วงศ์เมือง นันทขว้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงศ์เมือง นันทขว้าง (น้ำพุ)
วงศ์เมือง นันทขว้าง ในช่วง 6 เดือนก่อนเสียชีวิต
เกิด13 มีนาคม พ.ศ. 2499
เสียชีวิต28 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 (18 ปี)
สาเหตุเสียชีวิตเสพเฮโรอีนเกินขนาด
สัญชาติไทย
มีชื่อเสียงจากบุตรชายคนเดียวของ สุวรรณี สุคนธา นักประพันธ์นิยายชื่อดัง
บุพการีทวี นันทขว้าง (บิดา)
สุวรรณี สุคนธา (มารดา)
ลายมือชื่อ

วงศ์เมือง นันทขว้าง (ชื่อเล่น: น้ำพุ; 13 มีนาคม พ.ศ. 2499 – 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2517) เด็กหนุ่มที่เกิดในครอบครัวที่มีชื่อเสียง และฐานะครอบครัวที่มั่นคง แต่พ่อแม่หย่าร้างกัน และต้องมาอยู่กับแม่พร้อมกับพี่น้องอีก 3 คนซึ่งล้วนแต่เป็นผู้หญิง ทำให้ผู้เป็นแม่ที่ต้องทำงานเลี้ยงลูกทั้ง 4 คนดูแลได้ไม่ทั่วถึง และด้วยวัยที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่น ประกอบกับความที่เป็นคนมีจิตใจที่อ่อนไหว จนเกิดเป็นปมด้อย ทำให้หันเหเข้าเสพยาเสพติด จนทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ได้ดีในยุคสมัยนั้น

ประวัติ[แก้]

วงศ์เมือง นันทขว้าง หรือชื่อเล่นในครอบครัวว่า "น้ำพุ" เกิดเมื่อวันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2499 เป็นบุตรของ สุวรรณี สุคนธา นักเขียน, นักประพันธ์นวนิยายชื่อดัง กับ ทวี นันทขว้าง อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2533 ซึ่งได้หย่าร้างกันในเวลาต่อมา น้ำพุเป็นบุตรชายคนเดียวในลำดับที่ 2 จากจำนวนพี่น้อง 4 คนโดยมีพี่สาว 1 คนและน้องสาวอีก 2 คน หลังจากที่บิดาและมารดาได้หย่าขาดจากกัน น้ำพุและพี่น้องทั้ง 4 คนได้มาอยู่กับมารดา โดยมารดาเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและดูแลบุตร

เมื่อน้ำพุเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ได้เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนศรีวิกรม์จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 น้ำพุเป็นเด็กที่มีจิตใจอ่อนไหวทำให้เกิดปมด้อยในเรื่องของครอบครัว ประกอบกับในครอบครัวมีแต่ผู้หญิง ทำให้ความสนิทสนมระหว่างน้ำพุกับครอบครัวมีน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น และเนื่องจากมารดามีภาระหน้าที่ค่อนข้างมาก จึงไม่สามารถเอาใจใส่น้ำพุที่เป็นลูกชายคนเดียวได้อย่างเต็มที่ เมื่อเติบโตจนเข้าสู่วัยรุ่นจึงเริ่มเที่ยวเตร่และหันเข้าหายาเสพติด และเคยมีเรื่องราวต้องขึ้นศาลเยาวชนและเข้าสถานพินิจมาแล้ว และเนื่องจากน้ำพุมีความสนใจในด้านศิลปะจึงขออนุญาตมารดาเข้าศึกษาต่อด้านศิลปะที่โรงเรียนช่างศิลป์หรือวิทยาลัยช่างศิลปกรมศิลปากรในปัจจุบัน น้ำพุจึงได้เพื่อนสนิทใหม่และได้ชักชวนกันเสพยาเสพติด ในช่วงนี้เองที่น้ำพุได้เสพยาหนักขึ้นจนทำให้ทั้งคู่ต้องหยุดเรียนไปเข้ารับการบำบัดเลิกยาเสพติด ที่สำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี

นอกจากน้ำพุจะชอบเขียนรูปแล้วยังมีความสามารถในการเขียนหนังสือ โดยมีบทความเป็นจดหมายที่เขียนถึงมารดา ซึ่งเป็นเรื่องราวของตนเองในแต่ละวันช่วงที่ไปเข้ารับการบำบัดเลิกเสพยา บทเรียงความสั้น ๆ เรื่อง"พฤติกรรมของวัยรุ่น" และเรื่อง "ครอบครัวของข้าพเจ้า" ซี่งทั้ง 3 เรื่อง ได้ถูกตีพิมพ์ลงเป็นหนังสือเรื่องของน้ำพุ ซี่งเป็นหนังสือระลึกงานฌาปนกิจของตัวเอง

หลังจากการบำบัดเลิกยาเสพติด จึงกลับเข้าเรียนโรงเรียนช่างศิลป์ต่อ และในรุ่งสางของวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 คนในบ้านได้เข้ามาพบน้ำพุนอนหงายหมดสติอยู่กลางพื้นห้องนอน จึงได้รีบนำส่งที่โรงพยาบาลเดชา แต่น้ำพุก็ได้เสียชีวิตลง สันนิษฐานว่าน้ำพุหันกลับมาเสพยาเสพติดอีกโดยเสียชีวิตจากการเสพเฮโรอีนเกินขนาด และจากการวินิจฉัยของแพทย์ระบุว่าหัวใจวายเฉียบพลัน สิริอายุได้ 18 ปี 2 เดือน 15 วัน เรื่องราวของน้ำพุเป็นอุทาหรณ์ของครอบครัวและอันตรายของยาเสพติด โดยได้ถูกนำเรื่องราวมาทำเป็นภาพยนตร์และละครทางโทรทัศน์

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

เรื่องน้ำพุได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง น้ำพุ ในปี พ.ศ. 2527 รับบทโดย อำพล ลำพูน, ภัทราวดี มีชูธน, เรวัติ พุทธินันทน์, วรรษมน วัฒโรดม กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท และละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในปี พ.ศ. 2545 รับบทโดย ตะวัน จารุจินดา, สินจัย เปล่งพานิช, จิรายุส วรรธนะสิน