ร่างพระราชบัญญัติการยกเว้นผู้สืบราชบัลลังก์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเหมือนของดยุคแห่งยอร์คในตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการราชนาวีสูงสุด เมื่อทรงเปลี่ยนไปนับถือโรมันคาทอลิกในปี ค.ศ. 1673 พระองค์ทรงลาออกจากตำแหน่งแทนที่จะทรงยอมปฏิญาณต่อต้านโรมันคาทอลิกตามที่ระบุในพระราชบัญญัติทดสอบ

ร่างพระราชบัญญัติการยกเว้นผู้สืบราชบัลลังก์ หรือ ร่างพระราชบัญญัติการยกเว้น (อังกฤษ: Exclusion Bill) เสนอระหว่าง ค.ศ. 1678 ถึงปี ค.ศ. 1681 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 จุดประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติยกเว้นก็เพื่อห้ามไม่ให้พระอนุชาของพระเจ้าชาร์ลส์ดยุคแห่งยอร์คผู้เป็นรัชทายาทโดยพฤตินัยจากการขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษเพราะทรงเปลี่ยนไปนับถือโรมันคาทอลิก พรรคทอรีต่อต้านร่างพระราชบัญญัติแต่พรรควิกสนับสนุน

ในปี ค.ศ. 1673 เมื่อดยุคแห่งยอร์คไม่ทรงยอมปฏิญาณต่อต้านโรมันคาทอลิกตามที่ระบุในพระราชบัญญัติทดสอบ (Test Act) ที่เพิ่งออกใหม่ก็ทำให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าทรงหันไปนับถือโรมันคาทอลิก เอ็ดเวิร์ด โคลแมน (Edward Colman) เลขานุการของพระองค์ถูกกล่าวชื่อโดยไททัส โอตส์ (Titus Oates) ระหว่างการคบคิดพ็อพพิช (ค.ศ. 1678) ว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

ทางฝ่ายชนชั้นปกครองที่เป็นโปรเตสแตนต์ก็เริ่มรวมตัวกันต่อต้าน เพื่อเลี่ยงไม่ให้ระบบการปกครองในอังกฤษกลายเป็นสภาวะการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสถ้าดยุคแห่งยอร์คมีโอกาสขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเชษฐาผู้ไม่มีรัชทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมาย

เซอร์เฮนรี คาเพล (Henry Capel) สรุปความรู้สึกทั่วไปของฝ่ายต่อต้านสิทธิของดยุคแห่งยอร์คเมื่อกล่าวปาฐกถาในรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1679:

: “From popery came the notion of a standing army and arbitrary power…. Formerly the crown of Spain, and now France, supports this root of popery amongst us; but lay popery flat, and there's an end of arbitrary government and power. It is a mere chimera, or notion, without popery.[1]

การปาฐกถาของคาเพลครั้งนี้ทำให้รัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับสถานะการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีข่าวลือที่ว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงพยายามเข้ามามีส่วนพยายามทำให้รัฐบาลของพระเจ้าชาร์ลส์เป็นกลางโดยใช้การติดสินบนโดยตรง ทอมัส ออสบอร์น ดยุคแห่งลีดส์ที่ 1 ก็ถูกปลดในฐานะแพะรับบาป

พระเจ้าชาร์ลส์จึงทรงยุบรัฐสภา แต่รัฐสภาใหม่ก็กลับมาประชุมอีกในเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 1679 ซึ่งเป็นรัฐสภาที่ยิ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์มากกว่ารัฐสภาเดิม และสั่งจับแดนบีไปจำขังในหอคอยแห่งลอนดอน

เอิร์ลแห่งชาฟท์สบรีผู้นำพรรควิกเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเว้นในสภาสามัญชนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1679
ภาพพิมพ์แสดงขบวนแห่หุ่นพระสันตะปาปา, คาร์ดินัล และนักบวชที่จัดโดยพรรควิกก่อนที่จะนำไปเผาในกองเพลิงใหญ่ (bonfire)

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1679, แอนโทนี แอชลีย์ คูเปอร์ เอิร์ลแห่งชาฟท์สบรีที่ 1 (Anthony Ashley Cooper, 1st Earl of Shaftesbury) ก็เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเว้นในสภาสามัญชน เพื่อยกเว้นดยุคแห่งยอร์คจากการขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษ บางกลุ่มถึงกับหันไปสนับสนุนดยุคแห่งมอนม็อธผู้เป็นพระโอรสนอกสมรสของพระเจ้าชาร์ลส์ผู้เป็นโปรเตสแตนต์ เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ทรงเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติจะได้รับการอนุมัติพระองค์ก็ทรงใช้พระราชอภิสิทธิ์ (Royal prerogative) ในการยุบรัฐสภา รัฐสภาต่อๆ มาพยายามอนุมัติร่างพระราชบัญญัติพระองค์ก็ยุบสภาอีก

“ผู้ยื่นคำร้อง” ที่พยายามเรียกร้องให้พระเจ้าชาร์ลส์เปิดสมัยประชุมรัฐสภาเพื่อผ่านร่างพระราชบัญญัติก็กลายเป็น “พรรควิก” ส่วนฝ่ายค้านที่เรียกกันว่า “Abhorrers” ที่เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติเป็นสิ่งที่ “น่าเกลียด” (abhorrent) ก็วิวัฒนาการเป็นพรรคทอรี

ฝ่ายที่สนับสนุนเอิร์ลแห่งชาฟท์สบรี (เริ่มเป็นที่รู้จักกันว่า “พรรควิก”) พยายามสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนไปทั่วประเทศถ้ามีประมุขเป็นโรมันคาทอลิก โดยการกระพือข่าวลือเรื่องแผนการคบคิดพ็อพพิช และทุกเดือนพฤศจิกายนในโอกาสครบรอบการขึ้นครองราชสมบัติของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ก็มีการจัดขบวนแห่หุ่นพระสันตะปาปาและสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของโรมันคาทอลิกในกรุงลอนดอนก่อนที่จะนำในไปเผาในกองเพลิงใหญ่ ส่วนผู้สนับสนุนพระเจ้าชาร์ลส์ก็โต้ตอบด้วยกันทำให้ประชาชนรำลึกถึงความทารุณในสมัยปกครองของเครือจักรภพแห่งอังกฤษ

แม้ว่าจะสามารถจะเรียกรัฐสภาได้อีกสองครั้งเพื่อจะผ่านร่างพระราชบัญญัติแต่ฝ่ายพระเจ้าชาร์ลส์ก็สามารถทำให้ประชาชนเห็นว่าพรรควิกเป็นฝ่ายผู้พยายามก่อความไม่สงบ ภายในปี ค.ศ. 1681 ขบวนการก็สลายตัวลงและเมื่อร่างพระราชบัญญัติผ่านไปยังสภาขุนนางก็ไม่ได้รับการอนุมัติ

อ้างอิง[แก้]

  1. John Kenyon, The Popish Plot (Phoenix Press, 2000), pp. 2–3.

ดูเพิ่ม[แก้]