วัดมหาวนาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมหาวนาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมหาวนาราม หรือ วัดป่าใหญ่
ที่ตั้งถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี 34000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง (ศิลปะแบบล้านช้าง)
เจ้าอาวาสพระวชิรกิจโกศล( พระมหาสุดใจ นิสฺโสโก ป.ธ.๔)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดมหาวนาราม เดิมชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ นิยมเรียกว่า วัดป่าใหญ่ เป็นพระอารามหลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บนถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

พระปทุมวรราชสุริยวงศ์(ท้าวคำผง - ต้นสายสกุล " ณ อุบล " ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก ได้ได้ก่อสร้างวัดที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตั้งชื่อว่า วัดหลวง เพื่อให้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลแก่ประชาชนทั่วไป

เมื่อพระมหาเถระได้เข้ามาอยู่จำพรรษาแล้วท่านเห็นว่า วัดนี้เป็นวัดบ้าน หรือ ฝ่ายคามวาสีไม่เหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรม]วิปัสสนากรรมฐาน จึงได้หาสถานที่ใหม่ คือ ป่าดงอู่ผึ้ง ห่างจากวัดหลวงไปทางทิศเหนือ 100 เส้น มีหนองน้ำ ชื่อว่า หนองสะพัง เป็นสถานที่อันสงบวิเวก เหมาะจึงได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ (พ.ศ. 2322) ชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ เพื่อให้คู่กับวัดหลวงซึ่งก่อตั้งขึ้นก่อนแล้วนั้น แต่ก็ยังไม่ทันได้ตั้งเป็นวัดให้เรียบร้อยสมบูรณ์ เจ้าเมืองคือ พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง - ต้นสายสกุล " ณ อุบล " ) ได้ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อนเมื่อ พ.ศ. 2338)

พ.ศ. 2348 เจ้าเมืองคนที่ 2 คือ พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิดพรหม - ต้นสายสกุล " พรหมวงศานนท์ " ) ได้มาก่อสร้างวิหารอารามในวัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ต่อจนสำเร็จใน พ.ศ. 2350 และได้ยกฐานะเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติ แต่ชาวบ้านเรียกว่า วัดหนองตะพังหรือหนองสระพัง ตามชื่อหนองน้ำที่อยู่ใกล้เคียง (มีหลักฐานการสร้างวัดอยู่ที่ ศิลาจารึก ซึ่งตั้งอยู่ข้างหลัง (ด้านซ้าย) ของพระเจ้าใหญ่อินทร์แปงระบุปีที่สร้างวัดนี้ ตรงกับ พ.ศ. 2350) โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปพระอินแปง หรือ พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง

"จุลศักราชได้ ๑๔๙ ตัว ปีเมิงมด เจ้าพระปทุมได้มาตั้งเมืองอุบลได้ ๒๖ ปี (ซาวหกปี)

ศักราชได้ ๑๔๒ ตัว ปีกดซง้า จึงถึงอนิจกรรมล่วงไปด้วยลำดับปีเดือนหั่นแล

ศักราชได้ ๑๕๔ ตัว ปีเต่าสัน พระพรหมวราชสุริยะวงศ์ ได้ขึ้นเสวยเมืองอุบลได้ ๑๕ ปี

ศักราช ๑๖๗ ตัว ปีรวงเล้า จึงมาได้สร้างวิหารอารามในวัดป่าหลวงมณีโชติศรีวัสสัสดี เพื่อให้เป็นที่สำราญแก่พระพุทธรูปเจ้า

ศักราชได้ ๑๖๙ ตัว ปีเมิงเม้า มหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา พาลูกศิษย์สร้างพระพุทธรูปดินแลอิฐซะทาย ใส่วัด ล่วงเดือน ๕ เพ็ง วัด ๑ มื้อ ล่วงได้ ฤกษ์ ๑๒ ลูกชื่อว่า จิตตา อยู่ในราศีกันย์ เบิกแล้วยามแถใกล้ค่ำ จึงได้ชื่อว่า พระเจ้าอินแปง ให้คนแลเทวดาคอยล่ำแยงรักษาบูชา อย่าให้มีอนารายอันตาย แก่พระพุทธรูปเจ้าองค์วิเศษ เพื่อให้เป็นมุงคุณแก่บ้านเมือง มหาราชครูตนสร้างมีคำเลื่อมใสจึงทอด น้องหญิงชื่อว่าแม่ปุยกับทั้งอีปุ้ยหลานหญิงให้เป็นข้าโอกาส แก่พุทธรูปอินแปงเจ้าองค์นี้ ลูกหญิงชื่อว่า สาวหล้า สาวตวย สาวทุม ให้เป็นข้าโอกาสพุทธรูปเจ้าและนางเพี้ยโคตรกับทางลูกเป็น ๔ แลนางเพียแก้วกับทั้งลูกเป็น ๓ แลแม่เชียงทากับลูกเป็น ๓ และแม่ภากับลูกเป็น ๕ มอบตัวเป็นข้าโอกาสพุทธรูปเจ้าองค์นี้ แม่พระชาลี แลสาวดวง แลอีบุญ ๓ คนนี้ มอบตนเป็นข้าโอกาสข้อยโอกาสทั้งมวลนี้เป็นซาว๓(๒๓) หากเป็นข้อยโอกาสด้วยคำเลื่อมใส บ่ได้เอาข้าวของพระพุทธรูปเจ้า ครั้งว่าไผอยากออกจากโอกาสให้ปัจจัยไทยธรรมให้สมควรคำเลื่อมใสบูชาพุทธรูปเจ้าจงออกเทอญ บ่เป็นโทษเป็นกรรมแล

พระยาตนใดมากินบ้านกินเมือง ที่นี้บ่ใช้เวียก(ไม่เรียกใช้งาน)บ้านการเมืองแก่ข้าโอกาสฝูงนี้ได้ซื่อว่า คบรบ(เคารพ)พระเจ้า

นัยหนึ่งชื่อว่า ประกอบชอบธรรม พระยาตนใดมานั่งเมืองอันนี้ มาดูศิลาเลกอันนี้ รู้ว่าพุทธรูปเจ้ามีข้อยโอกาส จึงบ่ใช้เวียก(ใช้งาน)การบ้านการเมือง พระยาตนนั้นบอกข้าโอกาสให้ปฏิบัติพุทธรูปเจ้าจักได้กุศลบุญกว้างขวางเหตุคบรบ(เคารพ)ในพระพุทธรูปเจ้านั้นแล

นัยหนึ่งพระยาตนใดมาอยู่ดินกินเมือง ที่นี้ ให้บูชาคบรบ(เคารพ)พุทธรูปเจ้าองค์นี้ด้วยเครื่องสักการะบูชา เยื่องใดเยื่องหนึ่ง คือ มโหรสพ ครบงัน เมื่อเดือน ๕ เพ็ง ดังนั้น จักได้คำวุฒิศรีสวัสดิ์สัสดีแก่ชาวบ้านชาวเมือง เหตุพุทธรูปประกอบด้วยบุญลักษณะเหตุดังนี้เทวดาจึงให้คำวุฒิศรีสวัสดิ์สัสดี ด้วย เดชคุณพุทธรูป นัยหนึ่ง อาชญาเจ้าเมือง ตนชื่อว่า พระพรหมวราชสุริยะวงค์ ได้สร้างวิหารอารามให้ที่สถิตย์แก่พุทธรูปเจ้า ทางรีสุดท่ง(ทุ่ง) เบื้องท้ายวัดนั้นเป็นทานแก่พุทธรูปเจ้า ทางรีสุดท่ง(ทุ่ง)ทางกว้างสุดแดนดง คนผู้ใดผู้หนึ่งมาเฮ็ดนา ในดินโอกาสที่นี้ ผิว่าได้เกวียน ๑ ให้เก็บค่าดินถังหนึ่ง ๒ เกวียน ๒ ถัง ให้เก็บขึ้นตามลำดับสำคัญสัญญาดังหลังนั้นเทอญ"

พ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดมหาวัน หรือ วัดป่าใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งตามสมัยนิยมเรียกว่า วัดมหาวนาราม ความหมายของวัด ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม คือ แปลว่า ป่าใหญ่

วัดนี้ได้รับพระราชทานโปรดเกล้า ฯ ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยลักษณะศิลปะแบบลาว (ล้านช้าง) ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 3 เมตร สูงจากเรือนแท่นถึงเปลวพระโมลี 5 เมตร ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา พ.ศ. ๒๓๔๓-๒๓๕๐
  • อาชญาท่านหงษ์ พ.ศ.(ไม่ปรากฏ)
  • อาชญาท่านสังวาลย์ พ.ศ.(ไม่ปรากฏ)
  • อาชญาท่านโสม พ.ศ.(ไม่ปรากฏ)
  • อาชญาท่านพวง พ.ศ.(ไม่ปรากฏ)
  • อาชญาท่านทอง พ.ศ.(ไม่ปรากฏ)
  • พระครูเคน พ.ศ.(ไม่ปรากฏ)
  • พระครูนวกิจโกศล (นาค ภูริปัญโญ นักธรรมเอก) พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๕๒๘
  • พระเทพกิตติมุนี( สมเกียรติ สมกิตติ ป.ธ.๖) พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๕๗
  • พระวชิรกิจโกศล (สุดใจ นิสโสโก ป.ธ.๔) พ.ศ. ๒๕๕๘-ปัจจุบัน

คลังภาพ[แก้]