วัดโพธิสมภรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโพธิสมภรณ์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโพธิสมภรณ์
ที่ตั้งตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท ธรรมยุตินิกาย
เจ้าอาวาสพระราชสารโกศล (วงศ์ไทย สุภวํโส)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่บนถนนเพาะนิยม เลขที่ 22 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี อยู่ทางทิศตะวันตกของหนองประจักษ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 40 ไร่

ประวัติ[แก้]

วัดโพธิสมภรณ์ เริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2449 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดย มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้พิจารณาเห็นว่าในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี มีเพียง “วัดมัชฌิมาวาส” วัดเดียวเท่านั้น สมควรที่จะสร้างวัดขึ้นอีกสักวัดหนึ่ง จึงได้ไปสำรวจดูสถานที่ทางด้านทิศใต้ของ “หนองนาเกลือ” ซึ่งเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่อุดมไปด้วยเกลือสินเธาว์ มีปลาและจระเข้ชุกชุม (ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี) เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมควรแก่การสร้างวัดได้เพราะเป็นที่ราบป่าละเมาะเงียบสงบดี ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนักและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เมื่อตกลงใจเลือกสถานที่ได้แล้ว มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ก็ได้ชักชวนและนำพาราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งมาร่วมกันถากถางป่าจนพอควรแก่การปลูกกุฏิ ศาลาโรงธรรม สำหรับใช้เป็นที่บำเพ็ญบุญ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปีของหน่วยราชการ ใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณ 1 ปี ในระยะแรกชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหม่” เพราะแต่เดิมมีเพียงวัดมัชฌิมาวาสซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วัดเก่า” ด้วยพบร่องรอยเป็นวัดร้างมาก่อน มีเจดีย์ศิลาแลงเก่าแก่และพระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรก และได้กราบอาราธนา พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) เจ้าคณะเมืองอุดรธานี จากวัดมัชฌิมาวาสมาเป็นเจ้าอาวาสวัด

ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต

การตั้งชื่อ[แก้]

มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ได้นำความขึ้นกราบทูลขอชื่อต่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชุมพูนุท สิริวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ได้ทรงประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่ มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ผู้สร้างวัดแห่งนี้

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) พ.ศ. 2450 พ.ศ. 2465
2 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) พ.ศ. 2466 พ.ศ. 2505
3 พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2559
4 พระเทพมงคลนายก (สิงห์ อินทปัญโญ) พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2560
5 พระราชสารโกศล (วงศ์ไทย สุภวํโส) 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด[แก้]

  • พระพุทธรูปทองสำริด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย(หลวงพ่อพระพุทธรัศมี) หน้าตักกว้าง 1.55 เมตร สูง 2.30 เมตร อายุประมาณ 600 ปี สมัยสุโขทัย เป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระประธานองค์นี้ยังมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเศียรด้วย
  • พระพุทธรูปศิลาแลง เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร สูง 95 เซนติเมตร กว้าง 24 เซนติเมตร สมัยลพบุรี อายุประมาณ 1,300 ปีประดิษฐานอยู่หลังพระอุโบสถพระพุทธรูปองค์นี้ชาวเมืองอุดรให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก มักจะมีคนมากราบไหว้ขอพรอยู่เสมอ จนมีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระขอ” ซึ่งหมายถึงหากเราขออะไรก็จะได้อย่างนั้นนั่นเอง
  • ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นโพธิ์ที่รัฐบาลประเทศศรีลังกา มอบให้รัฐบาลไทย ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำมาปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2494
  • รอยพระพุทธบาทจำลอง ทำด้วยศิลาแลง อายุประมาณ 100 ปีเศษ
  • ตู้พระไตรปิฎกลายทองลดน้ำ สร้างในพระนามเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2472
  • พระบรมธาตุธรรมเจดีย์

อ้างอิง[แก้]