วัดกวิศรารามราชวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดกวิศรารามราชวรวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ไทย ประเทศไทย
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดกวิศรารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี อันดับ 1 ชนิดราชวรวิหาร ที่ตั้ง ถนนเพทราชา ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี คำว่า วัดกวิศราราม แปลว่า วัดของพระเจ้าแผ่นดิน[ต้องการอ้างอิง] ปัจจุบันมี พระเทพเสนาบดี (ประเทือง อาภาธโร) เจ้าคณะจังหวัดลพบุรีเป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน และในวันที่ 9 ตุลาคม ปีพุทธศักราช 2519 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดกวิศรารามราชวรวิหาร เป็นการส่วนพระองค์ ได้นำมาซึ่งความปลาบปลื้มแก่ชาวลพบุรีเป็นอย่างมาก

ประวัติ[แก้]

วัดกวิศรารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนเพทราชา ทางด้านทิศใต้ของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งมีความสำคัญมากแห่งหนึ่งของลพบุรี ตามตำนานพระอารามหลวงนั้น บอกประวัติไว้สั้น ๆ แต่เพียงว่า วัดนี้เดิมชื่อ วัดขวิด สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้าง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรง สถาปนาใหม่ พระราชทานนามว่า วัดกรวิศยาราม และรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกโดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระ ราชทานอุทิศ ถวายเป็นวิสุงคามสีมา ในการทำสังฆกรรมอุปสมบทข้าราชบริพาร นิกาย และวัดขวิด (วัดกรวิศยาราม) ที่ลพบุรี หรือวัดกวิศรารามในปัจจุบัน เป็นวัดรามัญนิกายอีกวัดหนึ่ง

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้ผู้ที่เคยซื้ออิฐซื้อปูนตีราคาของร้างในวังนั้น ว่าจะเป็นราคาสักเท่าไร ผู้รับสั่งเป็นอันมากปรึกษาพร้อมกัน ตีราคาว่าประมาณ 500 ชั่งขึ้นไป 600 ชั่งลงมา

วัดกวิศราราม แต่เดิมคงเป็นวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา พระอุโบสถเดิม ซึ่งตามลักษณะเป็นพระอุโบสถ สมัยอยุธยาตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มหาราชนั้น เป็นพระอุโบสถขนาดย่อมแบบมหาอุด มีประตูเข้าออกทางเดียว ผนัง เจาะเป็นช่องไม่มีหน้าต่าง พระประธานซึ่งเป็นของเก่าแก่มาแต่เดิม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยอู่ทอง หลังคาของเดิมมุงด้วย กระเบื้องลอนแบบจีน ที่เรียกว่ากาบู ภายในพระอุโบสถตกแต่ง โดยเขียนลายประดับเต็มทั่วทั้งที่ผนังและเสาทุกต้น สำหรับพระประธานนั้น นักโบราณคดีตรวจสอบแล้ว ให้ข้อสังเกตว่าพระประธาน ซึ่งเป็นพระขนาดใหญ่ ประดิษฐานในพระอุโบสถมาแต่ต้นนั้น พระพุทธรูป ซึ่งอาจอัญเชิญพระเก่ามาเป็นประธาน แต่ลักษณะของฐานชุกชี และ การประดิษฐานพระนั้น เป็นแบบที่อยู่ในความนิยมเมื่อครั้งก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาก บางทีอาจเป็นวัดเก่าแก่ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นก็เป็นได้

สันนิษฐานว่าคงจะเป็นเครื่องหมายบอกให้ทราบว่า วัดนี้เป็นวัดที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้าง และคงจะทำขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์นี้เอง แต่ฝีมือช่างตลอดจนลักษณะ และลวดลายนั้น ผิดแผกจากศิลปกรรมในรุ่นเดียวกัน อาจจะเป็นฝีมือช่างชาวลพบุรี จิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม กราบนมัสการรูปเหมือน พระพุทธวรญาณ พระเถระผู้มีคุณธรรมสูง และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ วัดกวิศรารามเรียบร้อยแล้ว ทรงอาราธนาพระสงฆ์ รามัญนิกายมาอยู่จำพรรษา โดยมีเจ้าอาวาสสืบต่อกันมากี่องค์ ไม่ปรากฏ แต่เจ้าอาวาสทุกองค์มีสมณศักดิ์เป็น "พระครูรามัญสมณคุณ" ต่อกันมา จนกระทั่ง เปลี่ยนจากวัดรามัญเป็นวัดมหานิกาย

พระอุโบสถ[แก้]

มีลักษณะเป็นพระอุโบสถมหาอุต ภายในวัดมีพระอุโบสถที่มีประตูทางเข้าออกทางเดียวกัน หน้าต่างเจาะช่อง ศิลปแบบอยุธยา มีมุขเด็จอยู่ด้านหน้า ที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ต่อออกมาและขยายพัทธสีมาให้ใหญ่กว่าเดิม พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะอู่ทอง จิตรกรรมฝาผนังเป็นลายรูปดอกไม้ที่มีความงดงามยิ่งนัก

เจดีย์ภายในวัด[แก้]

มีเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ ภายในเขตพัทธสีมา ชิดกับตัวพระอุโบสถ ตามธรรมเนียมความนิยม สร้างโบสถ์หรือวิหารหน้าสถูปหรือเจดีย์ เจดีย์องค์นี้น่าจะมีมาแต่เดิมแล้ว แต่ในลักษณะปัจจุบัน ได้รับการบูรณะในรัชกาลที่ 4 หอไตรริมบ่อน้ำหน้าพระอุโบสถก็เช่นเดียวกัน เป็นหอไตรขนาดพอเหมาะ มีลายหน้าบัน เป็นก้านขดสวยงาม

ศาลาและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ[แก้]

ศาลาและกุฏิซึ่งสร้างขึ้นในครั้งนั้น ก็ยังมั่นคงแข็งแรงดีอยู่ในปัจจุบัน กุฏิสร้างเป็นหมู่ตึก เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ในการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 4 นั้น ยังได้สร้างกำแพงสูงรอบวัด มีซุ้มประตูด้านหน้าวัดสองแห่ง และทางหลังวัดอีกแห่งหนึ่ง ซุ้มประตูและกำแพงส่วนใหญ่ ยังสมบูรณ์ดีอยู่ในปัจจุบัน

พระพุทธวรญาณ[แก้]

พระพุทธวรญาณ (ทองย้อย กิตฺติทินฺโน) เป็นที่นับถือ ของประชาชนชาวจังหวัดลพบุรีโดยทั่วไป เป็นพระนักเทศน์ที่สอนให้ประชาชนนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ยังพยายามส่งเสริมให้เยาวชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยตั้งโรงเรียนวินิตศึกษา ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2489 นับเป็นโรงเรียนราษฏร์ขนาดใหญ่และได้มาตรฐานของจังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ยังจัดตั้งโรงเรียนนักธรรม - บาลี เพื่อเพิ่มพูนระดับการศึกษาให้แก่คณะสงฆ์ในจังหวัดลพบุรี พระพุทธวรญาณได้ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมพระพุทธศาสนาและการศึกษา มาโดยตลอด อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายคือพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัตรที่พระพุทธวรญาณ

วัดกวิศรารามกับการศึกษา[แก้]

พระพุทธวรญาณ เจ้าอาวาสองค์ที่ 2 หลังจากเปลี่ยนมาเป็นวัดมหานิกายนั้น นับตั้งแต่ท่านเดินทางเข้ามาอยู่ในวัดนี้ เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 และมีพระอยู่เพียง 5 รูปนั้น ก็ได้เริ่มปรับปรุงวัดเป็นการใหญ่ ทางด้านสถานที่นั้น ไม่อาจขยับขยายได้ดังกล่าวแล้ว ท่านจึงได้ปรับปรุงทาง ด้านอื่น นับตั้งแต่เริ่มจัดให้เป็น สำนักศึกษาทางนักธรรมและบาลี ขึ้นเป็น อันดับแรก แล้วก็ดำเนินการด้านการศึกษาต่อมาเป็นลำดับ จนกระทั่งปัจจุบัน วัดกวิศราราม กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา และศาสนาของลพบุรี ในแต่ละปี มีพระจำพรรษาประมาณ พรรษาละ 50 รูป และกลายเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันคือ โรงเรียนวินิตศึกษากวิศรารามมูลนิธิ สำนักงานมูลนิธิ บำรุงตึกสงฆ์อาพาธ พระธรรมญาณมุนี และสมาคมศิษย์กวิศร์

สำหรับโรงเรียนวินิตศึกษา ซึ่งท่านจัดตั้งขึ้น และปัจจุบันเป็นโรงเรียนของ วัดกวิศรารามนั้น เป็นโรงเรียนราษฎร์ที่กระทรวงศึกษาธิการ รับรองวิทยฐานะ เทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล และเป็นโรงเรียนราษฎร์ในอันดับแนวหน้า ของจังหวัดลพบุรี และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพระราชูประถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  1. พระอุดมญาณ พ.ศ. 2406
  2. พระครูรามัญสมณคุต (อรรถทีป) พ.ศ. 2408
  3. พระครูรามัญสมณคุต (บุบผระมะ) พ.ศ. 2426
  4. พระครูรามัญสมณคุต พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2448
  5. พระครูรามัญสมณคุต (อุ่ม) พ.ศ. 2448 - พ.ศ. 2457
  6. พระครูโวทานสมณคุต (รุ่ง) เจ้าคณะแขวงเมืองลพบุรี พ.ศ. 2457 - พ.ศ. 2480
  7. พระพุทธวรญาณ (กิตติ ทินนมหาเถระ) ปธ.8 เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2481 - พ.ศ. 2535
  8. พระครูประสาทสุตกิจ (ประจักษ์ สุตเปโม) ปธ.3 เจ้าคณะตำบลทะเลชุบศร พ.ศ. 2535 - 2546
  9. พระเทพเสนาบดี (ประเทือง อาภาธโร) ปธ.4 เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2547 - ปัจจุบัน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]