พระเครื่อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัตถุมงคลในศาสนาพุทธ)
พระเครื่องสมเด็จวัดระฆัง รุ่น ๒๑๔ ปีชาตกาล

พระเครื่องราง นิยมเรียกโดยย่อว่า พระเครื่อง หมายถึง พระพุทธรูปขนาดเล็ก[1][2] สร้างไว้สำหรับบรรจุไว้ในเจดีย์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า อาจจะรวมถึงรูปสมมติขนาดเล็กของพระสงฆ์อริยบุคคล พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าด้วย ซึ่งส่วนใหญ่สร้างขึ้นตามความนิยมของบุคคลที่มีความเชื่อในเมตตามหานิยม อิทธิ์ฤิทธิ์ ปาฏิหารย์ เช่น แคล้วคลาด, อยู่ยงคงกระพัน, นำโชค

พระเครื่องเป็นการเรียกเครื่องรางต่าง ๆ ที่เชื่อว่าทำให้เกิดพุทธคุณแก่ผู้ที่มีไว้บูชา คำนี้เพิ่งมีปรากฏในสมัยรัตโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งก็นับรวมถึงพระพิมพ์เข้ามาอยู่ในกลุ่มพระเครื่องด้วย[3]

ประวัติการสร้าง[แก้]

พระเครื่องมีความเป็นมาและวิวัฒนาการอันยาวนาน ก่อนจะมาเป็นพระเครื่องนั้นได้เกิดพระพิมพ์ขึ้นมาก่อน เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนไป คติการสร้างพระพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงไปและเลือนหายไปในที่สุด พระพิมพ์บางส่วนกลายมาเป็นพระเครื่อง พระพิมพ์เป็นของเก่าแก่ที่ได้มีผู้ทำขึ้นตั้งแต่ตอนต้นพุทธศาสนา มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย การแผ่ขยายอิทธิพลทางพุทธศาสนาไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้พระพิมพ์ซึ่งเป็นประติมากรรมเนื่องในคติทางพุทธศาสนาได้แผ่กระจายไปยังดินแดนต่าง ๆ พร้อมกับคำสอน ความเชื่อทางพุทธศาสนา พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาด้วย[4]

พุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยราวสมัยทวารวดีพร้อมกับความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์ ในสมัยทวารวดีได้รับเอาคติความเชื่อของชาวอินเดียเข้ามาโดยตรงส่งผลให้การสร้างพระพิมพ์ในสมัยทวารวดีมีวัตถุประสงค์การสร้างเหมือนกับอินเดีย คือ การสร้างพระพิมพ์เพื่อสืบพระศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องปัญจอันตรธานซึ่งปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนาแผ่ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ แต่ละพื้นที่ อาทิ พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัยได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความเชื่อเรื่องการบำเพ็ญบุญเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ส่งผลให้การสร้างพระพิมพ์ในสมัยศรีวิชัยจากที่สร้างพระพิมพ์เพื่อสืบพระศาสนาเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายและเป็นการสะสมบุญเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ในภายหน้า เป็นต้น

ในสมัยอยุธยาเริ่มมีการสร้างพระพิมพ์เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ความศักดิ์สิทธิ์ และดลบันดาลให้เกิดอานุภาพต่าง ๆ สำหรับพกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเวลาไปสงครามแทนการพกเครื่องรางแบบเก่า เช่น ผ้าประเจียด (ผ้ายันต์ที่ใช้ผูกแขนหรือคล้องคอ) ตะกรุด พิสมร เป็นต้น ต่อมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เกิดการเปลี่ยนแนวคิดทางพุทธศาสนา อีกทั้งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและวิทยาการจากชาติตะวันตก การสร้างพระพิมพ์เพื่อใช้เป็นเครื่องรางของขลังได้รับความนิยมมากขึ้น พระพิมพ์ที่สร้างเพื่อความเชื่อและความศรัทธาในพุทธคุณด้านต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่า “พระเครื่อง”

ความเชื่อและคตินิยม[แก้]

  1. เครื่องรางส่วนใหญ่ การสร้างสร้างให้มีขนาดเล็กเพื่อที่จะสามารถสร้างได้จำนวนมาก สำหรับบรรจุในเจดีย์ เพื่อว่าในอนาคตเมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมลง วัตถุต่าง ๆ พังทลายยังสามารถพบรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรื่องของพระพุทธศาสนา
  2. ใช้เป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มครองป้องกันในการออกศึกสงครามของคนโบราณ เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง
  3. ปัจจุบันนิยมนำมาห้อยคอเป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มครองป้องกันและเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตตามความเชื่อปรัมปราของไทย

ความนิยมของผู้นิยมสะสม[แก้]

  1. พระเครื่องชุดไตรภาคี
  2. พระเครื่องชุดเบญจภาคี เริ่มมีขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2490 การจัดพระเครื่องชุดเบญจภาคี และลำดับพระเบญจภาคีของท่านผู้รู้ หรือเซียนพระในยุคแรกๆ ท่านตรียัมปวาย หรือ พันเอกประจญ กิตติประวัติ(ยศในขณะนั้น) ผู้ริเริ่มนำการจัดพระชุดเบญจภาคี อันประกอบด้วยพระเครื่องที่มีความนิยมและเก่าแก่ในสมัยต่าง ๆ ประกอบขึ้นเป็นห้าพระเครื่องที่หายากและมีความนิยมสูงสุด ของไทย[5]
    1. พระสมเด็จวัดระฆัง เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ รุ่นที่นิยมคือ พระสมเด็จฯที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร เซียนพระนิยมห้อยแขวนเป็นประธานอยู่ตรงกลาง
    2. พระรอด เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยทวาราวดีตอนปลาย (หริภุญชัย) มีอายุการสร้างเก่าแก่ที่สุด รุ่นที่นิยมคือ พระรอดกรุวัดมหาวัน[6] จังหวัดลำพูน
    3. พระกำแพงซุ้มกอ เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยสุโขทัย รุ่นที่นิยมคือ พระกำแพงซุ้มกอ จังหวัดกำแพงเพชร ในยุคปัจจุบันถือเป็นพระที่พบเจอน้อยที่สุด
    4. พระนางพญา เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยอยุธยา ซึ่งรุ่นที่นิยมคือ พระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก
    5. พระผงสุพรรณ เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยอู่ทอง ซึ่งรุ่นที่นิยมคือ พระผงสุพรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี
  3. พระสมเด็จฯ รุ่นต่าง ๆ
  4. พระสมเด็จบางขุนพรหม
  5. พระกริ่งคลองตะเคียน
  6. พระไพรีพินาศ
  7. พระปิดตา
  8. หลวงปู่ทวด
  9. หลวงพ่อเงิน
  10. หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ[7]
  11. หลวงพ่อโสธร
  12. หลวงพ่อวัดปากน้ำ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
  13. พระกริ่ง รุ่นต่าง ๆ ที่เป็นที่นิยมคือ พระกริ่งวัดสุทัศน์ และ กริ่งพระปวเรศ[8]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2556), หน้า 810.
  2. http://www.royin.go.th/wp-content/uploads/2018/04/01032561-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87.pdf
  3. "พระพิมพ์ พระเครื่อง". ไทยศึกษา.
  4. ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์, ประวัติศาสตร์ผ่านพระเครื่อง (นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555).
  5. https://www.samakomphra.com/page/home/views/w4e254g4i5e5e4h4c2e494r2h2c444e2b4y2d4z274l2o3h4n5m4y534q5m5a2b4j264m2p2p2g2w4/
  6. https://www.thairath.co.th/news/local/1587161?cx_testId=0&cx_testVariant=cx_0&cx_artPos=0#cxrecs_s
  7. https://www.khaosod.co.th/amulets/news_3286180
  8. http://www.royin.go.th/?knowledges=%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87-%E0%B9%91%E0%B9%99-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B9%92%E0%B9%95%E0%B9%95%E0%B9%93

9. https://sakara.store/ แหล่งรวมความรู้ พระเครื่องเมืองไทย