วรรณกรรมร่วมสมัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วรรณคดี

วรรณคดีในภาษาไทย. ตรงกับคำว่า Literature ในภาษาอังกฤษ โดยคำว่า Literature ในภาษาอังกฤษมาจากภาษาลาติน แปลว่า การศึกษา ระเบียบของภาษา ซึ่งในภาษาอังกฤษจะมีความหมายหลายอย่าง ดังนี้

  • 1.อาชีพการประพันธ์
  • 2.งานเขียนในสมัยใดสมัยหนึ่ง
  • 3.งานประพันธ์ที่ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ และผู้อ่านทั่วไป

สำหรับในภาษาไทย วรรณคดี ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 โดยมีความหมาย คือ หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี นั้นคือมีการใช้ภาษาอย่างดี มีศิลปะการแต่งที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านศิลปะการใช้คำ ศิลปะการใช้โวหารและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และภาษานั้นให้ความหมายชัดเจน ทำให้เกิดการโน้มน้าวอารมณ์ผู้อ่านให้คล้องตามไปด้วย กล่าวง่ายๆ คือ เมื่อผู้อ่าน ๆ แล้วทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ตื่นเต้นดื่มด่ำ หนังสือเล่มใดอ่านแล้วมีอารมณ์เฉยๆ ไม่ซาบซึ้งตรึงใจและทำให้น่าเบื่อถือว่าไม่ใช่วรรณคดี

หนังสือที่ทำให้เกิดความรู้สึกดื่มด่ำดังกล่าวนี้จะต้องเป็นความรู้สึกฝ่ายสูง คือทำให้เกิดอารมณ์ความนึกคิดในทางที่ดีงาม ไม่ชักจูงในทางที่ไม่ดี การศึกษาวรรณคดีโดยวิเคราะห์ตามประเภท สามารถแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้

  • 1.วรรณคดีคำสอน 7.วรรณคดีบทละคร
  • 2.วรรณคดีศาสนา 8.วรรณคดีเพลงยาว
  • 3.วรรณคดีนิทาน 9.วรรณคดีคำฉันท์
  • 4.วรรณคดีลิลิต 10.วรรณคดีขอพระเกียรติ
  • 5.วรรณคดีนิราศ 11.วรรณคดีคำหลวง
  • 6.วรรณคดีเสภา 12.วรรณคดีปลุกใจ

ตัวอย่างวรรณคดี เช่น ขุนช้างขุนแผน ไกรทอง ไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น

วรรณกรรม[แก้]

ปรากฏขึ้นครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2475 คำว่า วรรณกรรม อาจเทียบเคียงได้กับคำภาษาอังกฤษว่า Literary work หรือ general literature ความหมาย แปลตามรูปศัพท์ว่า ทำให้เป็นหนังสือ ซึ่งดูตามความหมายนี้แล้วจะเห็นว่ากว้างขวางมาก นั่นก็คือการเขียนหนังสือจะเป็นข้อความสั้นๆ หรือเรื่องราวสมบูรณ์ก็ได้ เช่น ข้อความที่เขียนตามใบปลิว ป้ายโฆษณาต่างๆ ตลอดไปจนถึงบทความ หรือ หนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มทุกชนิด เช่น ตำรับตำราต่างๆ นวนิยาย กาพย์กลอนต่างๆก็ถือเป็นวรรณกรรมทั้งสิ้น

จากลักษณะกว้าง ๆ ของวรรณกรรม สามารถทำให้ทราบถึงคุณค่ามากน้อยของวรรณกรรมได้โดยขึ้นอยู่กับ วรรณศิลป์ คือ ศิลปะในการแต่งหนังสือนั้นเป็นสำคัญ ถ้าวรรณกรรมเรื่องใดมีคุณค่าทางวรรณศิลป์สูง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นหนังสือดี วรรณกรรมก็อาจได้รับยกย่องว่าเป็น วรรณคดี อย่างไรก็ตามการที่จะกำหนดว่า วรรณกรรมเรื่องใดควรเป็นวรรณคดีหรือไม่นั้น ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่แต่งหนังสือนั้นยาวนานพอควรด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าคุณค่าของวรรณกรรมนั้นเป็นอมตะ เป็นที่ยอมรับกันทุกยุคทุกสมัยหรือไม่ เพราะอาจมีวรรณกรรมบางเรื่องที่ดีเหมาะสมกับระยะเวลาเพียงบางช่วงเท่านั้น ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า วรรณคดีนั้นก็คือวรรณกรรมชนิดหนึ่งนั่นเอง กล่าวคือ เป็นวรรณกรรมที่กลั่นกรองและตกแต่งให้ประณีต มีความเหมาะสมในด้านต่างๆ อันเป็นคุณค่าของการประพันธ์ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง วรรณคดีนั้นเป็นวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นวรรณคดีเสมอไป

ประเภทของวรรณกรรม[แก้]

วรรณกรรมนี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ; คือ

  • 1.) สารคดี หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นเพื่อมุ่งให้ความรู้ ความคิด ประสบการณ์แก่ผู้อ่าน ซึ่งอาจใช้รูปแบบร้อยแก้วหรือร้อยกรองก็ได้
  • 2.) บันเทิงคดี คือ วรรณกรรมที่แต่งขึ้นเพื่อมุ่งให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน บันเทิงแก่ผู้อ่าน จึงมักเป็นเรื่องที่มีเหตุการณ์และตัวละคร

ตัวอย่างวรรณกรรม เช่น เจ้าชายน้อย ประวัติกฎหมายไทย นิทานชาวไร่ เป็นต้น

ความหมายของวรรณกรรมร่วมสมัย[แก้]

คำว่า วรรณกรรมร่วมสมัย มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Contemporary Literature ซึ่งคำว่า วรรณกรรมปัจจุบันก็มาจากคำภาษาอังกฤษคำเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วทั้ง 2 คำยังมีความหมายที่แตกต่างกัน และเหมือนกันในบางประเด็นเท่านั้นซึ่งได้มีผู้รู้ให้ความหมายทั้ง 2 คำ ไว้ดังนี้คือ ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับคำว่า วรรณกรรมร่วมสมัยนั้นมาศึกษา คำว่า "ร่วมสมัย" เสียก่อน ซึ่งสารานุกรมฝรั่งเศส [1] ได้ให้ความหมายไว้สรุปได้ 3 ประเด็นคือ

1. หมายความว่า ซึ่งอยู่ในสมัยเดียวกัน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

2. หมายความว่า เป็นของสมัยปัจจุบัน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับเราขณะนี้

3. "ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย" หมายถึงเหตุการณ์ตอนที่เกี่ยวกับเรื่องราวในปัจจุบันนับตั้งแต่ ค.ศ. 1789 เป็นตัวมา

ดังนั้น วรรณกรรมร่วมสมัย จึงน่าจะหมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นโดยปัจจุบันตั้งแต่ ค.ศ. 1789 เป็นต้นมาด้วย ส่วน นภาลัย สุวรรณธาดา[2] ได้ชี้ประเด็นของการที่มีผู้เข้าใจผิดระหว่างคำว่า ร่วมสมัย กับปัจจุบัน อยู่เสมอบางครั้งก็เข้าใจว่า ร่วมสมัยหมายถึงปัจจุบัน ถ้าเช่นนั้นคำว่า "ร่วมสมัย" กับ "ปัจจุบัน" แตกต่างกันอย่างไร พร้อมกับอธิบายว่า คำว่า ร่วมสมัย ไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน หากพิจารณาตามรูปศัพท์ก็ หมายความถึง สมัยเดียวกัน วรรณคดีร่วมสมัย ก็หมายถึง วรรณคดีในสมัยเดียวกัน ภาษาอังกฤษใช้คำว่า contemporary ซึ่งพจนานุกรม Webster's ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง "เกิดขึ้น มีชีวิตอยู่ หรือเข้ามาในเวลาเดียวกัน ในปีเดียวกัน ในทศวรรษ ศตวรรษ หรือสมัยเดียวกัน"

คำว่า ร่วมสมัย เป็นคำใช้คำประกอบคำอื่นเพื่อบอกลักษณะ เช่น เพลงร่วมสมัย ภาพเขียนร่วมสมัย ศิลปะร่วมสมัย วรรณกรรมร่วมสมัย กวีร่วมสมัย เป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้กับงานศิลปะมากกว่าด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ความหมายของคำ ร่วมสมัย ข้างต้นชัดเจนยิ่งขึ้น จะขอขยายความโดยกล่าวถึงลักษณะของวรรณกรรมร่วมสมัย เป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะทั่วไปและลักษณะพิเศษ

1. ลักษณะทั่วไป

1.1 ร่วมสมัยในเวลา ในความหมายนี้ วรรณกรรมสมัยเดียวกันทั้งหมดถือเป็นวรรณกรรมร่วมสมัย ส่วนกำหนดเวลาอาจเป็น 50 ปี หรือ 100 ปี หรือนับตามเวลาของการปกครองบ้านเมือง ก็สุดแต่จะกำหนด ถ้าถือผู้เขียนเป็นเกณฑ์ ก็หมายถึงผู้เขียนที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือมีอยู่ในช่วงเวลาที่กำหนด วรรณกรรมที่ร่วมสมัยกัน อาจมิใช่ในปัจจุบัน แต่เป็นสมัยเดียวกันในอดีตก็ได้ เช่น สามก๊ก ร่วมสมัยกับราชาธิราช ขุนช้างขุนแผน ร่วมสมัยกับพระอภัยมณี เป็นต้น

1.2 ร่วมสมัยในเหตุการณ์ คือ วรรณกรรมเกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งในกรณีนี้มักใช้เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นเครื่องกำหนด เช่น วรรณกรรมในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่ไทยได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศรัชกาลที่ 3-5 วรรณกรรมยุคได้รับอิทธิพลต่างประเทศหลังรัชกาลที่ 5 วรรณกรรมยุคการต่อต้านของนักศึกษาที่เรียกว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้น

1.3 ร่วมสมัยในรูปแบบ กล่าวคือ ใช้รูปแบบเป็นเครื่องกำหนด เช่น ในระยะหนึ่งนิยมกลอนเปล่าที่เป็นบทประพันธ์คล้ายร้อยแก้ว วรรณรูป ที่จัดวางคำเป็นรูปภาพต่าง ๆ หรือบทกวีที่ไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์ เป็นต้น ใครที่เขียนบทประพันธ์รูปแบบดังกล่าวก็จัดเป็นกวีร่วมสมัย

1.4 ร่วมสมัยในเนื้อหา คือวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเรื่องราวในสมัยเดียวกัน เช่น ในยุควิทยาศาสตร์ก้าวหน้า นิยมเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่องอวกาศ เป็นต้น ใครที่เกิดในยุคนื้แต่ชอบเขียนเรื่องที่มีฉากและตัวละครอยู่ในสมัยเก่า เช่นนางนพมาศ ก็ไม่นับว่าเป็นนักเขียนร่วมสมัย ตามความหมายในข้อนี้

1.5 ร่วมสมัยในแนวคิด กล่าวคือ วรรณกรรมที่มีแนวคิดเดียวกันตามความนิยม มักเน้นแนวคิดทางสังคมและการเมือง เช่น วรรณกรรมร่วมสมัยในยุคหนึ่งจะต้องเป็นประเภทรับใช้มวลชน ต่อต้านลัทธินายทุน ยกย่องผู้ใช้แรงงาน และโจมตีวรรณกรรมประเภทรัก ๆ ใคร่ ๆ หรือเรื่องเกี่ยวกับสังคมผู้ดี ว่าเป็นวรรณกรรมน้ำเน่า วรรณกรรมศักดินา ไม่ยอมรับว่าเป็นวรรณกรรมร่วมสมัย เป็นต้น

2. ลักษณะพิเศษ

2.1 ร่วมสมัยในความเป็นอมตะ หมายถึงวรรณกรรมที่มิได้เกิดในช่วงเวลาที่กำหนดไว้อาจแต่งไว้นานนับร้อยปีมาแล้ว แต่ยังมีผู้กล่าวถึงอยู่เสมอ หรือนำมาเสนอใหม่ในรูปแบบอื่นให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายกว่าเดิม เช่น เรื่องเงาะป่า นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือบทกลอนของสุนทรภู่ กลับมาได้รับความนิยมในปัจจุบัน เป็นต้น

2.2 ร่วมสมัยในการเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ในลักษณะนี้หมายถึง วรรณกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และถือเป็นวรรณกรรมแบบฉบับ หรือที่เรียกว่าวรรณกรรมมรดก เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ ไม่ว่าจะแต่งในสมัยใด รูปแบบ เนื้อหา และแนวคิดจะทันสมัยหรือไม่ก็ตาม เช่น ลิลิตพระลอ อิเหนา ขุนช้างขุนแผน

จะเห็นได้ว่า วรรณกรรมร่วมสมัยมีลักษณะหลายประการ สุดแท้แต่จะพิจารณาในลักษณะข้อใด เมื่อกล่าวถึงคำนี้จึงต้องพิจารณาด้วยว่าจะใช้ลักษณะใดเป็นเครื่องกำหนดวรรณกรรมบางเรื่องอาจเข้าลักษณะข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อก็ได้

สำหรับ ธวัช ปุณโณทก [3] ได้ให้ความหมายของวรรณกรรมร่วมสมัย ว่าหมายถึง วรรณกรรมที่ร่วมสมัยกับผู้อ่านผู้ศึกษา ฉะนั้นค่านิยมแนวคิดทางด้านปรัชญาชีวิตและสังคมอันปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเหล่านี้ จึงร่วมแนวคิดเดียวกับผู้อ่านผู้ศึกษา ซึ่งเป็นมโนทัศน์ร่วมของคนส่วนข้างมากของสังคม ถึงแม้ว่าวรรณกรรมบางเรื่องอาจจะเกิดก่อนผู้อ่านในปัจจุบันก็ตาม แต่ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมร่วมสมัย เพราะเหตุว่าปรัชญาชีวิตและสังคมยังใกล้เคียงกับผู้อ่านผู้ศึกษา

จากการอภิปรายเรื่องบทบาทของวรรณกรรมร่วมสมัยต่อคนรุ่นใหม่ใน วารสารโลกหนังสือ [4] ได้มีผู้ให้คำจำกัดความของคำว่าวรรณกรรมร่วมสมัยไว้หลายท่าน เช่น เสนีย์ เสาวพงศ์ กล่าวว่าหากพิจารณาโดยรูปคำแล้ว วรรณกรรมร่วมสมัย น่าจะหมายถึงวรรณกรรมที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพราะคำว่า ร่วมสมัย คือ ร่วมเวลามีผู้รู้ทางวรรณกรรมหลายท่านกล่าวถึงคำว่าร่วมสมัยไว้ต่างกัน บางท่านกล่าวว่า ถ้านับตามฝรั่ง 25 ปี ขึ้นไป ก็นับว่าเป็นคนละรุ่น นั่นคือนับสมัยกันจากเวลาที่เขียน

ส่วน รัญจวน อินทรคำแหง กล่าวว่า คำว่า วรรณกรรมร่วมสมัยในความรู้สึกของท่านนั้น คิดว่า จะใช้กาลเวลาเป็นเครื่องตัดสินเห็นจะไม่ได้ แต่จะถือเอาสิ่งที่ยังเป็นความใหม่ในวรรณกรรมชิ้นนั้น ไม่ว่าวรรณกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในสมัยใด คือจะเป็นเวลา 10,20,30,50 ปี ล่วงมาแล้วก็ตามแต่ถ้าหากวรรณกรรมชิ้นนั้น เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วยังสามารถมีไฟเกิดขึ้น เพราะวรรณกรรมนั้นเป็นไม้ขีดไฟที่จะจุดไฟ ซึ่งมีเชื้ออยู่แล้วในหัวใจของผู้อ่านให้ลุกโพลงขึ้น ก็จะถือว่า เป็นวรรณกรรมร่วมสมัย ซึ่งรู้สึกว่าอ่านแล้วยังมีผลกระทบต่อคนอ่าน

อีกท่านหนึ่งคือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า คำว่าร่วมสมัยหรือคนรุ่นใหม่นั้นเป็นคำกลาง ๆ ยังไม่ได้เจาะจงอะไรเลยทีเดียวนักหลายคนสรุปว่า ร่วมสมัยนี้ ร่วมอะไร ก็สรุป 2-3อย่าง คือ 1. ร่วมเวลา 2. ร่วมความคิดและร่วมอายุกัน เช่น งานเขียนปีศาจ หรือ ความรักของวัลยา ถือเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยคือ ใครที่เขียนแนวนี้ก็ร่วมสมัย ร่วมความคิด กับกลุ่มนี้ได้ ฉะนั้น คำว่าร่วมสมัยก็เป็นคำกลาง ๆ ฉะนั้น หนังสือ "แปลก" "บ้าบอคอแตก" อะไร ก็ร่วมสมัยของเขาเหมือนกัน คือร่วมสมัยของความงมงาย

ดังนั้น คำว่า วรรณกรรมร่วมสมัย จึงน่าจะมีความหมายว่า วรรณกรรมที่มีเนื้อหา มีแนวความคิดที่คล้ายคลึงกัน อยู่ในแนวเดียวกัน ทั้งนี้แนวคิดนั้นพึงเป็นแนวคิดที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ให้เกิดแก่มวลชนเป็นสำคัญ [5]

สรุป[แก้]

สามารถสรุปความหมายของคำว่า วรรณกรรมร่วมสมัยต้องมีลักษณะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้คือ

1. เป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หมายความว่า ช่วงเวลาของผู้เขียน และผู้อ่าน หรืออาจหมายถึงช่วงเวลาที่วรรณกรรมเกิดขึ้น ซึ่งอาจนับได้ว่า แต่ละช่วงควรมีระยะเวลาประมาณกี่ปี โดยทั่วไปมักกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 10 -15 ปี เช่น วรรณกรรมเรื่องอิเหนา สามก๊ก และราชาธิราช ก็นับเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยเพราะเกิดในระยะใกล้กัน หรือ สุนทรภู่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็เรียกว่าเป็นกวีร่วมสมัยด้วย

2. เป็นวรรณกรรมที่มีแนวความคิดร่วมกันหรือเป็นไปในทางเดียวกัน หมายความว่า เป็นแนวความคิดของวรรณกรรมที่เหมือนกัน หรือร่วมแนวเดียวกัน ซึ่งอาจปรากฏได้แม้ต่างสมัยกัน เช่น แนวคิดเรื่อง สวรรค์ และนรก ในสมัยสุโขทัย กับสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

3. เป็นวรรณกรรมที่มีแนวคิดก้าวหน้า และมีผลกระทบในทางสร้างสรรค์แก่ผู้อ่าน

4. ลักษณะของวรรณกรรม สำหรับวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย อาจพิจารณาจากลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิมหลังจากรับอิทธิพลวรรณกรรมตะวันตกแล้ว ได้แก่

4.1 วรรณกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น สารคดี นวนิยาย เรื่องสั้น ร้อยกรอง บทละคร และบทวิจารณ์วรรณกรรม

4.2 กลวิธีการแต่ง เช่น เนื้อเรื่อง ทัศนะในการสร้างเค้าโครงเรื่อง แก่นเรื่อง การสร้างตัวละคร

4.3 แนวคิดและปรัชญาในการแต่ง

อ้างอิง[แก้]

  1. (อ้างถึงใน สิทธา พินิจภูวดล. 2524 : 2)
  2. (2532 : 539 -541)
  3. (2527 : 3)
  4. (2523 : 8-12)
  5. (สมพร มันตะสูตร 2525 : 16)

วิเคราะห์วรรณคดีไทยโดยประเภท .--พิมพ์ครั้งที่ 2 .--กรุงเทพ ราชบัณฑิตยสถาน,2542

วรรณกรรมไทยปัจจุบัน .--พิมพ์ครั้งที่ 1 .--โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์,2530