รถยนต์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถยนต์ประจำตำแหน่ง
ประธานาธิบดีสหรัฐ
ภาพรวม
บริษัทผู้ผลิตเจเนรัลมอเตอร์
เริ่มผลิตเมื่อค.ศ. 2009
รุ่นปีค.ศ. 2009
ระยะเหตุการณ์
รุ่นก่อนหน้าคาดิลแลค ดีทีเอส

รถยนต์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ (อังกฤษ: United States presidential state car) (มีชื่อเล่นว่า "เดอะบีสต์", "คาดิลแลค-วัน", "รถยนต์หมายเลขหนึ่ง" รหัสเรียกขาน "สเตจโค้ช") เป็นรถยนต์รับรองของประธานาธิบดีสหรัฐ มีชื่อเสียงอย่างมากในด้านระบบรักษาความปลอดภัย ปัจจุบันบริษัทที่ผลิตรถยนต์ คือ เจเนรัลมอเตอร์ โดยเป็นรถลีมูซีนกันกระสุนและมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นเลิศ มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย พร้อมอุปกรณ์สื่อสารครบครันสำหรับประธานาธิบดีที่ต้องการจะติดต่อสื่อสารกับใครก็ได้บนโลก

ยุคเริ่มแรก[แก้]

รถยนต์ประจำตำแหน่งอย่างเป็นทางการคันแรกของประธานาธิบดีสหรัฐ

ประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่มีโอกาสได้นั่งรถยนต์คือประธานาธิบดีวิลเลียม แมกคินลีย์ แต่เป็นรถส่วนตัว ไม่ใช่รถประจำตำแหน่ง ต่อจากนั้นในสมัยประธานาธิบดีทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ ก็ได้ใช้รถยี่ห้อสแตนด์ลีย์ รุ่นสตรีมเมอร์ แต่ก็เป็นรถของรัฐบาล ยังไม่ใช่รถประจำตำแหน่งประธานาธิบดีโดยทางการ จนกระทั่งวิลเลียม เอช. แทฟต์ ได้ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จึงได้มีการจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยเป็นรถที่ผลิตจากบริษัทไวต์มอเตอร์ และนำรถไปเก็บรักษาในโรงจอดรถของทำเนียบขาว นอกจากนี้ยังได้สั่งซื้อรถยี่ห้อเพียร์ส แอโรว์ มาอีก 2 คันสำหรับใช้ในบางโอกาส

ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามสิ้นสุดลงได้มีการสวนสนามฉลองชัยชนะ ในการสวนสนามประธานาธิบดีได้นั่งรถยนต์คาดิลแลคซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งในพิธีสวนสนามนั้น โดยรถคันนั้นเป็นรถคาดิลแลคเปิดประทุน นับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้รถคาดิลแลคเป็นรถประจำตำแหน่ง ซึ่งรถคันดังกล่าวได้รับใช้ประธานาธิบดีเรื่อยมาจนถึงสมัยประธานาธิบดีแคลวิน คูลิดจ์ อย่างไรก็ตามต่อจากประธานาธิบดีวิลสัน ประธานาธิบดีวาร์เรน จี. ฮาร์ดิงได้ใช้รถยี่ห้อแพคการ์ด รุ่นทวินซิก และประธานาธิบดีแคลวิน คูลิดจ์ ได้ใช้รถคาดิลแลค รุ่นทาวน์คาร์เป็นรถประจำตำแหน่ง

ควีนแมรี่ และ ควีนเอลิซาเบธ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2481 รถยนต์คาดิลแลค 2 คันได้ถูกส่งมอบให้รัฐบาลสหรัฐ เป็นรถเปิดประทุนซึ่งถูกเรียกว่า ควีนแมรี่ และ ควีนเอลิซาเบธ ตามชื่อเรือเดินสมุทรในสมัยนั้น รถทั้งสองคันมีความยาว 6.5 เมตร น้ำหนัก 3,447 กิโลกรัม เป็นรถที่ป้องกันกระสุนได้ มีวิทยุรับส่งพร้อม มีอาวุธยุทธภัณฑ์ เครื่องปั่นไฟภายในตัว และมีความแข็งแรงทนทานจึงได้รับใช้ประธานาธิบดีถึง 3 สมัยคือแฟรงคลิน ดี. โรเซอเวลต์, แฮร์รี เอส. ทรูแมน และดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์

ในปี พ.ศ. 2499 คาดิลแลคได้ผลิตรถประจำตำแหน่งอีกสองคันมาทดแทนรุ่นเดิม มีชื่อว่า ควีนแมรี่ 2 และ ควีนเอลิซาเบธ 2 โดยเป็นรถเปิดประทุนเช่นกัน มีขนาดเล็กกว่า แต่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและความปลอดภัย ได้รับใช้ประธานาธิบดี 3 ท่าน คือดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี และลินดอน บี. จอห์นสัน จนกระทั่งปลดระวางในปี พ.ศ. 2511

ซันไชน์ สเปเชียล[แก้]

ซันไชน์ สเปเชียล
ปัจจุบันถูกจัดแสงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เฮนรี ฟอร์ด
ภาพรวม
บริษัทผู้ผลิตลินคอล์น มอเตอร์ คอมปานี
ตัวถังและช่วงล่าง
ประเภทลีมูซีน
แพลตฟอร์มลินคอล์น เค-ซีรีส์
มิติ
ระยะฐานล้อ160 นิ้ว (4,100 มิลลิเมตร)
น้ำหนัก9,300 ปอนด์ (4,200 กิโลกรัม)

ซันไชน์ สเปเชียล (อังกฤษ: Sunshine Special) เป็นชื่อเรียกของรถรุ่นลินคอล์นที่เป็นรถประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. โรเซอเวลต์ โดยเป็นรถคันแรกที่สร้างขึ้นสำหรับประธานาธิบดีโดยเฉพาะ ใช้เครื่องยนต์ V12 ผลิตโดยบริษัทบรุนในสหรัฐอเมริกา ให้กำลัง 414 แรงม้า มีการติดไซเรนบนตัวรถเป็นครั้งแรก ติดตั้งไฟส่องแสงบนตัวรถ มีห้องโดยสารกว้างเป็นพิเศษ มีวิทยุรับส่ง มือจับสำหรับหน่วยอารักขาขณะที่รถกำลังแล่นช้า ๆ และเป็นรถที่สามารถเปิดประทุนได้ จนเป็นที่มาของชื่อเรียกรถยนต์นี้

หลังจากเกิดเหตุการณ์ถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ หน่วยอารักขาเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของประธานาธิบดีจึงมีการนำรถลินคอล์นคันนี้ไปปรับปรุง โดยมีการติดตั้งเกราะที่ประตูและหน้าต่าง และที่เก็บปืนกลมือสำหรับยามฉุกเฉิน

คาดิลแลค 341เอ[แก้]

คาดิลแลค 341เอ

ในช่วงที่มีการนำรถซันไชน์ สเปเชียลไปปรับปรุง หน่วยอารักขาได้นำรถคาดิลแลค 341เอ มาใช้ชั่วคราว ซึ่งยึดมาจากเจ้าพ่ออัล คาโปน ในคดีหนีภาษี โดยได้มีการติดตั้งเกราะกันกระสุน ล้อรถที่ซึ่งสามารถวิ่งต่อไปได้ถึงแม้จะถูกยิง กระจกหน้าต่างหนาพิเศษ มีปืนพกและปืนกลภายในรถ ทำให้น้ำหนักรถเพื่มขึ้นเป็น 9,300 ปอนด์ ซึ่งประธานาธิบดีโรเซอเวลต์ได้ใช้รถคันนี้ชั่วคราวจนกระทั่งปรับปรุงรถซันไชน์ สเปเชียลเสร็จเรียบร้อย แต่รถคันนี้ก็ยังได้ถูกใช้งานอีกครั้งในสมัยประธานาธิบดีทรูแมน อย่างไรก็ตามการเอารถที่ถูกยึดมาใช้ทำให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์จนเสียหาย ต่อมาจึงเลิกใช้ในที่สุด ปัจจุบันรถคันนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เฮนรี่ ฟอร์ดในรัฐมิชิแกน

ยุคสงครามเย็น[แก้]

ในสมัยต่อ ๆ มาได้มีความเข้มงวดในด้านระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น และการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ตลอดจนสิ้นสุดสงครามโลกแล้วยังเกิดสงครามเย็น และมีภัยคุกคามสูงจากคอมมิวนิสต์ ดังนั้นรถยนต์ของประธานาธิบดีจึงต้องมีความปลอดภัยสูงขึ้นตามไปด้วย สังเกตได้จากรถยนต์ของประธานาธิบดีในสมัยต่อ ๆ มาล้วนแต่เป็นรถยนต์กันกระสุนทั้งสิ้น

ลินคอล์น คอสโมโพลิแทนส์[แก้]

ลินคอล์น คอสโมโพลิแทนส์ ในสมัยประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์

ในปี พ.ศ. 2503 ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมนได้สั่งซื้อรถยนต์ลินคอล์น รุ่นคอสโมโพลิแทนส์ (Lincoln Cosmopolitans) มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บับเบิลท็อป โดยได้มีการขยายความยาวรถจาก 125 นิ้ว เป็น 148 นิ้ว และน้ำหนักรถได้เพิ่มขึ้นจาก 4,750 ปอนด์ เป็น 6,450 ปอนด์ โดยรถคันนี้มีการตกแต่งภายในด้วยหนังสัตว์และติดตั้งแสงไฟภายในตัวรถ หลังจากที่ประธานาธิบดีทรูแมนลงจากตำแหน่งไปแล้ว ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ได้มีการติดตั้งหลังคากระจกบริเวณส่วนท้ายของรถ ช่วยให้มีที่กันฝนยามอากาศไม่ปกติ ทำให้รถยนต์คันนี้มีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้งหลังคาและยังเป็นต้นแบบของรถยนต์ประจำจำแหน่งคันอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามรถคันนี้ได้รับใช้ประธานาธิบดีในยุคต่อ ๆ มา คือประธานาธิบดีเคนเนดีและจอห์นสัน และปลดระวางในปี พ.ศ. 2508 นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เฮนรี่ ฟอร์ด

คาดิลแลค เอลโดราโด[แก้]

คาดิลแลค เอลโดราโด

ในปี พ.ศ. 2496 ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ได้ใช้รถยนต์คาดิลแลค เอลโดราโด (Cadillac Eldorado) โดยได้ใช้ในวันเดินขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา โดยรถคันนี้เป็นรถคันแรกที่ได้มีกระจกบานหน้าขนาดยาวโค้งเต็มด้านหน้ารถ เพื่อกันลมกันฝน ซึ่งต่อมาได้เป็นมาตรฐานของรถในต่างประเทศด้วย

ลินคอล์น เอ็กซ์-100[แก้]

เอ็กซ์-100
ภาพรวม
บริษัทผู้ผลิตลินคอล์น มอเตอร์ คอมปานี
ตัวถังและช่วงล่าง
ประเภทลีมูซีน
แพลตฟอร์มลินคอล์น คอนติเนนทัล
มิติ
น้ำหนัก9,800 ปอนด์ (4,400 กิโลกรัม)
ประธานาธิบดีเคนเนดี และประธานาธิบดีราธากฤษนันแห่งอินเดีย บนรถเอ็กซ์-100

ในปี พ.ศ. 2504 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้ใช้รถรุ่นลินคอล์น คอนติเนนทัล (Lincoln Continental) โดยรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ เอ็กซ์-100 โดยเป็นรถเปิดประทุนแต่มีหลังคาพลาสติกใช้ติดตั้งยามอากาศไม่ปกติ ที่นั่งของประธานาธิบดีสามารถปรับขึ้นลงได้ด้วยระบบไฮดรอลิก นอกจากนี้ยีงมีการนำตราสัญลักษณ์ประธานาธิบดีมาติดที่บริเวณประตูรถ มีการตกแต่งภายในด้วยผ้าสักหลาด มีที่ให้ยืนด้านข้างรถสำหรับเจ้าหน้าที่ 4 นาย ในส่วนหลังยังมีที่ให้ยืนได้อีก 2 นาย มีแสงไซเรน พรมทำจากหนังสัตว์ แสงบอกเวลาประตูเปิด ธงปักด้านหน้าและมีแสงส่องที่ตัวธง ที่นั่งเพิ่มเติมสำหรับแขกพิเศษ โทรศัพท์ 2 เครื่อง ภายในตัวรถมีแสงส่องสว่าง และมีชื่อเสียงเนื่องจากมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่เบาะหลัง แต่ก็มีหลายครั้งเมื่อมีการเดินพาเหรดในเมือง หลังคาก็จะถูกถอดออกจนเป็นเหตุให้ประธานาธิบดีเคนเนดีถูกลอบสังหารในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เพราะนั่งในรถเปิดประทุนซึ่งเป็นการเปิดช่องโหว่ให้แก่มือสังหารกระทำการได้ง่าย

หลังเหตุการณ์ลอบสังหารผ่านไป ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน จึงสั่งปรับปรุงรถลินคอล์นคันนี้ใหม่ มีการติดตั้งเกราะบริเวณส่วนหลังของรถ มีการนำหลังคาพลาสติกออกและนำหลังคาเกราะมาติดเป็นหลังคาถาวรแทน มีการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ ติดตั้งระบบปรับอากาศ มีชุดอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนแกนเพลาล้อและติดบานพับประตูเพื่อให้เหมาะกับน้ำหนักรถที่เพิ่มขึ้น ติดกระจกกันกระสุนเพื่อป้องกันจุดบกพร่องที่จะเปิดช่องให้มือสังหารอีก

รถคันนี้ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในปี พ.ศ. 2510 โดยปรับปรุงระบบแอร์ให้เย็นขึ้น กระจกหลังคาแผ่นใหญ่ถูกถอดออกเปลี่ยนเป็นแผ่นที่เล็กลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ตัวเกราะให้มากขึ้น เพิ่มที่จับให้เจ้าหน้าที่บริเวณหลังคารถ และมีการติดตั้งโต๊ะทำงานที่ทำจากไฟเบอร์กลาสภายในรถ รถคันนี้ถูกใช้งานถึงปี พ.ศ. 2520 จึงปลดประจำการ และนำไปเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์เฮนรี ฟอร์ด

ลินคอร์น คอนติเนนทัล เอ็กซ์ครูซีฟ[แก้]

ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน มีรถยนต์ลินคอร์น คอนติเนนทัล เอ็กส์ครูซีฟ รุ่นปีพ.ศ. 2508 จำนวน 3 คัน โดยใช้ในตำแหน่ง 2 คัน ส่วนอีก 1 คันสำหรับรัฐมนตรีกลาโหม เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเย็น มีภัยคุกคามสูง รัฐมนตรีกลาโหมจึงต้องได้รับการอารักขาอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับประธานาธิบดี

รถยนต์คันนี้เป็นรถยนต์กันกระสุน มีวิทยุรับส่งและโทรศัพท์ภายในตัวรถ ซึ่งสามารถป้องกันการถูกส่งคลื่นรบกวนได้ อย่างไรก็ตามโทรศัพท์เครื่องเดิมได้ถูกนำออกไปเมื่อมีการนำรถมารับใช้ประธานาธิบดีและมีการปรับปรุงรถคันเดิมใหม่ มีการเปลี่ยนนำโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อผ่านสายเคเบิลมาใช้แทน มีช่องระบายอากาศได้ และมีความบันเทิงภายในตัวรถโดยมีการนำแสงไฟพิเศษมาติดตั้งภายในตัวรถ เรียกว่า วิก-แวง และยังมีการติดตั้งทีวีภายในตัวรถ ในด้านความปลอดภัยมีการติดตั้งบังโคลนกันกระแทกกับรถ มีการติดตั้งแผ่นเหล็กกันกระแทก โดยการออกแบบโดยเลอร์มัน ปีเตอร์สัน นอกจากนี้ยังมีแอร์ภายในรถ ระบบควบคุมความร้อน และกระจกที่สามารถเปิดปิดได้อัตโนมัติ ในด้านการตกแต่งได้มีการตกแต่งภายในด้วยหนังสัตว์ มีพรมที่พื้นรถ หลังคารถทำด้วยพลาสติกไวนิน มีการเปลี่ยนยางรถใหม่ มีการปรับปรุงเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ฯลฯ เมื่อปลดประจำการแล้วจึงนำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์และหอสมุดจอห์นสันในรัฐเท็กซัส

ลินคอร์น X-800[แก้]

ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันได้สั่งรถลิมูซีนรุ่นปี พ.ศ. 2512 เป็นรถยนต์ลินคอร์นรุ่นคอนติเนนทัล เรียกอีกอย่างว่า X-800 โดยรถคันนี้ได้มีการติดตั้งช่องกระจกหลังคา หรื่อซันรูฟ สำหรับเวลาที่ประธานาธิบดีจะยืนขึ้นโบกมือทักทายผู้คนเวลาเดินขบวนพาเหรด จุดเด่นคือมีแท่นที่ยืนสำหรับบอดี้การ์ด 2 คนโดยมีแขนให้จับบริเวณด้านท้ายรถด้วย ในสมัยต่อมาได้มีการพัฒนารถคันนี้ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยรถคันนี้ได้รับใช้ประธานาธิบดีสมัยต่อๆมาคือ เจอรัลด์ ฟอร์ด จิมมี คาร์เตอร์ และโรนัลด์ เรแกน ซึ่งรถคันนี้ได้ช่วยชีวิตประธานาธิบดีฟอร์ดและเรแกนจากเหตุการณ์ลอบสังหารด้วย เมื่อปลดประจำการแล้วได้นำไปตั้งในหอสมุดนิกสันในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ลินคอร์น คอนติเนนทัล[แก้]

ในปีพ.ศ. 2517 ในยุคประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ดเป็นช่วงที่บริษัทฟอร์ดเข้าร่วมกิจการรถลีมูซีน ได้มีการนำลินคอร์นคอนติเนนทัล รุ่นปีพ.ศ. 2515 โดยได้เริ่มนำมาใช้หลังจากที่ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ถูกลอบสังหารและรอดชีวิตมาได้ โดยมีการนำมาขยายให้ยาว 22 ฟุต เสริมเกราะกันกระสุนรอบคัน ติดกระจกกันกระสุนทุกบาน มีระบบติดต่อสื่อสารและรักษาความปลอดภัยอย่างดี มีระบบดับเพลิงถ้าเกิดเหตุว่าลูกกระสุนนั้นถูกบริเวณถังน้ำมัน ระบบจะฉีดโฟมทันทีเพื่อป้องกันการระเบิด กันชนบริเวณส่วนหลังของรถนั้นสามารถดึงลงเพื่อให้บอดี้การ์ดสามารถยืนบนนั้นได้และมีแท่นให้จับ ในส่วนของเครื้องยนต์นั้นใช้เครื่องยนต์ วี 8 โดยรถคันนี้ได้รับใช้ประธานาธิบดีฟอร์ด จิมมี่ คาร์เตอร์ โรนัลด์ เรแกน และบุช(ผู้พ่อ) เมื่อปลดประจำการแล้วจึงนำไปตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์เฮนรี่ ฟอร์ด

ยุคใหม่[แก้]

ในยุคนี้ได้มีการออกแบบและพัฒนาใหม่โดยเจเนรัลมอเตอร์ โดยได้มีการปฏิวัติระบบรักษาความปลอดภัยใหม่หมดเพื่อปิดช่องโหวต่างๆ โดยเพิ่มจากกันกระสุนเป็นกันระเบิด ไม่มีกระจกบนหลังคาหรื่อซันรูฟอีกต่อไป มีระบบการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย ที่สำคัญยังสามารถนำขึ้นเครื่องบินเพื่อขนส่งไปยังทั่วโลกหากประธานาธิบดีต้องการเดินทางไปเยือนประเทศไหนบนโลกใบนี้

คาดิลแลค ฟลีทวู้ด[แก้]

ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนได้รับรถยนต์คาดิลแลค รุ่นฟลีทวู้ดมาใช้ โดยเปิดตัวครั้งแรกในการเดินพาเหรดในโอกาสวันเกิดของประธานาธิบดี โดยเป็นรถคันแรกที่ถูกออกแบบและพัฒนาโดยเจเนอรัลมอเตอร์ ซึ่งการผลิตรถยนต์คันนี้อยู่ในความควบคุมของหน่วยอารักขาประธานาธิบดี มีลักษณะพิเศษคือมีที่นั่งเป็นสีน้ำเงินเข้มทั้งในส่วนคนขับและในส่วนหลัง หลังคารถหุ้มด้วยเกราะหนา 3 นิ้ว นอกจากนี้หลังคายังมีช่องกระจกสำหรับเปิดออกเพื่อโบกมือทักทายผู้คน ระยะห่างระหว่างล้อหน้ากับล้อหลังเท่ากับ 161.5 นิ้ว ซึ่งแต่เดิมยาว 144.5 นิ้ว ซึ่งเพิ่มจากเดิม 17 นิ้ว และมีน้ำหนัก 7,200 ปอนด์ ที่นั่งส่วนหลังสามารถบรรจุคนได้ 5 คน ในส่วนของเครื่องยนต์ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบ ไฮดราเมติก วี8 และมีระบบแอร์สำหรับทำความเย็น เมื่อปลดประจำการแล้วได้นำไปตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประธานาธิบดีในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ลินคอร์น ทาวน์คาร์[แก้]

ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ได้ใช้รถลินคอร์น ทาวน์คาร์ โดยรถยนต์มีความยาว 22 ฟุต และอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีและระบบรักษาความปลอดภัย เมื่อปลดประจำการแล้วได้นำไปตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ประธานาธิบดีในรัฐเท็กซัส

คาดิลแลค ฟลีทวู้ด เบิร์กแฮม[แก้]

ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้ใช้รถยนต์คาดิลแลค ฟลีทวู้ด เบิร์กแฮม โดยรถคันนี้ถูกออกแบบและพัฒนาโดยเจเนอรัลมอเตอร์ และอยู่ในการควบคุมของหน่วยอารักขาประธานาธิบดี ซึ่งรถคันนี้ยังคงเต็มไปด้วยเทคโนโลยีและความปลอดภัยเช่นเดียวกับคันที่ผ่านๆมา รถยนต์มีความยาว 270 นิ้ว ความยาวระหว่างล้อหน้าและล้อหลังยาว 167.5 นิ้ว จากเดิม 225.1 นิ้ว รถยนต์คันนี้ถูกปรับปรุงในเมืองอลิงตัน รัฐเท็กซัส ในส่วนหลังสามารถนั่งได้ 6 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นที่นั่งสำรอง 3 ที่นั่ง ระยะห่างระหว่างล้อหน้าทั้ง 2 เท่ากับ 63.3 นิ้ว ระยะห่างระหว่างล้อหลังเท่ากับ 62.2 นิ้ว ที่เป็นแบบนี้เพราะเกี่ยวกับน้ำหนักของรถ ล้อทั้ง 4 มีขนาดใหญ่กว่าปรกติและมีระบบเบรกพิเศษเพื่อหยุดรถ และใช้ระบบ 4 ล้อเพื่อการยึดเกาะถนน ในส่วนของเครื่องยนต์ใช้เครื่องยนต์วี 8 และใช้น้ำมันเบนซิน

รถยนต์คันนี้โดยได้เพิ่มสิ่งต่างๆจากรุ่นปกติ เช่น หลังคาถูกออกแบบให้สูงกว่าปรกติ และมีช่องกระจกบนหลังคาเพื่อให้ผู้คนสามารถเห็นประธานาธิบดีได้อย่างชัดเจน ที่นั่งของประธานาธิบดีทำจากหนังสัตว์ห่อหุ้มด้วยผ้าสีน้ำเงินเข้มด้านนอก ภายในตัวรถส่วนอื่นๆทำจากเนื้อไม้ทั้งในส่วนคนขับและในส่วนของประธานาธิบดี เบาะที่นั่งของประธานาธิบดีมีตราประทับติดอยู่เช่นเดียวกับที่ประตู นอกจากนี้ยังมีระบบพิเศษเพื่อบอกตำแหน่งของรถ โทรศัพท์และระบบการสื่อสารที่ทันสมัย จอมอนิเตอร์ควบคุมส่วนต่างๆภายในรถ มีการติดตั้งระบบทำความร้อนและทำความเย็นในส่วนหน้าและส่วนหลังโดยแยกการควบคุมออกจากกัน มีหน้าต่างกั้นระหว่างส่วนหน้าและส่วนหลังซึ่งสามารถปรับขึ้นลงได้โดยตัวประธานาธิบดีเอง ระบบวิทยุเอเอ็ม เอฟเอ็ม และมีลำโพงในส่วนหลัง 8 เครื่อง และส่วนหน้า 4 เครื่อง มีหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 12 โวลต์ มีความบันเทิงผ่านระบบสเตอริโอและมีแผงปรับอุณหภูมิได้ มีธงในส่วนหน้าของรถและมีแสงส่องธงในเวลากลางคืน เมื่อปลดประจำการแล้วนำไปตั้งไว้ในศูนย์คลินตันในรัฐอาร์คันซอ

อ้างอิง[แก้]

  • หนังสือองครักษ์พิทักษ์ประธานาธิบดี secret service โดย Old Soldier Never Dies