วันพระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วันลงอุโบสถ)
พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตรที่วัดในวันพระ (ภาพ: การทำบุญใส่บาตรในกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว)

วันพระ วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในพระพุทธศาสนาประจำสัปดาห์ หรือที่เรียกกันทั่วไปอีกคำหนึ่งว่า "วันธรรมสวนะ" อันได้แก่วันถือศีลฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) โดยวันพระเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ)

วันพระนั้นเดิมเป็นธรรมเนียมของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ที่จะประชุมกันแสดงธรรมทุก ๆ วัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังคงไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่านักบวชศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าว โดยตามพระไตรปิฎกเรียกวันพระว่า วันอุโบสถ (วัน 8 ค่ำ) หรือวันลงอุโบสถ (วัน 14 หรือ 15 ค่ำ) แล้วแต่กรณี[1]

หลังจากนั้น พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปประชุมกันฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย[2]

วันพระในปัจจุบัน คงเหลือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แต่เฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว และเขมร (ในอดีตประเทศเหล่านี้ถือวันพระเป็นวันหยุดราชการ) โดยพุทธศาสนิกชนเถรวาทนับถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญที่จะถือโอกาสไปวัดเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนา สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาอาจถือศีลแปดหรือศีลอุโบสถในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใด ๆ ชาวพุทธในสมัยโบราณจะหยุดพักในวันพระนี้ จะไม่ออกไปทำไร่ทำนาหาปลาล่าสัตว์ แต่จะอยู่บ้านทำความสะอาดบ้าน ซักผ้าแทน ซึ่งธรรมเนียมการหยุดพักนี้ ในชนบทบางท้องถิ่นก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่,ในประเทศไทย หลังจากวันพระได้ถูกยกเลิกไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ และเปลี่ยนมาใช้วันเสาร์ วันอาทิตย์ตามอย่างสากล ทำให้วันพระที่กำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทั่วไป (เช่น วันพระไปตรงกับวันทำงานปกติ) ซึ่งคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญในปัจจุบันที่ทำให้พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยห่างจากการเข้าวัดเพื่อทำบุญในวันพระ

นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีคำเรียกวันก่อนวันพระหนึ่งวันว่า วันโกน เพราะปกติในวันขึ้น 14 ค่ำปกติ ก่อนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ในประเทศไทยที่จะโกนผมในวันนี้

ประวัติความเป็นมาของวันธรรมสวนะ[แก้]

ในสมัยพุทธกาล พระราชาพระนามว่าพระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระวิหารชื่อว่าเชตวัน และกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์แลเห็น ซึ่งนักบวชศาสนาอื่นอีก ได้มีวันกำหนดนัดหมายประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในที่ประชุมของเขาทั้งหลาย เหล่านั้น แต่ว่า ข้าแแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนศาสนาพุทธของเราทั้งหลายย่อมมีวันกำหนดนัดหมายเพื่อประชุมกันหามิได้ ดังนี้." อันพระราชาพระนามว่าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลแล้ว พระศาสดาจึงทรงอนุญาตให้เหล่าภิกษุสงฆ์สาวกประชุมกันเพื่อสนทนาและแสดงพระธรรมเทศนาให้แก่อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย ได้ฟังกันในวันขึ้น 8 ค่ำ หรือ หรือว่า วันขึ้น14 ค่ำ หรือว่า วันขึ้น 15 ค่ำ พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะเพื่อกำหนดให้มีการประชุมพร้อมเพรียงกันฟังธรรม

ในสมัยพุทธกาลนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมเหล่าภิกษุสงฆ์สาวกเพื่อทรงแสดงพระปาฏิโมกข์ ในช่วงเข้าพรรษา การประชุมสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธองค์นั้นก็ได้นัดหมายกันไปในที่ประชุม ต้องมีพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งเป็นองค์สวดพระปาฏิโมกข์ พระภิกษุสงฆ์สาวกที่ร่วมเข้าฟังพระปาฏิโมกข์ ก็จะพร้อมเพียงกันสำรวมกาย วาจา และตั้งใจฟังจนกระทั่งสวดจบ เป็นอันเสร็จพิธี

คำว่า "สวนะ" แปลว่า การฟัง และคำว่า "ธรรมสวนะ" แปลว่า การฟังธรรม, วันฟังธรรม ภาษาพูดที่เรียกว่า วันพระ เพราะ คำว่า" พระ"นั้น ใช้เรียกภิกษุจำนวนมากกว่า ๔ รูป ขึ้นไป ซึ่งก็หมายถึงความเป็นหมู่คณะ จึงเรียกว่า พระ หรือ สงฆ์ ทางพระพุทธศาสนาก็ยังได้กำหนดเรียกว่า วันอุโบสถ ซึ่งแปลว่า วันถือศีลของอุบาสกและอุบาสิกาผู้มีสัทธา ร่วมกันประพฤติและปฏิบัติตามธรรมสืบต่อกันมาจนถึงบัจจุบันนี้

ทางด้านศาสนพิธีของชาวบ้านนั้น พระพุทธศาสนาก็ได้กำหนดให้มีพิธีต่างๆ มีการร่วมทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร จังหัน หวานคาวแด่พระภิกษุสงฆ์ และก็สมาทานศีล (รับศีล) และฟังพระธรรมเทศนาที่วัด ตามลำดับ

ในวันธรรมสวนะนี้ พุทธศาสนิกชนก็จะเข้าวัดร่วมกันประพฤติและปฏิบัติธรรม มีกิจกรรมต่างๆ มีการสมาทานศีล เช่น สมาทานและรับศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ซึ่งเรียกว่า อุโบสถศีล พระสงฆ์จะได้แสดงพระธรรมเทศนา หรือ ธรรมสากัจฉา หรือ สนทนาธรรมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ในข้อธรรมต่างๆ ซึ่งนับว่าเกิดประโยชน์แก่ผู้ร่วมกิจกรรมเป็นอย่างยิ่ง[3]

ความสำคัญ[แก้]

จากพุทธานุญาตให้มีตัวแทนพระสงฆ์รูปหนึ่งสวดทบทวนสิกขาบท ที่ทรงบัญญัติไว้เป็นระเบียบปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกและเพื่อความบริสุทธิ์ในเพศสมณะที่ต้องบริบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ และปัญญาอันเป็นทางหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงตามเส้นทางของพระพุทธศาสนา โดยมีภิกษุผู้สวดทบทวน เมื่อสวดถึงข้อใดแล้วมีภิกษุรูปใดรูปใดรูปหนึ่งประพฤติผิดข้อบังคับนั้น จะเปิดเผยท่ามกลางที่ประชุม หรือที่เรียกว่าแสดงอาบัติ ซึ่งถือปฏิบัติเช่นนี้สืบต่อๆ กันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก่อให้เกิดผลดังนี้ คือ

1. เกิดความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคณะสงฆ์ ด้วยระเบียบปฏิบัติที่หมั่นทบทวนและเตือนตนด้วยการแสดงการยอมรับในสิ่งที่ตนละเมิด เพื่อแก้ไขต่อไป ในข้อนี้มีปรากฏการณ์เด่นชัดเมื่อครั้งพุทธกาล คือเมื่อครั้งพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะเบาะแว้งแตกความสามัคคีกันภายหลังเมื่อกลับมีความสามัคคีใหม่ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ประชุมทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์เป็นกรณีพิเศษ ที่เรียกว่า วันสามัคคีอุโบสถ

2. การหมั่นทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พระธรรมคำสอนไม่คลาดเคลื่อน เลือนหายและทำให้หมู่คณะจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ วันอุโบสถนั้น นอกเหนือจากเป็นวันสำคัญของทางคณะสงฆ์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นวันประชุมฟังธรรมของเหล่าพุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันนี้

ความหมายของวันพระ[แก้]

วันพระคือวันที่มีการทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน นั่งสมาธิ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ละเว้นความชั่ว ละเว้นอบายมุขต่างๆ ทำตัวให้มีประโยชน์ต่อสังคม ปล่อยนกปล่อยปลา ฟังธรรมเทศนา สนทนาธรรมกับพระสงฆ์ รักษาศีล มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ มีพระสงฆ์คอยรับถวายสังฆทาน

ความหมายของคำเรียกวันพระในชื่อต่าง ๆ[แก้]

วันพระ[แก้]

วันธรรมสวนะ[แก้]

วันอุโบสถ[แก้]

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันพระ[แก้]

สิ่งที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำในวันพระคือการเข้าวัด ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เจริญจิตภาวนา สวดมนต์ทำวัตรเพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย หรือสมาทานศีลอุโบสถ (ศีล 8 ที่อาราธนาในวันพระเป็นเวลา 1 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 3 คืน และไม่จำเป็นต้องอยู่วัด) อย่างเคร่งครัด

การถือปฏิบัติประเพณีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันพระในประเทศไทย[แก้]

ถือศีล5

การประกอบพิธีทางศาสนาในวันพระในประเทศไทย[แก้]

พระราชพิธี[แก้]

พิธีสามัญ[แก้]

พิธีกรรมวันธรรมสวนะ

วันธรรมสวนะ คือวันกำหนดประชุมฟังธรรม ที่เรียกเป็นคำสามัญทั่วไปว่า "วันพระ" เป็นประเพณียินยมของพุทธบริษัทที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแล้วแต่ครั้งพุทธกาล โดยถือว่า

การฟังธรรมตามกาลที่กำหนดเป็นประจำไว้ ย่อมก่อให้เกิดสติปัญญาและสิริมงคลแก่ผู้ฟังอย่างน้อยก็ได้รับธรรมสวนานิสงส์อยู่เสมอ วันกำหนดฟังธรรมนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ 4 วัน ในเดือนหนึ่งๆ คือ วัน 8 คำ วัน 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำของปักข์ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม นับโดยจันทรคติ วันทั้ง 4 นี้ จึงถือกันเป็นวันกำหนดประชุมฟังธรรมโดยปรกติ และนิยมเป็น วันรักษาปรกติอุโบสถสำหรับฆราวาสผู้ต้องการอบรมกุศลด้วย

เพราะความมุ่งหมายและเหตุผลมีเช่นนี้ การประชุมฟังธรรมในวันธรรมสวนะ จึงมีธีกรรมที่ต้องปฏิบัติเกิดขึ้น โดยนิยมเป็นระเบียบทั่วๆไปดังนี้

ระเบียบพิธี

1. ในวันธรรมสวนะตอนเช้า ประมาณ 9.00 นาฬิกา พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชุมพร้อมกันในสถานที่กำหนดแสดงธรรม จะเป็นโรงอุโบสถ

วิหาร ศาลาการเปรียญ ภายในวัด หรือ พุทธสถานสมาคม แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ จัดให้นั่งกันตามที่เป็นสัดส่วนเรียบร้อย มีพระพุทธรูปและที่บูชาประดิษฐานอยู่เบื้องหน้า จัดให้มีสง่า

2.เมื่อพร้อมกันแล้วภิกษุสามเณรเริ่มทำวัตรเช้า ตามแบบนิยม ซึ่งทั่วๆไปใช้ระเบียบ คือ

ก) นำบูชาพระรัตนตรัย (อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา ...)

ข) สวด ปุพฺพภาคนมการ (นโม ...)

ค) สวด พุทฺธาภิถุติ (โย โส ตถาคโต ...)

ฆ) สวด ธมฺมาภิถุติ (โย โส สุปฏิปนฺโน ...)

ง) สวด สงฺฆาภิถุติ (โย โส สุปฏิปนฺโน ...)

จ) สวด รตนตฺตยปฺปณามคาถา และ สงฺเวคปริกิตฺตนปาฐ ต่อ (พุทฺโธสุทฺโธ...)

3.เมื่อภิกษุสามเณรทำวัตรจบเพียงเท่านี้ อุบาสกอุบาสิกาเริ่มทำวัตรตามบท ซึ่งกล่าวแล้วในเรื่องพิธีรักษาอุโบสถ

4.เสร็จพิธีทำวัตร หัวหน้าอุบาสก หรืออุบาสิกา ประกาศอุโบสถ พระธรรมกถึกขึ้นธรรมาสน์

5.เมื่อจบประกาศอุโบสถแล้ว อุบาสก อุบาสิกาทั้งหมดคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน พระธรรมกถึกในศิล 8 เป็นอุโบสถศึลเต็มที่

แต่ถ้าผู้ใดมีอุตสาหะจะรักษาเพียงศีล 5 เท่านั้น ก็รับสมาทานเพียง 5 ข้อ ในระหว่างข้อที่ 3 ซึ่งพระธรรมกถึกให้ด้วยบทว่า อพฺรหฺมจริยา...พึงรับสมาทานว่า กาเมสุมิจฺฉาจารา... เสีย และรับต่อไปจนครบ 5 ข้อ เมื่อครบแล้วก็กราบ 3 ครั้ง ลงนั่งราบ ไม่ต้องรับต่อไป

6.ต่อจากรับศีลแล้ว พระธรรมกถึกแสดงธรรม ระหว่างแสดงธรรม พึงประนมมือฟังด้วยตั้งใจจนจบ

7.เมื่อเทศน์จบแล้ว หัวหน้านำกล่าวสาธุการตามแบบที่กล่าวในเรื่องพิธีรักษาอุโบสถ จบแล้วเป็นอันเสร็จพิธีประชุมฟังธรรมตอนเช้าจะกลับบ้านหรือจะอยู่ฟังธรรม

ในตอนบ่ายก็แล้วแต่อัธยาศัย สำหรับพิธีตอนบ่ายแจ้งอยู่ในเรื่อง พิธีรักษาอุโบสถ

ทีมา หนังสือ ศาสนพิธีเล่ม ๒ หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท

ธรรมเนียมการถือปฏิบัติวันพระในประเทศพุทธเถรวาทอื่น ๆ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 16-7-52
  2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำเนื่องในโอกาส ๗๐๐ ปี ลายสือไทย กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.๒๕๒๗
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 2011-08-14.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]