วัดมณีชลขัณฑ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดมณีชลขันธ์)
วัดมณีชลขัณฑ์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมณีชลขันฑ์ วัดพระอารามหลวงชั้นตรี
ที่ตั้งตำบลพรหมมาสตร์ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ไทย ประเทศไทย
ประเภทวัดหลวง พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายธรรมยุต
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธรูปที่มีความเก่าแก่
ความพิเศษเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นวัดที่มีแม่น้ำลพบุรีล้อมรอบอาณาเขตของวัดจึงมีสภาพเป็นเกาะ
จุดสนใจเจดีย์หลวงพ่อหลวง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดมณีชลขัณฑ์ เป็น วัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ในตำบลพรหมมาสตร์ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

ที่ตั้งมีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะกลางท้องพรหมาสตร์ มีอาณาเขตดังนี้

ทั้งหมด 9 ไร่ 16 ตารางวา

ประวัติ[แก้]

เจดีย์พระอุโบสถ

วัดมณีชลขัณฑ์ เป็นวัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดลพบุรี ที่นอกจากจะมีสิ่งสำคัญหลายประการแล้ว ยังเปรียบเสมือน ประตูเมืองลพบุรี ได้อีกด้วย กล่าวคือเป็นเส้นทางสายตรงสายเดียว ระหว่างจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสิงห์บุรี ต้องสร้างสะพานโดยอาศัยเกาะตัววัดเป็นที่เชื่อมกลาง ผู้คนที่สัญจรไปมาจึงต้องผ่านวัดนี้ หรือชาวสิงห์บุรีที่เดินทางมาลพบุรีและชาวลพบุรีเองก็ใช้เส้นทางสายนี้ในการเดินทางไปสู่จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอื่น ๆ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าวัดมณีชลขัณฑ์เป็นประตูเข้าสู่ตัวเมืองลพบุรีด้านตะวันตก เช่นเดียวกับที่พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ วงเวียนเทพสตรี ซึ่งชาวลพบุรีส่วนใหญ่จะเรียกว่าวงเวียนพระนารายณ์ก็ยังเป็นประตูเมืองด้านตะวันออกอีกด้วย

วัดมณีชลขันฑ์ วัด พระอารามหลวง วัดมณีชลขัณฑ์* เป็นวัดเก่าแก่หลายชั่วอายุคน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอนว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างเมื่อใด ทราบแต่เพียงว่าแต่เดิมชื่อ วัดเกาะแก้ว และจากหลักฐานเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน น่าจะสันนิษฐานได้ว่าสร้างมาแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 – 2231) เดิมมีชื่อว่า วัดเกาะแก้ว เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำลพบุรี ปัจจุบันมีการตัดถนนไปถึงตัววัดจึงไม่มีลักษณะเป็นเกาะเช่นเดิม สถานที่ที่มีชื่อเสียงของวัดนี้คือ เจดีย์หลวงพ่อแสง ผู้ที่สร้างวัดนี้คือ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดมณีชลขันฑ์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถาน เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ นอกจากนี้ที่วัดนี้มีต้นโพธิ์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงปลูกไว้ ปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพราะมีถนนตัดผ่าตรงกลางพอดี ทีโบราณสถานที่น่าสนใจคือ พระเจดีย์ รูปทรงแปลกตาที่ก่อเป็นรูปเหลี่ยมสูงชะลูดขึ้นไป คล้ายกับพระเจดีย์เหลี่ยมสมัยเชียงแสน แต่ตรงมุมมีการย่อไม้สิบสองทำเป็น 3 ชั้น มีชุ้มประตูยอดแหลมยู่ด้านข้างทั้ง 4 ด้าน

จากที่กล่าวข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่าวัดมณีฯ เป็นวัดที่มีความสำคัญ ด้วยเป็นวัดหลวง ที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์และด้วยเหตุที่สภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ มีน้ำล้อมรอบ เหมาะแก่การเสด็จประพาสประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ จึงทำให้มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศล และเสด็จมาประทับพักผ่อนหลายพระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เคยเสด็จท้องพรหมาสตร์เล่นสักวาเมื่อวันขึ้นสิบค่ำ เดือนสิบสอง ปีวอก ตรงกับ พ.ศ. 2415) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชทานกฐิน 2 ครั้ง คือเมื่อ พ.ศ. 2458 และ พ.ศ. 2469 การเสด็จแต่ละครั้งก็จะประทับ ณ พระตำหนักแพ กลางท้องพรหมาสตร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เคยเสด็จเมื่อตอนลาผนวชก่อนขึ้นเสวยราชย์ หรือมีพระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช และ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เคยเสด็จถวายพระกฐิน ณ วัดนี้เช่นกัน

ถาวรวัตถุที่สำคัญของวัด[แก้]

วัดมณีชลขัณฑ์ ตั้งอยู่บนเกาะด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองลพบุรี ปัจจุบันมีสะพานและถนนสายลพบุรีสิงห์บุรี เชื่อมจนไม่รู้สึกว่าเป็นเกาะ วัดนี้เดิมชื่อว่า " วัดเกาะแก้ว " เพราะเป็นวัดตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำสภาพปัจจุบันถูกถมดินจนไม่เห็นร่องรอยเดิม สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้ คือ พระพุทธรูปปางนาคปรกที่มีความงดงาม ต้นศรีมหาโพธิ์ พระอุโบสถ พระวิหาร และพระพุทธรูปใหญ่ริมน้ำซึ่งมีลักษณะงดงามมาก ในหน้าเทศกาลเดือนสิบสอง วัดนี้เป็นแหล่งชุมนุมของประชาชนมาแข่งเรือและลอยกระทงกันเป็นประจำทุกปี และจุดเด่นที่สำคัญของพระอารามหลวงแห่งนี้ก็คือ เจดีย์หลวงพ่อแสง

เจดีย์หลวงพ่อแสง[แก้]

เจดีย์หลวงพ่อแสง วัดมณีชลขัณฑ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ในปัจจุบันว่า วัดมณี มีปูชนียวัตถุสถานที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เจดีย์หลวงพ่อแสง เป็นเจดีย์ฐานเล็กแต่ทรงสูง อยู่ทางด้านใต้ของวัด สามารถมองเห็นได้แต่ไกล และถือเป็นสัญลักษณ์ตราประจำวัดด้วย เจดีย์นี้มีลักษณะองค์เจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองทรงสูงชลูด ฐานขนาด 15.40 เมตร ทำเป็น 3 ชั้น มีซุ้มประตูยอดแหลมอยู่ด้านข้างทั้ง 4 ด้าน ชั้นที่ 4 ตอนบนเป็นองค์ระฆัง ส่วนยอดทำเป็นแท่นบัลลังก์ และปล้องไฉนขึ้นไป เจดีย์หลวงพ่อแสงนี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดลพบุรีและใกล้เคียงเป็นอันมากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้เขียนถึงเจดีย์หลวงพ่อแสงว่าผู้สร้าง คือ พระอาจารย์แสง ดังปรากฏในตำนานเมืองลพบุรีว่า ที่ท้องทุ่งพรหมาศอยู่ใกล้เมือง มีพระเจดีย์สูงที่วัดมณีชลขัณฑ์ องค์ 1แลเห็นได้แต่ไกล ชวนให้สำคัญว่าเป็นของสร้างไว้แต่โบราณ แต่แท้จริงเป็นของพระภิกษุองค์ 1 ชื่อพระอาจารย์แสง เป็นผู้คิดแบบสร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองทรงชลูด กำลังเอนไปทางทิศใต้จนมีผุ้ให้สมญานามว่า หอเอนเมืองลพบุรี เล่ากันว่า หลวงพ่อแสงผู้สร้างวัดนี้ สร้างเจดีย์ความสูงขนาด 5-6 ชั้น โดยไม่ใช้นั่งร้าน สร้างเสร็จแล้วก็กระโดดลงมาแล้วหายตัวไป เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดลพบุรีและผู้รักในศิลปะโบราณสถาน ได้ช่วยกันบูรณะบริเวณรอบพระเจดีย์ ให้เป็นสวนสาธารณะ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ทำให้บริเวณนั้นร่มรื่น น่าดูยิ่งขึ้นต่อมามีการสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อแสง และสมเด็จพุฒาจารย (โต) พรหมรังสี โดยร่วมใจกันบูรณะเจดีย์ครั้งใหญ่เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุ ครบ 48 พรรษา ในพ.ศ. 2546 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอีกด้วย

โบราณวัตถุที่สำคัญ[แก้]

จารึกบนแผ่นไม้บุษบกธรรมาสน์ วัดมณีชลขัณฑ์ เป็นไม้สร้างในปีพุทธศักราช ๒๒๒๕ เป็นภาษาไทย จำนวนด้าน ๑ ด้าน มี ๑๑ บรรทัดวัตถุจารึก เป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้าง ๔๘ ซม. สูง ๖๗ ซม. หนา ๑๔ มม.เนื้อหากล่าวถึงประวัติการสร้างบุษบกธรรมาสน์หลังนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๕ และรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายผู้สร้างคือ ขุนศรีเทพบาลราช รักษาและแม่ออกบัน อายุจากศักราชที่ปรากฏในจารึก คือ พ.ศ. ๒๒๒๕ ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ได้ขอรับมอบชิ้นส่วนธรรมาสน์ ที่เก็บรักษาอยู่ในศาลาวัดมณีชลขัณฑ์ มาจัดแสดง ลักษณะเป็นหลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆ เรียวเล็กขึ้นไปจนถึงปลายสุดเป็นยอดแหลม ตัวเรือนโปร่งสำหรับภิกษุนั่งแสดงธรรม มีบันไดทางขึ้นข้างบุษบก อนึ่ง ในสมัยอยุธยามีความนิยมในการสร้างบุษบกธรรมาสน์เพื่อถวายวัด เนื่องด้วยความศรัทธาหรือเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้ลดความนิยมลงไป เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาในการสร้างนาน เพราะต้องใช้ไม้เนื้อดี และช่างต้องมีความประณีตสูง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

ประเพณีที่เกี่ยวข้อง[แก้]

  1. ตักบาตรดอกไม้ ประเพณีการตักบาตรดอกไม้ คือ การนำดอกไม้ ธูป เทียน ถวายพระก่อนที่พระจะเข้าโบสถ์ในวันเข้าพรรษา
  2. ประเพณีลอยกระทงบริเวณริมแม่น้ำลพบุรี
ภาพวัดมณีชลขัณฑ์ถูกน้ำท่วมหนักใน พ.ศ. 2554

ดูเพิ่ม[แก้]

  1. รายชื่อวัดในจังหวัดลพบุรี
  2. รายชื่อพระอารามหลวงในประเทศไทย
  3. รายชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดลพบุรี

อ้างอิง[แก้]