วงศ์ปลาแมว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วงศ์ปลาแมว, วงศ์ปลากะตัก หรือ วงศ์ปลาหางไก่ (อังกฤษ: anchovy) เป็นวงศ์ปลากระดูกแข็ง ในอันดับ Clupeiformes อันเป็นอันดับเดียวกับวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Engraulidae

ลักษณะ[แก้]

มีรูปร่างโดยรวม คือ รูปร่างเรียวยาวแบนข้าง จะงอยปากทู่ ตำแหน่งปากอยู่ด้านล่างและเฉียงขึ้น ไม่มีเส้นข้างลำตัว ท้องมีสันกระดูกแหลมคมคล้ายฟันเลื่อย ในปากบางสกุลมีฟันขนาดเล็กแหลมคม ว่ายน้ำเคลื่อนที่โดยใช้ครีบก้นที่ยาวต่อเป็นแผ่นเป็นหลัก ในบางสกุลหรือบางชนิดก้านครีบอกมักยื่นยาวเป็นเส้นคล้ายหนวดแมว อันเป็นที่มาของชื่อเรียก ตามีลักษณะกลมใหญ่ อยู่บริเวณค่อนไปทางด้านหน้าของส่วนหัว[1][2]

พฤติกรรม[แก้]

มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ อาศัยหากินโดยกินแพลงก์ตอนและสัตว์น้ำขนาดเล็กต่าง ๆ เป็นอาหาร คล้ายปลาในวงศ์ปลาหลังเขียว พบได้ทั้งน้ำจืด, น้ำกร่อย และทะเล และบางชนิดก็เป็นปลาน้ำกร่อย มีขนาดตั้งแต่ 2 เซนติเมตร จนถึง 40 เซนติเมตร[3]

ถิ่นที่อยู่[แก้]

พบกระจายไปในทะเลทั่วโลก เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญอีกวงศ์หนึ่งของโลก มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารในทะเล เพราะใช้เป็นอาหารของปลาหรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่กว่า เช่น โลมา หรือ ปลาฉลาม

ในทางเศรษฐกิจ[แก้]

ในทางเศรษฐกิจ ใช้แปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ ได้หลากหลาย ทั้งปลากระป๋อง, ปลาแห้ง หรือปลาป่น และในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ปลาในวงศ์นี้เป็นที่รู้จักและนิยมกันดีในการทำน้ำปลา

ชนิด[แก้]

ปัจจุบัน พบแล้วกว่า 17 สกุล 144 ชนิด ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า "แอนโชวี" (anchovy) ขณะที่ในภาษาไทยจะเรียกรวม ๆ กันว่า "ปลากะตัก", "ปลาแมว", "ปลาหางไก่", "ปลาไส้ตัน" หรือ"ปลากล้วย"

ชนิดที่พบในไทย[แก้]

ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย อาทิ ปลาแมวเขี้ยวยาว (Lycothrissa crocodilus), ปลาแมว (Setipinna melanochir), ปลาหางไก่ (Coilia macrognathus) ซึ่ง 3 ชนิดนี้สามารถพบได้ในน้ำจืด และปลากะตัก ที่อยู่ในสกุล Encrasicholina และStolephorus ซึ่งเป็นปลาทะเลที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีในการทำน้ำปลา เป็นต้น[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "มีนวิทยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-03. สืบค้นเมื่อ 2011-10-09.
  2. [https://web.archive.org/web/20111012161411/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-31-search.asp เก็บถาวร 2011-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แมว ๒ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
  3. NORTHERN ANCHOVY (อังกฤษ)
  4. [https://web.archive.org/web/20131213031342/http://www.fisheries.go.th/marine/KnowladgeCenter/knowledge/Anchovy/Anchovy.htm เก็บถาวร 2013-12-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ปลากะตัก จากเว็บไซต์กรมประมง]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]