ราชรัฏฐาภิบาลรวบรวมชาติกัมพูชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชรัฏฐาภิบาลรวบรวมชาติกัมพูชา

រាជរដ្ឋាភិបាលរួបរួមជាតិកម្ពុជា
Gouvernement royal d'union nationale du Kampuchéa
พ.ศ. 2518–2519
ธงชาติ
ธงชาติ
ตราแผ่นดินของ
ตราแผ่นดิน
สถานะรัฐบาลพลัดถิ่น
เมืองหลวงฐานในปักกิ่งและวิคตอเรีย
พนมเปญโดยนิตินัย
ภาษาทั่วไปภาษาเขมร, ภาษาฝรั่งเศส
ประมุขแห่งรัฐ 
• 2513–2519
พระนโรดม สีหนุ
นายกรัฐมนตรี 
• 2513–2519
แปน นุต
ยุคประวัติศาสตร์สงครามเย็น
สงครามกลางเมืองกัมพูชา
สงครามเวียดนาม
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชอาณาจักรกัมพูชา
กัมพูชาประชาธิปไตย

ราชรัฏฐาภิบาลรวบรวมชาติกัมพูชา (เขมร: រាជរដ្ឋាភិបាលរួបរួមជាតិកម្ពុជា ราชรฎฺฐาภิบาลรัวบรัวมชาติกมฺพุชา; อังกฤษ: Royal Government of National Union of Kampuchea; ฝรั่งเศส: Gouvernement Royal d'Union Nationale du Kampuchéa: GRUNK) เป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของกัมพูชา ตั้งขึ้นที่ปักกิ่ง คงอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2513 – 2519 และมีอำนาจปกครองกัมพูชาในช่วงสั้น ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2518 – 2519 มีพื้นฐานมาจากแนวร่วมสหภาพแห่งชาติเขมร (FUNK) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างพระนโรดม สีหนุ อดีตประมุขของรัฐที่ต้องลี้ภัยหลังการรัฐประหาร และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อเขมรแดง) ก่อตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของประเทศจีน แม้ว่าเขมรแดงนี้จะเคยต่อต้านระบอบสังคมของสีหนุมาก่อน

การก่อตั้ง[แก้]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2513 พระนโรดม สีหนุถูกรัฐประหารโดยกลุ่มฝ่ายขวาในรัฐบาลของพระองค์เองคือลน นลและพระสีสุวัตถิ์ สิริมตะและอิน ตัม พระนโรดม สีหนุในขณะที่อยู่ต่างประเทศได้ออกรายการวิทยุเรียกร้องให้มีการลุกฮือต่อต้านรัฐประหารที่กรุงปักกิ่งเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2513 ในนามรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

ความเห็นของพระนโรดม สีหนุในการก่อตั้งแนวร่วมมีความแตกต่างไปจากที่ประกาศโดยโฆษก เขากล่าวว่าเขาได้ตัดสินใจโดยกะทันหันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลสหภาพแห่งชาติ ในขณะที่แผนของมอสโกและปักกิ่ง เขาได้รับข้อความหลังจากออกอากาศไปแล้ว 3 วัน ซึ่งได้รับผ่านทางผู้นำของเขมรแดง 3 คนที่เคยร่วมมือกับระบอบสังคมของพระองค์

จริง ๆ แล้ว ในขณะที่พระนโรดม สีหนุไปถึงปักกิ่งยังไม่แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวจะเป็นไปในทิศทางใด และหลังจากการประชุมลับในวันที่ 21 มีนาคมกับนายกรัฐมนตรีของเวียดนามเหนือ ฝ่าม วันดงและโจว เอินไหล ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพระนโรดม สีหนุ การประชุมครั้งนี้เป็นการตกลงใจที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาที่เขาเคยต่อต้านมาในอดีต จึงดูเหมือนว่าเป้นความต้องการของลน นลและอาจมีการสนับสนุนของสหรัฐในการตัดสินใจก่อรัฐประหาร สีหนุเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องเลือกเพราะลน นลบังคับให้เขาเลือก[1]

การประกาศจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 และได้รับการรับรองทันทีจากจีนแผ่นดินใหญ่ การจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นโดยพระนโรดม สีหนุเป็นผู้นำของเขมรแดง ทำให้เขมรแดงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่จงรักภักดีต่อพระนโรดม สีหนุและกลุ่มอนุรักษนิยมในการต่อต้านสาธารณรัฐเขมรของลน นล กองกำลังคอมมิวนิสต์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในเขตชนบทของกัมพูชา ซึ่งเกิดจากความนิยมสีหนุและความโกรธแค้นจากการทิ้งระเบิดอย่างหนักของสหรัฐอเมริกา การได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำให้พระนโรดม สีหนุยังคงมีอำนาจอยู่ และปลอดภัยภายใต้การสนับสนุนของจีนและเวียดนามเหนือ

องค์ประกอบ[แก้]

รัฐบาลพลัดถิ่นนี้มีพระนโรดม สีหนุเป็นประมุข นายกรัฐมนตรีคือเพ็ญ โนต ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของสีหนุตั้งแต่การเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสและระหว่างปกครองด้วยระบอบสังคม เขียว สัมพันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการกองทัพ ซึ่งยังคงอยู่ในพื้นที่ปลดปล่อย และเป็นจุดที่ทำให้รัฐบาลสหภาพฯออกมากล่าวว่าพวกเขาไม่ได้เป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ฮู ยวนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ ฮู นิม เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศ ทั้งหมดนี้เป็นที่นิยมในเขตชนบทของกัมพูชา เนื่องจากเป็นนักพูดเกี่ยวกับสิทธิของชนบท

การควบคุมกองทัพที่แท้จริงอยู่ภายใต้การสั่งงานของพล พต ซึ่งเป็นผู้นำระดับสูงของเขมรแดง (ร่วมกับนวน เจีย ซอน เซนและเอียง ซารี) กองทัพของแนวร่วมในชื่อกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนกัมพูชาในช่วงแรกมีขนาดเล็ก และการต่อสู้ในสงครามกลางเมืองกัมพูชาช่วงแรกได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างพระนโรดม สีหนุกับเขมรแดงไม่ค่อยราบรื่นนัก โดยเฉพาะพระองค์กับเอียง ซารี มีความขัดแย้งส่วนตัวอยู่ด้วย

การครอบงำของเขมรแดง[แก้]

ความสำเร็จทางการทหารของเขมรแดงเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2516 สีหนุเดินทางเข้าเยี่ยมเยียนพื้นที่ปลดปล่อย และถ่ายรูปร่วมกับเขียว สัมพัน ฮู ยวน และฮู นิม เมื่อมีการนำภาพนั้นมาเผยแพร่ สหรัฐได้ออกมาให้ความเห็นว่าบุคคลในภาพเป็นเพียงปีศาจสามตนเพราะถูกตำรวจลับของสีหนุสังหารไปแล้ว ต่อมาเมื่อมีการเผยแพร่ภาพยนตร์ของการพบปะครั้งนี้ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าบุคคลทั้งสามยังไม่ตาย

ระหว่าง พ.ศ. 2516 เจ้าหน้าที่ที่ภักดีกับพระนโรดม สีหนุและมีความเชื่อมโยงกับเวียดนามเหนือเริ่มถูกย้ายออกไปจากรัฐบาล และเริ่มมีการให้ภาพของพระนโรดม สีหนุว่าเป็นเจ้าขุนมูลนาย พื้นที่ปลดปล่อยเริ่มขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะทางตะวันตก ซึ่งผู้กุมอำนาจเป็นกลุ่มของนักชาตินิยมที่ต่อต้านเวียดนาม คำว่าราชอาณาจักรถูกตัดออกจากชื่อรัฐบาล รัฐบาลสหรัฐปฏิเสธไม่ยอมรับพระนโรดม สีหนุและยังคงสนับสนุนรัฐบาลของลน นล โดยการทิ้งระเบิดในกัมพูชาต่อไป การที่สหรัฐไม่ยอมรับสีหนุ ทำให้จีนหันไปสนับสนุนเขมรแดงโดยตรงมากขึ้น

หลังพนมเปญแตก[แก้]

เมื่อเขมรแดงยึดพนมเปญได้เมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 กลุ่มคอมมิวนิสต์ได้เข้ามาควบคุมรัฐบาลพลัดถิ่นและการสื่อสารกับกัมพูชาถูกตัด พระนโรดม สีหนุไม่ได้รับรายงานโดยตรงว่าพนมเปญแตก เมื่อพระองค์เสด็จกลับพนมเปญ พระองค์รู้สึกช็อกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมือง การเสียชีวิตของโจว เอินไหลในเดือนมกราคม พ.ศ. 2519 ทำให้สถานะของพระองค์อ่อนแอลง เมื่อพระองค์ทราบข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชน​ของเขมรแดงจากวิทยุต่างชาติ พระองค์จึงลาออกจากตำแหน่งประมุขรัฐเมื่อ เดือนเมษายน พ.ศ. 2519 เขมรแดงได้ส่งเอียง ซารีมาเกลี้ยกล่อมให้พระองค์อยู่ต่อไป แต่สีหนุปฏิเสธ ทำให้พระองค์ถูกกักบริเวณ เขียว สัมพันขึ้นเป็นประมุขรัฐแทน เพ็ญ โนตถูกปลดออก พล พตขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ผู้ที่นิยมพระนโรดม สีหนุในรัฐบาลพลัดถิ่นถูกประหารชีวิต เช่นพระนโรดม ภูริสสระ ซึ่งถูกฆ่าในค่ายสัมมนาเมื่อพ.ศ. 2519 เจีย สัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลพลัดถิ่นถูกฆ่าในคุกตวล ซแลง มีแต่เพ็ญ โนตที่รอดมาได้ สมาชิกของเขมรแดงที่เข้าร่วมในรัฐบาลพลัดถิ่น ฮู ยวนสูญหายไปในปี พ.ศ. 2518 และเชื่อว่าเสียชีวิตแล้วใน พ.ศ. 2519 ฮู นิมและเจา เสงถูกประหารชีวิตที่คุกตวล ซแลงใน พ.ศ. 2520 มีเพียงเขียว สัมพันที่ยังคงเป็นผู้นำรัฐ

หลังการล่มสลายของกัมพูชาประชาธิปไตย[แก้]

หลังจากการรุกรานของเวียดนาม พ.ศ. 2521 เขมรได้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในต้นปี พ.ศ. 2522 ทำให้มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา เขมรแดงได้ติดต่อพระนโรดม สีหนุให้มาเป็นตัวแทนกัมพูชาประชาธิปไตยในสหประชาชาติ แต่พระองค์ปฏิเสธ เขมรแดงพยายามจัดตั้งองค์กรใหม่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของตนขึ้นมาอีก ต่อมาใน พ.ศ. 2525 พรรคฟุนซินเปกของพระนโรดม สีหนุได้เข้าร่วมกับเขมรแดงในการจัดตั้งแนวร่วมเขมรสามฝ่ายเพื่อรักษาที่นั่งในสหประชาชาติ

อ้างอิง[แก้]

  1. Shawcross, W. Sideshow: Kissinger, Nixon, and the Destruction of Cambodia, Simon & Schuster, 1979, p.125