วัดมิ่งเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมิ่งเมือง
พระวิหารวัดมิ่งเมือง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดช้างมูบ
ที่ตั้งตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูโสภณศิลปาคม
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดมิ่งเมือง เป็นวัดในตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 6 พื้นที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา (4,560 ตารางเมตร)

ประวัติ[แก้]

ภาพเขียนในวัดแสดง พระนางเทพคำข่าย พระมารดาของพระยามังรายซึ่งภาพเขียนในวัดระบุว่าเป็นผู้สร้างวัด

วัดมิ่งเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2513 เดิมเป็นวัดไทใหญ่ สร้างสมัยใดไม่ทราบ ได้ร้างไปในยุคพม่าครองเมือง ในช่วงเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองได้มีการกวาดต้อนผู้คนมาฟื้นฟูเมืองเชียงราย ได้มีการขุดดินเพื่อนำไปเผาอิฐสร้างกำแพงเมืองในสมัยพระยารัตนอาณาเขต (เจ้าอุ่นเรือน) ขุดลงไปจนมีน้ำชั้นผิวดินออกมาเป็นบริเวณกว้าง มีการนำช้างชักลากของและพักเล่นน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า หนองช้างมูบ ราว ๆ ปี พ.ศ. 2420 ได้มีการสร้างวัดขึ้น โดยคณะศรัทธาชาวเงี้ยว (ไทใหญ่) ที่อยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษมาค้าขาย และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณจำปาสี่ต้น (ปัจจุบันคือบริเวณโรงแรมแสนโฮเทล) ได้สร้างวัดขึ้นบนพื้นที่วัดร้างเดิม ซึ่งมีบริเวณกว้างขวางมากหน้าหนองช้างมูบ จึงเรียกชื่อวัดว่า วัดช้างมูบ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดมิ่งเมือง

แม้ประวัติของทางวัดจะอ้างว่าวัดนี้สร้างโดยตะละแม่ศรีหรือนางอุษาปายโค พระมเหสีของพญามังราย ตามข้อความที่จารึกแผ่นทองอักษรพม่าระบุไว้ ซึ่งจารึกนี้ทางวัดอ้างว่าได้นำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์แล้ว อย่างไรก็ตาม อภิชิต ศิริชัย นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้ออกมาโต้แย้งว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพญามังรายได้ให้นางอุษาพายโค (ปายโค) หรือนางเทพคำขร่ายมาสร้างวัดมิ่งเมืองที่เชียงราย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุเพียงว่าพญามังรายให้นางพายโคกับครัวมอญประมาณ 500 ครัวที่ติดตามมาจากเมืองหงสาวดีอยู่ที่เวียงกุมกามเท่านั้น ไม่มีเอกสารหลักฐานชั้นต้นใดที่กล่าวว่าพระนางได้มาประทับอยู่เชียงราย ส่วนจารึกถ้ามีจริงก็ควรจะเป็นอักษรมอญมากกว่าพม่า[1][2] อีกทั้งตะละแม่ศรีก็ไม่ใช่คนเดียวกันกับนางพายโค เนื่องจากตะละแม่ศรีประสูติประมาณปี พ.ศ. 1893 หลังจากพญามังรายสวรรคตไปแล้ว 39 ปี[3] หลักฐานประวัติที่เก่าที่สุดของวัดมิ่งเมืองมีปรากฏเพียงแค่ช่วงยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายเท่านั้น

โบราณสถานและโบราณวัตถุในวัด[แก้]

  • องค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ เป็นศิลปะเชียงแสนสิงห์ 1 ซึ่งได้ทำการซ่อมแซมมาถึง 4 ครั้งมีอายุถึง 400 กว่าปี เดิมเป็นศิลปะไทยใหญ่ ซึ่งครั้งหลังสุด ช่างที่ก่อสร้างได้เพิ่มขนาดขององค์พระให้ใหญ่ขึ้น โดยมีหน้าตักกว้างขนาด 80 นิ้ว มีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามตามพุทธศิลป์แบบเชียงแสนสิงห์ 1 ยุคต้นโดยเฉพาะที่ยอดพระเกตุโมฬีเป็นรูปดอกบัวตูมแกะสลักจากหินแก้วจุยเจียหรือแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น
  • เจดีย์ เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ ที่มีคู่มากับวัด เป็นศิลปะแบบล้านนา เดิมก่อนการบูรณะเป็นรูปทรงพม่าทั้งหมด แต่ต่อมาได้รับการบูรณะใหม่ โดยสร้างเจดีย์บริวารตั้งไว้สี่มุม ประดับด้วยฉัตรศิลปะแบบพม่า ชาวบ้านเรียกเจดีย์นี้ว่า “พระธาตุมิ่งเมือง” นอกจากนี้เจดีย์นี้มีความสำคัญ คือ เป็นที่เก็บรวบรวมประวัติของวัดไว้
  • วิหาร เป็นวิหารไทใหญ่ประยุกต์ผสมผสานกับรูปแบบของวิหารล้านนา ภายในตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักลงรักปิดทอง ประกอบกับการกรุฝ้าเพดานแบบไตรภูมิและบราลีเป็นรูปหงส์จำนวน 34 ตัว
  • บ่อน้ำ ชาวบ้านทั่วไป เรียกบ่อน้ำนี้ว่า “น้ำบ่อช้างมูบ” เพราะรูปแบบการก่อสร้างมีหลังคาเป็นรูปซุ้มโขง ประดับด้วยรูปปั้นของช้างทรงเครื่อง ซึ่งหมอบอยู่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในสมัยโบราณ บ่อนี้ได้ให้ประโยชน์แก่ชุมชนชาวตลาดเชียงรายเป็นอย่างมากเพราะเป็นบ่อน้ำแห่งเดียวที่อยู่ในบริเวณนี้ ทั้งใช้ตักดื่ม และตักไปขาย และเป็นสถานที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างในเมืองและนอกเมือง เมื่อชาวบ้านเดินทางไกลมาจะเข้าเมือง จะแวะพักดื่มน้ำที่บ่อนี้ก่อน และไปธุระ พอเสร็จธุระและจะออกจากตัวเมืองก็จะแวะพักเหนื่อย และดื่มน้ำที่บ่อช้างมูบก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อไป

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

๑. เป็นพระภิกษุไทใหญ่มาจากประเทศพม่า

๒. ครูบาปัญญา ปญญาปโก พ.ศ. 2420 (สันนิษฐานตามประวัติเมื่อสร้างวัด)

๓. พระมหาบุญตัน (ไม่ระบุ พ.ศ.)

๔. ท่านเจ้าคุณ พระปัญญากรโมลี พ.ศ. 2496-2543

๕. พระครูโสภณศิลปาคม พ.ศ. 2543 ถึงปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. อภิชิต ศิริชัย. 725 ปี วัดมิ่งเมือง จริงหรือไม่? วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ตามความเป็นจริง. วารสารล้อล้านนา ปีที่ 2 ฉบับที่ 20. เชียงราย : ล้อล้านนา, 2555.
  2. อภิชิต ศิริชัย. รู้เรื่องเมืองเชียงราย : เรื่องราวที่เคยรับรู้กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ. เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559 ISBN 9786169099673.
  3. รุ่ง ใจมา. ตะละแม่ศรี เป็นราชเทวีพญามังรายจริงหรือ?. วารสารล้อล้านนา ฉบับที่ 23. เชียงราย : ล้อล้านนา, 2557.
  • อภิชิต ศิริชัย. รู้เรื่องเมืองเชียงราย : เรื่องราวที่เคยรับรู้กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ. เชียงใหม่: ล้อล้านนา, 2559 ISBN 9786169099673.

พิกัดภูมิศาสตร์: 19°54′26″N 99°49′42″E / 19.9073557°N 99.8283655°E / 19.9073557; 99.8283655