วัดเทพพุทธาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเทพพุทธาราม (仙佛寺)
พระประธานในอุโบสถทรงเจดีย์เจ็ดชั้น
ที่ตั้ง เลขที่ 686 ถนนสุขุมวิท ต.บางปลาสร้อย อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000
โทรศัพท์ 038-282940 โทรสาร 038-274015
นิกาย มหายาน นิกายฌาน หรือ เซน สาขาหลินฉี (วิปัสนากรรมฐาน) สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย
ความสำคัญ วัดในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแห่งแรกของชลบุรี

วัดเทพพุทธาราม (จีน: 仙佛寺) เป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและสุขาวดี สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย แห่งแรกของจังหวัดชลบุรี สืบสายคำสอนมาจากนิกายเสียมจง หรือ นิกายฌานหรือเซน สาขาหลินฉี (วิปัสสนากรรมฐาน) เป็นศาสนสถานอันสง่างดงามที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างโดยพระเถระจีนนิกายฉายาว่า “พระอาจารย์ตั๊กฮี้” ท่านเป็นปฐมบูรพาจารย์ผู้สถาปนาสร้างวัดมีเนื้อที่วัดในปัจจุบันประมาณ 20 ไร่เศษ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 ซึ่งปรากฏจากหลักฐานแผ่นป้ายไม้แกะสลักในวิหารพระรัตนตรัย ซึ่งบันทึกโดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาพิพัฒนธนากร ได้จารึกไว้ว่าวัดนี้สร้างเสร็จในปีพุทธศักราช 2480

ภายนับได้กึ่งพุทธกาล บูรพาจารย์พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) ท่านได้ธุดงค์วัตรไปอุปสมบท และศึกษาพระธรรมวินัย 2 ปี สำนักสังฆปรินายกนิกายวินัย ของนิกายหลุกจง นิกายวินัย วัดล่งเชียงยี่ บนภูเขาป๋อฮั้วซัว มณฑลกังโซว ประเทศจีน เมื่อสำเร็จธรรมท่านเดินทางกลับมาพร้อมพระคัมภีร์มหายานนิกายวินัย และมีการแปลพระวินัยฉบับมหายานสู่ภาคไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาท่านได้ธุดงค์วัตรไปไกลถึงทิเบต ตะวันออกและได้เข้าศึกษานิกายมิกจง หรือนิกายมนตรายาน ณ อารามรินโวเช่ แคว้นคามทิเบตตะวันออก เป็นเวลา 6 ปี หลังจากนั้นท่านได้ธุดงค์กลับ เพราะคำสั่งของพระอาจารย์มหาชีวินพุทธนอร่ารินโปเช่ พร้อมทั้งท่านได้มอบตราประจำตำแหน่งพระสังฆนายก นิกายมนตรยาน และมอบพระคัมภีร์ฝ่ายวัชรยาน กลับสู่เมืองไทย ก่อนที่ทิเบตจะแตก 2 ปี

เมื่อท่านได้กลับมาเมืองไทยท่านได้ฟื้นฟูพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในประเทศไทย เป็นปึกแผ่นและเจริญรุ่งเรืองสูงสุด และต่อมาท่านได้วางรากฐานคณะสงฆ์จีนนิกายให้เป็นปึกแผ่นแล้วท่านจึงดำริให้บูรณะฟื้นฟูวัดเทพพุทธาราม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่และร้างไปนานให้กลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นับแต่นั้นมาวัดเทพพุทธาราม จึงได้ยึดถือวัตรปฏิบัติและสืบทอดคำสอนจากนิกายวินัย และนิกายมนตรายาน นับจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติ[แก้]

ก่อตั้งโดยพระอาจารย์เจ้าตั๊กฮี้ ท่านได้บรรพชา ณ สำนักวัดมังกรกมลาวาส โดยมีพระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร (กวยหงอ) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายแห่งประเทศไทย รูปที่สอง เป็นพระอุปัชฌาย์ และศึกษาธรรม ณ วัดมังกรกมาลาวาส

ครั้นญาติพี่น้องในเมืองไทยของท่านทราบว่าได้ออกบวชที่ประเทศไทย จึงได้ส่งข่าวให้ภรรยาของท่านที่เมืองจีนทราบ ภรรยาของท่านจึงได้เดินทางมาเมืองไทยเพื่ออ้อนวอนร้องขอนิมนต์ท่านกลับมาตุภูมิ ท่านทนการอ้อนวอนไม่ได้จึงจำต้องกลับสู่มาตุภูมิ แต่ท่านก็ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมใดๆ แต่กลับเพิ่มทวีการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเคร่งครัด โดยบำเพ็ญภาวนาในคอกโค สมาทานธุดงควัตรต่างๆ เพื่อให้สำเร็จเป็นตบะธรรมเผากิเลส

ฝ่ายภรรยาของท่านนั้นมักมากวนท่านอยู่เนืองๆ เช่น จัดอาหารถวายท่านแต่ได้แทรกชิ้นเนื้อสัตว์ในอาหารชนิดนั้นด้วย โดยหวังจะให้ท่านเลิกมังสวิรัติ แต่ท่านก็เลือกฉันเฉพาะที่พวกเป็นพืชผัก บางคราวก็ถึงกับยอมอดฉันแต่กากใบชาแทน ด้วยอานุภาพแห่งสมาธิภาวนาและสัจจะที่แรงกล้าของท่าน ทำให้ท่านมีวรรณะผุดผ่องใครที่เข้าใกล้ก็ได้รสธรรมจากท่านด้วย จนภรรยาของท่านได้สติจึงได้กราบขมาโทษจากท่านและขอบำเพ็ญพรตถือศีลกินเจตามท่านด้วย

ครั้นเมื่อท่านได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทย เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม พระอาจารย์กวยหงอ เห็นความเคร่งครัดของท่าน จึงได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้แสดงธรรมแก่สาธุชนทั้งชาวไทย-ชาวจีน ประจำ ณ สำนักเต๊กฮวยตึ๊ง จังหวัดเพชรบุรี

ต่อมาพระอาจารย์ตั๊กฮี้ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) และนับเป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 3 ณ ที่วัดแห่งนี้ท่านอาจารย์ได้รับศิษยานุศิษย์เพื่อบรรพชาจำนวนกว่า 30 รูป และมีศิษย์ที่สำคัญรูปหนึ่งฉายา “เซี่ยงหงี” ต่อมาท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เป็นอดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 5 พระอาจารย์ตั๊กฮี้ได้ครองวัดอยู่ระยะหนึ่ง จึงออกจาริกแสดงธรรมโปรดชาวพุทธตามจังหวัดต่างๆ เรื่อยมาจนถึงจึงหวัดชลบุรี

ต่อมาท่านได้จาริกแสดงธรรมมาถึงจังหวัดชลบุรี และได้แสดงธรรมะ พุทธศาสนิกชนต่างพากันเลื่อมใสปฏิปทาวัตรปฏิบัติของท่าน ในครั้งนั้นมีทายกทายิกาผู้ใจบุญหลายคนได้ถวายที่ดิน เช่น นายเผือด, นายถมยา,นางถั่ว เพื่อให้ท่านได้สร้างวัดเพื่อจำพรรษา และตั้งชื่อเป็นภาษาจีนว่าวัด “เซียนฮุดยี่” ต่อมาจึงตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า “วัดเทพพุทธาราม” โดยมีเหตุผลของการตั้งชื่อวัดนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าเดิมก่อนที่ท่านจะบวชได้ถือลัทธิเต๋า ซึ่งมีอุดมคติสำเร็จเป็นเซียนหรือเทพเจ้า และต่อมาท่านได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอุดมคติสำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านจึงนำชื่อมาผสมกันว่าวัด “เซียนฮุดยี่ หรือ วัดเทพพุทธาราม” ส่วนทางวัดจีนประชาสโมสร จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น ท่านได้มอบหมายให้พระอาจารย์เซี่ยงหงี ซึ่งเป็นศิษย์ให้ดูแลต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส

ภายหลัง ช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านพระอาจารย์ตั๊กฮี้ ท่านได้เกิดเจ็บป่วยเนื่องจากความชราภาพ พระอาจารย์เซียงหงี เจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร เห็นว่าท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพพุทธาราม ไม่มีลูกศิษย์ดูแลท่านอย่างใกล้ชิด จึงได้เดินทางมานิมนต์ท่านกลับวัดจีนประชาสโมสรเพื่อจะทำการรักษาอาการเจ็บป่วย และจะได้ดูแลท่านอย่างใกล้ชิด ต่อมาไม่นานท่านได้ถึงแก่กาลดับขันธ์ ขณะ ที่ท่านใกล้จะดับขันธ์ท่านกำหนดรู้เวลาดับขันธ์ของท่านเอง จึงได้ลุกขึ้นนั่งเข้าสมาบัติมีสติสัมปัชชัญญะตั้งอยู่ในอารมณ์พระกัมมัฏฐาน แล้วกระทำกาลกิริยาลงด้วยอาการสงบ ด้วยอานุภาพของสมาธิพละที่อบรมปฏิบัติมา ยังให้สรีระสังขารของท่านมิได้เน่าเปื่อยผุพังอย่างน่าอัศจรรย์ ณ วัดจีนประชาสโมสร

หลังจากนั้น มาท่านพระอาจารย์เซียงหงี เจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร ได้ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสและดูแลวัดเทพพุทธาราม ระยะหนึ่ง ภายหลังท่านพระอาจารย์เซียงหงี ได้รับการสถาปณาเป็น พระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย องค์ที่5 จึงได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดมังกรกมลาวาส ที่เยาวราช โดยมีพระภิกษุเซี่ยงกุ่ย เซี่ยงกี่ มาดูแลชั่วคราว ต่อมาท่านได้ขอลาออกจากตำแหน่ง วัดจึงได้เสื่อมโทรมลงไปชั่วขณะหนึ่ง

จนมาถึงยุคพระเดชพระคุณพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) อดีตเจ้าคณะใหญ่สงฆ์จีนนิกายรูปที่ 6 จึงได้รับภาระหน้าที่ และได้ขอประทานกราบเรียนเสนอ สมเด็จพระสังฆนายก ในสมัยนั้นเพื่ออนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสงฆ์ขึ้นดูแลวัด โดยมีหลวงจีนธรรมนันท์จีนประพัทธ์ (อี่เม้ง) เป็นประธาน พระภิกษุเย็นเส็ก เป็นรองประธานรับหน้าที่ดูแลควบคุมกิจการต่างๆ ของวัดและมีพระภิกษุเย็นสู่ พระภิกษุเย็นเทียน พระภิกษุเซี่ยงกุ่ย เป็นกรรมการ ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2505 ทางวัดได้สร้างวิหารพระบูรพาจารย์ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิสงฆ์ 16 ห้อง หอธรรม หอฉัน หอต้อนรับอาคันตุกะเรียบร้อยแล้ว ยังคงมีแต่พระเจดีย์อุโบสถประจำวัดที่จะดำเนินการสร้างให้สำเร็จต่อไป

และในปีดังกล่าว คณะกรรมการได้จัดงานมหากุศล อาจาริยาภิเศกอัญเชิญสรีรกายของพระอาจารย์ตั๊กฮี้ขึ้นประดิษฐาน ณ วิหารบูรพาจารย์ แล้วประกอบพีธีสวดมนต์อุทิศถวายเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ต่อมาพุทธศักราช 2512 พระเจดีย์อุโบสถประจำวัดได้สร้างสำเร็จลง โดยพึ่งบารมีของ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 6 ตลอดจน คณะแรงศรัทธาของสาธุชนและคณะองค์กรกุสลต่างๆ ทางวัดจึงได้ประชุมกำหนดงานผูกพันธสีมาขึ้น ตั้งแต่วันที่ 16-24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 รวม 9 วัน 9 คืน โดยขอประทานกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช วัดมกุฏกษัตริยาราม ทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 การดำเนินการสร้างบูรณะวัดจึงสำเร็จลุล่วงสมบูรณ์ ในยุคสมัยของพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ)

นับแต่นั้นมา วัดเทพพุทธาราม ก็ มีภิกษุจำพรรษาสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

สถาปัตยกรรม[แก้]

วิหารพระรัตนตรัย[แก้]

ประตูทางเข้าวิหารด้านหน้ามีจารึกด้วยธารณีมนต์ภาษาทิเบต และ ภาษาจีน ด้านหน้าประตูทางเข้า จะมีวิหารท้าวจตุโลกบาล ตรงกลางมีวิหารระหว่างประตูเป็นวิหารพระศรีอริยเมตไตรย ด้านหลังพระศรีอาริยเมตไตรประดิษฐานพระเวทโพธิสัตว์หรือพระสกันทโพธิสัตว์ ภายในวิหารซึ่งประกอบด้วย พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภะพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาพุทธเจ้า เป็นประธาน และพร้อมด้วยอัครสาวกทั้งสอง คือ พระอานนท์เถระ และพระมหากัสสปะมหาเถระ ด้านหน้าพระประธานมีแผ่นป้ายไม้แกะสลัก ซึ่งบันทึกโดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาพิพัฒนธนากร ได้จารึกไว้ว่าวัดนี้สร้างเสร็จในปีพุทธศักราช 2480 ภายในพระวิหารเป็นศิลปะจีนแท้ ซึ่งเขียนลวดลายและรูปภาพตามความเชื่อของชาวจีน ด้านซ้ายมือของพระประธานเป็นที่ประดิษฐานของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ปางสหัสรภุชสหัสรเนตร และด้านขวามือเป็นที่ประดิษฐานของบูรพาจารย์นิกายฌาน คือ พระสังฆนายกมหาโพธิธรรม (หรือปรมาจารย์ตั๊กม้อ) และพระสังฆปริณายกฮุ่ยเหนิง (หรือเว่ยหลาง) ด้านข้างทั้งสองของวิหารประดิษฐานพระอรหันต์ทั้งสิบแปดองค์ (สิบแปดอรหันต์) ด้านซ้ายมือเป็นวิหารเทพเจ้าต่าง ๆ ตามความเชื่อของคนจีน และด้านขวามือเป็นสำนักงานเจ้าอาวาส และห้องเก็บพระคัมภีร์

พระอุโบสถ[แก้]

ตัวอุโบสถก่อสร้างด้วยศิลปจีนแท้ ประยุกต์ทิเบต ก่อสร้างเป็นรูปเจดีย์ทรงจีนสูง 7 ชั้น ด้านหน้าตรงข้ามประตูทางขึ้นพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระเวทย์โพธิสัตว์ ด้านในเจดีย์มีพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าเป็นประธาน พร้อมด้วยพระอัครโพธิสัตวสาวก คือ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ อยู่ด้านข้างทั้งสองข้าง สถาปัตยกรรมนี้สร้างขึ้นตามคติความเชื่อในพระสูตรมหายาน ชื่อพระสูตรว่า "อวตังสกคัณฑวยูหสูตร" ภายในเป็นภาพเขียนสีพระพุทธเจ้าฝ่ายมหายาน และพุทธภาษิตฝ่ายมหายาน รอบอุโบสถเป็นใบเสมาแกะสลักจากหินเป็นรูปท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ศิลปะทิเบต และมีจารึกอักขระภาษาทิเบต ด้านข้างของพระอุโบสถเป็นกุฏิสงฆ์ สองชั้น ซึ่งแบ่งเป็นห้อง ๆ ด้านขวามือเป็นหอฉัน และด้านหลังหอฉันเป็น หออาคันตุกะ

วิหารบูรพาจารย์[แก้]

อยู่ด้านหลังพระอุโบสถเจดีย์ เป็นวิหารบูรพาจารย์ ด้านล่างตรงกลางของวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของสรีระธาตุของพระอริยเจ้าตั๊กฮี้ ปฐมเจ้าอาวาส และป้ายบูรพาจารย์นิกายฌาน หรือ เซน ด้านขวามือเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสัมฤทธิ์พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) ด้านซ้ายมือเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสัมฤทธิ์ของพระอาจารย์จีนธรรมนันท์จีนประพัทธ์ (เย็นซิมเถระ)

ด้านบนของวิหารบูรพาจาย์เป็นวิหารที่ประดิษฐานพระวัชรจารย์ฝ่ายวัชรยาน (บูรพาจารย์ฝ่ายวัชรยานทิเบต) ตรงกลางเป็นซุ้มประดิษฐานพระเบญจพุทธ โดยประดิษฐานพระไวโรจนพุทธเจ้าศิลปะผสมปางทิเบตเป็นประธาน และสองข้างตกแต่ง ด้วยรูปภาพของพระบูรพาจารย์ฝ่ายวัชรยาน คือ ท่านคุรุปัทมสมภพ (คุรุรินโปเช่) ท่านมหาสิทธาวิทยธรา ริโวเชดรุปทอป เชนโป ท่านพระมหาวัชราจารย์ชีวินพุทธะนอร่า รินโปเช่ และท่านมหาวัชรจารย์ทริมซินกุนดั๊กรินโปเช่ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) สถาปัตยกรรมภายในตกแต่งแบบทิเบต

ภายนอกของวิหารบูรพาจารย์ ทางด้านซ้ายมือของวิหารเป็นวิหารพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ด้านขวามือเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

โพธิวนาราม[แก้]

ด้านหลังของวัดเป็นสวนป่าที่เงียบสงบ เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่เศษ ในสวนป่าประกอบด้วยต้นไม้ใหญ่ เต็มไปหมด และมีศาลาทรงจีน เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม กรรมฐาน ในอดีตใช้เป็นที่ฝีกวิปัสสนากรรมฐานของภิกษุสงฆ์ ด้านหลังสวนป่า เป็นหอปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียตริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระอมิตาภพุทธเจ้าและพระอัครสาวกทั้งสอง เป็นประธาน และมีอาคารที่พักสำหรับอาคันตุกะ ที่จะมาพักปฏิบัติธรรมภายในวัด ส่วนด้านล่างของหอปฏิบัติธรรม เป็นสถานที่เก็บอัฐิ

ศาลาเมตตาธรรม[แก้]

ปี 2521 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) ได้พร้อมใจกันสร้างศาลาเมตตาธรรมในสวนโพธิวนารามเพื่อเป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุ และรูปหล่อของท่านหลวงจีนเย็นฮวบ ซึ่งเป็นศิษย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษา และนำเป็นแบบอย่างของความเพียรพยายามปฏิบัติธรรม เพื่อบรรลุมรรคผล ตามวิถีทางแห่งโพธิสัตวมรรค

หลวงจีนเย็นฮวบ[แก้]

มีนามเดิมว่า ป่วยพวง แซ่โค้ว (เจริญคุปต์) เกิดที่ตำบลเปี่ยเป๋า อำเภอเยี่ยวเพ้ง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน บิดาชื่อนายเยียกเนี้ย มารดาชื่อนางชุงฮ้อ แซ่ตั้ง ปี พศ 2435 เมื่ออายุ 11 ปี ก็สิ้นบุญมารดา เมื่ออายุ 15 ปีจึงได้ติดตามบิดาเดินทางสู่ประเทศไทย ทำงานเดินเรือ กับบิดาและต่อมาทำกิจการค้าขาย จนเมื่อท่านอายุได้ 46 ปี ก็ตั้งร้านค้าขายชื่อร้าน “ชอเฮงหลี” กิจการเจริญเติบโตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อย่างเข้าสู่วัยชราอายุได้ 62 ปี ท่านจึงหลบจากสังคมหาสถานที่สงบ ณ ภูเขาหลังพระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อปี 2499 ท่านอายุได้ 65 ปี จึงได้ธรรมจักษุจึงได้สละโลกทางโลกียออกบวช และท่านได้ขออุปสมบท กับพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) ณ วัดโพธิ์เย็น จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อท่านได้บวชแล้วจึงได้เร่งความเพียรพยายามเพื่อปฏิบัติธรรมให้สำเร็จ

เมื่ออายุได้ 75 ปี ท่านจึงได้สร้างกุฏิเพื่อเจริญสมาธิภาวนา ณ วัดเทพพุทธาราม จ.ชลบุรี และท่านเป็นพระเคร่งพระวินัยมาก ท่านมักจะสวดมนต์ภาวนา นั่งสมาธิแผ่กุศลไปยังสรรพสัตว์

จนกระทั่ง วันที่ 4 สิงหาคม 2510 ขณะท่านได้เจริญสมาธิ ได้บังเกิดมรณญาณ คือรู้วันเวลาแตกดับของสังขารใกล้เข้ามาแล้ว และท่านจึงจุดเทียนรอบกายท่านแล้วเขียนโศลกบทหนึ่งว่า

“ เมื่อละได้ ก็สามารถไปถึงพุทธเกษตร นั่งดับในท่ามกลางแสงเทียน ได้เฝ้าพระสุคตด้วยตัวเอง”

จากนั้นท่านจึงเข้าฌานสมาธิหน้าพระพุทธรูปในกุฏิแล้วดับสังขารในท่าสมาธิขัดบัลลังก์ รวมสิริอายุได้ 76 ปี 12 พรรษา

ลำดับเจ้าอาวาส/รักษาการเจ้าอาวาส[แก้]

  1. พระอธิการตั๊กฮี้ เจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร และเป็นปฐมเจ้าอาวาสวัดเทพพุทธาราม
  2. พระอาจารย์เย็นเส็ก รักษาการเจ้าอาวาส
  3. พระอาจารย์จีนวินยานุกร (เย็นเจียง) รักษาการเจ้าอาวาส
  4. หลวงจีนธรรมนาทจีนประพันธ์ (เย็นซิม)
  5. หลวงจีนใบฎีกา 仁勉大師 (เย็นเมี้ยง) (ผู้ปกครองดูแลวัด)
  6. หลวงจีนธรรมรักษ์จีนประจิต (เย็นอี)

แนวคำสอน[แก้]

ปัจจุบันนี้วัดเทพพุทธารามมีการเผยแผ่คำสอนของมหายาน คือ

  1. ด้านการศึกษา เป็นวัดที่มีการแปลพระสูตรจากต้นฉบับภาษาจีน สู่ภาคภาษาไทย ออกเผยแผ่สู่สาธารณชน

การเดินทาง[แก้]

ในการเดินทางมาวัดเทพพุทธารามนั้น ช่วงเข้าตัวเมืองชลบุรีให้ท่านเดินทางผ่านถนนสุขุมวิท (ใช้เส้นทางหนองมน-พัทยา) ผ่านแยกเฉลิมไทย ประมาณ 20 เมตรมองด้านซ้ายมือจะเห็นที่ทำการไปรณีย์เมืองชลบุรี ด้านข้างจะมีป้ายบอกว่า "วัดเทพพุทธาราม (เซียนฮุดยี่) การเดินทางสามารถใช้เส้นทางได้ดังนี้

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ[แก้]

  • ใช้เส้นทาสายบางนา-ตราด ทางหลวงหมายเลข 34 เข้าสู่จังหวัดชลบุรี
  • ใช้เส้นทางสายกรุงเทพฯ-มีนบุรี ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา-บางปะกง เข้าสู่จังหวัดชลบุรี
  • ใช้เส้นทางสายเก่า ถนนสุขุมวิท ทางหลวงหมายเลข 3 ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ ไปจนแยกอำเภอ บางปะกง และให้แยกเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 34 ไปจนถึงจังหวัดชลบุรี
  • ใช้เส้นทางหวงพิเศษ (MOTOR WAY) สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา

รถโดยสารประจำทาง[แก้]

การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางนั้น ท่านสามารถสอบถามเส้นทางรถทุกสายที่วิ่งผ่านตัวเมืองชลบุรี บอกคนขายตั๋วรถว่า ลงแยกเฉลิมไทย หรือ บอกว่าลงวัดจีนชลบุรี

สถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย)[แก้]

  • มีบริการรถโดยสารปรับอากาศไปชลบุรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.30-21.00 น. รถออกทุก 40 นาที
  • รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 มีรถบริการระหว่างเวลา 05.00-21.00 น. ออกทุก 30 นาที
  • รถโดยสารธรรมดามีบริการตั้งแต่เวลา 05.00 -21.00 น. ออกทุก 30 นาที

สถานีขนส่งหมอชิต 2[แก้]

  • มีรถโดยสารปรับอากาศ วิ่งเส้นมอเตอร์เวย์ มีรถออกตั้งแต่เวลา 06.30-18.30 น.

สถานีขนส่งสายใต้[แก้]

สถานีรถปรับอากาศสายใต้-พัทยา ของ บริษัท รถรุ่งเรือง จำกัด วิ่งเส้นบางนาตราด รถไปจอดที่ ถนนพัทยาเหนือ เริ่มตั้งแต่เวลา 05.30-18.30 น. รถออกทุก 2 ชั่วโมง โทร. 0 2884 5572 สาขาพัทยา

รถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพง[แก้]

  • มีบริการรถไฟไปจังหวัดชลบุรีทุกวันๆ ละ 1 เที่ยว

อ้างอิง[แก้]

ประวัติวัดเทพพุทธาราม อ.เมือง จ.ชลบุรี