วันชาติ (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วันชาติ
จัดขึ้นโดยประเทศไทย
ประเภทวันชาติ, วันหยุดสาธารณะ
ความสำคัญวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์[1]
เริ่ม6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560[2]
วันที่5 ธันวาคม ของทุกปี

วันชาติ เป็นวันสำคัญและวันหยุดราชการในประเทศไทย เคยกำหนดใช้หลายวัน คือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 เป็นอย่างน้อย ใช้วันที่ 6 เมษายน ตรงกับวันจักรี[3] กระทั่ง พ.ศ. 2481 จึงใช้วันที่ 24 มิถุนายน ตรงกับวันปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475[1] จนใน พ.ศ. 2503 จึงยกเลิกไปและแทนที่ด้วย วันเฉลิมฉลองของชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม วันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) แทน[4] ต่อมาใน พ.ศ. 2560 จึงรื้อฟื้นวันชาติขึ้น โดยกำหนดให้ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม วันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9[2]

ประวัติ[แก้]

6 เมษายน[แก้]

ใน พ.ศ. 2463 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยามในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีโทรเลข ลงวันที่ 2 กรกฎาคม แจ้งกระทรวงการต่างประเทศสยามว่า รัฐบาลสเปนขอทราบถึงวันชาติสยาม เพื่อจะลงไว้ในหนังสือทางการทูต และพระองค์เจ้าจรูญฯ ไม่ทราบจะตอบอย่างไรดี เพราะสถานทูตในกรุงปารีสเคยฉลองอยู่ 3 วัน คือ วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันขึ้นปีใหม่ และวันขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงทูลถามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และหม่อมเจ้าธานีนิวัต ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนราชเลขาธิการ มีหนังสือตอบกลับมาว่า รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่า "ควรบอกไป วันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่เราเรียกกันว่า 'วันจักรี' (Chakri Day)"[3]

24 มิถุนายน[แก้]

ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติสยามในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว รัฐบาลซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ให้ใช้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ[5] เพื่อรำลึกถึงการที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในการปฏิวัติสยามนั้น[1]

ในปีถัดมา มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน เป็นครั้งแรก ซึ่งดำเนินไปอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้รัฐบาลอันมีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี[6]

ในวันชาติ พ.ศ. 2482 นั้น จอมพล แปลก ยังประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย"[6] และให้เผยแพร่ "เพลงวันชาติ" เป็นครั้งแรก อันเป็นเพลงที่มนตรี ตราโมท แต่ง และชนะการประกวดซึ่งรัฐบาลจัดขึ้น[1]

จอมพล แปลก ยังออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 ให้หยุดราชการ 3 วันเนื่องในวันชาติ ได้แก่ วันที่ 23, 24, และ 25 มิถุนายน ของทุกปี[7] ต่อมา ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ให้เปลี่ยนเป็นหยุดวันเดียว คือ 24 มิถุนายน ของทุกปี[8]

5 ธันวาคม[แก้]

ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้แทนที่วันชาติด้วย "วันเฉลิมฉลองของชาติ" ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม วันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9[4] ประกาศดังกล่าวระบุว่า การกำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ มี "ข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ" คณะรัฐมนตรีจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นประธาน และได้ข้อสรุปว่า ให้กำหนดวันที่ 5 ธันวาคม วันพระบรมราชสมภพ เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติแทน เพื่อ "ให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน"[4]

ในโอกาสเดียวกัน จอมพล สฤษดิ์ ยังออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ให้ยกเลิกการหยุดราชการในวันชาติด้วย[9]

ต่อมาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ (รัชกาลที่ 10) มีพระราชโองการให้กำหนดวันที่ 5 ธันวาคม วันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 พระราชบิดา เป็นวันสำคัญของประเทศ 3 วัน คือ วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560[2] ประกาศดังกล่าวระบุเหตุผลว่า เพื่อ "น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและตระหนักถึงความสำคัญของวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา"[2]

พลเอก ประยุทธ์ ยังออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ว่า ให้หยุดราชการในวันชาติ 5 ธันวาคม ของทุกปี ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปีนั้น เป็นต้นไป[10]

ครั้นวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 รัชกาลที่ 10 ทรงออกประกาศมีเนื้อความอย่างเดียวกันว่า ให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ[11]

กิจกรรม[แก้]

ในวันชาติ 24 มิถุนายน นั้น กิจกรรมในกรุงเทพฯ มีขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ทั้งกลางวันและกลางคืน มีการยิงปืนใหญ่ทั้งทางบกและทางเรือเพื่อเป็นสลุต มีเครื่องบินโปรยกระดาษสีธงชาติในเวลากลางวันและโปรยพลุในเวลากลางคืน มีการแสดงโขน มีพิธีกรรมทางศาสนา มีการออกตราไปรษณียากรเป็นที่ระลึก มีการเชิญชวนให้ยานพาหนะต่าง ๆ ร่วมกันเปล่งเสียงแตรหรือหวูดพร้อมกันในเวลาเที่ยงวัน เว้นแต่ในบริเวณโรงพยาบาล และยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนในจังหวัดอื่นนั้น มีการประชุมนักเรียนเพื่ออธิบายความสำคัญของวันชาติ มีการประกวดประพันธ์กวีนิพนธ์และบทเพลงเกี่ยวกับชาติ มีการเฉลิมฉลองและมหรสพครึกครื้น นอกเหนือไปจากกิจกรรมอื่น ๆ[6]

ส่วนในวันชาติ 5 ธันวาคม มีกิจกรรม คือ พิธีวางพานพุ่มดอกไม้และถวายบังคมแด่รัชกาลที่ 9[12] และในช่วงโควิด-19 ระบาด กิจกรรมดังกล่าวได้จัดทางออนไลน์แทน[12]

แม้จะมีผู้เห็นว่า วันที่ 24 มิถุนายน กลายเป็น "ความทรงจำอันเลือนราง" ในประวัติศาสตร์ไทย[13] ก็ยังมีผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี เพื่อรักษาความทรงจำนี้ไว้ โดยเรียกว่า "วันชาติราษฎร" แทน[14]

ในวัฒนธรรมประชานิยม[แก้]

งานเฉลิมฉลองวันชาติ พ.ศ. 2482 ได้รับการถ่ายทอดไว้สหัสนิยายเรื่อง พล นิกร กิมหงวน ตอน ตื่นกรุง ของ ป. อินทรปาลิต ซึ่งเผยแพร่ในปีนั้นเอง[6]

ถาวรวัตถุ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 กองบรรณาธิการวอยซ์ทีวี (2012-07-20). "รำลึกเพลงวันชาติ 24 มิถุนายน วันนี้ยังดังอยู่ในใจ". วอยซ์ทีวี.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560" . ราชกิจจานุเบกษา. 134 (44 ง): 1. 2017-02-10.
  3. 3.0 3.1 กรมศิลปากร (1969). พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว . พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. p. 37–38.
  4. 4.0 4.1 4.2 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2503" . ราชกิจจานุเบกษา. 77 (43 ง): 1452–1453. 1960-05-24.
  5. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วันชาติ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481" . ราชกิจจานุเบกษา. 55: 322. 1938-08-01.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 นริศ จรัสจรรยาวงศ์ (2022-06-24). "เฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482". The101.world.
  7. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482" . ราชกิจจานุเบกษา. 56: 3551–3553. 1940-03-04.
  8. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ พ.ศ. 2491" . ราชกิจจานุเบกษา. 45 (65): 2312–2314. 1948-08-10.
  9. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2503 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2503" . ราชกิจจานุเบกษา. 77 (49 ง): 1. 1960-06-09.
  10. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2560" . ราชกิจจานุเบกษา. 134 (44 ง): 2. 2017-02-10.
  11. "ประกาศ เรื่อง การกำหนดวันสำคัญของชาติไทย ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2562" . ราชกิจจานุเบกษา. 136 (129 ง): 1. 2019-05-22.
  12. 12.0 12.1 "วันชาติไทย 2564". สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา. 2022-11-30.
  13. พระจันทร์ เอี่ยมชื่น (2022-06-29). "รู้ไหม 24 มิถุนายน เคยเป็น "วันชาติ" ของประเทศไทย". BrandThink.
  14. "รำลึก 91 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง เปิดเพลงวันชาติ 24 มิถุนา แทน เพลงชาติไทย". ไทยรัฐ. 2023-06-24.
  15. "สะพานเฉลิมวันชาติ ย่านขายธงชาติแห่งแรก". ศิลปวัฒนธรรม. 2016-10-13.
  16. "วันนี้ในอดีต 24 มิ.ย. 2485 เปิด'อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ'". คมชัดลึก. 2017-06-24.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]