ลิงลมชวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิงลมชวา
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
วงศ์: Lorisidae
สกุล: Nycticebus
สปีชีส์: N.  javanicus
ชื่อทวินาม
Nycticebus javanicus
É. Geoffroy, 1812
แผนที่กระจายพันธุ์ของลิงลมชวา
ชื่อพ้อง[4]
  • Nycticebus ornatus Thomas, 1921
  • Nycticebus coucang javanicus É. Geoffroy, 1812 [3]

ลิงลมชวา (อังกฤษ: Java slow loris; ชื่อวิทยาศาสตร์: Nycticebus javanicus) เป็นไพรเมตจำพวกลิงลมชนิดหนึ่ง เดิมเคยถือเป็นชนิดย่อยของลิงลมใต้ (N. coucang) เป็นเวลาหลายปี โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า N. coucang javanicus [3] จนการประเมินอีกครั้งของสัณฐานวิทยาและพันธุศาสตร์ในปี ค.ศ. 2000 จึงถูกจัดออกให้เป็นชนิดต่างหาก โดยเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับลิงลมใต้และลิงลมเหนือ (N. bengalensis) โดยมีความแตกต่างกันที่ความยาวและสีขน

ลิงลมชวา จะพบอาศัยอยู่เฉพาะในป่าดิบของเกาะชวา ในอินโดนีเซียเท่านั้น มีน้ำหนักระหว่าง 565 ถึง 687 กรัม (1.246 และ 1.515 ปอนด์)[5] มีขนสีเหลืองเทา ในด้านตรงข้ามกับส่วนหัว, คอ และไหล่เป็นสีครีม เช่นเดียวกับลิงลมบอร์เนียว (N. menagensis) โดยไม่มีฟันหน้าสองซี่[6]

ลิงลมชวา เหมือนกับลิงลมชนิดอื่น ๆ คือ เป็นสัตว์ที่มีลิ้น 2 ลิ้น คือ ลิ้นสั้น กับ ลิ้นยาว ใช้ประโยชน์ในการกินอาหารแตกต่างกัน รวมถึงมีกระดูกสันหลังที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถบิดตัวได้คล้ายงูอีกด้วย จึงใช้ในการปีนป่ายต้นไม้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสภาพของขนและสียังสามารถแฝงตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติได้ด้วย ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนการเช่นนี้มานานกว่า 50 ล้านปีมาแล้ว [7]

เป็นสัตว์ที่อาศัยและหากินในเวลากลางคืนโดยลำพัง ปกติจะเคลื่อนไหวเชื่องช้า แต่จะรวดเร็วมากเมื่อเวลาจับอาหาร โดยกินแมลง และสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ บนต้นไม้เป็นอาหารหลัก และมีผลไม้หรือลูกไม้ต่าง ๆ เป็นอาหารรอง รวมถึงสามารถจับสัตว์ขนาดใหญ่อย่าง นก หรือ ค้างคาว กินได้ด้วย โดยมีกระดูกสันหลังแบบพิเศษ และมีมือที่เก็บซ่อนนิ้วเพื่อให้จับเหยื่อและเคลื่อนที่ไปทั่วได้โดยไม่เป็นที่สังเกต นิ้วชี้ของขาหลังมีเล็บยาวปลายแหลมเห็นได้ชัด ขาหน้าและขาหลังสั้นแต่แข็งแรง นอกจากนี้ยังมีพิษที่มีสภาพคล้ายน้ำมันที่ซ่อนอยู่ในข้อศอก มีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อ ลิงลมชวาจะใช้ผสมกับน้ำลายเมื่อกัด ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงจำพวกเดียวที่มีพิษ พิษนี้มีความร้ายแรงถึงขนาดมีมนุษย์เสียชีวิตมาแล้ว[7]

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการมีพิษนี้ แต่พิษนี้ใช้ประโยชน์ได้ในการล่าเหยื่อ หรืออาจจะใช้ประโยชน์ในการกำจัดปรสิตตามตัว เพราะลิงลมจะไม่มีเห็บหรือหมัดตามตัวเหมือนสัตว์ในอันดับไพรเมตจำพวกอื่น สันนิษฐานว่าลิงลมชวาอาจจะได้พิษนี้มาจากแมลงหรือแมงมีพิษจำพวกต่าง ๆ ที่กินเป็นอาหาร เช่น มด และกิ้งกือ ซึ่งเป็นอาหารโปรดของลิงลม เพราะพบพิษลักษณะเดียวกันนี้ในมดและกิ้งกือ อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้อีกว่า มีพิษไว้สำหรับสู้กับลิงลมชวาเพศเดียวกันตัวอื่น โดยเฉพาะตัวผู้ เพื่อประกาศอาณาเขตและแย่งชิงคู่ครอง เพราะลิงลมชวาจะต่อสู้กันเองด้วยการกัดและเหวี่ยงอย่างรุนแรง ซึ่งอาจบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นตายได้[7]

ลิงลมชวาในตลาดค้าสัตว์ป่าในจังหวัดชวากลาง

ลิงลมชวา จัดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ โดยจัดเป็นลิงลมชนิดที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ที่สุด จากการถูกจับไปเป็นสัตว์เลี้ยง มีมูลค่าการซื้อขายที่สูงและเป็นที่นิยมมากในตลาดค้าสัตว์ป่าหรือตลาดมืด โดยผู้ขายมักจะตัดเขี้ยวของลิงลมชวาออกเพื่อไม่ให้ไปกัดผู้เลี้ยง ด้วยกรรไกรตัดเล็บหรือคีม ซึ่งทำให้ลิงลมชวาได้รับบาดเจ็บอาจถึงตายได้[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Nekaris, K.A.I. , Shekelle, M.; Wirdateti, Rode-Margono, E.J.; Nijman, V. (2020). "Nycticebus javanicus". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T39761A204495100. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-2.RLTS.T39761A204495100.en. สืบค้นเมื่อ 17 November 2021.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. "Appendices I, II and III" (PDF). Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES). 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-24.
  3. 3.0 3.1 "Nycticebus javanicus É. Geoffroy Saint-Hilaire, 1812". itis.gov. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.
  4. Thomas, O. (1921). "Two new species of slow-loris". Annals and Magazine of Natural History. 9. 8: 627–628. doi:10.1080/00222932108632631.
  5. Nekaris, K.A.I.; Jaffe, S. (2007). "Unexpected diversity of slow lorises (Nycticebus spp.) within the Javan pet trade: implications for slow loris taxonomy". Contributions to Zoology. 76 (3): 187–196. doi:10.1163/18759866-07603004. S2CID 45718454. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-22. สืบค้นเมื่อ 2011-01-11.
  6. Groves, Colin P. (1971). "Systematics of the genus Nycticebus". Proceedings of the Third International Congress of Primatology 1. Zürich, Switzerland. pp. 44–53.
  7. 7.0 7.1 7.2 "จอมซนแห่งเกาะชวา". ไทยพีบีเอส. 26 May 2014. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.
  8. "ยังไม่ทันได้รู้จักก็จะสูญพันธุ์เสียแล้ว". ผู้จัดการออนไลน์. 4 December 2014. สืบค้นเมื่อ 26 January 2012.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Nycticebus javanicus ที่วิกิสปีชีส์