ล้วน ควันธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ล้วน ควันธรรม
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด24 ธันวาคม พ.ศ. 2455
ล้วน ควันธรรม
จังหวัดธนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต27 มกราคม พ.ศ. 2522 (66 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสนันทา พันธุ์พฤกษ์
อาชีพนักร้อง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2477 - 2522
ผลงานเด่นเพลงวิมานในฝัน
แหวนประดับก้อย
คำปฏิญาณ
เสียงกระซิบสั่ง
สังกัดวงดนตรีสุนทราภรณ์

ล้วน ควันธรรม (24 ธันวาคม พ.ศ. 2455 - 27 มกราคม พ.ศ. 2522) เป็นนักร้อง และนักแต่งเพลง เป็นนักเขียนบทและเป็นผู้จัดละครวิทยุ

ประวัติ[แก้]

ครูล้วน ควันธรรม เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2455 ที่จังหวัดธนบุรี (ฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) เป็นบุตรของนายลายและนางเฟื่อง ควันธรรม จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และโรงเรียนเซนต์คาเบรียล สมรสกับ นันทา พันธุ์พฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2499 มีบุตร-ธิดา 6 คน หนึ่งในนั้นคือ หมึก-โรจ ควันธรรม ดีเจเพลงสากลชื่อดัง

ในวัยเด็กครูล้วนฝึกฝนการร้องเพลงและเล่นดนตรี จากการซื้อแผ่นเสียงของนักร้องมีชื่อเสียงมาฝึกฝนด้วยตนเอง ต่อมาได้ศึกษาการเรียนโน้ตสากลจาก "ครูสริ ยงยุทธ" นักดนตรีวงสุนทราภรณ์ และเริ่มแต่งเพลงตั้งแต่นั้น เพลงแรกที่แต่งคือเพลง "วิมานในฝัน" เมื่อ พ.ศ. 2477

พ.ศ. 2482 หลวงสุขุมนัยประดิษฐก่อตั้งวงดนตรีกรมโฆษณาการ และรับสมัครนักร้อง ท่านเข้ามาสมัครและได้เป็นนักร้องรุ่นแรกของวง ซึ่งประกอบด้วย รุจี อุทัยกร, มัณฑนา โมรากุล, และล้วน ควันธรรม จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านจึงลาออกจากราชการ แล้วตั้งวงดนตรีแชมเบอร์มิวสิก ขนาดสี่คน เล่นที่ศาลาเฉลิมกรุง และตระเวนเล่นตามวิกต่างๆ

ในช่วงหลังของชีวิต ครูล้วน ควันธรรม จัดตั้งโรงเรียนประสาทพร ขึ้นที่จังหวัดนนทบุรีและจัดทำรายการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ เกี่ยวกับการร้องเพลงและการอนุรักษ์ภาษาไทย โดยใช้นามว่า "ลุงพร" ประจำที่สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ครูล้วนมีลูกศิษย์ลูกหาหลายท่าน ที่มีชื่อเสียงคือชาลี อินทรวิจิตร และ ชรินทร์ นันทนาคร

ครูล้วน ควันธรรม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2522 อายุได้ 67 ปี

ผลงานเพลง[แก้]

ครูล้วน ควันธรรม แต่งเพลงเพลงแรกคือ "วิมานในฝัน" เมื่อ พ.ศ. 2477 จากนั้นมา ท่านได้แต่งเพลงทั้งคำร้องและทำนองไว้ประมาณ 300 เพลง และแต่งคำร้องให้กับเพลงสากลประมาณ 30-40 เพลง ระหว่างที่ทำงานอยู่กรมโฆษณาการ ได้แต่งละครวิทยุประมาณ 30 เรื่อง

ผลงานเพลงมีชื่อเสียง ได้แก่เพลงแหวนประดับก้อย, คำปฏิญาณ, เสียงกระซิบสั่ง, ค่ำแล้วในฤดูหนาว, ผีเสื้อกับดอกไม้, เพลินเพลงเช้า, ระกำดวงจิต, พรานเบ็ด และ ใจเป็นห่วง ฯลฯ

นอกจากผลงานแต่งเพลงแล้ว เนื่องจากภรรยาของท่านเป็นคนใต้ ท่านจึงผู้ประยุกต์เพลงเชิดหนังตะลุงของทางใต้ให้เข้ากับจังหวะเพลงสากล เรียกว่าจังหวะ "ตะลุงเทมโป้"

อ้างอิง[แก้]