รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลาง (อังกฤษ: Neutrality Acts) เป็นกฎหมายที่ผ่านโดยรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เพิ่มทวีขึ้นมาในทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย ซึ่งนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง กฎหมายดังกล่าวนับว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาจากลัทธิการแยกตัวโดดเดี่ยวและปลีกตัวออกจากชาติอื่น หลังจากที่สหรัฐอเมริกาต้องเข้าไปพัวพันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นความพยายามที่จะฉุดไม่ให้สหรัฐอเมริกาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ

รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 เป็นมรดกที่ชนรุ่นหลังเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากว่ามันไม่ได้แบ่งแยกว่าชาติผู้รุกรานและเหยื่อ แต่ปฏิบัติต่อทั้งสองประเทศเหมือนกับว่าเป็น "ผู้เข้าร่วมสงคราม" เท่านั้น สหรัฐอเมริกายังให้ความช่วยเหลือแก่สหราชอาณาจักรเพื่อต่อต้านนาซีเยอรมนีไม่มากนัก จนกระทั่งถึงการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1941

เนื้อหา[แก้]

ค.ศ. 1935[แก้]

รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางแห่งปี ค.ศ. 1935 ได้รับการลงนามโดยประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1935 ที่ได้กำหนดว่าสหรัฐอเมริกาจะต้องไม่ค้าอาวุธและปัจจัยสงครามให้แก่ประเทศคู่สงคราม รัฐบัญญัติดังกล่าวกำหนดอายุไว้ 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ ซึ่งประธานาธิบดีโรสเวลต์ได้สั่งห้ามไม่ให้ทำการค้าในช่วง การรุกรานเอธิโอเปียของอิตาลี ในเดือนตุลาคม 1935

ค.ศ. 1936[แก้]

รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางแห่งปี ค.ศ. 1936 ได้รับการลงนามในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ซึ่งได้ต่อเวลาของรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางแห่งปี 1935 ไปอีก 14 เดือน รวมไปถึงไม่อนุญาตให้ยืมหรือขอยืมเงินตราจากประเทศคู่สงคราม แต่ว่ารัฐบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รวมไปถึงสงครามกลางเมือง อย่างเช่นใน สงครามกลางเมืองสเปน และยังไม่ได้รวมไปถึงการส่งมอบยุทโธปกรณ์ อย่างเช่น น้ำมันหรือรถบรรทุก ทำให้มีบางบริษัทของสหรัฐอเมริกาที่ขายสินค้าดังกล่าวให้แก่ ฟรานซิสโก ฟรังโก และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1939 ฟรังโกได้เป็นหนี้ของบริษัทดังกล่าวกว่า 100,000,000 เหรียฐสหรัฐ

ค.ศ. 1937[แก้]

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1937 รัฐสภาได้กำหนดให้การค้าอาวุธกับสเปนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางแห่งปี 1937 ได้รับการลงนามในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน โดยต่ออายุของรัฐบัญญัติสองฉบับก่อนหน้าไปอีกโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด และขยายข้อยกเว้นไปจนถึง ห้ามค้าอาวุธให้แก่ผู้ร่วมสงครามกลางเมืองด้วย รวมไปถึงมีคำสั่งห้ามมิให้เรือของสหรัฐทำการขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศที่เข้าร่วมสงคราม

ค.ศ. 1939[แก้]

หลังจากที่นาซีเยอรมนีเริ่มรุกรานประเทศเพื่อนบ้านใทวีปยุโรป ประธานาธิบดีโรสเวลต์ได้กล่าวแก่สถาคองเกรสว่า นโยบายดังกล่าวจะเป็นการเกื้อหนุนให้แก่ประเทศผู้รุกราน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางแห่งปี 1939 ก็ได้ผ่านออกมา โดยอนุญาตให้ติดต่อค้าขายแบบยื่นหมูยื่นแมวกันได้ และยุติการห้ามขนส่งสินค้า

การยุติรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลาง[แก้]

การยุติรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางได้นำไปสู่นโยบายให้กู้-ยืมในปีค.ศ. 1941 ซึ่งให้สหรัฐอเมริกาสามารถทำการค้ากับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร และหลังจากที่เรือสินค้าของสหรัฐอเมริกาถูกจมมากขึ้น สหรัฐอเมริกาจึงให้เรือรบของตนติดอาวุธได้

หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้]

  • Divine, Robert A. The Illusion of Neutrality, Chicago 1962.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]