ยุทธการที่ซานโรมาโน (อุชเชลโล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการที่ซานโรมาโน
ศิลปินปาโอโล อุชเชลโล
ปีค.ศ. 1432
ประเภทจิตรกรรมสีฝุ่นบนไม้
สถานที่หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน
หอศิลป์อุฟฟีซี, ฟลอเรนซ์
พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส

ยุทธการที่ซานโรมาโน (อิตาลี: Battaglia di San Romano) เป็นจิตรกรรมสีฝุ่นบนไม้สามภาพที่เขียนโดยปาโอโล อุชเชลโล จิตรกรสมัยเรอแนซ็องส์คนสำคัญชาวอิตาลี ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติในลอนดอน, หอศิลป์อุฟฟีซีในฟลอเรนซ์ และพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในปารีส

ปาโอโล อุชเชลโลเขียนภาพ "ยุทธการที่ซานโรมาโน" ในปี ค.ศ. 1432 เป็นภาพที่บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุทธการที่ซานโรมาโน ในปี ค.ศ. 1432 เป็นภาพสามภาพแต่ละภาพยาวกว่าสามเมตร ที่ได้รับการจ้างให้เขียนโดยตระกูลบาร์โตลีนี ซาลิมเบนี เป็นภาพสำคัญที่แสดงลักษณะการวิวัฒนาการการเขียนภาพแบบทัศนมิติของยุคจิตรกรรมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลีตอนต้น และเป็นงานเขียนที่ใหญ่มากสำหรับงานจ้างของฆราวาส

ยุทธการที่ซานโรมาโนเป็นยุทธการในสงครามลอมบาร์ด ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1432 ที่ซานโรมาโนในอิตาลี เป็นการต่อสู้ระหว่างกองทัพของสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ที่นำโดยนิกโกลอ ดา โตเลนตีโน และมีเกเลตโต อัตเตนโดโล และสาธารณรัฐเซียนาที่นำโดยฟรันเชสโก ปิชชีนีโน

ภาพเขียนเป็นที่ชื่นชมกันมากในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในที่สุดก็ตกไปเป็นของตระกูลเมดีชีเป็นเวลาสามร้อยปี ในปัจจุบันอยู่ในงานสะสมของสามพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้น

หัวเรื่อง[แก้]

ภาพสามภาพจากซ้ายไปขวา:

"นิกโกลอ ดา โตเลนตีโน
ในยุทธการที่ซานโรมาโน"
อาจจะราว ค.ศ. 1438-ค.ศ. 1440
หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน[1]
"นิกโกลอ ดา โตเลนตีโน พิชิต
แบร์นาร์ดีโนเดลลาชาร์ดา"
ราว ค.ศ. 1435-ค.ศ. 1455
หอศิลป์อุฟฟีซี, ฟลอเรนซ์
"การย้อนโจมตีของ
มีเกเลตโต อัตเตนโดโล"
ราว ค.ศ. 1455
พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส

แผงของหอศิลป์อุฟฟีซีอาจจะออกแบบให้เป็นแผงกลางของบานพับภาพสามและเป็นแผงเดียวที่ลงชื่อโดยอุชเชลโล ลำดับของภาพเป็นที่เห็นพ้องกันว่าเรียงตามลำดับ: แผงลอนดอน, แผงฟลอเรนซ์ และ แผงปารีส แต่ก็มีผู้เสนอลำดับแตกต่างจากที่ว่า หรืออาจจะเป็นสามเวลา: เช้า (ลอนดอน) กลางวัน (ฟลอเรนซ์) และพลบค่ำ (ปารีส) ยุทธการที่ซานโรมาโนใช้เวลาแปดชั่วโมงจึงเสร็จ

ในแผงลอนดอน นิกโกลอ ดา โตเลนตีโน สวมหมวกแดงเป็นลายทองขนาดใหญ่ขี่ม้าขาวนำกองทหารม้าฟลอเรนซ์ ด้าหน้าของภาพมีหอกหักและร่างของทหารที่เสียงชีวิตวางในท่าที่จงใจเพื่อแสดงความเป็นทัศนมิติ ภาพสามภาพออกแบบให้แขวนสูงบนผนังสามด้านของห้อง และการวางภาพให้มีทัศนมิติก็คำนึงถึงความสูงของภาพด้วย ซึ่งเมื่อมองในระดับต่ำกว่าที่ตั้งใจไว้หรือจากภาพถ่ายก็จะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ผิดปกติในภาพ

บริเวณหลายบริเวณในภาพใช้ทองคำเปลวและเงินในการตกแต่ง ทองใช้ในการตกแต่งบังเหียนซึ่งยังคงดูใหม่ ส่วนเงินใช้ตกแต่งเสื้อเกราะซึ่งทำปฏิกิริยากับออกซิเจนที่ทำให้กลายเป็นสีเทาหรือดำ ภาพทุกภาพได้รับความเสียหายจากกาลเวลาและการซ่อมแซมสมัยต้น และบางส่วนก็หายไป[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 National Gallery Catalogues: The Fifteenth Century Italian Paintings, Volume 1, by Dillian Gordon, 2003, pp. 378-397 ISBN 1857092937

ดูเพิ่ม[แก้]