รวมเรื่องสั้นจิตหลุด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รวมเรื่องสั้นจิตหลุด



ภาพหน้าปกฉบับพิมพ์ครั้งแรก 2547 วิบูลย์กิจ

ชื่อไทย รวมเรื่องสั้นจิตหลุด
ชื่ออังกฤษ My Mania
ผู้แต่ง เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์
แนวการ์ตูน สยองขวัญ
เว็บไซต์
ลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ในไทย สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ
LET'S Comic[1]
ฉายทางทีวี -
จำนวนเล่ม 3

รวมเรื่องสั้นจิตหลุด (อังกฤษ: My Mania) เป็นหนังสือการ์ตูนไทย ผลงานของเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ตีพิมพ์และจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ (และ Let's Comic ในเวลาต่อมา) โดยเนื้อหาในเล่มเป็นการรวมเรื่องสั้นแนวสยองขวัญและแฟนตาซีหักมุมจบ ด้วยลายเส้นที่สวยงาม และจากมุมมองที่สร้างความแหวกแนวจากผู้เขียนนี้ ส่งผลให้ 2 ใน 5 เรื่องได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ คือเรื่อง "13 quiz show" ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "13 เกมสยอง" และอีกเรื่องคือ "อย่าอ่านชะตาจะขาด" ถูกสร้างเป็น "ยันต์สั่งตาย" ตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง "สี่แพร่ง" ในเวลาต่อมา

เรื่องย่อ[แก้]

รวมเรื่องสั้นจิตหลุด เป็นเล่มแรกของซีรี่ย์ชุดนี้ตีพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย ส.น.พ วิบูลย์กิจ เมื่อปี พ.ศ. 2547 เป็นการรวบรวมผลงานเรื่องสั้นของ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ที่เคยลงกับทาง นิตยสาร Thai Comics เป็นระยะเวลาหลายปี ต่อมาใน ปี 2557 ได้ตีพิมพ์ใหม่กับทาง Let's Comics ในรูปแบบ Director's Cut ซึ่งได้เพิ่มเรื่องสั้นลงไปอีก 3 เรื่องที่ไม่มีในรวมเล่มชุดเดิมซึ่งได้มีรายชื่อตอนดังต่อไปนี้

  • Case Study เรื่องสั้นสี่สี ซึ่งเป็นเรื่องของคนกับปลาซึ่งกำลังอ่านใจกันอยู่
  • The Sketcher เป็นเรื่องของเด็กนักเรียนมัธยมคนหนึ่งที่กำลังวาดภาพ แล้วอยู่ดี ๆ ภาพที่เขาวาดกลับกลายเป็นจริง ก่อนจะนำไปสู่การต่อสู้กับนักวาดคนอื่น ๆ ที่กำลังวาดภาพเช่นเขา
  • The 13 Quiz Show เป็นเรื่องของเซลล์แมนคนหนึ่งมีชื่อว่า ภูชิต ซึ่งชีวิตกำลังล้มเหลว จนต่อมา ได้มีโทรศัพท์สายหนึ่งโทรเข้ามาหาเขาแล้วบอกให้เขาเล่นเกมส์เพื่อชิงเงินรางวัล 50 ล้านบาท และได้มีการนำเรื่องนี้ไปจัดสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง 13 เกมสยอง ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Thai Comics ฉบับที่ 178 (5/2546) ปี 2003 [2]
  • อย่าอ่านชะตาจะขาด เป็นเรื่องของเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกแก้แค้นจากเด็กเขมรโดยผ่านยันต์ที่มีชื่อว่า "ยันต์สั่งตาย" และได้มีการนำเรื่องนี้ไปจัดสร้างเป็นตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องสี่แพร่ง (ตอน ยันต์สั่งตาย) ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน Thai Comics ฉบับที่ 171 (10/2545) ปี 2002 [3]
  • Smoke เป็นเรื่องตลกร้ายเสียดสีของผู้ชายคนหนึ่งที่สูบบุหรี่มาตั้งแต่ตอนวัยรุ่นยันเป็นหนุ่มจนตาย ตีพิมพ์ครั้งแรก ในนิตยสาร Thai Comics ฉบับที่ 98 (8/2541) ปี 1998 [4]
  • Miracle เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง ที่ทำงานเป็นพนักงานของนิตยสารเรื่องลี้ลับ และไปยุ่งเกี่ยวกับเด็กลึกลับรายหนึ่งจนชีวิตของเขาต้องเจอกับสิ่งที่ควรพูดว่า"มหัศจรรย์" ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Thai Comics ฉบับที่ 4 ปี 2536 (1993) [5]
  • The Moon Eater เป็นเรื่องของชายหนุ่มพนักงานส่งของที่ได้ออเดอร์ไปส่งของที่บ้านหลังหนึ่ง จนเขาพบกับกลุ่มสัตว์ประหลาดปริศนาซึ่งซ่อนตัวอยู่ในคราบมนุษย์ที่หมายจับเขากินเป็นอาหาร แต่ที่พวกมันไม่รู้ก็คือชายหนุ่มเองก็มีความลับซ่อนอยู่เช่นกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Thai Comics ฉบับที่ 3 ปี 2535 (1992) [6]
  • คืนอัศจรรย์วัน 12 ขวบ เป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่งซึ่งคลั่งไคล้การเล่นเกมและใฝ่ฝันอยากเป็นแชมป์เกมส์ออนไลน์แต่ถูกทางบ้านคัดค้าน จนพบกับชายชราคนหนึ่งซึ่งบอกกับเขาว่าจะให้เครื่องคอมพิวเตอร์ครบชุดเพื่อไปเเข่งเกมแต่ต้องแลกกับอายุขัยของเขา

การตอบรับ[แก้]

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ได้อ่านจิตหลุดฉบับรวมเล่ม จากร้านหนังสือการ์ตูนให้เช่า และประทับใจกับตอน 13 Quiz Show จนนำไปสู่การซื้อสิทธ์มาสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงในชื่อ 13 เกมสยอง และดึงตัว เอกสิทธิ์มาร่วมเขียนบทภาพยนตร์[7]

กฤษฎา บุญศรี หรือ บ.ก.หนวด บรรณาธิการจาก นิตยสาร HOBBY TOYS & MODEL กล่าวถึงการ์ตูนชุดนี้ว่าเป็นการ์ตูนระดับคุณภาพ และอาจหาอ่านได้ยากพอสมควรเนื่องจากขายดี ซึ่งรวมเรื่องสั้นจิตหลุดเป็นการ์ตูนที่ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่าย แม้ไม่มีตัวหนังสือบรรยายประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง women from mars ที่เชื่อว่าสามารถนำไปดัดแปลงสู่รูปแบบโอวีเอที่สามารถสร้างความน่าสนใจอย่างมากได้อีกเรื่องหนึ่ง[8]

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นักเขียนและนักวิชาการก็ได้ยกย่องให้ผลงานรวมเล่มชุดนี้ สมกับเป็นการ์ตูนไทยระดับคุณภาพ ที่สมบูรณ์ทั้งเนื้อหาและองค์ประกอบทางศิลปะ ที่ให้ทั้งข้อคิดและความบันเทิงที่สมควรได้รับรางวัล[9]

ความสำเร็จของผลงานชุด 13 เกมสยอง ที่ดัดแปลงจากรวมเล่มชุดนี้ได้เปิดโอกาสต่อยอดให้ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัวในฐานะ นักเขียนบทภาพยนตร์,ซีรี่ย์ และกำกับผลงานหลายๆเรื่องในอีกหลายปีถัดมา[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. เพจร้านนายอินทร์
  2. นิรวาณ คุระทอง,ประวัติย่อการ์ตูนไทย ,กรุงเทพฯ Let's Comic ISBN 978-616-90128-6-3 ,หน้าที่ 161
  3. นิรวาณ คุระทอง,ประวัติย่อการ์ตูนไทย ,กรุงเทพฯ Let's Comic ISBN 978-616-90128-6-3 ,หน้าที่ 160
  4. นิรวาณ คุระทอง,ประวัติย่อการ์ตูนไทย ,กรุงเทพฯ Let's Comic ISBN 978-616-90128-6-3 ,หน้าที่ 154
  5. นิรวาณ คุระทอง,ประวัติย่อการ์ตูนไทย ,กรุงเทพฯ Let's Comic ISBN 978-616-90128-6-3 ,หน้าที่ 142
  6. นิรวาณ คุระทอง,ประวัติย่อการ์ตูนไทย ,กรุงเทพฯ Let's Comic ISBN 978-616-90128-6-3 ,หน้าที่ 142
  7. 13คำถามกับ13เกมสยอง.Pulp The Movie Magazine No.37/2006.หน้า 48-53
  8. บก.หนวด. ฮีโร่ไทยไปดวงดาว. HOBBY TOYS & MODEL. Vol. 161. August 2011. อนิเมทพริ้นท์แอนด์ดีไซน์. หน้า 101
  9. น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ,100ปีการ์ตูนไทย จากสยามคลาสสิกสู่ไทยโมเดริน์.มติชน กุมภาพันธ์ 2556.ISBN 978-02-1062-7.หน้า 134
  10. เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ : ตัวจริงผู้อยู่เบื้องหลังคุณสมอ๊อก

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]