ลำนำหกพิภพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลำนำหกพิภพ  
ปกหนังสือ ลำนำหกพิภพ
ผู้ประพันธ์พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์
ชื่อเรื่องต้นฉบับลำนำหกพิภพ
ประเทศไทย
ภาษาไทย
ประเภทนวนิยายแฟนตาซี
สำนักพิมพ์สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
วันที่พิมพ์กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
หน้า720
ISBN978-974-9601-96-9

ลำนำหกพิภพ เป็นหนังสือนิยายแฟนตาซีวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลดีเด่นจากโครงการศิลปะเพื่อเยาวชนไทย Young Thai Artist Award 2006 ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิซีเมนต์ไทย ผู้เขียนคือนายพงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุคส์พับลิเคชันส์

แนวคิดในการประพันธ์[แก้]

ผู้เขียนได้แสดงแนวคิดในการประพันธ์ไว้ในบทนำของหนังสือ[1] ว่า เมื่อเริ่มแรกมีความคิดเพียงการสร้างนิยายแฟนตาซีแบบไทยๆ พล็อตเรื่องง่ายๆ แต่เมื่อได้อ่านและศึกษาแนวคิดปรัชญาทางศาสนาพุทธและปรัชญาการเมืองหลายสาย จึงได้นำมาผสานลงเป็นมุมมองส่วนตัวในนิยาย อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องนี้เป็นนิยายแฟนตาซีที่เขียนโดยใช้ฉากหลังเป็นแฟนตาซีไทย

โครงเรื่อง[แก้]

แบ่งออกเป็นสองช่วงหลักๆ

  • ช่วงแรก เป็นช่วงตำนานที่มีการรวบรวมตำนานเรื่องต่างๆ มาเขียนรวมกัน เช่นตำนานเมขลาล่อแก้ว ตำนานกวนเกษียรสมุทร
  • ช่วงที่สอง เป็นช่วงการผจญภัยของพระเอก ที่ไปผจญภัยยังดินแดนของพวกอสูร มีการเรียนเวทมนตร์ มีสงครามระหว่างเทพ-มาร

เรื่องย่อ[แก้]

นิยายแฟนตาซี ที่มีตัวละครและฉากหลังจากวรรณคดีไทย ตำนานมหาสงครามแย่งชิงความเป็นเจ้าพิภพทั้งหก ณ ห้วงเวลาก่อนที่รามเกียรติ์จะอุบัติขึ้นบนโลก เป็นเวลาที่ "ธรรม" กับ "อธรรม" ถูกแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน จนไม่อาจอยู่ร่วมภพได้ หากแต่ในระหว่างการขับเคี่ยวกันในสมรภูมิแห่งเลือด เนื้อ และปณิธาน ท่ามกลางผู้คนมากมายที่ล้มตาย ไม่มีใครล่วงรู้ว่า "ธรรม" ได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของ "อธรรม" โดยสมบูรณ์แล้ว

โลกในลำนำหกพิภพ[แก้]

แผนที่รวม
เขาสัตตบริภัณฑ์คีรี

โลกในลำนำหกพิภพ เป็นการเรียบเรียงมาจากโลกในจินตนาการของคนไทยโบราณ โดยอ้างอิงหนังสือไตรภูมิพระร่วงซึ่งแบ่งโลกออกเป็นหกภพภูมิได้แก่

  1. มนุสสภูมิ – ภูมิอันเป็นที่อยู่ของมนุษย์
  2. ดิรัจฉานภูมิ – ภูมิอันเป็นที่อยู่ของสัตว์
  3. อสูรกายภูมิ – ภูมิอันเป็นที่อยู่ของพวกอสูร
  4. เปตวิสัยภูมิ – ภูมิอันเป็นที่อยู่ของพวกเปต
  5. นรกภูมิ – ภูมิอันเป็นที่อยู่ของพระยายมราช ทัณฑกร และพวกสัตว์นรก
  6. ฉกามาพจรภูมิ – ภูมิอันเป็นที่อยู่ของพวกเทวดา หรือสวรรค์

แต่ผู้ประพันธ์ได้นำภพภูมิทั้งหมดมาจัดเรียงและสร้างความสัมพันธ์ขึ้นใหม่ ให้มนุสสภูมิหรือสุวรรณทวีปมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมปลายแหลมทอดยาวลงในทะเลด้านปลายทิศใต้ติดกับเกาะลงกา ป่าหิมพานต์อยู่เหนือขึ้นไป เป็นดินแดนดิรัจฉานภูมิ สัณฐานเป็นป่ารอบเขาสัตบริภัณฑ์คีรีและเป็นที่อยู่ของสัตว์หิมพานต์ต่างๆ ส่วนเปตวิสัยภูมิตามตำนานว่าเป็นภูมิที่ซ้อนอยู่กับมนุษย์ คืออาศัยอยู่บนแผ่นดินเดียวกัน แต่พวกเปตมีกายเนื้อที่ละเอียดจนมนุษย์มองไม่เห็น

อสูรกายภูมิเป็นดินแดนใต้ดินอยู่ใต้เขาพระสุเมรุพอดี และนรกภูมินั้นมีสัณฐานเป็นกล่องเหล็กใหญ่อยู่ใต้มนุสสภูมิ

อสูรกายภูมิในเรื่องนี้เป็นภพอสูร มีเมืองเอกอยู่ด้วยกันสี่เมือง คือเมืองอุตรกุรุทางทิศเหนือ เมืองบุรพวิเทหะทางตะวันออก เมืองอมรโคยานทางตะวันตก เมืองชมพูทางใต้ ตรงกลางมีต้นจิตตปาลิ (ต้นแคฝอย) ใหญ่ เป็นต้นไม้หลักทวีป มีคำอธิบายในเรื่องว่า "พวกอสูรกินผลของจิตตปาลิ ถากเปลือกไม้จิตตปาลิมาสร้างบ้าน แต่กิ่งก้านของมหาพฤกษายังถูกนำมาม้วน แล้วชุบน้ำมันทำเป็นกระบองแน่นเหนียวซึ่งพวกอสูรใช้เป็นอาวุธกันอย่างแพร่หลาย"

นอกจากนี้มีดินแดนอื่นๆ อีกได้แก่

  • ดินแดนอันตริกษ์ ในป่าหิมพานต์ คือดินแดนของพวกคนธรรพ์ หรือพวกกึ่งมนุษย์กึ่งเทวดาชอบเล่นดนตรีและงานศิลปะ นัยว่าเป็นดินแดนที่อยู่ตรงกลางระหว่างฟ้ากับดิน
  • นาคพิภพ คือที่อยู่ของนาค เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ทางตะวันออกดังภาพ พวกนาคตั้งเมืองไว้ ชื่อว่านาควาริน
  • นรกภูมิ มีแปดขุม คือสถานที่ลงโทษวิญญาณที่ทำผิด เป็นหน่วยงานหนึ่งของดาวดึงส์

วิทยาศาสตร์ในแฟนตาซีไทย[แก้]

แนวคิดเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์หรือเทคโนโลยีในตำนานปรัมปราถูกนำเสนอในมุมมองวิทยาศาสตร์ในเรื่อง เช่น

  • กลละ
  • เครื่องพลวาหน

รางวัลและคำวิจารณ์[แก้]

นิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลดีเด่น จากโครงการศิลปะเพื่อเยาวชนไทย ปี พ.ศ. 2549 (Young Thai Artist Award 2006) โดยได้รับคำชมเชยจากคณะกรรมการว่า "มีความโดดเด่นในด้านแนวความคิด และจินตนาการ" แต่ "กลวิธีนำเสนอมีความไม่ลงตัวอยู่หลายประการ"[1] จุดเด่นที่น่าสนใจคือ การนำแนวคิดและความเชื่อทางศาสนาซึ่งเป็น แนวทางแบบตะวันออก กับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นวิทยาการจากตะวันตกมาดัดแปลงผสมผสานเข้าด้วยกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์. ลำนำหกพิภพ. สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ 2551

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]