รถไฟรางเบาสิงคโปร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถไฟฟ้ารางเบา (สิงคโปร์)
轻轨列车系统
Sistem Rel Ringan
இலகு கடவு ரயில்
ข้อมูลทั่วไป
เจ้าขององค์การขนส่งทางบก
ที่ตั้ง สิงคโปร์
ประเภทระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM)
จำนวนสาย3
จำนวนสถานี43 (ไม่เปิดใช้งาน 5 สถานี)
ผู้โดยสารต่อวัน132,000 คน (ค.ศ. 2013)[1]
การให้บริการ
เริ่มดำเนินงาน6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999
ผู้ดำเนินงานเอสบีเอส แทรนสิต
เอสเอ็มอาร์ที
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง28.8 km (17.90 mi)
แผนที่รถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ในประเทศสิงคโปร์ (สายรถไฟฟ้ารางเบา จะแสดงด้วยสีเทา)

รถไฟรางเบาสิงคโปร์ เป็นสายรถไฟฟ้ารางเบาในประเทศสิงคโปร์ ให้บริการควบคู่กับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสิงคโปร์ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1999 แบ่งเป็น 3 สายย่อย ตั้งชื่อตามย่านที่พักอาศัย ได้แก่ สายบูกิตปันจัง, สายเซงกัง และสายปุงกล โดยสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟใต้ดินได้ที่สถานีเชาชูกัง, สถานีเซงกัง และสถานีปุงกล ตามลำดับ

ระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับที่ใช้ขนส่งระหว่างอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติ รถไฟฟ้าวิ่งอัตโนมัติแบบไม่มีคนขับ ทางวิ่งเป็นทางยกระดับทั้งหมด

รถไฟรางเบาสิงคโปร์ ก่อสร้างโดยองค์การขนส่งทางบก และดำเนินการโดย 2 บริษัทหลัก ได้แก่ เอสเอ็มอาร์ที และเอสบีเอส

ประวัติ[แก้]

วัตถุประสงค์ของโครงการ[แก้]

วัตถุประสงค์ของโครงการรถไฟรางเบาสิงคโปร์นี้ เพื่อช่วยในการขนส่งผู้คนแบบไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวในบางพื้นที่ ตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ยังช่วยลดภาวะการจราจรติดขัดได้ดีอีกด้วย เนื่องจากรถไฟฟ้าใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อน จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษในตัวเมือง

การเปิดเส้นทางและส่วนต่อขยาย[แก้]

ภาพมุมไกลของสถานีเชงลิม

รถไฟฟ้าสายบูกิตปันจัง ประกอบไปด้วย 14 สถานี เปิดทำการเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 ต่อมารถไฟฟ้าสายเซงกัง ได้เปิดทำการสองช่วง ช่วงที่ 1 วงแหวนตะวันออก เปิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2003 และช่วงที่ 2 วงแหวนตะวันตก เปิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2005 (ส่วนใหญ่) และ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 (เฉพาะสถานีฟาร์มเวย์) ส่วนสถานีเชงลิม และสถานีกูปัง ได้ปิดทำการลง เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย แต่ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2013 สถานีเชงลิมก็ได้กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง[2]

ส่วนรถไฟฟ้าสายปุงกล ฝั่งวงแหวนตะวันออก เปิดทำการเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2005 วันที่เดียวกันกับที่เปิดรถไฟฟ้าสายเซงกัง ฝั่งวงแหวนตะวันตก โดยมีอยู่ 2 สถานีที่ไม่ได้เปิดให้บริการ ต่อมาในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2007 ได้เปิดใช้งานสถานีโอเอซิส เนื่องจากมีประชากรย้ายเข้ามาพักอาศัยในบริเวณนี้มากขึ้น[3] และวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2011 ได้เปิดใช้งานสถานีดาไม[4] ส่วนสถานีในฝั่งวงแหวนตะวันตกนั้น ยังไม่เปิดใช้งาน เนื่องจากยังมีประชากรในแถบนั้นไม่มากนัก จนถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2013 จึงได้เปิดใช้งานอย่างไม่เป็นทางการ โดยรถไฟฟ้าให้บริการเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนเท่านั้น[2]

วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2014 เวลา 11 นาฬิกา 15 นาที ได้เปิดใช้งานสถานีรถไฟฟ้า 3 สถานีในสายปุงกล ฝั่งวงแหวนตะวันตก ได้แก่ สถานีนิบง, สถานีซูมัง และสถานีซูเต็ก[5] และในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2015 ได้เปิดใช้งานสถานีกูปัง[6]

การปรับปรุงและพัฒนา[แก้]

ภายในปี ค.ศ. 2016 รถไฟฟ้าสายเซงกัง และสายปุงกล จะเพิ่มจำนวนจาก 16 คัน เป็น 41 คัน และจะพ่วงรถแบบ 2 คันต่อขบวน โดยรถไฟแต่ละขบวน จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากที่สุดถึง 105 คนในอนาคต นอกจากนี้ จะมีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณรถไฟใหม่อีกด้วย[7]

โครงสร้างพื้นฐาน[แก้]

ตารางสรุปสาย[แก้]

สายและสี ปีที่เปิดให้บริการ สถานีปลายทาง จำนวนสถานี ระยะทาง (กิโลเมตร) ศูนย์ซ่อมบำรุง
เอสเอ็มอาร์ที
สายบูกิตปันจัง ค.ศ. 1999 เชาชูกัง ชุมทางเท็นไมล์ 14 7.8 ศูนย์ซ่อมบำรุงชุมทางเท็นไมล์
เอสบีเอส
สายเซงกัง ค.ศ. 2003 เซงกัง (เดินรถวงกลม) 6 10.7 ศูนย์ซ่อมบำรุงเซงกัง
ค.ศ. 2005 เซงกัง (เดินรถวงกลม) 9
สายปุงกล ค.ศ. 2005 ปุงกล (เดินรถวงกลม) 8 10.3
ค.ศ. 2014 ปุงกล (เดินรถวงกลม) 8
ก – ไม่นับรวมสถานีแซมกี, สถานีเท็กลี, สถานีปุงกลพอยต์ และสถานีสมุเดรา ซึ่งไม่เปิดใช้งาน

สิ่งอำนวยความสะดวก[แก้]

ในทุก ๆ สถานีจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ดังนี้ ลิฟต์, ทางลาดสำหรับคนพิการ, ระบบนำทางแบบจอสัมผัส และห้องน้ำ นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการอีกด้วย[8]

มุมมองภายนอกของสถานีเซนจา ในสายบูกิตปันจัง
ชานชาลาของสถานีทังกัม ในฝั่งวงแหวนตะวันตกของสายเซงกัง

เส้นทางที่ให้บริการ[แก้]

สายบูกิตปันจัง[แก้]

สายบูกิตปันจัง (BPLRT) เป็นสายรถไฟฟ้ารางเบา ระยะทาง 7.8 กิโลเมตร เปิดใช้งานในปี ค.ศ. 1999

สายเซงกัง[แก้]

สายเซงกัง (SKLRT) เป็นสายรถไฟฟ้ารางเบา ระยะทาง 10.7 กิโลเมตร เปิดให้บริการส่วนแรกวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2003 สถานีรถไฟฟ้า แบ่งเป็นฝั่งวงแหวนตะวันออก 5 สถานี (คอมพาสเวล-รังกุง) และฝั่งวงแหวนตะวันตก 8 สถานี (เชงลิม-เรนจง)

สายปุงกล[แก้]

สายปุงกล (PGLRT) เป็นสายรถไฟฟ้ารางเบา ระยะทางส่วนแรก 10.3 กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี เปิดให้บริการเมื่อ 29 มกราคม ค.ศ. 2005 (ยกเว้นสถานีโอเอซิส ที่เปิดให้บริการเมื่อ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2007 และสถานีดาไม ที่เปิดให้บริการเมื่อ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2011) ต่อมาอีก 3 สถานี ได้แก่ สถานีนิบง, สถานีซูมัง และสถานีซูเต็ก ได้เปิดให้บริการเมื่อ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2014

ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า[แก้]

ศูนย์ซ่อมบำรุงเซงกัง

ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า มีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ชุมทางเท็นไมล์ ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายบูกิตปันจัง และศูนย์เซงกัง ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายเซงกังและปุงกล นอกจากนี้ยังซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าสิงคโปร์ สายเหนือ-ตะวันออก อีกด้วย

ระบบรถไฟฟ้า[แก้]

สาย ชื่อรถไฟฟ้า จำนวนคัน เริ่มให้บริการ ความเร็วสูงสุด
สายบูกิตปันจัง บอมบาร์ดิเออร์ อินโนเวีย ซี 801 19 ค.ศ. 1999 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
บอมบาร์ดิเออร์ อินโนเวีย ซี 801 เอ 13 ค.ศ. 2014 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สายเซงกัง
สายปุงกล
มิตซุบิชิ คริสตัล มูฟเวอร์ 41 ค.ศ. 2003 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถไฟฟ้าบอมบาร์ดิเออร์ ซีเอ็กซ์-100 วิ่งบนทางยกระดับ ปัจจุบันรถคันนี้ไม่ได้ใช้งานแล้ว
รถไฟฟ้าคริสตัลมูฟเวอร์ ที่สถานีปุงกล

รถไฟฟ้ารางเบาสิงคโปร์ส่วนใหญ่ ขับเคลื่อนโดยใช้ล้อยางมากกว่าล้อเหล็ก รถทุกคันวิ่งโดยใช้ระบบอัตโนมัติ ไม่มีคนขับ โดยจะถูกควบคุมจากศูนย์ซ่อมบำรุงต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นรถไฟฟ้าที่ท่าอากาศยานจางีสิงคโปร์อีกด้วย

การจำหน่ายบัตรโดยสาร[แก้]

รถไฟรางเบาสิงคโปร์ สามารถใช้ตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสิงคโปร์ได้ โดยการใช้บัตรอีแซด-ลิงก์ หรือบัตรโดยสารเที่ยวเดียวธรรมดา

ภาพมุมกว้างของบริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีเรนจง ฉากหลังเป็นที่พักอาศัยในย่านบวงกอก และหูกัง

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Singapore Land Transport: Statistics In Brief 2014" (PDF). Land Transport Authority. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-12-09. สืบค้นเมื่อ 1 November 2014.
  2. 2.0 2.1 "Cheng Lim LRT Station To Open And Sengkang West LRT to Run in Both Directions". SBS Transit. December 21, 2012.
  3. "Opening Of Oasis LRT Station". SBS Transit. June 2007. สืบค้นเมื่อ 12 October 2013.
  4. "SBS Transit Opens Woodleigh and Damai Stations". SBS Transit. 8 March 2011. สืบค้นเมื่อ 12 October 2013.
  5. "Punggol West LRT System to Commence Passenger Service and North East Line to Add More Train Trips". SBS Transit. 18 June 2014. สืบค้นเมื่อ 29 June 2014.
  6. "Kupang LRT Station to open on Saturday, 27 June 2015" (PDF). SBS Transit. 15 June 2015.
  7. "2-car System for Sengkang Punggol LRT by 2016; Improvements to Choa Chu Kang LRT Station". Land Transport Authority. 31 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-22. สืบค้นเมื่อ 12 October 2013.
  8. "FACILITIES PROVIDED FOR PEOPLE WITH DISABILITIES IN MRT/LRT STATIONS" (PDF). Building and Construction Authority (BCA). สืบค้นเมื่อ November 1, 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]