วัดมัชฌิมาวาส (จังหวัดอุดรธานี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมัชฌิมาวาส
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 5 ถนนอุดรดุษฎี ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธนรสีห์มหามุนี
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อนาค
เจ้าอาวาสพระพรหมวัชรคุณาภรณ์ (สายพงศ์ อโนมปญฺโญ ป.ธ.5)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดมัชฌิมาวาส เดิมชื่อ วัดโนนหมากแข้ง เป็นวัดของประชาชนทั่วไป ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นวัดของตระกูลนั้น ของหมู่บ้านนั้น หรือของผู้นั้น แม้วัดนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จะได้ทรงสร้างขึ้น แต่ก็ไม่มีชื่อของพระองค์ติดอยู่ในชื่อวัดเลย ได้ทรงตั้งชื่อว่า "วัดมัชฌิมาวาส" ซึ่งหมายความว่า เป็นศูนย์กลาง เป็นย่านกลางแห่งการสร้างความดี คำว่า "กลาง" ก็หมายความว่า "เป็นของทุกคน" เช่นคำว่า "ของกลาง" โดยที่เสด็จในกรม ทรงมอบให้เป็นสมบัติของประชาชนทุกคน ไม่ใด้จำเพาะเจาะจงเหมือนบางวัด ถึงกระนั้นก็ยังทรงมีพระทัยเป็นห่วงอยู่ เสมือนมารดา บิดาได้มอบทรัพย์มรดกให้แก่บุตรธิดาแล้วก็ยังเป็นห่วง คอยเอาใจใส่ สอดส่องดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งน้ำพระทัย เสด็จในกรมได้ส่งพระฉายาลักษณ์ (รูปถ่าย) ขนาด 24 นิ้ว แต่งตัวแบบอุบาสก นั่งเก้าอี้เต็มองค์ มาไว้ที่วัดมัชฌิมาวาส เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 ซึ่งทางวัดได้ตั้งประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถ ประชาชนทั้งหลายได้ตอบสนองความตั้งพระทัยแห่งเสด็จในกรมด้วยดี โดยให้การทะนุบำรุงอุดหนุนค้ำจุนด้วยปัจจัยสี่ และให้ความร่วมมือร่วมใจตลอดมา ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตให้ยกเป็นพระอารามหลวงแล้ว ประชาชนก็ยิ่งให้ความอุปถัมภ์มากขึ้น

วัดมัชฌิมาวาส เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 5 ถนนอุดรดุษฎี ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2437 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

ประวัติ[แก้]

พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สมัยดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ ผู้สำเร็จราชการ] หัวเมือง ลาวพวน ได้ทรงสร้างวัดโนนหมากแข้ง (เคยเป็นวัดร้าง) แล้วมีภิกษุจำพรรษาอีกครั้ง เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดมัชฌิมาวาส เมื่อราว พ.ศ. 2436] พร้อมกับการสร้าง เมืองอุดรธานีขึ้น

ก่อนจะมาเป็นวัดมัชฌิมาวาส วัดมัชฌิมาวาสเป็นวัดร้างมาก่อน ชื่อว่า วัดโนนหมากแข้ง แต่หลักฐานที่พอให้ทราบได้ว่าเป็นวัดร้างนั้น ก็มีอยู่ 2 อย่าง คือเจดีย์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่โนน (เนิน) ประชาชนเล่าสืบกันมา ว่าเจดีย์นั้นได้ครอบ และมีพระพุทธรูปหินขาว ปางนาคปรก (ปัจจุบัน คือ หลวงปู่นาค) อยู่ภายในเจดีย์ ปัจจุบัน พระพุทธรูปหินขาว ปางนาคปรก ก็ได้นำมาประดิษฐานไว้ที่หน้าพระอุโบสถ ให้ชาวอุดรฯและจังหวัดใกล้เคียงได้สักการบูชา กันมาจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นพระพุทธรูปที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์คู่วัดมัชฌิมาวาสตลอดมา

สถานที่ตั้ง[แก้]

วัดมัชฌิมาวาส ตั้งอยู่บนเนื้อที่ทั้งหมด 15 ไร่ 1 งาน ถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ติดกับถนนหมากแข้ง และถนนดุษฎี ด้านทิศใต้ ติดกับถนนวัฒนา ด้านทิศเหนือ ติดกับถนนโพนพิไสย อยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหลายแห่ง คือ ใกล้ศาลจังหวัดอุดรธานี โดยห่างจากศาลจังหวัดอุดรธานทีเพียง 40 เมตรเท่านั้น ใกล้กับสถานีกาชาดที่ 9 และสาธารณสุขจังหวัด ประมาณ 30 เมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 120 เมตร ด้านหลังติดกับโรงเรียนเทคนิคอุดรธานี โดยห่างกันเพียง 30 เมตร ห่างจากสำนักงานเทศบาลเมืองอุดรธานี ประมาณ 250 เมตร และตั้งอยู่ในย่านกลางของคุ้มต่าง ๆ คือ คุ้มบ้านห้วย คุ้มบ้านโนน คุ้มหมากแข้ง คุ้มทุ่งสว่าง และคุ้มบ้านคอกวัว