ยิปซัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ยิปซั่ม)
ยิปซัม
การจำแนก
ประเภทแร่อโลหะ
สูตรเคมีCaSO4·2H2O
คุณสมบัติ
สีสีเทา ขาวหรือสีชมพูแดง
โครงสร้างผลึกระบบโมโนคลินิก
ค่าความแข็ง1.5-2
ดรรชนีหักเหnα = 1.519 - 1.521 nβ = 1.522 - 1.523 nγ = 1.529 - 1.530
สีผงละเอียดสีขาว
ความถ่วงจำเพาะ2.31 - 2.33

ยิปซัม (อังกฤษ: Gypsum) (CaSO4·2H2O) หรือเรียกว่าเกลือจืด เป็นแร่อโลหะที่มีความเปราะมากมีสีขาว ไม่มีสีหรือสีเทา มักมีสีเหลือง แดง หรือน้ำตาล เป็นมลทินปนอยู่ มีความวาวคล้ายแก้ว มุก หรือไหม ความแข็ง 2 ความถ่วงจำเพาะ 2.7 เนื้อแร่โปร่งใสจนกระทั่งโปร่งแสง อาจเรียกชื่อต่างกันออกไปตามลักษณะของเนื้อแร่ คือ ชนิดซาตินสปาร์ (satinspar) เป็นแร่ยิปซัมลักษณะที่เป็นเนื้อเสี้ยน มีความวาวคล้ายไหม ชนิดอะลาบาสเทอร์ (alabaster) มีเนื้อเป็นมวลเม็ดอัดกันแน่น และชนิดซีลีไนต์ (selenite) ใสไม่มีสี เนื้อแร่เป็นแผ่นบางโปร่งใส เกิดจากแร่ที่ตกตะกอนในแอ่งที่มีการระเหยของน้ำสูงมากและต่อเนื่อง ทำให้น้ำส่วนที่เหลือมีความเข้มข้นสูงขึ้น ถึงจุดที่แร่กลุ่มที่เรียกว่า “อีแวพอไรต์ (evaporites) ” จะสามารถตกตะกอนออกมาตามลำดับความสามารถในการละลาย (solubility) ซึ่งโดยทั่วไปเริ่มจากพวกคาร์บอเนต (carbonates) ซัลเฟต (sulphates) และเฮไลด์ (halides) การกำเนิด แร่ยิปซัมของไทยมีเนื้อเป็นเกล็ดเล็กๆ สมานแน่น เรียกว่า “อะลาบาสเตอร์ (alabaster) ” ซึ่งมิได้เกิดจากการตกตะกอนทับถมกันในสภาพการณ์ปฐมภูมิจากการระเหยของน้ำ แต่เกิดจากการเติมน้ำ (rehydration) ให้กับช่วงบนสุดของมวลแอนไฮไดรต์ จนเกิดการเปลี่ยนแปลง ชนิดแร่ ยิปซัมในประเทศไทยมีประวัติที่ค่อนข้างซับซ้อน และการศึกษาธรณีวิทยาแหล่งแร่พบว่า เคยผ่านการเปลี่ยนแปลงชนิดแร่ไปมา ระหว่างยิปซัมกับแอนไฮไดรต์ (CaSO4) หลายครั้ง (Utha-aroon and Ratanajarurak, 1996) ก่อนจะมีสภาพเช่นในปัจจุบัน

คุณสมบัติ[แก้]

ประโยชน์ของแร่ยิปซัม[แก้]

ประโยชน์ของแร่ยิปซัม สามารถนำมาทำปูนปลาสเตอร์ ปูนซีเมนต์ (portland cement) แผ่นยิปซัมอัด (gypsum board) หรือแผ่นยิปซัมบอร์ด ชอล์ก กระดาษ และปุ๋ย ส่วนแร่ชนิดซาตินสปาร์ และอะลาบาสเตอร์ อาจนำมาใช้ในการแกะสลักหรือขัดทำเป็นเครื่องประดับได้อีกด้วย

ในตำรายาไทยเรียกยิปซัมที่ได้จากนาเกลือว่าเกลือจืด ใช้ทำแป้งผัดหน้า ที่เป็นผลึกเรียกหินฟันม้า ถ้าเป็นหินสีขาวเรียกเศวตศิลา ในตำรายาจีนเรียกเจียะกอ ใช้ทำยา[1]

แหล่งที่พบ[แก้]

ต่างประเทศ[แก้]

สามารถพบได้ในประเทศอิหร่าน เยอรมัน อังกฤษ อิตาลี ไอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา และภูฏาน

ในประเทศ[แก้]

  • บริเวณเขตติดต่อของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ กับอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีเหมืองเปิดทำการอยู่รวม 9 เหมือง
  • บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเหมืองเปิดทำการ 12 เหมือง
  • บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเหมืองเปิดทำการ 9 เหมือง นอกจากแหล่งที่มีการทำเหมืองอยู่แล้ว

ยังมีแหล่งแร่ยิปซัมที่กรมทรัพยากรธรณีเพิ่งค้นพบใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2538 ในพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งการสำรวจในปีต่อๆมา ทำให้สามารถกำหนดขอบเขตแร่ที่ชัดเจนขึ้นได้อีกระดับหนึ่ง แหล่งแร่นี้ มีลักษณะทางธรณีวิทยาและองค์ประกอบทางเคมีคล้ายคลึงกับแหล่งที่มีการทำเหมืองอยู่แล้ว นับเป็นแหล่งที่มีศักยภาพแร่สูงอีกแห่งหนึ่ง [ต้องการอ้างอิง]

รูปผลึกยิปซัม ที่พบได้ทั่วไป[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 4 เครื่องยาธาตุวัตถุ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2556. หน้า 17

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]