วิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วอลล์สตรีตระหว่างความตื่นตระหนกในเดือนตุลาคม 1907

วิกฤตการเงินปี 1907 (อังกฤษ: Panic of 1907) หรือวิกฤตนิกเกอร์บอกเกอร์ เป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงสามสัปดาห์เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม เมื่อตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กลดลงเกือบ 50% ของมูลค่าสูงสุดในปีก่อนหน้า เกิดความตื่นตระหนกเนื่องจากขณะนั้นอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีการแห่ถอนเงินจากธนาคารและบริษัททรัสต์ต่าง ๆ สุดท้ายวิกฤตการเงินปี 1907 ลามไปทั่วประเทศเมื่อธนาคารและธุรกิจระดับรัฐและท้องถิ่นจำนวนมากล้มละลาย สาเหตุหลักของการแห่ถอนเงิน ได้แก่ ธนาคารในนครนิวยอร์กจำนวนหนึ่งลดสภาพคล่องของตลาดและผู้ฝากเสียความเชื่อมั่น ซึ่งแย่ลงเมื่อมีการพนันโดยไม่มีการวางระเบียบในตลาดมืดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย[1] วิกฤตครั้งนี้มีชนวนจากเหตุที่บริษัทยูไนเต็ดคอปเปอร์พยายามควบคุมราคาหุ้นในเดือนตุลาคม 1907 แต่ล้มเหลว เมื่อความพยายามล้มเหลว ธนาคารซึ่งให้ยืมเงินเพื่อดำเนินแผนควบคุมราคานี้ก็ถูกผู้ฝากแห่ถอนเงินออกเป็นจำนวนมาก ที่ภายหลังแพร่ไปธนาคารและบริษัททรัสต์ในเครือเช่นกัน จนทำให้ในสัปดาห์ต่อมานิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ ซึ่งเป็นบริษัททรัสต์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของนครนิวยอร์กล้ม การล่มสลายของนิกเกอร์บอกเกอร์ทำให้ความหวาดกลัวกระจายไปทั่วบริษัททรัสต์ในนครเพราะธนาคารภูมิภาคต่าง ๆ พากันถอนเงินสดสำรองออกจากธนาคารในนครนิวยอร์ก ความตื่นตระหนกกระจายต่อไปทั่วประเทศเมื่อคนจำนวนมากพากันถอนเงินฝากออกจากธนาคารภูมิภาคของตนด้วย

ความตระหนกดังกล่าวอาจทวีความรุนแรงกว่านี้ถ้าไม่ได้นักการเงิน เจ. พี. มอร์แกน เข้าแทรกแซง เขาใช้เงินส่วนตัวจำนวนมากเข้าอุ้มระบบธนาคาร และเกลี้ยกล่อมให้นายธนาคารอื่น ๆ ในนครนิวยอร์กให้ทำเช่นเดียวกัน เหตุการณ์นี้เน้นความสำคัญของระบบการคลังอิสระของประเทศซึ่งจัดการปริมาณเงินของประเทศ แต่ไม่สามารถอัดฉีดสภาพคล่องกลับเข้าตลาดได้ ในเดือนพฤศจิกายน โรคระบาดทางการเงินส่วนใหญ่สงบลงแล้ว แต่ยังเกิดวิกฤตขนาดกว่าขึ้น สืบเนื่องจากบริษัทนายหน้าขนาดใหญ่ที่ใช้หุ้นของบริษัทเทนเนสซีโคล, ไอออนแอนด์เรลโรด (TC&I) เป็นหลักทรัพย์ประกัน การล้มของราคาหุ้นของ TC&I ถูกปัดป้องเมื่อบริษัทยูเอสสตีลของมอร์แกนเข้าซื้อกิจการฉุกเฉิน ซึ่งประธานาธิบดีทีโอดอร์ รูสเวลต์ผู้ต่อต้านการผูกขาดยอมรับ ปีต่อมา เนลสัน ดับเบิลยู. อัลดริช สมาชิกวุฒิสภา ก่อตั้งและเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนวิกฤตและ

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ[แก้]

แผ่นดินไหวที่ซานฟรานซิสโกปี 1906 ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ และทำให้ระบบธนาคารแห่งชาติอ่อนแอลงไปยิ่งกว่าเดิม

เมื่อประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสันปล่อยให้กฎบัตรจัดตั้งธนาคารที่สองแห่งสหรัฐหมดอายุลงในปี 1836 สหรัฐไม่เหลือหน่วยงานธนาคารกลางใด และปริมาณเงินหมุนเวียนในนครนิวยอร์กมีความผันผวนตามวงจรการเกษตรประจำปีของประเทศ ในฤดูใบไม้ร่วง เงินจะไหลออกจากนครเพื่อไปซื้อผลผลิต และมีการปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อพยายามดึงเงินกลับ นักลงทุนต่างชาติมักส่งเงินมาไปนิวยอร์กเพื่อทำกำไรจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า[2] ตั้งแต่เดือนมกราคม 1906 ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ที่อยู่ที่ระดับสูงถึง 103 จุดก็เริ่มค่อย ๆ ปรับฐาน ซึ่งใช้เวลาตลอดทั้งปี ในเดือนเมษายน 1906 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ซึ่งทำลายซานฟรานซิสโกทำให้เศรษฐกิจผันผวน และยิ่งมีเงินจำนวนมากไหลออกจากนิวยอร์กมากขึ้นไปซานฟรานซิสโกเพื่อช่วยบูรณะ[3][4] แรงตึงเครียดต่อปริมาณเงินหมุนเวียนเกิดขึ้นอีกในปลายปี 1906 เมื่อธนาคารแห่งอังกฤษขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองต่อการที่บริษัทประกันภัยสหราชอาณาจักรจ่ายเงินจำนวนมากให้กับผู้ถือกรมธรรม์สหรัฐ และมีเงินคงค้างอยู่ในกรุงลอนดอนมากกว่าที่คาด[5] ในเดือนกรกฎาคม 1906 ราคาหุ้นตกลงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในเดือนมกราคม ปลายเดือนกันยายน หุ้นฟื้นมูลค่าประมาณครึ่งหนึ่งของส่วนที่หายไป

รัฐบัญญัติเฮปเบิร์นซึ่งมอบอำนาจแก่คณะกรรมการพาณิชย์ระหว่างรัฐ (Interstate Commerce Commission, ICC) ในการกำหนดเพดานราคาอัตราค่าบริการรถไฟนั้นเริ่มมีใช้ผลบังคับในปี 1906[6] ซึ่งส่งผลให้หลักทรัพย์ในกลุ่มรถไฟมีมูลค่าลดลง[7] ระหว่างเดือนกันยายน 1906 และมีนาคม 1907 ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.7 ของมูลค่าตลาด[8] ระหว่างวันที่ 9 ถึง 26 มีนาคม ดัชนีลดลงอีกร้อยละ 9.8[9] (การที่หุ้นปรับตัวลงอย่างมากในเดือนมีนาคมนี้บางทีเรียก "ความตระหนกของเศรษฐี")[10] เศรษฐกิจยังคงมีความผันผวนตลอดฤดูร้อน มีเหตุการณ์หลายอย่างที่สร้างความตกใจขึ้นในระบบ เช่นหุ้นของยูเนียนแปซิฟิก ซึ่งเป็นหุ้นที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันมากที่สุดตัวหนึ่ง ลดค่าลงถึง 50 จุด, ในเดือนมิถุนายนการเสนอขายพันธบัตรของนครนิวยอร์กล้มเหลว, ในเดือนกรกฎาคมตลาดทองแดงล้มลง, ในเดือนสิงหาคม บริษัทสแตนดาร์ดออยถูกปรับเป็นเงิน 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพราะฝ่าฝืนกฎหมายห้ามผูกขาด[10] ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 1907 หุ้นลดค่าลงถึงร้อยละ 24.4[11]

วันที่ 27 กรกฎาคม หนังสือพิมพ์ เดอะคอมเมอเชียลแอนด์ไฟแนนเชียลโครนิเคิล กล่าวว่า "ตลาดยังไม่มั่นคง... ทันทีที่สัญญาณเปล่านี้ปรากฏชัด เหตุการณ์เช่นการที่ทองคำรั่วไหลไปกรุงปารีสก็ส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนไปทั่วตลาด และการเพิ่มมูลค่าและความหวังก็มลายหายไป"[12] มีการแห่ถอนเงินเกิดขึ้นหลายแห่งนอกสหรัฐในปี 1907 เช่น ในประเทศอียิปต์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม, ในประเทศญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน, ในฮัมบวร์คและประเทศชิลีในต้นเดือนตุลาคม[6] ฤดูใบไม้ร่วงมักเป็นช่วงเวลาที่ระบบธนาคารอ่อนแอ เมื่อรวมกับความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว แรงช็อคเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมาได้[5]

ความตื่นตระหนก[แก้]

ลำดับเหตุการณ์ของวิกฤตในนครนิวยอร์ก[13]
วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม
ออตโต ไฮนซ์ เริ่มซื้อหุ้นของยูไนเต็ดคอปเปอร์เพื่อควบคุมตลาด
วันพุธที่ 16 ตุลาคม
การควบคุมตลาดของไฮนซ์ล้มเหลวอย่างไม่คาดฝัน กรอสแอนด์คลีเบิร์ก บริษัทนายหน้าของไฮนซ์ถูกปิดกิจการ วันนี้เป็นวันที่ถูกเรียกว่าวันที่การควบคุมตลาดพลาด
วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม
ตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามออตโต ไฮนซ์ แอนด์คอมพานีซื้อขาย ธนาคารออมทรัพย์แห่งบัตต์ รัฐมอนแทนา ซึ่งเป็นของออกุสตุส ไฮนซ์ ประกาศว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ ออกุสตุสถูกบังคับให้ลาออกจากธนาคารแห่งชาติเมอร์แคนทีล ผู้คนเริ่มแห่ถอนเงินออกจากธนาคารของออกุสตุสและชาลส์ ดับเบิลยู. มอส ผู้สมคบคิดกับเขา
วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม
สำนักงานหักบัญชีนิวยอร์กบังคับให้ออกุสตุสและมอสลาออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับธนาคารทั้งหมด
วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม
ชาลส์ ที. บาร์นีถูกบังคับให้ลาออกจากบริษัทนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ เพราะเขามีความเชื่อมโยงกับมอสและไฮนซ์ ธนาคารพาณิชย์แห่งชาติประกาศว่าจะไม่ทำหน้าที่หักบัญชีให้นิกเกอร์บอกเกอร์
วันอังคารที่ 22 ตุลาคม
ประชาชนแห่ถอนเงินจนนิกเกอร์บอกเกอร์ต้องหยุดให้บริการ
วันพุธที่ 23 ตุลาคม
เจ. พี. มอร์แกน โน้มน้าวให้ประธานบริษัททรัสต์อื่น ๆ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัททรัสต์แห่งอเมริกา ทำให้ไม่ล้ม
วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม
จอร์จ บี. คอร์เทลยู รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ตกลงฝากเงินของรัฐเข้าธนาคารในนิวยอร์ก มอร์แกนชักจูงให้ประธานธนาคารต่าง ๆ นำเงิน 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กช่วยให้ไม่ต้องปิดตลาดก่อนเวลา
วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม
ตลาดหลักทรัพย์รอดวิกฤตได้อย่างหวุดหวิดไปอีกวัน
วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม
นครนิวยอร์กแจ้งจอร์จ เพอร์กินส์ เพื่อนของมอร์แกน ว่าถ้าเขาไม่สามารถระดมเงิน 20–30 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน นครจะไม่สามารถชำระหนี้ได้
วันอังคารที่ 29 ตุลาคม
มอร์แกนซื้อพันธบัตรของนครนิวยอร์กมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยอุ้มไม่ให้ล้มละลาย
วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน
มัวร์แอนด์สไล บริษัทนายหน้าขนาดใหญ่ เกือบล้มละลายเพราะกู้เงินโดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นหุ้นของบริษัทเทนเนสซีโคล, ไอออนแอนด์เรลโรด (TC&I) ซึ่งขณะนั้นราคาผันผวนมาก มีการเสนอให้ยูเอสสตีลซื้อ TC&I
วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน
แผนการควบรวมกิจการระหว่างยูเอสสตีลกับ TC&I เสร็จสมบูรณ์
วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน
ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ อนุมัติแผนยูเอสสตีลซื้อ TC&I แม้จะมีความกังวลเรื่องการผูกขาดกิจการ
วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน
ตลาดปิดเนื่องจากเป็นวันเลือกตั้ง (แต่ในปีนั้นไม่มีการจัดการเลือกตั้งกลาง)
วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน
ยูเอสสตีลซื้อ TC&I เสร็จสิ้น ตลาดเริ่มฟื้นตัว ไม่มีการแห่ถอนเงินจากบริษัททรัสต์อีก

ควบคุมหุ้นทองแดง[แก้]

ความตื่นตระหนกในปี 1907 เริ่มต้นจากแผนการปั่นหุ้นของเอฟ. ออกุสตุส ไฮนส์เพื่อควบคุมตลาดในบริษัทยูไนเต็ดคอปเปอร์ ไฮนส์สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจทองแดงในบัตต์ รัฐมอนแทนา ในปี 1906 เขาย้ายมานครนิวยอร์กและเริ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาลส์ ดับเบิลยู. มอส นายธนาคารวอลล์สตรีทผู้มีชื่อเสียงในด้านลบ มอสเคยควบคุมตลาดน้ำแข็งของนครนิวยอร์กสำเร็จ และเข้าควบคุมธนาคารหลายแห่งร่วมกับไฮนซ์ ทั้งคู่มีตำแหน่งในธนาคารแห่งชาติ 6 แห่ง ธนาคารรัฐ 10 แห่ง บริษัททรัสต์ 5 รัฐ และบริษัทประกันภัย 4 แห่ง เป็นอย่างน้อย[14]

ความตื่นตระหนกเริ่มต้นขึ้นที่ฟุตบาทนอกตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กซึ่งเป็นสถานที่ซื้อขายหุ้นที่คึกคัก ภายหลังตลาดบนฟุตบาทแห่งนี้ได้กลายเป็นตลาดหลักทรัพย์อเมริกัน

ออตโต ซึ่งเป็นพี่น้องของออกุสตุส วางแผนที่จะควบคุมราคาหุ้นยูไนเต็ดคอปเปอร์ โดยเชื่อว่าครอบครัวไฮนส์ครอบครองหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่แล้ว และเขายังเชื่ออีกว่าหุ้นของครอบครัวไฮนส์จำนวนมากถูกยืมและขายชอร์ตโดยนักเก็งกำไรซึ่งพนันว่าราคาหุ้นจะตกลง และพวกเขาจะได้ซื้อหุ้นคืนในราคาถูกลงเพื่อทำกำไรจากส่วนต่าง ออตโตเสนอบีบสถานะชอร์ต โดยที่พวกไฮนส์จะกว้านซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ให้มากที่สุด แล้วบีบบังคับให้ผู้ยืมหุ้นคืนหุ้นที่ยืมไป การกว้านซื้อหุ้นจะทำให้ราคาดีดตัวสูงขึ้น และเมื่อผู้ยืมหุ้นไม่สามารถหาหุ้นมาคืนจากแหล่งอื่นได้ พวกเขาก็ต้องกลับมาหาพวกไฮนส์ ซึ่งสามารถตั้งราคาได้ตามใจชอบ [15]

ออตโต, ออกุสตุส และชาลส์ มอส พบกับชาลส์ ที. บาร์นีย์ ประธานของนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ ซึ่งเป็นทรัสต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของนคร เพื่อหาจัดหาเงินทุนตามแผน บาร์นีย์เคยสนับสนุนเงินในแผนของมอสครั้งก่อน มอสเตือนออตโตว่าเขาต้องใช้เงินมากกว่าที่บาร์นีย์มีอีกมากเพื่อบีบสถานะชอร์ต และบาร์นีย์ปฏิเสธการจัดหาเงินทุน[16] อย่างไรก็ดี ออตโตเดินหน้าควบคุมตลาดต่อไปเช่นเดิม วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม เขาเริ่มกว้านซื้อหุ้นของยูไนเต็ดคอปเปอร์จนทำให้ราคาพุ่งขึ้นจาก 39 ดอลลาร์ต่อหุ้นเป็น 52 ดอลลาร์ต่อหุ้นภายในวันเดียว ในวันอังคาร (15 ตุลาคม) เขาเรียกหุ้นที่ถูกยืมไปกลับคืนจากผู้ยืมหุ้นเพื่อขายชอร์ต ราคาหุ้นพุ่งขึ้นต่อจนเกือบ 60 ดอลลาร์ แต่ผู้ขายชอตสามารถหาหุ้นยูไนเต็ดคอปเปอร์จำนวนมากได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากพวกไฮนส์ ออตโตอ่านตลาดผิด และราคาของหุ้นยูไนเต็ดคอปเปอร์ก็ดิ่งเหว[17]

หุ้นปิดที่ราคา 30 ดอลลาร์สหรัฐในวันอังคาร และลงไปแตะ 10 ดอลลาร์สหรัฐในวันพุธ (16 ตุลาคม) ออตโต ไฮนส์ล้มละลาย หุ้นของยูไนเต็ดคอปเปอร์มีการซื้อขายกันนอกโถงของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ในตลาดกลางแจ้ง "บนฟุตบาท" (ซึ่งตลาดบนฟุตบาทนี้ภายหลังกลายเป็นตลาดหลักทรัพย์อเมริกัน) หลังตลาดล้ม เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า “ไม่เคยมีเหตุการณ์ที่วุ่นวายขนาดนี้มาก่อนบนฟุตบาท ผู้เชี่ยวชาญที่เก่าแก่ที่สุดในตลาดนอกก็กล่าวอย่างเดียวกัน”[18]

ความตระหนกแพร่ขยาย[แก้]

การควบคุมตลาดที่ล้มเหลวของออตโตทำให้เขาไม่สามารถชำระหนี้ได้ และทำให้กรอสแอนด์กลีเบิร์ก บริษัทนายหน้าของเขาล้มละลาย วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กยกเลิกเอกสิทธิ์ซื้อขายของออตโต เมื่อยูไนเต็ดคอปเปอร์ล้ม ธนาคารออมทรัพย์แห่งบัตต์ รัฐมอนแทนา (ซึ่งเอฟ. ออกุสตุส ไฮนส์ เป็นเจ้าของ) ก็ประกาศล้มละลาย ธนาคารมอนแทนาถือหุ้นยูไนเต็ดคอปเปอร์เป็นหลักทรัพย์ประกันในการปล่อยกู้ และเป็นธนาคารตัวแทนของธนาคารเมอร์แคนทีลในนิวยอร์ก ซึ่งมีเอฟ. ออกุสตุส ไฮนส์ เป็นประธานในขณะนั้น

ความเกี่ยวข้องของเอฟ. ออกุสตุส ไฮนส์กับความพยายามควบคุมตลาดและการล้มละลายของธนาคารออมทรัพย์แห่งรัฐนั้นเป็นเรื่องที่คณะกรรมการของธนาคารเมอร์แคนทีลรับไม่ได้ แต่แม้พวกเขาบังคับให้ออกุสตุสลาออกก่อนเที่ยงวัน[19] ถึงเวลานั้นก็สายไปแล้ว เมื่อข่าวตลาดล้มแพร่ออกไป ผู้ฝากเงินรีบแห่กันมาถอนเงินออกจากธนาคารแห่งชาติเมอร์แคนทีล ธนาคารเมอร์แคนทีลมีทุนมากพอทนการถอนเงินได้หลายวัน แต่ผู้ฝากเงินเริ่มถอนเงินออกจากธนาคารของชาลส์ ดับเบิลยู. มอส เพื่อนของครอบครัวไฮนส์ ผู้คนแห่ถอนเงินจากธนาคารแห่งชาตินอร์ทอเมริกา และเดอะนิวอัมสเตอร์ดัมเนชันแนล สำนักงานหักบัญชีนิวยอร์ก (สหพันธ์ธุรกิจการเงินของธนาคารในนคร) บังคับให้มอสและไฮนส์ลาออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับธนาคารทั้งหมดเพราะกลัวว่าชื่อเสียงที่แปดเปื้อนของทั้งสองจะส่งผลกระทบต่อระบบธนาคาร[20] สุดสัปดาห์หลังการควบคุมตลาดล้มเหลวยังไม่เกิดความตื่นตระหนกอย่างเป็นระบบ มีการถอนเงินจากธนาคารที่เกี่ยวข้องกับพวกไฮนส์เอาไปฝากไว้ที่ธนาคารอื่นในนครเท่านั้น[21]

หนึ่งสัปดาห์ถัดมา ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาคหลายแห่งทั่วประเทศปิดหรือจำกัดการซื้อขาย ตัวอย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์ของนครพิตต์สเบิร์กปิดสามเดือนเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 1907[22]

ลุกลามไปถึงทรัสต์[แก้]

ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1900 บริษัททรัสต์กำลังเฟื่องฟู ในทศวรรษก่อนปี 1907 สินทรัพย์ของบริษัททรัสต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 244 ซึ่งในช่วงเดียวกันสินทรัพย์ของธนาคารแห่งชาติเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 97 และของธนาคารแห่งรัฐในนิวยอร์กเพิ่มขึ้นร้อยละ 82[23] เหล่าผู้นำทรัสต์ที่กำลังเฟื่องฟูกลายเป็นสมาชิกสำคัญของแวดวงการเงินและสังคมของนิวยอร์ก หนึ่งในนั้นคือชาลส์ ที. บาร์นีย์ เขาเป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดคนหนึ่ง และเป็นน้องเขยของวิลเลียม คอลลินส์ วิทนีย์ นักการเงินชื่อดัง บาร์นีย์เป็นประธานนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ ซึ่งเป็นทรัสต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามในนิวยอร์ก[24]

สำนักงานใหญ่ของนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์

เนื่องจากบาร์นีย์มีความเกี่ยวข้องในอดีตกับชาลส์ ดับเบิลยู. มอส และเอฟ. ออกุสตุส ไฮนส์ ในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม คณะกรรมการนิกเกอร์บอกเกอร์จึงขอให้บาร์นีย์ลาออก (ผู้ฝากเงินอาจเริ่มถอนเงินออกจากนิกเกอร์บอกเกอร์ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม จึงทำให้เกิดความกังวลนี้ขึ้น)[25] วันเดียวกันนั้นเอง ธนาคารพาณิชย์แห่งชาติซึ่งเจ. พี. มอร์แกนเป็นปัจจัยเด่น ประกาศว่าจะไม่หักบัญชีให้นิกเกอร์บอกเกอร์ ในวันที่ 22 ตุลาคม นิกเกอร์บอกเกอร์ผชิญกับการแห่ถอนเงินคลาสสิก ฝูงชนเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ธนาคารเปิด เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า "ทันทีที่ผู้ถอนเงินเดินออกไปหนึ่งคน อีกสิบกว่าคนก็เข้ามาขอถอนเงิน [และตำรวจ]ถูกขอให้ส่งคนมาดูแลความเรียบร้อย"[26] ธนบัตรเต็มสองคันรถตู้ถูกถ่ายมาอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่ทำให้ผู้ฝากเงินผู้ตื่นตระหนกสงบลงได้ ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่คนอื่นของทรัสต์พยายามแทรกตัวเข้ากับฝูงชนเพื่อรับรองพวกเขาว่าทุกคนจะได้เงิน ในเวลาไม่ถึงสามชั่วโมง นิกเกอร์บอกเกอร์ถูกถอนเงินไป 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นไม่นานในตอนบ่ายบริษัทก็ต้องหยุดให้บริการ[27]

เมื่อข่าวกระจายออกไป ธนาคารและทรัสต์อื่น ๆ ไม่เต็มใจให้กู้ยืมเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับนายหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ทำให้นายหน้าหาเงินไม่ได้ และราคาหุ้นตกลงไปต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฏตั้งแต่เดือนธันวาคม 1900[28] ความตระหนกลุกลามไปยังทรัสต์ขนาดใหญ่อีกสองแห่ง (บริษัททรัสต์แห่งอเมริกาและลินคอนทรัสต์) อย่างรวดเร็ว จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม มีสถาบันทางการเงินหลายแห่งโดนผลกระทบเป็นลูกโซ่ อันได้แก่ ธนาคารทเวลธ์วาร์ด (Twelfth Ward Bank), ธนาคารออมทรัพย์เอ็มไพร์ซิตี (Empire City Savings Bank), ธนาคารแฮมิลตันนิวยอร์ก (Hamilton Bank of New York), ธนาคารแห่งชาติแรกบรุกลิน (First National Bank of Brooklyn), บริษัททรัสต์ระหว่างประเทศนิวยอร์ก (International Trust Company of New York), บริษัททรัสต์วิลเลียมสเบิร์กบรุกลิน (Williamsburg Trust Company of Brooklyn), ธนาคารโบโรห์บรุกลิน (Borough Bank of Brooklyn), บริษัททรัสต์เจนคินส์บรุกลิน (Jenkins Trust Company of Brooklyn) และบริษัทยูเนียนทรัสต์พรอวิเดนซ์ (Union Trust Company of Providence)[29]

เจ. พี. มอร์แกน[แก้]

เจ. พี. มอร์แกน นายธนาคารเด่นในนครนิวยอร์ก ผู้เคยช่วยเหลือกระทรวงการคลังสหรัฐในช่วงวิกฤตปี 1893

ขณะที่ความโกลาหลเริ่มทำให้ความน่าเชื่อถือของธนาคารในนิวยอร์กสั่นคลอน เจ. พี. มอร์แกน นายธนาคารผู้มีชื่อเสียงที่สุดและประธานเจ. พี. มอร์แกนแอนด์โค. อยู่ระหว่างการประชุมโบสถ์ในริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย มอร์แกนไม่ได้เป็นเพียงนายธนาคารที่ร่ำรวยและมีเครือข่ายกว้างขวางที่สุดเท่านั้น แต่ยังเคยมีประสบการณ์รับมือกับวิกฤตอื่นที่คล้ายกันมาแล้วด้วย เขาเคยช่วยกระทรวงการคลังสหรัฐในช่วงวิกฤต ค.ศ. 1893 เมื่อรวบรวมข่าววิกฤตครั้งนี้ เขาจึงกลับมาวอลล์สตรีทในคืนวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม เช้าวันรุ่งขึ้นห้องสมุดของเขาบนถนนแมดิสันและถนนหมายเลข 36 ก็กลายเป็นที่รวมตัวของประธานธนาคารและประธานบริษัททรัสต์ในนครนิวยอร์กเพื่อมาแลกเปลี่ยนสารสนเทศ (และขอความช่วยเหลือเพื่อเอาตัวรอดจาก) วิกฤตที่กำลังก่อตัวขึ้น[30][31]

มอร์แกนและผู้เข้าร่วมตรวจสอบบัญชีของบริษัทนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ และตัดสินใจว่าบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ จึงไม่ได้แทรกแซงเพื่อหยุดการแห่ถอนเงิม ทว่า การล้มของนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ทำให้เกิดการแห่ถอนเงินแม้แต่จากบริษัททรัสต์ที่ยังมั่นคงดี มอร์แกนจึงรับผิดชอบปฏิบัติการช่วยเหลือ บ่ายวันอังคารที่ 22 ตุลาคม ประธานบริษัททรัสต์แห่งอเมริกาขอความช่วยเหลือจากมอร์แกน เย็นวันนั้น มอร์แกนประชุมกับจอร์จ เอฟ. เบเคอร์ ประธานของธนาคารแห่งชาติที่หนึ่ง, เจมส์ สติลแมน ประธานของธนาคารซิตีแห่งชาตินิวยอร์ก (ซึ่งภายหลังกลายเป็นซิตี้แบงก์) และจอร์จ บี. คอร์เทลยู รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ คอร์เทลยูกล่าวว่าเขาพร้อมฝากเงินของรัฐบาลเข้าธนาคารเพื่อช่วยค้ำเงินฝาก หลังการสอบบัญชีข้ามคืนของบริษัททรัสต์แห่งอเมริกาแสดงว่าสถาบันยังมั่นคงดี บ่ายวันพุธ มอร์แกนประกาศว่า "เช่นนั้นนี่จะเป็นที่ที่หยุดปัญหา"[32]

เมื่อการแห่ถอนเงินจากบริษัททรัสต์แห่งอเมริกาเริ่ม มอร์แกนร่วมมือกับสติลแมนและเบเคอร์เพิ่มสภาพคล่องให้ทรัพย์สินของบริษัทเพื่อให้มีเงินจ่ายผู้ฝากเงิน ธนาคารรอดพ้นจากการปิดกิจการ แต่มอร์แกนทราบว่าต้องเตรียมเงินอีกเพื่อให้ธนาคารสามารถชำระหนี้ได้ในวันต่อ ๆ ไป คืนนั้นเขารวบรวมประธานของบริษัททรัสต์อื่น ๆ และยื้อตัวพวกเขาไว้ในการประชุมถึงเที่ยงคืนจนพวกเขายินยอมให้ยืมเงิน 8.25 ล้านดอลลาร์ให้บริษัททรัสต์แห่งอเมริกาเปิดได้อีกวัน[33] เช้าวันพฤหัสบดี คอร์เทลยูฝากเงินประมาณ 25 ล้านดอลลาร์ในธนาคารในนิวยอร์กหลายแห่ง[34] จอห์น ดี ร็อกเกอะเฟลเลอร์ ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐ ฝากเงินอีก 10 ล้านดอลลาร์ในธนาคารซิตีแห่งชาติของสติลแมน[35] เงินฝากมหาศาลของร็อกเกอะเฟลเลอร์ ทำให้ธนาคารซิตีแห่งชาติเป็นธนาคารที่มีเงินสำรองมากกว่าธนาคารอื่น ๆ ในนคร ร็อกเกอะเฟลเลอร์โทรศัพท์หาเมลวิล สโตน ผู้จัดการของสำนักข่าวเอพีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณะ โดยสัญญาว่าจะยอมใช้ทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของเขาเพื่อช่วยเครดิตของสหรัฐ[36]

ตลาดหุ้นเกือบล่ม[แก้]

ชั้นซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (ภาพในปี 1908) ซึ่งการซื้อขายเกือบล่มในปลายเดือนตุลาคม เพราะธนาคารไม่ยอมให้กู้ยืมเงิน

แม้มีการอัดฉีดเงินสดแล้ว แต่ธนาคารในนิวยอร์กยังไม่ยินยอมปล่อยเงินกู้ระยะสั้นที่ปกติปล่อยให้ใช้ซื้อขายหุ้นรายวัน เมื่อไม่มีเงินหมุนเวียนเหล่านี้ ราคาหุ้นในตลาดก็เริ่มดิ่งลง ในวันที่ 24 ตุลาคม เวลา 13:30 น. แรนซัม โทมัส ประธานตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เร่งรุดไปพบมอร์แกนเพื่อบอกว่าเขาต้องปิดตลาดเร็วกว่าปกติ มอร์แกนกล่าวย้ำว่าการปิดตลาดก่อนเวลาจะเป็นหายนะ[37][38]

มอร์แกนเรียกตัวประธานของธนาคารในนครมายังสำนักงานของเขา พวกเขาเริ่มมาถึงเมื่อ 14:00 น. มอร์แกนบอกพวกเขาว่าห้องค้าหุ้นกว่า 50 แห่งจะล้ม นอกจากสามารถรวบรวมเงิน 25 ล้านเหรียญดอลลาร์ภายใน 10 นาที เวลา 14:16 น. ประธานธนาคาร 14 แห่งสัญญาว่าจะให้ยืม 23.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์เปิดต่อไปได้ เงินมาถึงธนาคารตอน 14:30 น. ทันเวลาทำให้การซื้อขายดำเนินต่อไปจนจบวัน เมื่อตลาดปิดเวลา 15:00 น. เงินจำนวน 19 ล้านเหรียญถูกกู้ยืม หายนะที่จะเกิดจากการปิดตลาดก็ผ่านพ้นไป ปกติมอร์แกนหลีกเลี่ยงหลีกเลี่ยงสื่อมวลชน แต่ในคืนนั้นขณะเขาออกจากสำนักงาน เขาพูดกับนักข่าวว่า “ถ้าทุกคนเก็บเงินไว้ในธนาคาร ทุกอย่างก็จะเป็นปกติ"[39]

อย่างไรก็ตาม ความตระหนกในตลาดหลักทรัพย์มีมากขึ้นในวันศุกร์ มอร์แกนเข้าหาประธานธนาคารอีก แต่คราวนี้เขาสามารถชักจูงขอเงินมาได้เพียง 9.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และเพื่อทำให้เงินก้อนนี้เพียงพอรักษาให้ตลาดเปิดได้ มอร์แกนตัดสินใจว่าเงินนี้ไม่สามารถใช้สำหรับการซื้อขายส่วนเหลื่อม (margin sales) ปริมาณการซื้อขายในวันศุกร์เหลือเพียง 2 ใน 3 ของวันพฤหัสบดี และตลาดก็รอดจนถึงเสียงระฆังปิดการซื้อขายดังได้อย่างหวุดหวิด[40]

วิกฤตความเชื่อมั่น[แก้]

จอห์น ดี ร็อกเกอะเฟลเลอร์, จอร์จ บี. คอร์เทลยู, ลอร์ดรอทส์ไชลด์, และเจมส์ สติลแมน บุคคลผู้มีชื่อเสียงในวอลล์สตรีทหลายคนออกมาให้ความเห็นเชิงบวกเพื่อช่วยเรียกความมั่นใจกลับคืนมา

มอร์แกน สติลแมน เบเคอร์ และประธานธนาคารอื่น ๆ ไม่สามารถระดมเงินได้อย่างไร้ที่สิ้นสุด แม้แต่เงินของกระทรวงการคลังสหรัฐก็เริ่มร่อยหรอ จำเป็นต้องเรียกเอาความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืน ในเย็นวันศุกร์เหล่านายธนาคารจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเพื่อโน้มน้าวให้บาทหลวงช่วยกล่อมสมาชิกที่มาโบสถ์ของตนในวันอาทิตย์ให้สงบลง และอีกกลุ่มให้อธิบายต่อสื่อเกี่ยวกับแผนการหลาย ๆ แง่มุม ลอร์ดรอทส์ไชลด์ นายธนาคารผู้มีชื่อเสียงของยุโรป ส่งข้อความ "ชื่นชมและเคารพ" มายังมอร์แกน[41] คอร์เทลยู รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ตกลงว่าถ้าเขากลับไปกรุงวอชิงตันจะส่งสัญญาณไปยังวอลล์สตรีทว่าจุดย่ำแย่ที่สุดได้ผ่านไปแล้ว[42][43]

เพื่อประกันว่ามีเงินหมุนเวียนเสรีในวันจันทร์ สำนักงานหักบัญชีนิวยอร์กออกเอกสารรับรองเงินกู้ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับซื้อขายระหว่างธนาคารเพื่อชำระสะสางยอดดุล ทำให้ธนาคารทั้งหลายมีเงินสดสำรองสำหรับผู้ฝากเงิน[44] ครั้นวันจันทร์สถานการณ์ในนิวยอร์กเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ เมื่อประชาชนมีทั้งจากบาทหลวงและหนังสือพิมพ์รับรอง และงบดุลธนาคารมีเงินสด[45]

นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตใหม่ที่จัดการในเบื้องหลังไปโดยที่วอลล์สตรีทไม่ทราบ ในวันอาทิตย์ จอร์จ เพอร์กินส์ เพื่อนของมอร์แกน ได้รับแจ้งว่าเมืองนิวยอร์กต้องการเงินอย่างน้อย 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน มิฉะนั้นจะล้มละลาย นครนิวยอร์กพยายามหาเงินด้วยการออกพันธบัตรปกติ แต่ไม่สามารถรวบรวมเงินได้พอ ในวันจันทร์และวันอังคาร นายกเทศมนตรีนิวยอร์ก จอร์จ บรินตัน แมคแคลแลน มาขอความช่วยเหลือจากมอร์แกน มอร์แกนทำสัญญาจะซื้อพันธบัตรมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อป้องกันสัญญาณหายนะที่จะเกิดจากภาวะล้มละลายของนครนิวยอร์ก[46][43]

เหตุการณ์ในห้องสมุด[แก้]

แม้ว่าความสงบเริ่มกลับมาสู่นิวยอร์กเป็นส่วนใหญ่แล้ว ในวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน กลับปรากฏวิกฤตอีกอย่างขึ้น มัวร์แอนด์สไล บริษัทนายหน้าใหญ่สุดแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีหนี้สินมากมายและกำลังล้มละลาย บริษัทยืมเงินจำนวนมากโดยใช้หุ้นของบริษัทเทนเนสซีโคล, ไอออนแอนด์เรลโรด (TC&I) เป็นหลักทรัพย์ประกัน ด้วยมูบค่าของหุ้นที่มีการซื้อขายเบาบางภายใต้แรงกดดัน ธนาคารทั้งหลายจึงต้องการเรียกคืนเงินกู้ยืมของมัวร์แอนด์สไลในวันจันทร์และบังคับการชำระบัญชีทั้งหมดของหุ้นบริษัท ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะส่งผลให้หุ้น TC&I ดิ่งเหว ทำให้มัวร์แอนด์สไลอยู่ในภาวะวิกฤต และทำให้ความตื่นตระหนกในตลาดอีกครั้ง[47]

มอร์แกนเรียกประชุมด่วนที่ห้องสมุดของเขาในเช้าวันเสาร์เพื่อช่วยการล้มของมัวร์แอนด์สไล มีการเสนอว่าให้บริษัทยูเอสสตีล ซึ่งเป็นบริษัทที่มอร์แกนมีส่วนช่วยก่อตั้งโดยการรวมบริษัทเหล็กกล้าของแอนดรู คาร์เนกีและเอลเบิร์ต แกรี ซื้อ TC&I ซึ่งจะช่วยมัวร์แอนด์สไลและป้องกันวิกฤต หลังจากผู้บริการและคณะกรรมการของยูเอสสตีลศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเสนอทางเลือกระหว่างให้มัวร์แอนด์สไลกู้เงิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือซื้อ TC&I ที่ราคา 90 เหรียญต่อหุ้น แต่จนกระทั่งเวลา 19:00 น. ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ การประชุมจึงถูกพักชั่วคราว[48]

ขณะนั้น มอร์แกนถูกลากเข้าสู่อีกสถานการณ์ มีความกังวลใหญ่หลวงว่าบริษัททรัสต์แห่งอเมริกาและลินคอนทรัสต์อาจเปิดไม่ได้ในวันจันทร์ได้เพราะถูกผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินต่อเนื่อง เย็นวันเสาร์ นายธนาคาร 40–50 คนมารวมตัวกันที่ห้องสมุดเพื่อปรึกษาหารือวิกฤต โดยประธานธนาคารหักบัญชีประชุมกันในห้องฝั่งตะวันออก และผู้บริหารบริษัททรัสต์ประชุมในห้องฝั่งตะวันตก มอร์แกนและกลุ่มผู้แก้ปัญหาเรื่องมัวร์แอนด์สไลย้ายไปอยู่ที่สำนักงานของบรรณารักษ์ มอร์แกนบอกแก่ที่ปรึกษาทั้งหลายของเขาว่าเขาจะตกลงช่วยมัวร์แอนด์สไลก็ต่อเมื่อบริษัททรัสต์จะยอมร่วมมือกันช่วยอุ้มพี่น้องที่อ่อนแอที่สุดเท่านั้น[49] การประชุมของนายธนาคารดำเนินต่อไปถึงคืนวันเสาร์ แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก จนเวลาประมาณเที่ยงคืน เจ. พี. มอร์แกน แจ้งหัวหน้าของประธานบริษัททรัสต์คนหนึ่งถึงสถานการณ์ของมัวร์แอนด์สไลว่าจะต้องใช้เงิน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเขาจะไม่ผูกมัดเงินเหล่านี้นอกเสียจากปัญหาทางฝั่งบริษัททรัสต์สามารถระงับได้ ผู้บริหารบริษัททรัสต์เข้าใจว่าพวกเขาจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมอร์แกนเพิ่ม พวกเขาจะต้องสนับสนุนเงินสำหรับอุดหนุนบริษัททรัสต์ที่กำลังประสบปัญหาสองแห่งกันเอง

เวลาประมาณ 3:00 น. เจ้าหน้าที่ธนาคารและบริษัททรัสต์ประมาณ 120 คนมารวมตัวกันเพื่อฟังรายงานฉบับเต็มว่าด้วยสถานภาพของบริษัททรัสต์ที่กำลังล้ม บริษัททรัสต์แห่งอเมริกาแทบไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ บริษัทลินคอนทรัสต์มีเงินน้อยกว่าที่จำเป็นเพื่อครอบคลุมบัญชีของผูกฝากเงินประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างที่กำลังหารือกันอยู่นั้น นายธนาคารทั้งหลายก็ทราบว่ามอร์แกนขังพวกเขาไว้ในห้องสมุดและเอากุญแจใส่กระเป๋าไว้เพื่อบังคับให้หาทางออกให้ได้[50] ซึ่งเป็นวิธีบีบบังคับที่เป็นที่รู้กันว่ามอร์แกนเคยใช้มาก่อน[51] มอร์แกนเข้าร่วมประชุมและแนะนำว่าบริษัททรัสต์ต้องช่วยกันออกเงิน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยอุ้มบริษัทที่อ่อนแอกว่า ประธานบริษัททรัสต์ไม่เต็มใจลงมือ แต่มอร์แกนบอกว่าถ้าพวกเขาไม่ช่วย ระบบธนาคารจะล่มทั้งหมด ในที่สุดเมื่อเวลา 4:45 น. เขาสามารถโน้มน้าวให้ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของบริษัททรัสต์ลงชื่อในความตกลงได้ และนายธนาคารที่เหลือเอาอย่าง[51] เมื่อได้รับคำมั่นแล้ว มอร์แกนก็ปล่อยนายธนาคารทั้งหลายกลับบ้าน[52]

ตอนบ่ายถึงเย็นวันอาทิตย์ มอร์แกน เพอร์กินส์ เบเคอร์ และสติลแมน รวมทั้ง แกรี แห่งยูเอสสตีล และเฮนรี เคล ฟริค ประชุมกันที่ห้องสมุดเพื่อทำแผนให้ยูเอสสตีลซื้อ TC&I ให้เสร็จ และตอนคืนวันอาทิตย์ก็ทำแผนควบรวมกิจการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังเหลืออุปสรรคสำคัญอยู่หนึ่ง คือประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ผู้ต่อต้านการผูกขาด และถือเอาการแยกกิจการผูกขาดเป็นความสนใจระหว่างดำรงตำแหน่ง[53]

ฟริคและแกรีเดินทางด้วยรถไฟข้ามคืนไปทำเนียบขาว เพื่อขอร้องให้รูสเวลต์ยกเว้นการใช้กฎหมายห้ามผูกขาดเชอร์แมน และยอมให้บริษัทที่มีส่วนแบ่งในตลาดเหล็กกล้ามากถึงร้อยละ 60 ให้ควบรวมบริษัทเหล็กขนาดใหญ่อีกแห่งก่อนตลาดหลักทรัพย์เปิด เลขานุการของรูสเวลต์ปฏิเสธไม่ให้เข้าพบ แต่ฟริคและแกรีเกลี้ยกล่อมให้เจมส์ รูดอฟ การ์ฟิลด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสหรัฐ ให้เลี่ยงเลขานุการและจัดการประชุมกับประธานาธิบดี ภายในหนึ่งชั่วโมงก่อนตลาดหลักทรัพย์เปิด รูสเวลต์และเอลีฮู รูท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เริ่มทบทวนการเข้าซื้อกิจการที่มีการเสนอและซึมซาบว่าการล้มน่าจะเกิดขึ้นตามมาหากไม่อนุมัติการรวมบริษัทนี้[54][55] รูสเวลต์ยอมผ่อนปรน เขากล่าวถึงการประชุมนั้นในภายหลังว่า "ผมจำเป็นต้องตัดสินใจปุบปับก่อนตลาดหลักทรัพย์เปิด เพราะสถานการณ์ในนิวยอร์กตอนนั้นชั่วโมงไหนก็สำคัญมากทั้งนั้น ผมไม่เชื่อว่าใครจะสามารถมาวิจารณ์ผมอย่างยุติธรรมโดยพูดว่าผมไม่อยากคัดค้านการซื้อในพฤติการณ์เช่นนั้น"[54] เมื่อข่าวกระจายไปถึงนิวยอร์ก ความเชื่อมั่นก็กลับมาอย่างรวดเร็ว หนังสือพิมพ์เดอะคอมเมอเชียลแอนด์ไฟแนนเชียลโครนิเคิล รายงานว่า "ความโล่งอกที่เกิดจากธุรกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและให้ผลเป็นวงกว้าง"[56] วิกฤตสุดท้ายของความตื่นตระหนกจึงถูกปัดป้อง[57]

ผลสืบเนื่อง[แก้]

วิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907 เกิดระหว่างการหดตัวทางเศรษฐกิจเป็นเวลานาน ซึ่งกรมวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติวัดว่าเกิดระหว่างเดือนพฤษภาคม 1907 ถึงมิถุนายน 1908[58][59] การหดตัว ความตื่นตระหนกของธนาคารและตลาดหลักทรัพย์ที่ตกซึ่งมีความสัมพันธ์กันส่งผลให้เกิดการรบกวนทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ การผลิตอุตสาหกรรมลดลงมากกว่าการแห่ถอนเงินครั้งใดที่ผ่านมา ส่วนปี 1907 มีปริมาณการล้มละลายสูงสุดอันดับสองจนถึงเวลานั้น การผลิตลดลง 11% การนำเข้าลดลง 26% ส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า 3% เป็น 8% การเข้าเมืองลดลงจาก 1.2 ล้านคนในปี 1907 เหลือ 750,000 คนในปี 1909[60]

นับแต่สงครามกลางเมืองอเมริกาสิ้นสุด สหรัฐประสบความตื่นตระหนกที่มีความรุนแรงต่าง ๆ กัน นักเศรษฐศาสตร์ ชาลส์ คาโลมิริส (Charles Calomiris) และแกรี กอร์ตัน (Gary Gorton) จัดอันดับความตื่นตระหนกที่นำไปสู่การปิดธนาคาร (suspension) อย่างกว้างขวางร้ายแรงที่สุดดังนี้ วิกฤตการเงินปี 1873, 1893, และ 1907 และการปิดธนาคารในปี 1914 การปิดธนาคารอย่างกว้างขวางถูกป้องกันผ่านการกระทำประสานงานระหว่างวิกฤตปี 1884 และ 1890 สำหรับวิกฤตธนาคารในปี 1896 ซึ่งมีความจำเป็นประสานงานที่รับรู้ บ้างก็จัดเป็นวิกฤตการเงินด้วย[59]

ความถี่ของวิกฤตและความรุนแรงของวิกฤตปี 1907 เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับบทบาทใหญ่ผิดปกติของเจ. พี. มอร์แกน ซึ่งนำสู่แรงกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายเรื่องการปฏิรูประดับชาติรอบใหม่[61] ในเดือนพฤษภาคม 1908 รัฐสภาผ่านรัฐบัญญัติแอลดริช–วรีแลนด์ (Aldrich–Vreeland Act) ซึ่งตั้งคณะกรรมการการเงินแห่งชาติเพื่อสอบสวนวิกฤตการเงินและเสนอกฎหมายเพื่อวางระเบียบการธนาคาร[62] สมาชิกวุฒิสภาเนลสัน แอลดริช ประธานคณะกรรมการการเงินแห่งชาติ เดินทางไปทวีปยุโรปเกือบสองปีเพื่อศึกษาระบบการธนาคารที่นั่น

ธนาคารกลาง[แก้]

ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างระบบการธนาคารของทวีปยุโรปและสหรัฐ คือ สหรัฐขาดธนาคารกลาง รัฐยุโรปสามารถขยายปริมาณเงินระหว่างช่วงเงินสดสำรองต่ำได้ ความเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอเมื่อปราศจากธนาคารกลางไม่ใช่ความเชื่อใหม่ ต้นปี 1907 นักธนาคาร เจคอบ ชิฟฟ์ (Jacob Schiff) แห่งคูน, โลบแอนด์โค. (Kuhn, Loeb & Co.) กล่าวสุนทรพจน์เตือนสภาหอการค้านิวยอร์กว่า "นอกเสียจากเรามีธนาคารที่มีการควบคุมทรัพยากรเครดิตเพียงพอ ประเทศนี้จะต้องประสบวิกฤตการเงินครั้งรุนแรงที่สุดและกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์"[63]

แอลดริชจัดการประชุมลับกับนักการเงินชั้นนำของประเทศจำนวนหนึ่งที่เจคิลไอแลนด์คลับ นอกฝั่งรัฐจอร์เจีย เพื่ออภิปรายนโยบายการเงินและระบบการธนาคารในเดือนพฤศจิกายน 1910 แอลดริชและเอ. พี. แอนดริว (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง), พอล วาร์เบิร์ก (เป็นตัวแทนคูน, โลบแอนด์โค.), แฟรงก์ เอ. แวนเดอร์ลิบ (ผู้สืบทอดตำแหน่งธนาคารนครแห่งชาตินิวยอร์กจากเจมส์ สติลแมน), เฮนรี พี. เดวีสัน (ผู้เป็นหุ้นส่วนอาวุโสของบริษัทเจ. พี. มอร์แกน), ชาลส์ ดี. นอร์ตัน (ประธานธนาคารแห่งชาติแรกนิวยอร์ก) และเบนจามิน สตรอง (เป็นตัวแทนเจ. พี. มอร์แกน) ผลิตการออกแบบสำหรับ "ธนาคารสำรองแห่งชาติ"[64]

มีการจัดพิมพ์รายงานสุดท้ายของคณะกรรมการการเงินแห่งชาติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 1911 สมาชิกสภานิติบัญญัติถกเถียงข้อเสนอเกือบสองปี รัฐสภาผ่านรัฐบัญญัติระบบธนาคารกลาง (Federal Reserve Act) ในวันที่ 23 ธันวาคม 1913 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันลงนามกฎหมายทันทีและมีการตรากฎหมายในวันเดียวกัน สถาปนาระบบธนาคารกลางสหรัฐ[65] ชาลส์ แฮมลินเป็นประธานระบบฯ คนแรก และเบนจามิน สตรอง รองประธานมอร์แกนเป็นประธานธนาคารกลางนิวยอร์ก ธนาคารภูมิภาคสำคัญที่สุดที่มีตำแหน่งถาวรในคณะกรรมการตลาดเสรีกลาง[65]

คณะกรรมการพูโจ[แก้]

แม้มอร์แกนถูกมองเป็นวีรบุรุษช่วงสั้น ๆ แต่ความกลัวกว้างขวางเกี่ยวกับเศรษฐยาธิปไตยและการกระจุกความมั่งคั่งไม่นานก็ลบความเห็นนี้ ธนาคารของมอร์แกนรอด แต่บริษัททรัสต์ที่เป็นคู่แข่งกำลังเติบโตของธนาคารแบบเดิมได้รับความเสียหายหนัก นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าวิกฤตนี้มีการวางแผนเพื่อสร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่นในบริษัททรัสต์เพื่อให้ธนาคารได้ประโยชน์[66][67] คนอื่นเชื่อว่ามอร์แกนฉวยประโยชน์จากวิกฤตนี้เพื่อให้บริษัทยูเอสสตีลของเขาเข้าซื้อทีซีแอนด์ไอ[68] แม้มอร์แกนเสียเงิน 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐในวิกฤต แต่ความสำคัญของบทบาทเขาที่ป้องกันภัยพิบัติเลวร้ายที่สุดก็ไม่อาจแย้งได้ เขายังเป็นความสนใจของการตรวจสอบและวิจารณ์อย่างเข้มข้นด้วย[55][69][70]

ประธานคณะกรรมาธิการการธนาคารและเงินตราของสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนราษฎรอาร์ซีน พูโจ (Arsène Pujo) จัดประชุมพิเศษเพื่อสอบสวน "การรวมกันผูกขาดเงิน" ซึ่งเป็นการผูกขาดโดยพฤตินัยของมอร์แกนและนายธนาคารทรงอำนาจที่สุดของรัฐนิวยอร์กคนอื่น ๆ คณะกรรมาธิการฯ ออกรายงานเสียดแทงว่าด้วยการค้าการธนาคาร และพบว่าเจ้าหน้าที่ของเจ. พี. มอร์แกนแอนด์โค. ยังเป็นคณะกรรมการบริหารของบริษัท 112 บริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาด 22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลคารวมของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กประมาณการไว้ 26,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลานั้น)[71]

แม้สุขภาพทรุดโทรม แต่เจ. พี. มอร์แกนให้การต่อคณะกรรมการพูโจและเผชิญการตอบคำถามจากซามูเอล อันเทอร์ไมเออร์ (Samuel Untermyer) หลายวัน การถามตอบของอันเทอร์ไมเออร์กับมอร์แกนเรื่องธรรมชาติจิตวิทยามูลฐานของการธนาคาร ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นจากความเชื่อมั่น มักถูกยกมาในบทความธุรกิจ[72][73]

อันเทอรฺไมเออร์: เครดิตพาณิชย์มิได้ยึดบนเงินหรือทรัพย์สินเป็นหลักมิใช่หรือ
มอร์แกน: ไม่ครับ สิ่งแรกคืออุปนิสัย (character)
อันเทอรฺไมเออร์: มาก่อนเงินหรือทรัพย์สินหรือ
มอร์แกน: ก่อนเงินหรืออะไรอื่น เงินไม่สามารถซื้อได้ ... คนที่ผมไม่เชื่อมั่นไม่สามารถเอาเงินจากผมได้ในทุกพันธบัตรในหมู่คริสเตียน[72]

ผู้ช่วยของมอร์แกนโทษว่าร่างกายของเขาทรุดโทรมลงอย่างต่อเนื่องจากการไต่สวนนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์เขาป่วยหนักและเสียชีวิตในวันที่ 31 มีนาคม 1913 เก้าเดือนหลัง "การรวมกันผูกขาดเงิน" จะถูกระบบธนาคารกลางเป็นผู้ให้กู้รายสุดท้ายแทน[72]

อ้างอิง[แก้]

  1. Yale M. Braunstein, "The Role of Information Failures in the Financial Meltdown" เก็บถาวร 2009-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, School of Information, UC Berkeley, Summer 2009
  2. Tallman & Moen 1990, pp. 3–4
  3. Odell & Weidenmier 2004
  4. "Paul Saffo, ABC News (April 17, 2008)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 2011-05-12.
  5. 5.0 5.1 Tallman & Moen 1990, p. 4
  6. 6.0 6.1 Noyes 1909, pp. 361–2
  7. Edwards 1907, p. 66
  8. วัดจากดัชนีของหุ้นที่จดทะเบียนทั้งหมด อ้างอิงจาก Bruner & Carr 2007, p. 19
  9. Bruner & Carr 2007, p. 20
  10. 10.0 10.1 Kindleberger & Aliber 2005, p. 102
  11. Bruner & Carr 2007, p. 32
  12. Bruner & Carr 2007, p. 31
  13. Distilled from Bruner & Carr 2007
  14. Bruner & Carr 2007, pp. 38–40
  15. Bruner & Carr 2007, pp. 43–44
  16. Bruner & Carr 2007, p. 45
  17. Bruner & Carr 2007, pp. 47–48
  18. Bruner & Carr 2007, p. 49
  19. Bruner & Carr 2007, pp. 51–55
  20. Bruner & Carr 2007, pp. 61–62
  21. Tallman & Moen 1990, p. 7
  22. Historic Pittsburg เก็บถาวร กุมภาพันธ์ 7, 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  23. Moen & Tallman 1992, p. 612
  24. Bruner & Carr 2007, p. 68
  25. Tallman & Moen 1990, p. 7
  26. Bruner & Carr 2007, p. 79
  27. Tallman & Moen 1990, p. 7
  28. Bruner & Carr 2007, p. 85
  29. Bruner & Carr 2007, p. 101
  30. Bruner & Carr 2007, pp. 83–86
  31. Chernow 1990, p. 123
  32. Bruner & Carr 2007, pp. 87–88
  33. Bruner & Carr 2007, p. 93
  34. Tallman & Moen 1990, p. 8
  35. Tallman & Moen 1990, p. 8
  36. Chernow 1998, pp. 542–44
  37. Bruner & Carr 2007, p. 99
  38. Chernow 1990, p. 125
  39. Bruner & Carr 2007, pp. 100–01
  40. Bruner & Carr 2007, pp. 102–03
  41. Bruner & Carr 2007, pp. 103–07
  42. Bruner & Carr 2007, p. 108
  43. 43.0 43.1 Chernow 1990, p. 126
  44. Tallman & Moen 1990, p. 9
  45. Bruner & Carr 2007, p. 111
  46. Bruner & Carr 2007, pp. 111–12
  47. Bruner & Carr 2007, p. 116
  48. Bruner & Carr 2007, pp. 116–117
  49. Bruner & Carr 2007, p. 122
  50. Bruner & Carr 2007, p. 124
  51. 51.0 51.1 Chernow 1990, p. 127
  52. Bruner & Carr 2007, pp. 124–127
  53. Bruner & Carr 2007, p. 131
  54. 54.0 54.1 Bruner & Carr 2007, p. 132
  55. 55.0 55.1 Chernow 1990, pp. 128–29
  56. Bruner & Carr 2007, p. 133
  57. Bruner & Carr 2007, pp. 132–33
  58. US Business Cycle Expansions and Contractions, National Bureau of Economic Research. Retrieved on September 22, 2008.
  59. 59.0 59.1 Calomiris & Gorton 1992, p. 114
  60. Bruner & Carr 2007, pp. 141–42
  61. Smith 2004, pp. 99–100
  62. Miron 1986, p. 130
  63. Herrick 1908
  64. Bruner & Carr 2007, p. 143
  65. 65.0 65.1 Bruner & Carr 2007, p. 146
  66. McNelis 1969, pp. 154–67
  67. Chernow 1990, pp. 122–123
  68. Chernow 1990, p. 148
  69. Jean Strouse. "Here's How It's Done, Hank: A Parable From a Crisis of a Century Ago". The Washington Post (September 28, 2008), p. b1. Retrieved on September 30, 2008.
  70. Bruner & Carr 2007, p. 182
  71. Bruner & Carr 2007, p. 148
  72. 72.0 72.1 72.2 Bruner & Carr 2007, pp. 182–83
  73. Chernow 1990, p. 154

บรรณานุกรม[แก้]