ยุพา อุดมศักดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุพา อุดมศักดิ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523
นายกรัฐมนตรีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 (95 ปี)
จังหวัดพิจิตร
คู่สมรสศ.นพ.สุจินดา อุดมศักดิ์

ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ (เกิด 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2471) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร 4 สมัย โดยเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (สส.หญิงคนแรกจากการเลือกตั้งที่ได้เป็นรัฐมนตรี)

ประวัติ[แก้]

นางยุพา อุดมศักดิ์ เกิดเมื่อวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 ที่อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากวอชิงตันมิชชั่นนารีคอลเลจ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ ระดับปริญญาโทด้านการศึกษา วิชาเอกสุขศึกษา จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิโบลตัน และระดับปริญญาเอก ด้านการศึกษา วิชาเอกสุขศึกษา วิชาโทสาธารณสุขศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลน่า ณ เมืองแชพเพลฮิลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนองค์การอนามัยโลก

นางยุพาสมรสกับศาสตราจารย์นายแพทย์สุจินดา อุดมศักดิ์ (เสียชีวิต) มีธิดา 3 คน

การทำงาน[แก้]

ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ เริ่มรับราชการด้วยการเป็นอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้จัดตั้งแผนกวิชาสุขศึกษาขึ้นครั้งแรกในคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (โดยเป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยอยามัยชนบทเบ็ดเสร็จ สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกงาน โดยแนวคิดคือ การแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนและอนามัยชุมชน จะต้องยึดประชาชนและชุมชนเป็นที่ตั้ง ผลการฝึกภาคสนาม เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญจาก USOM ได้มาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Adventure in Training โดยขออนุญาตดร.ยุพา อุดมศักดิ์ ในการนำกระบวนการฝึกงาน รวมทั้งทฤษฎีด้านการเรียนการสอนไปเป็นเนื้อหาของภาพยนตร์ โดยหลายประเทศได้นำไปใช้เป็นแนวทางด้านวิชาการในการฝึกภาคสนามของนักศึกษา ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสุขศึกษา ณ องค์การอนามัยโลก ก่อนลาออกจากชีวิตราชการใน พ.ศ. 2518 ดร.ยุพาเป็นรองคณบดี คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ตนเองมีส่วนร่วมก่อตั้งมาแต่ต้น โดยเป็นหัวหน้าภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และเป็นผู้อำนวยการโครงการประชากรศึกษาซึ่งก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้งเป็นกรรมการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล โครงการวิทยาเขตศาลายา และเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรด้านสังคมศาสตร์ให้กับนักศึกษาของทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาทุกสาขาวิชาชีพได้มีโอกาสเรียนรู้กลุ่มวิชาที่จะเสริมสร้างวิสัยทัศน์ด้านสังคมมนุษย์ โดยนับเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้น

ก่อนเข้าสู่วงการเมือง ดร.ยุพา อุดมศักดิ์เป็นข้าราชการชั้นเอก ตำแหน่งทางวิชาการคือรองศาสตราจารย์ โดยรับราชการรวมเวลาทั้งสิ้น 16 ปี

ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 ได้มีการจัดตั้งห้องสมุด 'ดร.ยุพา อุดมศักดิ์' ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ก่อตั้งภาควิชาสุขศึกษาขึ้นครั้งแรกและเป็นหัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาคนแรกของคณะฯ [1]

งานการเมือง[แก้]

ดร.ยุพา ลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2518 ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ได้รับเลือกตั้งในครั้งถัดมา ที่จังหวัดพิจิตร ใน พ.ศ. 2519 สังกัดพรรคพัฒนาจังหวัด และได้รับเลือกติดต่อกัน จนถึง พ.ศ. 2529 รวมทั้งสิ้น 4 สมัย [2]

ดร.ยุพา ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในพ.ศ. 2522 ในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์[3] กระทั่งพ้นจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523[4]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[แก้]

นางยุพา อุดมศักดิ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 4 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519 จังหวัดพิจิตร สังกัดพรรคพัฒนาจังหวัด
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2522 จังหวัดพิจิตร สังกัดพรรคกิจสังคม
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2526 จังหวัดพิจิตร สังกัดพรรคชาติไทย
  4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 จังหวัดพิจิตร สังกัดพรรคชาติไทย

ระหว่างทำงานด้านการเมือง ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ประธานคณะกรรมาธิการสังคมและวัฒนธรรม คณะกรรมการบริหารหน่วยสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิค (APPU) ประธานคณะกรรมการปีเด็กสากลแห่งชาติ ฯลฯ

ในช่วงปี 2519 หลังมีการปฏิวัติ ได้ไปเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาสตรี ให้กับองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย โดยได้ผลักดันให้เกิดแผนพัฒนาสตรี เด็ก และเยาวชน ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นครั้งแรก โดยมีความช่วยเหลือทางการเงินจากองค์การยูนิเซฟ เพื่อทำการศึกษา และสำรวจข้อมูลปัญหาสตรี เด็ก และเยาวชนในประเทศไทย

หลังยุติบทบาททางการเมืองในปี 2531 ได้ดำเนินการประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นประธานและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร (2541-ปัจจุบัน) และเป็นผู้ตั้งกองทุนการศึกษา 'คุณแม่ทองดี พัฒนรัฐ' ณ โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม (2530-ปัจจุบัน) จนกระทั่งในช่วงที่มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอย่างท่วมท้นให้เป็น สสร. ด้วยคะแนนเป็นที่ 1 ในจำนวน สสร. 99 คนของประเทศ โดยต่อมาดร.ยุพาได้รับเลือกให้เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนที่สอง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.ph.mahidol.ac.th/prph/2559/01/11_01_59/
  2. ศูนย์ข้อมูลนักการเมือง
  3. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๔ ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-09-23. สืบค้นเมื่อ 2019-10-29.
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศ รัฐมนตรีลาออก ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๗ ราย)
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๒, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๙ ข หน้า ๓, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๐