่น ผู้กู้ยืมเก็งกำไรซึ่งสามารถชำระดอกเบี้ยได้ แต่ต้องกู้เงินจากแหล่งใหม่เพื่อมาชำระหนี้สินเดิม และผู้กู้ยืมพอนซี (ซึ่งตั้งชื่อตามนักต้มตุ๋น ชาร์ลส์ พอนซี) ที่ไม่สามารถชำระหนี้หรือดอกเบี้ยได้ และต้องพึ่งพาการเพิ่มค่าของสินทรัพย์ (เช่นอสังหาริมทรัพย์) เพื่อปรับโครงสร้างหนี้

กล่าวกันว่าการกู้ยืมเพื่อเก็งกำไรนั้นเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์[22]

สินเชื่อความเสี่ยงสูง[แก้]

สินเชื่อซับไพรม์

สัดส่วนของสินเชื่อชั้นรองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากร้อยละ 5 (3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2537[23] ร้อยละ 9 ในปี 2539[24] ร้อยละ 13 (1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2542[23] จนถึงร้อยละ 20 (6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2549[24][25][26] งานวิจัยชิ้นหนึ่งของธนาคารกลางสหรัฐกล่าวว่าความแตกต่างเฉลี่ยของดอกเบี้ยสินเชื่อชั้นรองกับสินเชื่อชั้นหนึ่ง (หรือ "ค่าชดเชยความเสี่ยง") ลดลงจากร้อยละ 2.8 จุด (280 เบซิสพอยท์) ในปี 2544 เหลือร้อยละ 1.3 จุด ในปี 2550 ซึ่งหมายความว่าค่าชดเชยความเสี่ยงที่ผู้ปล่อยกู้ต้องการจากการปล่อยสินเชื่อชั้นรองนั้นลดลง แนวโน้มนี้เกิดขึ้นทั้งที่ผู้กู้ชั้นรองและลักษณะพิเศษของสินเชื่อนั้นลดลง (ซึ่งความจริงแล้วควรให้ผลตรงกันข้าม) ลักษณะแบบนี้จะเห็นได้บ่อยในวัฏจักรการเติบโตและการซบเซาของสินเชื่อ[27]

นอกเหนือจากผู้กู้ยืมความเสี่ยงสูงที่เพิ่มขึ้นแล้ว ผู้ปล่อยกู้ก็เสนอทางเลือกและสิ่งจูงใจของสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นด้วย เช่น สินเชื่อสำหรับผู้ไม่มีรายได้ ไม่มีงาน และไม่มีสินทรัพย์ หรือที่เรียกว่าสินเชื่อนินจา (NINJA: No Income, No Job and no Assets)[28] สินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยในช่วงแรกของการกู้ยืม และ ทางเลือกการจ่ายเงิน ที่ผู้กู้สามารถกำหนดจำนวนเงินที่จะชำระได้เอง แต่ดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้จ่ายจะถูกรวมเข้าไปในเงินต้น นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่าประมาณ 1 ใน 3 ของสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวที่ปล่อยกู้ในช่วง 2547 ถึง 2549 มีอัตราช่วงแรกต่ำกว่าร้อยละ 4 แต่เมื่อพ้นช่วงนั้นแล้วอัตราดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นสูงมากจนทำให้เงินที่ต้องชำระในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว[29]

การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์[แก้]

การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเงินแปลงรูป ซึ่งสินทรัพย์หรือตราสารทางการเงินอื่น ๆ ที่ได้รับมาจะถูกแยกออกเป็นกอง และนำเสนอเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการลงทุนแก่บุคคลที่สาม[30] การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เมื่อผนวกกับความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์จำนองค้ำประกัน (หรือ mortgage-backed security, MBS) และแนวโน้มที่บริษัทจัดอันดับยอมรับ MBS ว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการลงทุน ก็ทำให้สินเชื่อความเสี่ยงสูงสามารถถูกแปลงรูป และความเสี่ยงที่มีอยู่นั้นก็ถูกส่งผ่านออกไปยังนักลงทุน

ตามโมเดลสินเชื่อแบบดั้งเดิมนั้น ธนาคารจะเป็นผู้ออกสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ยืม (เจ้าของบ้าน) และเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงของเงินกู้ (การผิดนัดชำระเงิน) แต่เมื่อเริ่มใช้การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ โมเดลแบบเดิมก็กลายเป็นโมเดล "ปล่อยกู้เพื่อกระจายออก" ซึ่งความเสี่ยงของเงินกู้ถูกส่งต่อ (กระจาย) ไปยังนักลงทุน สัดส่วนของสินเชื่อชั้นรองที่ถูกแปลงเป็นหลักทรัพย์นั้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 75 ในปี 2549[27] อลัน กรีนสแปนกล่าวว่าสิ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติเครดิตทั่วโลกนั้นไม่ใช่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของผู้กู้ความเสี่ยงสูง แต่เป็นการแปลงสินเชื่อเหล่านั้นให้เป็นหลักทรัพย์ต่างหาก[31]

หลายคนเชื่อว่าการที่มาตรฐานการปล่อยกู้หละหลวมขึ้นนั้นเป็นเพราะปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรม ซึ่งทุกส่วนในแต่ละขั้นตอนของการปล่อยสินเชื่อนั้นเก็บเกี่ยวกำไรโดยเชื่อว่าตนส่งผ่านความเสี่ยงไปยังบุคคลอื่น[32]

การจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง[แก้]

การจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สูงเกินความเป็นจริงกระตุ้นให้การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อชั้นรองเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้น และเป็นการส่งเสริมทางการเงินให้ตลาดบ้านขยายตัว การจัดอันดับที่สูงขึ้นได้รับการยอมรับเพราะมีการเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การวางหลักทรัพย์ค้ำประกันสูงกว่าเงินกู้ และการประกันการผิดนัดชำระหนี้ นักวิจารณ์กล่าวว่าความขัดแย้งของผลประโยชน์มีส่วนเกี่ยวข้องการจัดอันดับที่ผิดพลาด เพราะบริษัทจัดอันดับได้รับเงินจากบริษัทที่จัดตั้งและขายหลักทรัพย์แก่นักลงทุน เช่นวาณิชธนกิจ[33]ในวันที่ 11 มิถุนายน 2551 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกาได้เสนอกฎเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของผลประโยชน์ที่เห็นได้ชัดระหว่างบริษัทจัดอันดับและผู้ออกหลักทรัพย์แปรรูป[34]

บริษัทจัดอันดับลดอันดับเครดิตของ MBS มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในระหว่างไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 จนถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ซึ่งส่งผลทำให้สถาบันทางการเงินต้องลดมูลค่า MBS ลงไปอีก สถาบันเหล่านี้จึงต้องหาเงินทุนเพิ่มเพื่อรักษาอัตราทุน และหากเพิ่มทุนด้วยวิธีออกหุ้นใหม่ก็จะทำให้ราคาหุ้นปัจจุบันลดลง หรือสรุปได้ว่าการลดอันดับความน่าเชื่อถือทำให้ MBS และราคาหุ้นลดลง[35]

นโยบายรัฐบาล[แก้]

นักวิจารณ์หลายคนให้ความเห็นว่าโครงสร้างกฎหมายในปัจจุบันนั้นล้าสมัย ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุชกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2551 ว่า "เมื่อวิกฤติครั้งนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายทางการเงินให้ทันสมัยขึ้น เศรษฐกิจในโลกยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 ยังคงถูกควบคุมโดยกฎหมายยุคศตวรรษที่ 20 ที่ล้าสมัย เมื่อไม่นานนี้เราก็ได้เห็นการที่บริษัทขยายตัวขนาดใหญ่มากจนความล้มเหลวของมันทำให้ระบบการเงินทั้งระบบเป็นอันตรายได้"[36] สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกายอมรับว่าการควบคุมตนเองของของวาณิชธนกิจมีส่วนทำให้เกิดวิกฤติครั้งนี้ขึ้น[37][38]

นโยบายของธนาคารกลาง[แก้]

ผลกระทบและช่วงขาลงของตลาดการเงินปี พ.ศ. 2550 - 2551[แก้]

ช่วงขาลงของภาคการเงิน[แก้]

ในเดือนสิงหาคม 2551 สถาบันการเงินทั่วโลกมียอดขาดทุนและการลดค่าทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อซับไพรม์เกินกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ[39] กำไรของธนาคารสหรัฐ 8,533 แห่งที่รับรองโดยบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐลดลงจาก 3.52 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2549 เหลือเพียง 646 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ซึ่งเป็นผลมาจากการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และนับเป็นผลประกอบการที่แย่ที่สุดตั้งแต่ปี 2533 ตลอดปี 2550 ธนาคารเหล่านี้มีกำไรประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงประมาณร้อยละ 31 จาก 1.45 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นผลกำไรที่สูงเป็นสถิติในปี 2549 กำไรในไตรมาสแรกของปี 2551 คือ 1.93 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า[40][41]

ภาคการเงินเริ่มรับรู้ถึงผลของวิกฤติในครั้งนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ด้วยการขาดทุนถึง 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ของเอชเอสบีซี ซึ่งเป็นประกาศแรกของการขาดทุนจากซีดีโอหรือเอ็มบีโอ[42] ตลอดปี 2550 บริษัทสินเชื่อมากกว่า 100 แห่งถูกปิด พักกิจการ หรือถูกขายต่อ[43] ผู้บริหารระดับสูงก็โดนผลกระทบด้วย เช่นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเมอร์ริล ลินช์และซิตีกรุ๊ปลาออกห่างกันไม่ถึงสัปดาห์[44] สถาบันอื่น ๆ ก็ต้องควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอด[45]

ตลาดอ่อนตัวและผลกระทบ[แก้]

วิกฤติซับไพรม์ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในภาคการเงินและทำให้นักลงทุนพากันถอนเงินออกจากพันธบัตรที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและหุ้นที่มีราคาไม่แน่นอน และนำไปเก็บสะสมในรูปของสินค้าโภคภัณฑ์แทน[46] การเก็งกำไรในราคาล่วงหน้าของสินค้าต่าง ๆ หลังจากตลาดอนุพันธ์ล่ม ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติราคาอาหารโลกและภาวะน้ำมันขึ้นราคา[47][48] นักเก็งกำไรที่ต้องการผลตอบแทนในระยะสั้นถอนเงินจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์จากหุ้นและพันธบัตร และนำบางส่วนไปลงทุนในอาหารและวัตถุดิบต่าง ๆ[49]

ประมาณกลางปี 2551 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญทั้งสาม (ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์, NASDAQ และ S&P 500) เข้าสู่ภาวะตลาดหมี ในวันที่ 15 กันยายน 2551 ความกังวลใจต่าง ๆ เกี่ยวกับตลาดการเงินเป็นสาเหตุทำให้ดัชนีตกมากที่สุดตั้งแต่เหตุการณ์วินาศกรรมในปี 2544 เหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุหลักคือการประกาศล้มละลายของวาณิชธนกิจ เลห์แมน บราเตอร์ส นอกจากนี้ เมอร์ริล ลินช์ยังถูกบังคับให้รวมกิจการกับธนาคารแบงก์ออฟอเมริกาด้วยมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และความกังวลใจเกี่ยวกับสภาพคล่องของเอไอจีทำให้มูลค่าในตลาดหุ้นตกลงมากกว่าร้อยละ 60 ในวันนั้น[50]

ผลกระทบทางอ้อม[แก้]

วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบกับสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหลายอย่าง จีดีพีของสหรัฐอเมริกาถูกประเมินว่าจะหดตัวลงร้อยละ 5.5 ต่อปีในระหว่างไตรมาสที่สี่ของปี พ.ศ. 2551 นายจ้างเลิกจ้างกว่า 2.6 ล้านตำแหน่งระหว่างปี 2551 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 ในเดือนกันยายน 2551 จำนวนคนตกงานในสาขาการเงินสูงถึง 65,400 คนในสหรัฐ[51] อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจนถึงร้อยละ 7.2 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 16 ปี[52]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Episode 06292007". Bill Moyers Journal. June 29, 2007. PBS. Transcript June 29, 2007.
  2. Justin Lahart (December 24, 2007). "Egg Cracks Differ In Housing, Finance Shells". WSJ.com. Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ July 13, 2008.
  3. "U.S. FORECLOSURE ACTIVITY INCREASES 75 PERCENT IN 2007". realtytrac.com. RealtyTrac Inc. 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-25. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
  4. "Merrill Lynch Posts Fourth Straight Quarterly Loss". Bloomberg.com. 2008-07-17.
  5. Yalman Onaran (2008-05-19). "Subprime Losses Top $379 Billion on Balance-Sheet Marks: Table". Bloomberg.com. Bloomberg L.P. สืบค้นเมื่อ 2008-06-04.
  6. "FT.com / Video & Audio / Interactive graphics - Credit squeeze explained". 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
  7. Joseph Stiglitz (2008-09-17). "Commentary: How to prevent the next Wall Street crisis". CNN.
  8. "President Bush's Address to Nation".
  9. "CENSUS BUREAU REPORTS ON RESIDENTIAL VACANCIES AND HOMEOWNERSHIP" (PDF). U.S. Census Bureau. 26 October 2007.
  10. "Housing Affordability Hits 14-Year Low". 2005-12-23.
  11. "CSI: credit crunch". The Economist. 2007-10-18. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
  12. "America's economy". The Economist. 2007-11-15. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
  13. "Negative Equity". The New York Times. 2008-02-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  14. "New home sales fell by record amount in 2007 - Real estate - MSNBC.com". 2008-01-31. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  15. "Housing Meltdown". Business Week. 2008-01-31. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  16. "Case Shiller Index May 2008" (PDF).
  17. "Speculation statistics". CNNMoney.com. 2007-04-30.
  18. "Speculative flipping". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-07. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  19. "Speculation Risks". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-07. สืบค้นเมื่อ 2008-10-10.
  20. "www.dailyreckoning.co.uk/economic-forecasts/hyman-minsky-why-is-the-economist-suddenly-popular.html". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-07. สืบค้นเมื่อ 2008-10-10.
  21. "mises.org/story/2787". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-11. สืบค้นเมื่อ 2008-10-10.
  22. LOUIS UCHITELLE (October 26, 1996). "H. P. Minsky, 77, Economist Who Decoded Lending Trends". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-09-26.
  23. 23.0 23.1 "Warning signs of a bad home loan (Page 2 of 2)". 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
  24. 24.0 24.1 "NPR: Economists Brace for Worsening Subprime Crisis". 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
  25. "FRB: Speech-Bernanke, Fostering Sustainable Homeownership-14 March 2008".
  26. "FRB: Speech-Bernanke, Fostering Sustainable Homeownership". Federalreserve.gov. March 14, 2008. สืบค้นเมื่อ October 26, 2008.
  27. 27.0 27.1 Demyanyk, Yuliya; Van Hemert, Otto (2008-08-19). "Understanding the Subprime Mortgage Crisis". Working Paper Series. Social Science Electronic Publishing. สืบค้นเมื่อ 2008-09-18.
  28. "'Ninja' loans explode on sub-prime frontline". Telegraph.co.uk. 2008-09-22.
  29. "NPR: Economists Brace for Worsening Subprime Crisis". 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
  30. Black's Law Dictionary (7th ed)
  31. "Greenspan sees signs of credit crisis easing - Stocks & economy - MSNBC.com". 2007-10-02. สืบค้นเมื่อ 2008-10-15.
  32. Lewis, Holden (18 April 2007). "'Moral hazard' helps shape mortgage mess". Bankrate.com.
  33. "Credit and blame". Economist.com. 2007-09-06.
  34. "SEC Proposes Comprehensive Reforms to Bring Increased Transparency to Credit Rating Process". 6 Nov 2008. สืบค้นเมื่อ 6 Nov 2008.
  35. "Fortune Article". CNNMoney.com.
  36. "President's Address to the Nation September 2008".
  37. "SEC Concedes Oversight Flaws". The New York Times. 2008-09-26.
  38. "The Reckoning". The New York Times. 2008-10-02.
  39. "Banks' Subprime Losses Top $500 Billion on Writedowns (Update1)".
  40. "FDIC Quarterly Profile Q1 08" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-06-07. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  41. "FDIC Profile FY 2007 Pre-Adjustment" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-06-07. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  42. "Timeline: Sub-prime losses". BBC NEWS.
  43. "Wall Street Firms Cut 34,000 Jobs, Most Since 2001 Dot-Com Bust". Bloomberg.com.
  44. "Prince out as Citigroup CEO; more writedowns disclosed - Nov. 4, 2007". 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
  45. "Similar deals expected to follow Countrywide sale". Mark McSherry. Reuters. 2008-01-11. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
  46. "The cost of food: Facts and figures". BBC News.
  47. "Speculation is pushing up oil prices".
  48. "Mother of all bubbles prepares to burst".
  49. "The trading frenzy that sent prices soaring". New Statesman. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-21. สืบค้นเมื่อ 2008-04-28.
  50. "Pain Continues on Wall Street as Lehman Goes Bankrupt, and Merrill Sold to BofA". ABC News. 2008-09-15.
  51. "More layoffs coming to Wall Street - Sep. 15, 2008". Money.cnn.com. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  52. Bloomberg-Summers Says Economy Entering Difficult Time

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]