วันผู้เสียสละแห่งพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วันผู้เสียสละแห่งพม่า
အာဇာနည်နေ့
จัดขึ้นโดยประเทศพม่า
ประเภทวันหยุดประจำชาติ
วันที่19 กรกฎาคม
ความถี่ทุกปี

วันผู้เสียสละแห่งพม่า (พม่า: အာဇာနည်နေ့, ออกเสียง: [ʔàzànì nḛ]) เป็นวันหยุดแห่งชาติในพม่า ตรงกับวันที่ 19 กรกฎาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่นายพลอองซานและรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ของรัฐบาลเฉพาะกาลก่อนได้รับเอกราช 7 คน ถูกสังหารในวันเดียวกันคือ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 การรำลึกถึงวันนี้จัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2490[1]

ประวัติ[แก้]

ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 เวลาประมาณ 10.37 น. ตามเวลาท้องถิ่นในพม่า ผู้นำจำนวนมากของกลุ่มที่เรียกร้องเอกราชพม่าถูกยิงโดยกลุ่มชายติดอาวุธในเครื่องแบบเมื่อพวกเขาเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในย่างกุ้ง การลอบสังหารนี้วางแผนโดยกลุ่มการเมืองที่เป็นคู่แข่งคือกลุ่มของอูซอว์ ตามคำตัดสินของศาลพิเศษ ที่มีจอมยินต์เป็นประธานศาลและทนายความคือ อ่องทาจอ และซีบู ในคำตัดสินของศาลพิเศษลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2490 ศาลได้ตัดสินประหารชีวิตอูซอว์ และคนอื่น ๆ ที่เหลือถูกตัดสินจำคุก อุทธรณ์ของอูซอว์และทีมของเขาถูกปฏิเสธเมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2491 ประธานาธิบดีของพม่า เจ้าฟ้าส่วยแต้กปฏิเสธที่จะอภัยโทษ อูซอว์ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในเรือนจำอินเส่งเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ผู้กระทำผิดคนอื่นถูกลงโทษเช่นเดียวกัน ผู้ที่ทำความผิดน้อยถูกตัดสินจำคุกหลายปี

ผู้ถูกลอบสังหารได้แก่[2] อองซาน นายกรัฐมนตรี บะโช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ ม่านบะไคง์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บะวี่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ทะขิ่นเมียะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายใน อับดุล ราซัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและการวางแผนแห่งชาติ โอน หม่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และโก่ ทเว่ รักษาความปลอดภัยของอับดุล ราซัก

ติน ตุต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่รอดชีวิต ชาวพม่าส่วนใหญ่เชื่อว่าอังกฤษมีส่วนร่วมในการลอบสังหาร เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษสองคนถูกจับกุมในเวลานั้น และคนหนึ่งเคยติดต่อกับคนของอูซอว์[3] หลังเหตุการณ์ลอบสังหาร เซอร์ ฮูเบิร์ต รานซ์ ผู้บริหารพม่าชาวอังกฤษได้แต่งตั้ง อูนุ เป็นประมุขของรัฐบาลเฉพาะกาล จนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 อูนุจึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคมจึงถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดโดยเรียกว่าวันผู้เสียสละ

การรำลึกถึง[แก้]

บทกวีวันผู้เสียสละ[แก้]

อองซานซาร์นี

เกิดเมื่อ 13 กุมภาพันธ์
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2458 ลูกชายของทนายความ อู พา
แห่งนัตมอก ในเขตมะกเว
แม่ชื่อ ดอว์ ซู
เขาตาย พ.ศ. 2490
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ทุกคนร้องไห้
เขาคือผู้นำมาซึ่งเอกราช
เขาคือพ่อของประเทศนี้
พรที่เขาให้แก่เราคือทุกคำที่เขาพูด ...
เราจะสามารถนำเขา
ออกจากใจของเราได้อย่างไร ...

အောင်ဆန်းဇာနည်
ဖေဖေါ်ဝါရီ ဆယ့်သုံး မှာ
ဗိုလ်ချုပ်မွေးနေ့ပါ၊
တစ်ထောင့်ကိုးရာတစ်ဆယ့်ငါး
ရှေ့နေ ဦးဖာသား၊
ဇာတိ နတ်မောက် မကွေးခရိုင်
သိကြများ ခုတိုင်၊
ကြံ့ကြံ့ခိုင်လို့ ဇာနည်ဘွား
မိခင်ဒေါ်စုသား၊
တစ်ထောင့်ကိုးရာလေးဆယ့်ခွန်
ပြောင်းကြွ တမလွန်၊
မျက်ရည်သွန်လို့ ဘဝင်ညှိုး
ဇူလိုင် တစ်ဆယ့်ကိုး။
ပြည်ထောင်စုရဲ့ ကျေးဇူးရှင်
ဗိုလ်ချုပ် တို့ဖခင်၊
ကောင်းစေချင်တဲ့ မှာစကား
ငါတို့ မမေ့အား။

อ้างอิง[แก้]

  1. my:File:Myoma U Than Kywe and Burmese Martyrs' Day (1).JPG
  2. "63rd Anniversary of Martyrs' Day Held at the Martyrs' Mausoleum, Yangon". Bi-Weekly Eleven (ภาษาพม่า). 3 (13). 2010-07-23.
  3. "Who Killed Aung San?, an interview with Gen. Kyaw Zaw". The Irrawaddy. August 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-02. สืบค้นเมื่อ 2015-05-19.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]