วัดพระพุทธบาทตากผ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระพุทธบาทตากผ้า
แผนที่
ที่ตั้ง279 หมู่ 6 ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน 053-005200
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธมหามงคลชัย
เจ้าอาวาสพระครูกัลยาณปริยัติกิจ (อำนาจ กลฺยาธโร)
จุดสนใจรอยพระพุทธบาท , รอยตากผ้า , รอยเท้าครูบา , พระธาตุเจดีย์สี่ครูบา
กิจกรรมงานประเพณีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ , 17 สิงหาคม งานปฏิบัติธรรมครบรอบวันมรณภาพครูบาพรหมา
เว็บไซต์http://www.phrabat.com
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระพุทธบาทตากผ้า เดิมเป็นวัดราษฎร์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 175 ไร่ ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ อยู่ใกล้ดอย (เขา) 2 ลูกคือ ดอยช้างและดอยเครือ อยู่ห่างจากเมืองลำพูนประมาณ 19 กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน หรือของภาคเหนือ

ปัจจุบัน วัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรม และบาลี ของพระภิกษุสามเณรในภาคเหนือ นอกจากนี้แล้ว ทางวัดได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับการศึกษา ได้จัดตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้น เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และผู้สนใจทั่วไป

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

ลำดับที่ รายนาม ดำรงตำแหน่ง
1 พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก) 2502 - 2527
2 พระครูเวฬุวันพิทักษ์ (พระมหาเขื่อนคำ อตฺตสนฺโต) ป.ธ.4 2529 - 2548
3 พระพุทธบาทพิทักษ์ (พระมหาชวลิต จารุวณฺโณ) ป.ธ.4 2548 - 2566
4 พระครูกัลยาณปริยัติกิจ (พระมหาอำนาจ กลฺยาณธโร) ป.ธ.4 2566 - ปัจจุบัน

ตำนานวัดพระพุทธบาทตากผ้า[แก้]

ตำนาน วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้กล่าวไว้ว่าในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ในดินแดนสุวรรณภูมิ (ประเทศไทยในปัจจุบัน) พระองค์ได้เสด็จไปในที่ต่าง ๆ กระทั่งเสด็จถึงบริเวณวัดพระพุทธบาทตากผ้าแห่งนี้ซึ่งเป็นผาลาด จึงได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระพุทธบาทลง ณ ที่แห่งนี้ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมวลเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายและพระองค์ได้ตรัสให้พระอานนท์เอาจีวรไปตากบนผาลาด ใกล้บริเวณที่ประทับ ซึ่งปรากฏเป็นรอยเลือนลางอยู่ ดังนั้น วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดพระพุทธบาทตากผ้า” มาถึงทุกวันนี้

  • ประมาณ พ.ศ. 1200 พระนางจามเทวี พระราชธิดาในพระเจ้ากรุงละโว้ (ลพบุรี) ได้เสด็จมาครองนครหริภุญชัย (ลำพูน) พระนางได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้สร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทเป็นพุทธบูชา
  • พ.ศ. 2472 ท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้รับอาราธนาจากคณะสงฆ์จังหวัดลำพูน ซึ่งมีพระครูพุทธิวงศ์ธาดา วัดฉางข้าวน้อยเหนือ เจ้าคณะอำเภอปากบ่อง (ป่าซาง) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีหลวงวิโรจน์รัฐกิจ (เปรื่อง โรจนกุล) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ได้ทำการก่อสร้างวิหารจัตุรมุขจนสำเร็จ
  • พ.ศ. 2375 ครูบาอาจารย์หลายท่าน โดยมีครูบาป๋า ปารมี วัดสะปุ๋งหลวง เป็นประธาน พร้อมด้วยทายก ทายิกา ได้ก่อสร้างวิหารหลังใหญ่ค่อมมณฑปไว้อีกชั้นหนึ่ง
  • พ.ศ. 2486 คณะสงฆ์ โดยมีพระญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน วัดพระยืน เป็นประธาน พร้อมด้วยข้าราชการ ประชาชน ได้อาราธนาท่านครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก วัดป่าหนองเจดีย์ ต.ท่าตุ้ม อ.ป่าซาง มาเป็นประธานอำนวยการก่อสร้าง และดูแลกิจการของวัด โดยมีพระอธิการศรีนวล อินฺทนนฺโท วัดช้างค้ำ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
  • พ.ศ. 2502 ท่านครูบาพรหมา ได้เริ่มการพัฒนาวัดอย่างเต็มที่ โดยการลงมือทั้งก่อสร้างและซ่อมแซมถาวรวัตถุที่ทรุดโทรม เช่น พระวิหารจตุรมุข ได้ต่อเติมยอดมณฑปขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ก่อสร้างพระอุโบสถทั้งหลังเก่าและหลังใหม่ ศาลาการเปรียญทั้งหลังเล็กและหลังใหญ่ กุฏิแถว โรงเรียนพระปริยัติธรรม กำแพงวัดและอื่น ๆ เป็นที่ปรากฏอย่างที่เห็นใจปัจจุบัน

จดหมายเหตุสำคัญ[แก้]

วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงนำเสด็จพระราชอาคันตุกะ พระเจ้ากรุงเดนมาร์ก และพระราชินี เสด็จมานมัสการพระพุทธบาทตากผ้า และเสด็จเยี่ยมประชาชนที่มารอเฝ้าชมพระบารมีอยู่รอบ ๆ บริเวณวิหารพระพุทธบาท โดยเสด็จออกจากประตูทิศใต้ ดำเนินไปถึงศาลาการเปรียญตะวันตก เสด็จเข้าไปพักผ่อนพระราชอิริยาบถและทรงเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ ที่นั้น พร้อมกับได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งทางวัดได้จัดทูลเกล้าถวาย แล้วเสด็จฯ กลับพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์


อ้างอิง[แก้]