วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งตำบลสวนพริก อำเภอพระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา 13000
ประเภทพระอารามหลวง ชั้นโท
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระญาณไตรโลก (สมคิด จินฺตยโส)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร เดิมชื่อ วัดทะเลหญ้า[1] หรือวัดทำเลหญ้า ด้วยชื่อวัดมาจากชื่อตำบลเดิมมีชื่อว่า ตำบลทะเลหญ้า[2] (หรือตำบลสวนพริกในปัจจุบัน) เป็นวัดโบราณตั้งอยู่กลางทุ่งนา[3] ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำป่าสักริมคลองน้ำยา (ปัจจุบันเรียกว่า คลองตะเคียนเหนือ หรือคลองขุนละคอนไชย[4]) ใกล้กับเพนียดคลองช้าง พวกกรมพระคชบาลสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เคยเป็นวัดของพวกกรมพระคชบาลมาก่อน และยังเคยเป็นที่ตั้งค่ายทหารฝ่ายอยุธยาช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เช่น ทัพของหมื่นทิพเสนา ปลัดกรมตำรวจในขวา ถือพล 1,000 นาย ตั้งพลที่วัดทะเลหญ้า[5] ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2302 ครั้งศึกอลองพญายกมาประชิดพระนคร ทหารฝ่ายอยุธยาแต่งทัพไปยันข้าศึกกองหน้าของพม่าแต่ถูกทัพพม่าตีแตกไล่มาจนถึงวัดทะเลหญ้า แม้ฝ่ายทหารอยุธยาตั้งค่ายหนุนอยู่ที่นั่นก็ยกออกไปช่วยแต่ถูกข้าศึกตีแตกพ่ายไปอีก วัดทะเลหญ้าจึงถูกทิ้งร้างกลายเป็นโคกอยู่กลางทุ่งหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2310 เป็นต้นมา[6] แม้กองทัพพม่าได้เผาพระที่นั่งเพนียด แต่วัดคงไม่ได้ถูกไฟไหม้ไปด้วยเพราะปรากฎว่ายังมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ตลอดเวลาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์[2]

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2419 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ได้เสด็จไปทอดพระเนตรการคล้องช้างที่พระนครศรีอยุธยา ทรงเห็นว่าเป็นวัดที่ชำรุดทรุดโทรม จึงทรงบริจาคเงินบูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์ วิหารของวัดใหม่ทั้งหมด ในลักษณะสร้างวัดขึ้นมาใหม่ในที่วัดร้างเพราะศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ วิหาร เจดีย์ รูปศิลปะต่างๆ เป็นลายเครือวัลย์ล้อมพระมหามาลา อาจเป็นตราประจำองค์พระผู้สถาปนาวันนี้ ล้วนเป็นศิลปกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น[6] แล้วทรงถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อใหม่ว่า "วัดบรมวงศ์อิศรวราราม" พร้อมทั้งเสด็จพระราชดำเนินตัดลูกพัทธสีมา พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหารถึง 8 ครั้ง

ใน พ.ศ. 2444 หลังจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราชปรปักษ์สิ้นพระชนมแล้ว 15 ปี ปรากฏว่า ผนังอุโบสถด้านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ได้ทรุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานความช่วยเหลือซ่อมแซม ส่วนเสนาสนะอื่น ๆ นั้น พระยาปริยัติวงศาจารย์ได้บูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา

สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิริมงคลสำคัญของวัด คือ ประวัติศาสตร์ของวัดกับรัชกาลที่ 5 มีรูปหล่อเคารพพระองค์ในวิหาร นอกจากนี้ยังมีพระตำหนักของพระองค์เป็นที่เก็บรูปภาพโบราณและพระราชประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงสวรรคต ส่วนเจดีย์ทรงกลมที่ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถกับวิหาร สร้างบนเนินเจดีย์โบราณของวัดเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระอัฐิกับพระสรีรางคาร ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์[6]

คลังรูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. เอนก สีหามาตย์ (บรรณาธิการ). นําชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2543. 212 หน้า. หน้า 178. ISBN 978-974-4174-72-7
  2. 2.0 2.1 ตรี อมาตยกุล. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของนายตรี อมาตยกุล. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางริ้ว ประกาศสุขการ และนายสุธี ประกาศสุขการ . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมสรรพสามิต, 2509. 126 หน้า หน้า 75 - 76.
  3. กองบรรณาธิการข่าวสด. เดินสายไหว้พระพุทธทั่วไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. 256 หน้า. หน้า 80. ISBN 978-974-0203-20-9
  4. โบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์), พระยา. แผนที่กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๔๖๙. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2565.
  5. เพลิง ภูผา. วิกฤตการณ์วังหน้า เหตุทุรยศบนแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ : ไพลินบุ๊คเน็ต, 2544. 320 หน้า. หน้า 191. ISBN 978-616-4413-24-5
  6. 6.0 6.1 6.2 ปวัตร์ นวะมะรัตน. อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. 264 หน้า. หน้า 169 - 170. ISBN 978-974-0212-25-6