วัดม่อนปู่ยักษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดม่อนปู่ยักษ์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดม่อนปู่ยักษ์, วัดม่อนสันฐาน
ที่ตั้งตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดม่อนปู่ยักษ์ ตั้งอยู่ในตำบลพระบาท ชุมชนบ้านป่าขาม 2 อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามแบบพม่า เป็นวัดที่สร้างจากพระธุดงค์ชาวพม่า ลักษณะที่ตั้งวัดอยู่บนเนินเขา สูงชันขึ้นไปลำบาก จึงเรียกว่า"ม่อน" ตามภาษาพม่า และมีเจ้าอาวาสชาวพม่าที่มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนธรรมดา ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ม่อนปู่ยักษ์"

วัดม่อนปู่ยักษ์ หรือ วัดม่อนสันฐาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2442 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในพระอารามแห่งนี้มีศิลปกรรมทั้งที่เป็นแบบพม่าเดิมแท้และตะวันตกประยุกต์

วิหารก่ออิฐถือปูนกับเจดีย์ วางในแนวแกนหลักตะวันออก-ตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานไพที ถัดไปเบื้องล่างทางด้านหลังเป็นที่ตั้งของวิหารเครื่องไม้ วิหารบนฐานไพทีเป็นตึกแบบโคโลเนียล หลังคาทรงจั่ว โดยรอบเป็นอาคารขนาดเล็กเรียงราย ใช้สำหรับทำวิปัสสนากรรมฐาน เหนือช่องหน้าต่างแคบเป็นทรงโค้ง เหนือประตูเป็นซุ้มโค้ง ประดับด้วยปูนปั้นทรงปราสาทซ้อนชั้น หน้าบันทางตะวันออกประดับรูปนกยูง สัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ หน้าบันทางตะวันตกประดับรูปกระต่าย สัญลักษณ์ของพระจันทร์

เจดีย์มีชื่อว่า จุฬามณีสันฐาน ตั้งอยู่หลังวิหาร ที่ฐานทั้งสี่ด้านมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ทุกด้านมีบันไดทางเข้า เหนือซุ้มประดับปูนปั้นรูปทรงปราสาท ที่มุมทั้งสี่ของเจดีย์ประดับสิงห์ปูนปั้น องค์ระฆังของเจดีย์คาดด้วยรัดอก เป็นรูปยักษ์จับลายพรรณพฤกษา เหนือองค์ระฆังเป็นปล้องไฉน ปัทมบาท และปลี ตามลำดับ ยอดบนสุดประดับฉัตร

จองใช้ประกอบศาสนกิจและเป็นกุฏิ โดดเด่นด้วยทรงจั่วซ้อนชั้นพร้อมผนังเรือนข้างใต้หลังคา ภายในจองประดิษฐานพระประธานศิลปะพม่า 3 องค์ วิหารแบบพม่ามีภาพจิตรกรรม เป็นฝีมือช่างสมัยราชวงศ์โก้นบองตอนกลาง สกุลช่างอมรปุระ อายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 เข้าใจว่าเล่าเรื่องพรหมนาถชาดก อุโบสถก่ออิฐถือปูนทรงสูง เดิมเคยเป็นวิหาร ทางวัดเรียกว่า วิหารทรงโปรตุเกส[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ไทยทัศนา (36) : วัดม่อนปู่ยักษ์ ลำปาง". วอยซ์ทีวี.