วันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มาและความสำคัญ
[แก้]29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย ทำให้ผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นประทับใจ[1] [2] พระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก
รัฐบาลได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันสำคัญตั้งแต่ พ.ศ. 2542
วัตถุประสงค์
[แก้]คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ [3]
1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร.๙ ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542
3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ ภาษาไทย สมบัติของคนไทย เก็บถาวร 2008-08-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม , 29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ เก็บถาวร 2009-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ วันภาษาไทยแห่งชาติไทย
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วันภาษาไทยแห่งชาติ เก็บถาวร 2007-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย