วัดท่าหลวง (จังหวัดพิจิตร)

พิกัด: 16°26′24″N 100°21′08″E / 16.440026°N 100.352312°E / 16.440026; 100.352312
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดท่าหลวง (พิจิตร))
วัดท่าหลวง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดราชดิตถารา
ที่ตั้งหมู่ที่ 11 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000
ประเภทมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อเพชร
เจ้าอาวาสพระราชสิทธิเวที รศ.ดร. (วิรัติ วิโรจโน/วะสะศิริ ป.ธ.4, ค.บ., รป.ม., กศ.ม., รป.ด., พธ.ด.)
จุดสนใจพระอุโบสถประดิษฐาน หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปที่มีความงดงามและเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพิจิตร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดท่าหลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ มีแม่น้ำน่านไหลผ่านด้านหน้าวัด ตั้งอยู่บนถนนบุษบา ตำบลในเมือง เดิมชื่อ ตำบลท่าหลวง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

อาณาเขต[แก้]

  • ทิศเหนือ ติดกับที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิจิตร เขต 1 (สำนักงานประถมศึกษาพิจิตรสปจ.เก่า)
  • ทิศใต้ ติดกับที่ทำการไปรษณีย์พิจิตร
  • ทิศตะวันออก ติดกับแม่น้ำน่าน
  • ทิศตะวันตก ติดกับถนนศรีมาลาตรงกันข้ามเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเมืองพิจิตร เรือนจำพิจิตรและกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร

ประวัติวัดท่าหลวง[แก้]

วัดท่าหลวง พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 674 ถนนบุษบา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000 เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด สามัญสังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ภาค 4 หนเหนือ ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่จำนวน 46ไร่ 3 งาน17.4 ตารางวา น.ส. 3 ก เลขที่ 470, 471 น.ส. 3 เลขที่ มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 2 แปลงมีเนื้อที่จำนวน 30 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา อยู่ที่ตำบลในเมือง และ ตำบลหนองปลาไหลแห่งละหนึ่งแปลง ตั้งวัดพุทธศักราช 2388ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2492 เขตแดนวิสุงคามสีมา กว้าง 9 เมตร ยาว 26 เมตร เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อพุทธศักราช 2510 - 2513 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญเมื่อพุทธศักราช 2529 นี้มีมาก่อนที่จะย้ายเมืองพิจิตรเก่ามาตั้งอยู่ที่เมืองพิจิตรใหม่ในปัจจุบันแต่เดิมมีฐานะเป็นเพียงสำนักสงฆ์ตั้งอยู่ในป่าพงละเมาะไม้ในเขตหมู่บ้านท่าหลวงอำเภอท่าหลวง จังหวัดพิจิตรซึ่งในขณะนั้นที่ตั้งตัวเมืองพิจิตรอยู่ที่ตำบลเมืองเก่าห่างจากตัวเมืองพิจิตรใหม่ในปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ8 กิโลเมตรและได้ย้ายเมืองพิจิตรเก่ามาตั้งอยู่ที่เมืองพิจิตรเป็นวัดสำคัญของจังหวัดพิจิตร อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ใกล้ศาลากลางจังหวัด พุทธศักราช 2388 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างวัดท่าหลวง ชื่อของวัดตั้งขึ้นตามชื่อตำบลอันเป็นที่ตั้ง (ในสมัยนั้น) นอกจากนี้วัดท่าหลวงยังมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วัดราชดิตถาราม แต่ไม่ได้รับความนิยมนำมาใช้เรียกขาน วัดท่าหลวง มีพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร เป็นพระประธานประจำวัด พื้นที่ของวัดมีลักษณะพิเศษคือ ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยมีถนนบุษบาคั่นระหว่างกลางในแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่ฝากตะวันออก เป็นเขตพุทธาวาส ประกอบด้วยพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญเป็นหลัก ส่วนฝากตะวันตกนั้น ประกอบด้วยเขตสังฆาวาส โรงเรียนปริยัติธรรม เขตประกอบฌาปนกิจ และเขตปฏิบัติธรรมของฆราวาส เป็นหลัก โดยมีการอัญเชิญหลวงพ่อพัฒน์ (พัด) พระประธานองค์เดิม มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพื้นที่ ซึ่งเรียกตามชื่อของหมู่บ้านที่ตั้งวัดอยู่ คำว่า "ท่าหลวง" นั้นเป็นชื่อของหมู่บ้านท่าหลวง คลองท่าหลวง ตำบลท่าหลวง และเคยเป็นชื่อของอำเภอท่าหลวงมาก่อน ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2481เปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองพิจิตรจนถึงปัจจุบันทางราชการได้เคยใช้สถานที่วัดท่าหลวงในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นประจำ ฝากตะวันตกวัดท่าหลวง มีพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ คือ หลวงพ่อเพชรและหลวงพ่อพัฒน์ (พัด)

หลวงพ่อเพชร[แก้]

องค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปมีพระพุทธลักษณะที่งดงาม และทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของประเทศไทย พระพุทธลักษณะองค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรกหล่อด้วยโลหะสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร สังฆาฎิสั้นเหนือพระอุระ ขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว สูง 3 ศอก 3 นิ้ว ที่ที่ประทับนั่งนบฐานที่มีรูปบัวคว่ำบัวหงายรอบรับ สร้างในระหว่างปีพุทธศักราช 1660 ถึง 1880 สร้างมาแล้วประมาณ 882 ปี เมื่อใครได้ไปเที่ยวเมืองพิจิตรจะต้องไปนมัสการหลวงพ่อเพชร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ชาวพิจิตรทุกผู้ทุกนาม ต่างให้ความเคารพนับถืออย่างสูงต่อพระองค์หลวงพ่อเพชร ทั้งยังเป็นมิ่งขวัญศูนย์รวมใจของชาวพิจิตร ที่ว่าหลวงพ่อเพชรทรงอานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์นั้น เนื่องจากมีประชาชนที่นับถืออย่างมาก เมื่อใครมีเรื่องเดือดร้อน เช่น ของหาย หรือมีความทุกข์ยากที่จะบนบานศาลกล่าวขออำนาจ"หลวงพ่อเพชร"ให้ช่วยปกป้องรักษา หรือปัดเป่าความทุกข์ยากให้หมดไป เดชะบารมีขององค์หลวงพ่อเพชร ก็จะช่วยทุกรายเมื่อผู้นั้นพ้นทุกข์ก็จะนำหัวหมู เป็ด ไก่ ขนม ไปถวายแด่"หลวงพ่อเพชร"ที่พระอุโบสถกลิ่นธูปและควันเทียนจะไม่ขาดระยะ

ประวัติการสร้างหลวงพ่อเพชร[แก้]

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เกิดขบถจอมทอง เมืองเชียงใหม่ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ไปปราบปรามจอมทอง แต่ก่อนที่จะจากกันเจ้าเมืองพิจิตรได้ไปปรารภกับแม่ทัพว่า ถ้าปราบขบถเสร็จเรียบร้อยดีแล้วขอให้หาพระพุทธรูปงาม ๆ มาฝากสักองค์หนึ่ง ก่อนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาก็นึกถึงคำร้องของเจ้าเมืองพิจิตร จึงอัญเชิญหลวงพ่อเพชรจากจอมทองมาด้วย โดยประดิษฐานบนแพลูกบวบล่องมาตามแม่น้ำปิง และหลังจากนั้นได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ ที่วัดนครชุม (เมืองพิจิตรเก่า) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตรจนถึงปัจจุบัน พระอุโบสถจะเปิดให้ประชาชนเข้านมัสการหลวงพ่อเพชรได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30 - 18.00 น.

ประเพณีประจำปี[แก้]

แม่น้ำน่านบริเวณด้านข้างวัด

ประเพณีของวัดท่าหลวง เริ่มตั้งแต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ประมาณ พ.ศ. 2450 ในการจัดรางวัลการแข่งขันเรือยาวประเพณีนั้น ในสมัยหลวงพ่อเอี่ยมและต้นสมัยหลวงพ่อไป๋นั้น จัดผ้าห่มหลวงพ่อเพชรพับใส่พานให้เป็นรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศแก่เรือยาวเมื่อเรือยาวลำใดได้ผ้าห่มหลวงพ่อเพชรไปแล้ว วัดท่าหลวงเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วงต้นเดือนกันยายน ในวันแรม 6 ค่ำ เดือน 10 และจัดแข่งขันเพียงวันเดียว ประชาชนให้ความสนใจมาชมงานอย่างคับคั่งล้นหลามตลอดมา เพราะวัดท่าหลวงตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพิจิตรเพียงวัดเดียวเท่านั้น และต่อมามีการเพิ่มวันในการจัดงานให้มากขึ้น ในปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานถ้วยรางวัล เนื่องในการแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตร รายได้จากการจัดงาน ก็มากขึ้นมีผลให้เงินสุทธิของงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรก็จะนำรายได้สุทธิจากงานนั้นส่วนหนึ่งถวายวัดท่าหลวง ทางวัดได้นำเงินจำนวนนี้บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดท่าหลวง

ความสำคัญ[แก้]

มวลสารจากวัดท่าหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำมาใช้ทำพระสมเด็จจิตรลดา

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

16°26′24″N 100°21′08″E / 16.440026°N 100.352312°E / 16.440026; 100.352312