ยาโรสลัฟล์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ยาโรสลาฟล์)

พิกัดภูมิศาสตร์: 57°37′N 39°51′E / 57.617°N 39.850°E / 57.617; 39.850

ยาโรสลัฟล์

Ярославль
อาราม Spaso-Preobrazhensky ริมแม่น้ำโคตาโรสึล์
อาราม Spaso-Preobrazhensky ริมแม่น้ำโคตาโรสึล์
ธงของยาโรสลัฟล์
ธง
แผนที่แสดงอาณาเขตของเมืองยาโรสลัฟล์
แผนที่แสดงอาณาเขตของเมืองยาโรสลัฟล์
ประเทศ รัสเซีย
เขตการปกครองยาโรสลาฟโอบลาสต์
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีAleksandr Nechayev (รักษาการณ์)
พื้นที่
 • ทั้งหมด205.8[1] ตร.กม. (79.460 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (การสำรวจสำมะโนประชากร ค.ศ. 2010)
 • ทั้งหมด591,486 คน
เขตเวลาMSK UTC+04:00
เว็บไซต์www.city-yar.ru

ยาโรสลัฟล์ (อังกฤษ: Yaroslavl รัสเซีย: Ярославль) เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองหลักของ แคว้นยาโรสลัฟล์ ในประเทศรัสเซีย ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากกรุงมอสโกไปราว 258 กิโลเมตร โดยมีแม่น้ำวอลกาไหลผ่านกลางเมือง มีประชากรราวๆเกือบหกแสนคนและนับเป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรเยอะที่สุดในกลุ่มเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำวอลกาตอนบนก่อนจะถึงเมืองนิซนีนอฟโกรอด มีชื่อเสียงในด้านการเป็นเมืองวัฒนธรรม เมืองท่องเที่ยว และเคยเป็นเมืองท่าค้าขายทางน้ำรวมถึงเป็นฐานอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศรัสเซียในอดีต

ยาโรสลัฟล์นั้นถือเป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย ได้รับการบันทึกการก่อตั้งตั้งแต่ในสมัยของเคียฟรุส ในปี พ.ศ. 1553 (ค.ศ. 1010) และเมื่อปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) ก็ได้มีการจัดการฉลองอายุครบหนึ่งพันปีของเมือง[2]

ภูมิศาสตร์[แก้]

แม่น้ำโคตาโรสึล์ในหน้าหนาวที่จับตัวเป็นน้ำแข็งจนสามารถลงไปเดินได้

ตั้งอยู่บนบริเวณที่ราบของลุ่มแม่น้ำวอลกาตอนบนเยื้องไปทางด้านตะวันออกของเขตปกครองยาโรสลาฟในตำแหน่งที่แม่น้ำวอลกาหักเลี้ยวไปทางทิศตะวันออก โดยอยู่ห่างจากเขื่อนรีบินสก์ที่เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่รับน้ำจากแม่น้ำวอลกาและลำน้ำสาขาอื่นๆที่ตั้งอยู่ไกลไปทางทางตะวันตกเฉียงเหนือราวๆ 80 กิโลเมตร โดยจุดที่เป็นหัวใจของเมืองนั้นเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำโคตาโรสึล์ (อังกฤษ: Kotorosl รัสเซีย: Ко́торосль) กับแม่น้ำวอลกา ทำให้ตั้งแต่อดีตกาลมา ที่นี่มีความสำคัญในฐานะเมืองท่าค้าขายแห่งนึงและเป็นประตูทางเชื่อมการค้าขายทางน้ำที่สามารถเดินทางผ่านลำน้ำสาขาที่ติดต่อกับแม่น้ำวอลกาจนสามารถไปออกสู่ทะเลขาวทางทิศเหนือของรัสเซียให้แก่มอสโกได้อีกด้วย

ภูมิอากาศของยาโรสลัฟล์นั้นจะมีอุณหภูมิเฉลี่ย 21-25 องศาในหน้าร้อน แต่หากเป็นช่วงที่แดดจัดๆก็อาจขึ้นถึงกว่า 30 องศาได้ ส่วนในหน้าหนาวนั้น อุณหภูมิสามารถลดลงไปได้ถึง -20 องศาเซลเซียสหรือกระทั่ง -40 องศาในช่วงที่มีพายุหิมะหนัก และในฤดูหนาวแม่น้ำวอลกาและโคตาโรสึล์ช่วงที่ไหลผ่านเมืองมักจะจับตัวเป็นน้ำแข็ง


ประวัติศาสตร์[แก้]

ช่วงอาณาจักรรอสตอฟของเคียฟรุส[แก้]

ในบริเวณนี้นั้น เคยมีชุมชนตั้งอยู่มาก่อนโดยเป็นชาวพื้นเมืองฟินโน-อูกริค (อังกฤษ: Finno-Ugric) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับบรรพบรุษของชาวรัสเซีย จนกระทั่งการมาถึงของยาโรสลาฟผู้ปราดเปรื่อง (อังกฤษ: Yaroslav the Wise) ซึ่งเป็นเชื้อสายของราชวงศ์รูริคที่ทำการปกครองเคียฟรุสอยู่ในยุคนั้น โดยตำนานบันทึกการก่อตั้งเมืองพระองค์ได้ล่องเรือมาตามแม่น้ำโคตาโรสึล์จากต้นแม่น้ำคือทะเลสาบเนโรซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองรอสตอฟ-นา-โดนู อันเป็นดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของเคียฟรุสที่พระองค์มาปกครองอยู่ ครั้นเมื่อเรือล่องมาถึงบริเวณจุดบรรจบกับแม่น้ำวอลกา พระองค์ได้ให้ความสนใจว่าเป็นจุดที่น่าจะอำนวยความสะดวกในการค้าขายผ่านแม่น้ำวอลกา ทว่ากลุ่มคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณนี้นั้นบางครั้งก็ทำการปล้นเรือสินค้า กล่าวกันว่าในยามที่พระองค์มาถึงบริเวณปากแม่น้ำโคตาโรสึล์ ก็ได้พบเรือสินค้ากำลังถูกปล้นอยู่พอดีจีงได้ไปช่วยพ่อค้าบนเรือนั้น เป็นผลให้ชาวพื้นเมืองไม่พอใจ และได้ปล่อยหมีซึ่งตามความเชื่อในลัทธิหมอผีถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาเพื่อหมายจะทำร้าย ซึ่งพระองค์ก็ได้ทำการสังหารหมีด้วยง้าว (Halberd) จนเหล่าชาวพื้นเมืองยอมจำนน

ซุ้มจุดชมวิวบนเนินเหนือแหลมสเตรลก้า

เชื่อกันว่าบริเวณซึ่งเหตุการณ์ในตำนานการสร้างเมืองเกิดขึ้นนั้น ก็คือบริเวณแหลมซึ่งยื่นล้ำไปตรงจุดที่แม่น้ำหลักของเมืองทั้งสองสายไหลมารวมกันที่ในภาษารัสเซียเรียกกันว่า สเตรลกา หลังจากปราบหมีแล้วยาโรสลาฟผู้ปราดเปรื่องก็ได้มีดำริให้สร้างโบสถ์ไม้และป้อมปราการขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ ซึ่งชื่อของเมือง "ยาโรสลัฟล์" นั้น เป็นรูปแสดงความเป็นเจ้าของในภาษารัสเซียโบราณและแปลได้ว่า "ของ/แห่งยาโรสลาฟ"

หลังจากการก่อตั้งในปี พ.ศ. 1553 (ค.ศ. 1010) แล้ว ยาโรสลัฟล์ในช่วงแรกๆนั้นมีฐานะเป็นเมืองปราการหน้าด่านรอบนอกให้แก่รอสตอฟรวมถึงเป็นชุมชนที่มีส่วนช่วยในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ในแถบลุ่มน้ำวอลกาตอนบน

เมืองอิสระยาโรสลัฟล์[แก้]

ในราวปี พ.ศ. 1761 (ค.ศ. 1218) ผู้นำซึ่งปกครองเมืองรอสตอฟที่ถูกลดอำนาจลงเป็นเพียงเมืองศูนย์กลางทางศาสนาในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของเคียฟรุสหลังจากยูริ ดาลการูกี้ย์ได้ย้ายเมืองที่กุมอำนาจปกครองไปยังซุซดัลแทนในปี พ.ศ. 1668 (ค.ศ. 1125)[3] คือ คอนสตันตินแห่งรอสตอฟ ได้ทำการแบ่งดินแดนซึ่งอยู่ในความครอบครองของรอสตอฟให้แก่ผู้สืบเชื้อสาย และ ในครั้งนั้นเองที่ยาโรสลัฟล์ได้กลายเป็นเมืองอิสระ (Yaroslavl principality) แยกออกมาจากรอสตอฟโดยมี วเซโวลอด คอนสตันติโนวิช ผู้เป็นบุตรชายได้รับกรรมสิทธิ์ในการปกครอง

ทว่าในระยะนั้นเป็นช่วงที่เคียฟรุสเสื่อมโทรมและเหล่าดินแดนที่เคยประกอบกันขึ้นเป็นเคียฟรุสก็ต่างแตกกระจัดกระจายเป็นเขตเล็กเขตน้อย ระยะนั้นดินแดนแถบนี้จึงประสบภยันตรายจากการรุกรานของชาวมองโกล-ตาตาร์กันโดยทั่วถึง ซึ่งสำหรับยาโรสลัฟล์นั้นต้องประสบกับความสูญเสียในการรบที่สมรภูมิแม่น้ำซิท ซึ่งเจ้าผู้ปกครองเมืองในเวลานั้นถูกฝ่ายมองโกลฆ่าตายในการรบและทำให้ยาโรสลัฟล์อ่อนแอลงจนถูกมองโกลเข้าโจมตีเสียหายย่อยยับ และตลอดช่วงการพยายามฟื้นตัวก็ยังคงถูกมองโกลปล้นสะดมภ์บ่อยๆเป็นเวลาอีกกว่าร้อยปีจนกระทั่งราชวงศ์มอสโกเริ่มเข็มแข็งจนสามารถขึ้นมาแข่งขันด้านอิทธิพลในภูมิภาคนี้กับชาวมองโกลได้

ใต้การปกครองของราชวงศ์มอสโก[แก้]

หลังราชวงศ์มอสโกสามารถแยกตัวเป็นอิสระจากอำนาจมองโกลได้และเริ่มทำการรวบรวมดินแดนที่กระจัดกระจายในละแวกนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง เมืองอิสระต่างๆก็ค่อยๆถูกรวบรวมเข้าไปเป็นของมอสโก ไม่ว่าจะด้วยการถูกตียึดหรือต่อรองให้เจ้าผู้ครองเมืองนั้นยอมยกสิทธิ์การปกครองเมืองให้แก่ทางฝ่ายมอสโกโดยแลกกับทรัพย์สมบัติของทางฝ่ายมอสโก ซึ่งในปี พ.ศ. 2006 (ค.ศ. 1463) ยาโรสลัฟล์ก็ถูก"ซื้อ"เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมัสโควีในรัชสมัยของพระเจ้าอีวานมหาราช

โบสถ์สร้างด้วยศิลา (ขวา) ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในยาโรสลัฟล์

จากนั้นมายาโรสลัฟล์ก็ได้รับบทบาทเป็นเมืองท่าค้าขายติดต่อทางน้ำให้แก่อาณาจักรมัสโควี โดยเส้นทางทางเหนือนั้น สามารถเชื่อมต่อแม่น้ำวอลกากับแม่น้ำสาขาอื่นๆจนไปออกสู่ทะเลขาวที่อาร์คันเกลสค์ (Arkhangelsk) ได้ ส่วนทางด้านตะวันออกก็ไปได้ถึงทะเลแคสเปียนที่เป็นปากแม่น้ำวอลกาและจากแม่น้ำสาขาก็สามารถเดินทางไปได้ถึงเขตเทือกเขาอูรัล

ปี พ.ศ. 2044 (ค.ศ. 1501) เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมืองยาโรสลัฟล์ ทำให้สิ่งก่อสร้างต่างๆในเมืองซึ่งสร้างด้วยไม้ถูกเผาผลาญหมดสิ้น ในช่วงนี้เองจึงมีการเริ่มสร้างโบสถ์ด้วยวัดถุที่ไม่เป็นเชื้อเพลิงเช่นหินและอิฐ โดยสิ่งก่อสร้างที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเมืองก็คือโบสถ์ศิลา Transfiguration of the Saviour ภายในอาราม Spaso-Preobrazhensky สร้างขึ้นหลังจากไฟไหม้ใหญ่ครั้งนั้นระหว่างปี พ.ศ. 2049-2059 (ค.ศ. 1506-1516)

ในช่วงการปกครองรัสเซียของพระเจ้าอีวานที่ 4 ยาโรสลัฟล์ได้รับอานิสงส์การทำนุบำรุงด้านศาสนาจากพระองค์ เนื่องด้วยในบางครั้งพระองค์จะเดินทางมาแสวงบุญที่อาราม Spaso-Preobrazhensky และจะมอบสิ่งของเงินทองให้แก่อาราม และเมื่อนอฟโกรอดถูกทำลายย่อยยับด้วยน้ำมือของพระเจ้าอีวานที่ 4 เช่นกัน ยาโรสลัฟล์ก็ได้กลายเป็นที่พักพิงแห่งใหม่ของเหล่าพ่อค้าผู้มั่งมีซึ่งหลบหนีออกมาจากนอฟโกรอด

อนุสาวรีย์มินินและโพซาร์สกี้ที่หน้าจัตุรัสแดงในมอสโก ซึ่งก่อนจะเข้าไปกอบกู้มอสโกก็ได้มาปักหลักรวบรวมกำลังเพิ่มที่ยาโรสลัฟล์

ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายและการถูกแทรกแซงจากโปแลนด์และลิทัวเนีย[แก้]

ในช่วงปี พ.ศ. 2134 (ค.ศ. 1591) โอรสองค์สุดท้ายของพระเจ้าอีวานที่ 4 คือ ดมีตรี ได้สิ้นชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ผู้สืบสายราชวงศ์รูริคโดยตรงถึงกาลสิ้นสูญ จึงเป็นเหตุให้เกิดการแย่งอำนาจขึ้นในมอสโกรวมถึงมีผู้แอบอ้างเป็นดมีตรีตัวปลอมหลายรายเพื่อหวังมาอ้างสิทธิ์ในบัลลังค์ปกครองรัสเซีย[4] จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2151 (ค.ศ. 1608) ทางเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย (Polish–Lithuanian Commonwealth) ได้ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงโดยให้การสนับสนุนผู้แอบอ้างเป็นดมีตรีคนที่สองและก่อความเสียหายให้กับเมืองต่างๆในภูมิอาณาบริเวณของมอสโกและลุ่มน้ำวอลกาตอนบน

ยาโรสลัฟล์นั้นในชั้นแรกได้ให้การสวามิภักดิ์ต่อดมีตรีปลอมคนที่สอง แต่เมื่อก็ยังถูกกองกำลังของชาวโปแลนด์เข้าปล้นอยู่เรื่อยๆจึงเริ่มทำให้ยาโรสลัฟล์และเมืองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำวอลกาลุกฮือขึ้นต่อต้าน และครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2152 (ค.ศ. 1609) ทางฝั่งเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียได้ยกทัพมาเพื่อพยายามจะตียาโรสลัฟล์ให้แตกและยึดไว้ให้อยู่ใต้อำนาจให้ได้ ทว่าก็ไม่สามารถทำให้ยาโรสลัฟล์กลับมาสวามิภักดิได้แม้จะทำลายเมืองจนเกือบหมดก็ตาม

เดือนเมษายนปี พ.ศ. 2155 (ค.ศ. 1612) ได้มีกองทัพราษฎรนำโดย คุซมา มีนิน (Kuzma Minin) และ ดมีตรี ปอจาร์สกี (Dmitry Pozharsky)[5] เดินทางจากเมืองนิซนีนอฟโกรอดที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกตามแนวแม่น้ำวอลกาและมาตั้งหลักรวบรวมเสบียงและกำลังคนเพิ่มที่ยาโรสลัฟล์ และในช่วงเวลาราวๆสี่เดือนที่กองทัพราษฎรมาปักหลักอยู่ในเมืองนี้เอง ได้มีการตั้งคณะผู้ปกครองเฉพาะกาล “The Council of the Russian Land” ขึ้นมาทำการบริหารจัดการเรื่องต่างๆของดินแดนรัสเซียที่ยังไม่ขึ้นกับฝ่ายเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย จึงกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้นเองยาโรสลัฟล์ได้กลายเป็นเมืองหลวงชั่วคราวของรัสเซีย[6]เพราะในระยะเวลานั้นมอสโกก็ตกอยู่ในกำมือของผู้บุกรุกต่างชาติโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งปลายเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เมื่อรวบรวมกำลังได้ถึง 25,000 คนแล้ว กองทัพของมีนินและปอจาร์สกีจึงได้ออกเดินทางจากยาโรสลัฟล์ไปกอบกู้มอสโก จนในเดือนพฤศจิกายนนั้นเองมอสโกก็ได้เป็นอิสระจากเงื้อมมือของเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย

คริสต์ศตวรรษที่ 17-18[แก้]

Church of the Saviour in the town 1 ในโบสถ์ที่สร้างในยุคเฟื่องฟูของศาสนสถาน

หลังบ้านเมืองกลับมาสงบสุขอีกครั้งด้วยการขึ้นปกครองรัสเซียของราชวงศ์โรมานอฟ ยาโรสลัฟล์ก็กลับมาเป็นเมืองท่าหลักในการเดินเรือค้าขายขนส่งสินค้าบนฝั่งแม่น้ำวอลกาดังเดิม ในระหว่างปลายยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้น ยาโรสลัฟล์มีฐานะเป็นถึงเมืองใหญ่อันดับที่สองของรัสเซียเป็นรองเพียงมอสโกด้วยจำนวนประชากร 15,000 คน และเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งด้วยกำไรจากการเป็นเมืองท่าจนทำให้ในยุคนี้เอง เมืองเริ่มขยับขยายใหญ่ขึ้นและมีตระกูลพ่อค้าที่ร่ำรวยอาศัยอยู่ในเมืองหลายตระกูล จึงทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อจะอวดฐานะทางทรัพย์สมบัติระหว่างกลุ่มตระกูลพ่อค้าเหล่านี้ ดังนั้นในเมืองก็ได้มีการสร้างโบสถ์ขึ้นมาหลายแห่งพร้อมๆกันโดยโบสถ์แต่ละแห่งก็เป็นเหมือนตัวแทนแสดงความยิ่งใหญ่ของแต่ละตระกูล ทำให้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์แต่ละแห่งในยุคนี้จะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไปตามแต่ตระกูลผู้ให้ทุนก่อสร้างจะเห็นชอบ ตัวอย่างของโบสถ์ซึ่งสร้างในช่วงนี้และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันเช่น Church of Elijah the Prophet, Church of the Epiphany, Church of St. Michael the Archangel และ St. John the Baptist Church

ปี พ.ศ. 2201 (ค.ศ. 1658) เป็นอีกครั้งที่เกิดไฟไหม้ใหญ่ทำลายสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในตัวเมือง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนส่วนใหญ่ที่ยังคงสร้างด้วยไม้และมีประชากรเสียชีวิตไปนับพันคน ทว่าโบสถ์ส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนไปสร้างด้วยอิฐและหินตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วนั้นไม่ค่อยได้รับความเสียหายมากมาย เว้นเสียก็แต่โบสถ์ Cathedral of the Dormition ตรงบริเวณเนินเหนือแหลมสเตรลก้าที่เสียหายจนต้องสร้างใหม่ ซึ่งหลังจากไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้ สิ่งก่อสร้างต่างๆในเมืองก็แทบไม่มีการสร้างด้วยไม้อีกเลย

ช่วงการเปลี่ยนแปลงไปสู่เมืองอุตสาหกรรม[แก้]

อาคารโรงงานสิ่งทอ Krasny Perekop ริมแม่น้ำโคตาโรสึล์
Demidov Lyceum สถาบันการศึกษาขั้นสูงแห่งแรกของเมือง

ภายหลังจากซาร์ปีเตอร์มหาราชทรงย้ายเมืองหลวงแห่งรัสเซียจากมอสโกไปสู่เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ความสำคัญของยาโรสลัฟล์รวมถึงเมืองท่าการค้าตามแม่น้ำวอลกาอื่นๆก็เริ่มเสื่อมถอยลงส่งผลให้เมืองต้องปรับตัวโดยใช้ความมั่งคั่งจากการเป็นเมืองท่ามาก่อนในการพัฒนาสาธารณูปโภคในเมืองเพื่อเริ่มรองรับการเข้ามาตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ[6] โดยโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดในยุคเริ่มแรกของยาโรสลัฟล์ได้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2315 (ค.ศ. 1772) โดย Ivan Tames ได้เปิดโรงงานสิ่งทอ Krasny Perekop (รัสเซีย: Красный Перекоп) ขึ้น ณ ฝั่งแม่น้ำโคตาโรสึล์ด้านใต้ตรงข้ามกับตัวเมืองหลักของยาโรสลัฟล์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นโรงงานสิ่งทอที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของรัสเซียในช่วงเวลานั้น ชื่อของโรงงานก็ได้กลายเป็นชื่อของย่าน Krasnoperekopsky ที่เป็น 1 ใน 6 เขตย่อยของยาโรสลัฟล์อีกด้วย แม้แต่กระทั่งทุกวันนี้ โรงงานแห่งนี้ก็ยังคงดำเนินงานอยู่

ปี พ.ศ. 2293 (ค.ศ. 1750) Fyodor Volkov ผู้ซึ่งจะกลายเป็นนักแสดงละครเวทีคนสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาวงการละครเวทีของรัสเซียในภายหลัง ได้เปิดการแสดงละครต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในยาโรสลัฟล์โดยจัดการแสดงขึ้นในโกดังเก็บสินค้าของผู้เป็นพ่อเลี้ยง แม้นว่าจะไม่ใช่สถานที่จัดการแสดงที่ถูกต้องเป็นทางการ แต่นั้นก็ได้รับการยอมรับกันว่าเป็นการ"เปิดโรงละครให้แก่สาธารณะ"เป็นครั้งแรกในประเทศรัสเซีย[7] ทำให้ยาโรสลัฟล์ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่กำเนิดโรงละครแห่งแรกของรัสเซียในปีนั้นนั่นเอง

จวนผู้ว่าของจังหวัดยาโรสลัฟล์ในอดีต

จังหวัดยาโรสลัฟล์[แก้]

ครั้นปี พ.ศ. 2320 (ค.ศ. 1777) ในรัชสมัยของพระนางเจ้าแคทเธอรีนที่ 2 ด้วยความสำคัญในฐานะเมืองเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตรุดหน้าและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ยาโรสลัฟล์จึงได้รับการพิจารณาให้ได้รับอำนาจปกครองตัวเองโดยแยกออกมาเป็นจังหวัดยาโรสลัฟล์ (อังกฤษ: Yaroslavl province) และได้รับพระราชทานตราสัญลักษณ์เมืองรวมถึงได้รับการออกแบบผังเมืองใหม่ มีการก่อสร้างเพิ่มเติมสาธารณูปโภคพื้นฐานในเมืองและปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมในส่วนใจกลางเมืองเก่าให้สร้างอาคารแบบยุโรปตะวันตกในสไตล์เดียวกันหมดเพื่อความสวยงาม ทั้งยังมีการขยายสร้างสวนสาธารณะแทรกไว้กับหมู่อาคารที่ก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่อีกด้วย

ด้วยความสำคัญทางฐานะของเมืองและจำนวนประชากร ทำให้ในปี พ.ศ. 2331 (ค.ศ. 1788) ได้มีการย้ายศูนย์กลางของการปกครองมุขมณฑลออร์โธดอกซ์เขตรอสตอฟ-ยาโรสลัฟล์มาอยู่ที่นี่แทน จากที่ดั้งเดิมนั้นเคยตั้งอยู่ที่เมืองรอสตอฟ[8]

แปลนผังเมืองในปีค.ศ. 1799

ตั้งแต่ได้รับอำนาจการปกครองตัวเอง ในช่วงอีกร้อยปีต่อมานั้น ยาโรสลัฟล์ก็ได้มีการพัฒนายกระดับเมืองขึ้นมากมายไม่ว่าด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภคเพิ่มเติม การส่งเสริมทางด้านอุตสาหกรรม สร้างความเจริญให้กับเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจนอาทิเช่น

  • สร้างสะพานหลักข้ามแม่น้ำโคตาโรสึล์ใกล้ๆกับอาราม Spaso-Preobrazhensky Monastery ปี พ.ศ. 2355 (ค.ศ. 1812)
  • ทางเดินเลียบริมฝั่งแม่น้ำวอลกา สร้างเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2363 (ค.ศ. 1820)
  • จวนผู้ว่าของจังหวัดยารัสลาวัล ซึ่งทุกวันนี้ปรับเปลี่ยนไปเป็นหอศิลป์ประจำเมือง ก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2364-2366 (ค.ศ. 1821-1823)
  • ปี พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) ระบบโทรเลขก็เข้ามาถึงยาโรสลัฟล์ รวมถึงมีการสร้างเส้นทางรถไฟสายแรกไว้เดินทางติดต่อกับกรุงมอสโกด้วยในอีก 10 ปีต่อมา ปี พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) ก็มีระบบส่งน้ำ และเริ่มมีบริการรถรางขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900)

ด้วยการพัฒนาเมืองขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยาโรสลัฟล์ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสร้างสะพานสำหรับรถไฟข้ามแม่น้ำวอลกา ในปี พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913)

ความเสียหายจากการโจมตีของฝ่ายแดงเพื่อยึดเมืองคืนจากฝ่ายขาว

กบฏฝ่ายขาวในยาโรสลัฟล์[10][แก้]

แผนที่แสดงความเสียหายจากการปราบกบฏฝ่ายขาว ส่วนสีดำคือส่วนที่ถูกเพลิงไหม้เสียหายหมดสิ้น

หลังจากการปฏิวัติโค่นล้มระบอบซาร์และได้เกิดสงครามกลางเมืองในรัสเซียตามมา ในวันที่ 6 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918) กลุ่มทหารและนักเคลื่อนไหวของฝ่ายขาวที่ได้ลักลอบเข้ามาในยาโรสลัฟล์ได้ทำการจับอาวุธขึ้นยึดอำนาจในเมืองจากตัวแทนของฝ่ายแดงซึ่งกุมอำนาจการปกครองเมืองอยู่ โดยมีการสมรู้ร่วมคิดจากคณะนักบวชท้องถิ่นและกองกำลังตำรวจของเมือง ซึ่งแม้กำลังของฝ่ายขาวที่เข้ายึดอำนาจนั้นไม่ได้มีกำลังมากไปกว่าหลักร้อยกว่าคนและอาวุธก็มีเพียงปืนสั้นในชั้นต้น แต่ด้วยว่าขณะเกิดเหตุการณ์นั้น กองกำลังของฝ่ายแดงในเมืองถูกส่งไปช่วยรบในการต่อสู้กับฝ่ายขาวที่ทางภาคใต้อยู่ ทำให้ฝ่ายขาวสามารถจับตัวคนของฝ่ายแดงในเมืองแล้วส่งไปจองจำบนเรือที่ทอดสมอกลางแม่น้ำวอลกาให้ตายตามยถากรรม หากใครพยายามจะหนีจากเรือว่ายน้ำกลับขึ้นฝั่งก็จะถูกยิงโดยไม่ลังเล เมื่อทำการกำจัดคนของฝ่ายแดงไปแล้วทั้งด้วยการจองจำบนเรือกลางแม่น้ำหรือฆ่าเป็นบางคนกลุ่มฝ่ายขาวก็ได้ทำการยึดคลังอาวุธของเมือง ทว่าตลอดการยึดอำนาจนั้น ประชาชนโดยทั่วไปของยาโรสลัฟล์ก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนหรือต่อต้าน

ด้วยจำนวนกำลังคนที่ไม่มากมายนัก ทางฝ่ายขาวเองก็ไม่สามารถทำสิ่งใดให้เหล่าประชากรส่วนใหญ่ของยาโรสลัฟล์หันมาเข้ากับพวกตนได้ จึงเพียงรอให้การก่อความไม่สงบยึดอำนาจที่รีบินสก์ในอีกสองวันต่อมาประสบความสำเร็จเช่นกัน แล้วหลังจากนั้นกำลังของฝ่ายขาวที่ยึดรีบินสก์ได้จะลงมาช่วยสมทบสร้างความเข้มแข็งเพิ่มที่ยาโรสลัฟล์ด้วยว่าทางฝ่ายขาวหวังจะใช้ยาโรสลัฟล์เป็นหนึ่งในที่มั่นสั่งสมกำลังไว้สำหรับการเข้ายึดมอสโกที่เป็นที่มั่นของฝ่ายแดง

ทว่าการพยายามยึดอำนาจที่รีบินสก์นั้นไม่ประสบผลสำเร็จ รวมถึงกำลังทหารต่างชาติที่ให้การสนับสนุนฝ่ายขาวอยู่ที่อาร์คันเกลสค์ก็ไม่ส่งกำลังมาช่วยตามที่คาดหวังไว้ การยึดอำนาจจึงยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 21 กรกฎาคมเมื่อฝ่ายแดงสามารถไปรวบรวมกำลังพลจากเขตใกล้เคียงเช่น อีวาโนโว, คัสโทรมา และ ตเวียร์ มาสบทบกับกองกำลังฝ่ายแดงท้องถิ่นของยาโรสลัฟล์และทำการปิดล้อมโจมตีเมืองอย่างรุนแรงด้วยปืนใหญ่และทิ้งระเบิดจากเครื่องบินเพื่อเอาชนะกลุ่มฝ่ายขาว จนสุดท้ายฝ่ายขาวได้แตกพ่ายและกลุ่มผู้นำการยึดอำนาจได้หลบหนีจากเมืองไป ทว่าการโจมตีที่กล่าวกันว่ารุนแรงเกินกว่าเหตุนั้นได้ทำให้ประชากรของยาโรสสลาฟล์เสียชีวิตไปเป็นหลักหลายร้อยคนและสร้างความเสียหายให้กับเมืองอย่างแสนสาหัสจากเพลิงไหม้ซึ่งไม่สามารถดับลงได้เพราะสถานีสูบจ่ายน้ำของเมืองก็ถูกทำลายไปในการระดมโจมตีของฝ่ายแดง

หลังจากเหตุการณ์นี้ ตามข้อมูลระบุว่าประชากรของยาโรสลัฟล์ลดลงอย่างฮวบฮาบจากราว 120,000 ลงมาเหลือเพียงประมาณ 70,000 โดยประชากรที่หายไปส่วนใหญ่อพยพไปอยู่เขตชนบทแทนด้วยภาวะขาดแคลนอาหารในเมือง สิ่งก่อสร้างของเมืองก็เสียหายเป็นจำนวนมากไม่ว่าโบสถ์ อาคารสถานที่ราชการ โรงพยาบาล หอสมุด บ้านเรือนประชาชน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ผลที่ตามมาก็คือเศรษฐกิจของเมืองเกิดความตกต่ำต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเริ่มฟื้นตัว

ช่วงฟื้นตัวหลังกบฏและสงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]

สุสานทหารนิรนามซึ่งเสียชีวิตในโรงพยาบาลทหารในเมืองยาโรสลัฟล์ช่วงสงคราม

ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) จังหวัดยาโรสลัฟล์ได้ถูกยุบและเข้าไปรวมอยู่กับ เขตอุตสาหกรรมอิวาโนโว (Ivanovo Industrial Oblast) และเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของทางโซเวียตที่จะเร่งรัดขยายอัตราการผลิตด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการเริ่มขยายฐานอุตสาหกรรมในเมืองอย่างรวดเร็ว ได้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดย่อมขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณกระแสไฟฟ้ารองรับ ในช่วงนี้เองที่โรงงานผลิตยางสังเคราะห์ Yaroslavl Tyre Factory หนึ่งในโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังให้แก่เศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมของยาโรสลัฟล์ได้ถูกตั้งขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นการลงทุนอุตสาหกรรมด้านยางรถยนต์และยางสำหรับอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในเขตภาคกลางของรัสเซีย[11] นอกจากนั้นแล้วโรงงานอุตสาหกรรมที่ช่วยดึงเศรษฐกิจของเมืองกลับมาจากจุดวิกฤตหลังจากกบฏก็ยังมีโรงงานผลิตเครื่องยนตร์และประกอบยานพาหนะขนส่ง Avtodiesel Yaroslavl Motor Works (YaMZ) ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916)[12]

ปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) เป็นอีกครั้งซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการปกครอง และยาโรสลัฟล์ก็ได้แยกตัวจากอีวาโนโวออกมาเป็นศูนย์กลางการปกครองของเขตปกครองย่อยยาโรสลาฟโอบลาสต์ซึ่งคงอยู่มาถึงทุกวันนี้

ครั้นภัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เข้ามารุกรานถึงโซเวียตในปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ระยะนั้นยาโรสลัฟล์ได้ฟื้นกลับขึ้นมาเป็น 1 ในเขตอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งที่สุดของโซเวียตแล้วและได้เป็นฐานสำคัญแห่งหนึ่งในการผลิตชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพโซเวียตในการสู้รบ โดยเหล่าโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆในเมืองได้ระงับการผลิตสินค้าปรกติแล้วหันมาเพิ่มการผลิตสิ่งของจำเป็นต่อกองทัพทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น เครื่องยนตร์และยางรถสำหรับรถบรรทุก, รถถัง และเครื่องบินของกองทัพ เสื้อผ้าเครื่องแบบ เต็นท์ผ้าใบ ต่อเรือสำหรับกองเรือลาดตระเวณแม่น้ำวอลกา แปรรูปอาหารส่งเป็นเสบียงให้กองทัพ แม้กระทั่งผลิตชิ้นส่วนอาวุธต่างๆเช่น รถถัง ระเบิด เครื่องยิงจรวดคัตยูชา (Katyusha) และ ปืนพีพีชา-41

ด้วยความสำคัญทั้งด้านการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนุนหลังกองทัพโซเวียตและยังมีสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำวอลกาในรัศมีที่อยู่ใกล้กับมอสโกมากที่สุด ยาโรสลัฟล์จึงถูกฝ่ายนาซีเยอรมันหมายตาที่จะยึดมาให้ได้ แม้ว่าทางฝ่ายนาซีเยอรมันจะไม่สามารถเคลื่อนพลทางภาคพื้นดินฝ่าแนวป้องกันของมอสโกมาจนถึงเมืองได้ แต่ก็ได้ส่งเครื่องบินมาโจมตีทิ้งระเบิดใส่เมืองทางอากาศอยู่เรื่อยๆตลอดช่วงปี พ.ศ. 2484-2486 (ค.ศ. 1941-1943) สร้างความเสียหายให้กับเมืองหลายครั้งและครั้งหนึ่งนั้น การทิ้งระเบิดจากทางฝ่ายนาซีเยอรมันได้ทำลายโรงงานของ Yaroslavl Tyre Factory เสียหายย่อยยับ ทว่าเมื่อการโจมตีเมืองทางอากาศหยุดลงแล้วก็มีการฟื้นฟูโรงงานกลับขึ้นมาใหม่จนสามารถทำการผลิตต่อไปได้ ซึ่งในระยะของสงครามที่อุตสาหกรรมของเมืองหันไปทำการผลิตสิ่งของต่างๆเพื่อสนับสนุนกองทัพนี่เอง อุตสาหกรรมของยาโรสลัฟล์นั้นมีอัตราเติบโตของผลผลิตถึง 12.2%

ตามข้อมูลระบุว่า มีประชากรของเขตปกครองยาโรสลัฟล์โอบลาสต์ทั้งหมดราวๆ 600,000 คนถูกส่งไปรบในแนวหน้า และในจำนวนนี้ประมาณ 200,000 คนเสียชีวิตไปในการรบ

อีกด้านหนึ่งนั้น ยาโรสลัฟล์ได้กลายเป็นที่พักพิงของเด็กๆจากเลนินกราดซึ่งอพยพหนีออกจากเมืองเลนินกราดซึ่งถูกฝั่งนาซีเยอรมันปิดล้อมไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) โดยผ่านทางทะเลสาบลาโดกา ซึ่งกลายเป็นน้ำแข็งในช่วงหน้าหนาวซึ่งเรียกกันว่าปฏิบัติการ ถนนแห่งชีวิต และในยาโรสลัฟล์นี้เองก็ได้เป็นที่ตั้งของค่ายกักกันนักโทษสงครามฝั่งเยอรมันของทางโซเวียตอีกด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงก่อนขึ้นสหัสวรรษใหม่[แก้]

ภาพถ่ายจากปี ค.ศ. 1960 ขณะกำลังก่อสร้างสะพานตุลาคมข้ามแม่น้ำวอลกา

เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่สอง ยาโรสลัฟล์ได้รับบทบาทในด้านการเป็นหนึ่งในเมืองกำลังหลักที่ช่วยดึงเศรษฐกิจของโซเวียตให้กลับมามั่นคงเข้มแข็ง การพัฒนาเสริมความเจริญของเมืองก็ได้เป็นไปอย่างรวดเร็วจนแม้กระทั่งฝั่งซ้ายของแม่น้ำวอลกาซึ่งแต่ดั้งเดิมไม่เคยมีการไปพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ มีการก่อสร้างอาคารชุดขยายแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากจนในช่วงนี้เองที่เมืองมีประชากรมากกว่า 500,000 คนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งมา ในปี พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951) ได้มีการมาเปิดศูนย์การศึกษาทางด้านการทหารในยาโรสลัฟล์และปรับเปลี่ยนมาเรื่อยจนปัจจุบันนี้เป็นโรงเรียนสาขาของกองทัพอากาศรัสเซีย Military Space Academy AF Mozhaysky[13] ซึ่งสอนการใช้เรดาห์ตรวจจับอากาศยานขั้นสูงและการใช้ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน

วาเลนตีนา เตเรชโควานักบินอวกาศหญิงคนแรกที่ได้เดินทางออกไปนอกโลก

ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) โรงกลั่นน้ำมัน Novo-Yaroslavskiy refinery ได้เริ่มเปิดดำเนินงานเพิ่มความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมให้กับเมือง ถัดมาอีกไม่นานก็มีการก่อสร้างสะพานใหม่เพื่อข้ามแม่น้ำสายหลักของเมืองทั้งสองสาย คือ สะพานมอสโก (Moscow Bridge) เชื่อมต่อถนน Moscow Avenue ที่เป็นถนนเส้นหลักของเมืองฝั่งด้านใต้ข้ามแม่น้ำโคตาโรสึล์มายังฝั่งเมืองเก่า และ สะพานตุลาคม (October Bridge) เป็นเส้นทางคมนาคมหลักข้ามแม่น้ำวอลกา และในช่วงนี้เองที่ยาโรสลัฟล์ได้รับมอบหมายบทบาทการเป็นเมืองมุ่งเน้นทางการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจากการได้รับมอบหมายนโยบายนั้นก็สะท้อนในเห็นด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของโครงการอวกาศโซเวียต เมื่อวาเลนตีนา เตเรชโควา (ผู้มีพื้นเพจากเขตปกครองยาโรสลาฟโอบลาสต์ได้กลายเป็นสตรีคนแรกที่ได้ขึ้นไปสู่อวกาศกับยานวอสตอค 6 ในปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963)[14]

ปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) เมืองยาโรสลัฟล์ได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ธงแดงแห่งแรงงาน ในฐานะที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่โซเวียตในด้านวัฒนธรรม, อุตสาหกรรม และ วิทยาศาสตร์ ก่อนจะได้รับอีกเหรียญเชิดชูเกียรติในปี พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1985) คือเครื่องอิสริยาภรณ์การปฏิวัติเดือนตุลาคม ในฐานะที่ช่วยสนับสนุนให้ลัทธิคอมมิวนิสต์เติบโตอย่างมั่นคงหรือช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่โซเวียตทั้งกิจทางทหารและกิจด้านพลเรือน

หลังจากการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียตในช่วงทศตวรรษที่ 90 ยาโรสลัฟล์เริ่มได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติในด้านการเป็นเมืองที่ยังคงกลิ่นอายบริสุทธิ์ของความเป็นรัสเซียแท้ๆเอาไว้ได้และทั้งยังร่วมผ่านประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงต่างๆของชาติรัสเซียมาตลอดอายุเกือบพันปี[15] ในช่วงเดียวกันเหล่าโบสถ์ อาราม ศาสนสถานต่างๆในเมืองซึ่งในสมัยการปกครองของคอมมิวนิสต์ถูกลดความสำคัญลงจนกลายเป็นเพียงพิพิธภัณฑ์หรือโกดังที่เก็บสินค้าก็ได้รับการคืนสิทธิ์ให้ใช้เป็นศาสนสถานเพื่อการเคารพบูชาอีกครั้ง ศาสนสถานที่ทรุดโทรมหรือถูกปิดลงไปจึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นจุดดึงดูดหลักของอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวของเมืองและความศิวิไลซ์แบบตะวันตกก็เริ่มเข้ามาปรากฏให้เห็นในเมือง เช่น ร้านฟาสต์ฟู้ดของแม็คโดนัลด์ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในเมืองถึงสองสาขาด้วยกัน มีการก่อสร้างโรงแรมใหม่ๆขึ้นเพื่อรองรับความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงเริ่มมีการจัดงานเทศกาลต่างๆในเมืองเพิ่มขึ้น อาทิ งาน Jazz on the Volga ซึ่งจะจัดทุกๆสองปีโดยถือว่าเป็นงานเทศกาลดนตรีแจ๊ซที่มีอายุมากที่สุดของรัสเซีย[16]

แสตมป์พิเศษที่ระลึกอายุเมืองครบหนึ่งพันปีของยาโรสลัฟล์

ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา[แก้]

เมื่อยาโรสลัฟล์กำลังจะก้าวเข้าสู่อายุปีขึ้นหลักพัน ได้มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมืองเพื่อเป็นการพร้อมรับการฉลองวาระครบรอบหนึ่งพันปีพร้อมๆกับการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองได้รับความสนใจมากขึ้นจากการได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของรัสเซียในปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) ซึ่งทางเมืองและเขตปกครองยาโรสลัฟล์โอบลาสต์ได้รับงบประมาณจำนวนมหาศาลในการปรับปรุงเมืองเพื่อวาระนี้โดยเฉพาะ[17] ทว่าก็มีความขัดแย้งเล็กๆน้อยๆในการอนุมัติสิ่งก่อสร้างใหม่เพื่อเตรียมเฉลิมฉลองวาระครบพันปีในอีกห้าปีหลังจากการได้รับเลือกเป็นมรดกโลก ตัวอย่างเช่น การสร้างโบสถ์ Cathedral of the Dormition บนเนินเหนือแหลมสเตรลก้า ซึ่งทางคณะกรรมการของยูเนสโก้เป็นห่วงว่าด้วยความสูงของยอดโดมโบสถ์ถึง 60 เมตร จะทำให้ขัดกับความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวของย่านเมืองเก่า แต่ที่สุดก็สามารถหารือตกลงกันได้จึงไม่ถูกถอดออกจากสถานะมรดกโลก

งานสัมนา Yaroslavl Global Policy Forum ในปี ค.ศ. 2010

รายชื่อสิ่งก่อสร้างเพื่อเฉลิมฉลองวาระก่อตั้งยาโรสลัฟล์ครบหนึ่งพันปี

แสตมป์รูปสะพาน Jubilee Bridge ซึ่งสร้างรับวาระครบหนึ่งพันปีของเมือง
  • สวนสัตว์ยาโรสลัฟล์ ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำวอลกา
  • สะพานข้ามแม่น้ำวอลกาแห่งที่สอง Jubilee Bridge ตั้งอยู่เลยสะพาน October Bridge ห่างไปทางเหนือเชื่อมต่อกับถนนเลี่ยงเมืองซึ่งก่อสร้างใหม่เช่นกัน
  • พิพิธภัณฑ์ท้องฟ้าจำลอง ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ วาเลนตีน่า เทเรชโคว่า
  • โบสถ์ใหญ่ที่สุดของเมือง Cathedral of the Dormition
  • สวนสาธารณะหนึ่งพันปี
  • เปิดคณะละครสัตว์ประจำเมือง
  • ปรับปรุ่งสวนสาธารณะบนแหลมสเตรลก้า มีการเพิ่มน้ำพุแสดงแสงสีประกอบดนตรีและเสาอนุสรณ์อุทิศแก่ยาโรสลัฟล์ผู้ปราดเปรื่องและบุคคลสำคัญอื่นๆในประวัติศาสตร์
  • ปรับปรุงทัศนียภาพรอบๆเมือง
ภาพการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกฤดูหนาวในเมืองยาโรสลัฟล์

และก่อนหน้านั้น ทางรัฐบาลรัสเซียนำโดยประธานาธิบดีในขณะนั้นคือดมิทรี เมดเวเดฟก็ได้ดำเนินการเพิ่มโอกาสให้ยาโรสลัฟล์เป็นที่รู้จักแก่ต่างชาติเพิ่มขึ้น ด้วยการจัดงานสัมนาระดับนานาชาติ Yaroslavl Global Policy Forum ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึง 2554 (ค.ศ. 2009 จนถึง 2011) ในที่สุดครั้นเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) ยาโรสลัฟล์ก็ได้จัดงานการเฉลิมฉลองครบอายุหนึ่งพันปีอย่างยิ่งใหญ่

วันที่ 7 กันยายน ปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) เกิดเหตุเครื่องบินตกที่สนามบินประจำเมือง ซึ่งเป็นเครื่องบินที่จะพานักกีฬาและโค้ชทีมฮอกกี้ประจำเมืองไปแข่งขัน โดยเหตุการณ์เกิดในระหว่างที่ยาโรสลัฟล์เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมนา Global Policy Forum พอดี ทำให้ประธานาธิบดีเมดเวเดฟซึ่งมาเป็นประธานของงานรุดมาดูความคืบหน้าด้วยตัวเองในวันรุ่งขึ้น แล้วสั่งการให้อุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ของรัสเซียต้องปรับปรุงด้านความปลอดภัยอย่างเร่งด่วนทันที[18] โดยหากสายการบินขนาดกลางและเล็กแห่งใดไม่สามารถขยับตัวเองขึ้นมาให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ก็จะให้ระงับกิจการไป และหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น มาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมการบินของรัสเซียก็เริ่มจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นจนในปีหลังๆจำนวนอุบัติเหตุก็มีลดลงกว่าแต่ก่อน

วันที่ 19 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) คบเพลิงโอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองโซชีในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดไปก็ได้เดินทางมาถึงยาโรสลัฟล์จากคัสโทรม่า ก่อนจะส่งต่อไปที่เมืองโวลอกดาในวันรุ่งขึ้น โดยในจำนวนบุคคลที่ได้รับเกียรติเป็นผู้วิ่งคบเพลิงในเมืองก็ร่วมถึง วาเลนตีน่า เตเรชโคว่า ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งส.ส.สภาดูม่าของเขตยาโรสลาฟโอบลาสต์ และ Andrey Kovalenko อดีตนักกีฬาฮอกกี้ทีมชาติรัสเซียและปัจจุบันเป็นประธานสหภาพนักกีฬาฮอกกี้ของลีกฮอกกี้ KHL[1]

ตราเมืองดั้งเดิมของยาโรสลัฟล์ที่ได้รับมาในปี ค.ศ. 1778
ตราเมืองที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ตราเมือง[แก้]

ตราเมืองและธงประจำเมืองยาโรสลัฟล์นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานการก่อตั้งเมืองวีรกรรมการสังหารหมีดุร้ายของยาโรสลาฟผู้ปราดเปรื่องเป็นหลัก ในปี พ.ศ. 2321 (ค.ศ. 1778) ตราเมืองแบบแรกที่ได้รับมาพร้อมๆกับฐานะการปกครองตัวเองของจังหวัดยาโรสลัฟล์ เป็นรูปหมีที่ยืนด้วยสองขาหลังถือขวานด้ามยาวสีทองพาดบ่าบนพื้นหลังสีเทาเงินรูปทรงโล่

ส่วนตราเมืองที่ใช้ในปัจจุบันนั้น ได้รับการออกแบบใหม่ในปี พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) โดยมีการเพิ่มสัญลักษณ์ Cap of Monomakh ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ามหามงกุฏของอาณาจักรรัสเซียโบราณซ้อนไว้ที่ด้านบนของตัวกรอบโล่สีเงิน แสดงถึงความเป็นเมืองโบราณมีบทบาทและอำนาจในดินแดนรัสเซียมาช้านาน

โดยทั่วไปแล้ว สามารถพบเห็นการตกแต่งส่วนต่างๆของเมืองที่ใช้ตราเมืองเป็นส่วนประกอบได้ทั้งเป็นลายประดับตามรั้ว ม้านั่งสาธารณะ ไฟถนน หรือกระทั่งเป็นการตัดแต่งพุ่มไม้ออกมาเป็นรูปหมีแล้วใส่ขวานจำลองประกอบ โดยเฉพาะที่สวนสาธารณะบนแหลมสเตรลก้า จะมีแปลงดอกไม้ใหญ่ที่จัดตกแต่งไว้เป็นรูปตราเมือง แล้วใต้ตราเมืองนั้นจะมีเลขอายุของเมืองกำกับอยู่ซึ่งจะเปลี่ยนทุกๆปีเมื่อถึงวันคล้ายวันก่อตั้งเมืองในทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม[19]

สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]

ยาโรสลัฟล์เป็นเมืองเด่นอันดับต้นๆเมืองหนึ่งของเส้นทางท่องเที่ยวซึ่งรู้จักกันในนาม "โกลเด้น ริง" (Golden Ring)[19] อันประกอบไปด้วยเมืองโบราณที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์ชาติรัสเซียมายาวนาน เช่น วลาดิเมียร์ ซุซดัล รอสตอฟ เปเรสลาฟล์ โดยจุดเด่นของยาโรสลัฟล์นั้นอยู่ที่มีโบสถ์ของนิกายออร์โธดอกซ์ที่สร้างในยุคคริสต์ศตรรษที่ 17-18 ผสมผสานแทรกอยู่กับสถาปัตยกรรมแบบยุโรปตะวันตกที่สร้างตามแปลนเมืองที่ได้รับจากมาในสมัยของ พระนางเจ้าแคทเธอรีนที่ 2 ซึ่งความโดดเด่นตรงนี้นั่นเองซึ่งทำให้ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศรับเขตเมืองเก่าของยาโรสลัฟล์เข้าเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของประเทศรัสเซียในปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005)[20]

โบสถ์และศาสนสถาน[แก้]


  • Church of Elijah the Prophet - ตั้งอยู่ที่จัตุรัส Sovietskaya ไม่ห่างริมฝั่งแม่น้ำวอลกามากนัก เป็น 1 ในโบสถ์ซึ่งได้รับการก่อสร้างในยุคที่โบสถ์ในเมืองสร้างขึ้นมาจากตระกูลพ่อค้าร่ำรวย ได้รับการยกย่องกันว่าเป็นโบสถ์ที่มีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง โดยเฉพาะภาพวาดเฟรสโก้ภายในซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทุกตารางนิ้วของผนังโบสถ์ โดยเป็นทั้งเรื่องในพระคัมภีร์และภาพวาดเล่าถึงวิถิชีวิตผู้คนทั่วไปในสมัยคริสตศวรรษที่ 17 ซึ่งได้จิตรกรชั้นเอกจากทั้งของเมืองคัสโทรมาซึ่งอยู่ห่างไปตามแม่น้ำวอลกาทางตะวันออกและศิลปินท้องถิ่นมือดีของยาโรสลัฟล์จำนวน 15 คน มาร่วมช่วยกันวาดด้วยระยะเวลาราว 3 เดือน เพื่อเป็นการรักษาสภาพของจิตรกรรมฝาผนังภายใน โบสถ์จะไม่เปิดให้เข้าชมในช่วงเดือนตุลาคมถึงเมษายน[21]


  • St. John the Baptist Church - โบสถ์ที่สร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีจุดเด่นที่ยอดโดมหัวหอมจำนวนรวมกันถึง 15 โดมและก่อสร้างด้วยอิฐสีแดง ตั้งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโคตาโรสึล์ตรงข้ามกับตัวเมืองหลักของยาโรสลัฟล์ ถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของเมืองและได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองที่พิมพ์ลงในธนบัตร 1000 รูเบิลของรัสเซีย เปิดให้เข้าชมได้ในช่วงเวลา 10 โมงถึง 5 โมงเย็น[22]


  • อาราม Spaso-Preobrazhensky (อังกฤษ: Spaso-Preobrazhensky Monastery) - เป็นศาสนสถานหลักของยาโรสลัฟล์ มีประวัติการมีอยู่ตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยเริ่มแรกเป็นสถานที่ให้การศึกษาด้านศาสนาขั้นสูง ทว่าสิ่งก่อสร้างดั้งเดิมนั้นถูกทำลายหมดสิ้นเมื่อครั้นไฟไหม้ใหญ่ในปี พ.ศ. 2044 (ค.ศ. 1501) สิ่งก่อสร้างของอารามที่เห็นในปัจจุบันนี้นั้นสร้างขึ้นมาใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่อมาในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย (Time of the troubles) ที่นี่นั้นก็ได้เป็นที่ปักหลักของกองทัพราษฎรนำโดย คุซมา มินิน และ ดิมิทรี โพซาร์สกี้ ซึ่งจะนำกองทัพนี้ไปต่อสู้ขับไล่ชาวโปลและลิทัวเนียซึ่งยึดครองมอสโกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2153 (ค.ศ. 1610) นอกจากมีโบสถ์ศิลาซึ่งถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองซึ่งยังคงอยู่ถึงปัจจุบันและหอระฆังสูงเท่าอาคาร 6 ชั้นที่มีจุดเด่นด้วยการประดับลูกตุ้มหนามสีทองที่ยอดแล้ว ในอาณาบริเวณของอารามนี้ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์อีก 2-3 แห่งซึ่งรวบรวมอาวุธและเกราะที่ใช้ในการต่อสู้สมัยโบราณ, พิพิธภัณฑ์รวบรวมไอคอน (อังกฤษ: icon) หรือรูปเคารพทางศาสนาของนิกายออร์โธดอกซ์ และพิพิธภันฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ[21]


  • Cathedral of the Dormition - เป็นโบสถ์ใหญ่ที่สุดของยาโรสลัฟล์ตั้งอยู่บนจุดเนินเหนือแหลมสเตรลก้าที่แม่น้ำวอลกาและแม่น้าโคตาโรสึล์บรรจบกัน โบสถ์ที่เห็นปัจจุบันนี้สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) ในวาระฉลองครบหนึ่งพันปีของเมือง โดยก่อนหน้านั้น ณ ที่ตั้งจุดนี้ก็เคยมีโบสถ์ดั้งเดิมในชื่อเดียวกันตั้งอยู่มาก่อน หากแต่ตอนที่เมืองถูกโจมตีช่วงปราบกบฏฝ่ายขาวนั้นได้รับความเสียหายมาก จนในที่สุดช่วงภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ตัวโบสถ์เก่าก็ถูกทุบทำลายไปในช่วงทศวรรษที่ 1930[21]


สถานที่น่าสนใจอื่นๆ[แก้]


เศรษฐกิจ[แก้]

Yaroslavl Tyre Factory โรงงานผลิตยางรถยนต์สังเคราะห์ในเมืองยาโรสลัฟล์

ด้านอุตสาหกรรมเป็นที่มาของรายได้หลักของเมือง ด้วยยาโรสลัฟล์นั้นมีรากฐานทางอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งมาตลอดสามร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งอุตสาหกรรมใหญ่ๆของเมืองนั้นประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมวิศวกรรมทางเครื่องจักรกล โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมด้านการผลิตยางรถ แปรรูปอาหาร เสื้อผ้าและสิ่งทอ และในช่วงไม่กี่ปีหลังที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเปิดกิจการ[24] ซึ่งเท่าที่ผ่านมาผู้ลงทุนใหญ่ๆได้แก่ โรงงานผลิตเครื่องจักรกลด้านงานก่อสร้างของ Komatsu[25] และ โรงงานผลิตยาของบริษัท Takeda จากญี่ปุ่น[26]

โรงกลั่นน้ำมันของยาโรสลัฟล์ Novo-Yaroslavskiy refinery นั้นตั้งขึ้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันอยู่ในการบริหารของบริษัทน้ำมัน Slavneft นับจากปี พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) เป็นต้นมา โดยโรงกลั่นน้ำมันนี้ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาครัสเซียเหนือด้านฝั่งยุโรป มีกำลังการผลิตประมาณ 15 ล้านตันต่อปี[27][28]

การเดินทางคมนาคม[แก้]

สถานีรถไฟหลักของเมือง Yaroslavl Glavny

การเดินทางมายังยาโรสลัฟล์นั้น นับว่ายังค่อนข้างสะดวกถ้าเทียบกับหลายๆเมืองในรัสเซียที่ไม่ใช่เมืองใหญ่เจริญมากๆอย่างมอสโก หรือ เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เพราะด้วยที่เมืองเป็นชุมทางของการคมนาคมแทบทุกประเภท จึงมีทางเลือกหลากหลายในการเดินทางทว่าก็ยังค่อนข้างจะใช้เวลามากพอสมควร

  • ทางถนน - ทางรถยนต์ใช้ทางหลวงสายเหนือ M-8 (มอสโก-ยาโรสลัฟล์-โวลอกดา-อาร์คันเกลสค์) ซึ่งตั้งต้นจากกรุงมอสโก และ มีรถโดยสารเดินทางจากกรุงมอสโกมายังยาโรสลัฟล์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-7 ชั่วโมง[22] โดยท่ารถโดยสารปลายทางเมื่อมาถึงยาโรสลัฟล์จะอยู่ที่สถานีรถไฟ Moskovsky ซึ่งเป็นสถานีรถไฟอีกแห่งของเมืองก่อนจะข้ามฝั่งแม่น้ำโคตาโรสึล์ไปถึงสถานีรถไฟหลัก[29]
  • ทางรถไฟ - สามารถเดินทางมาจากกรุงมอสโกได้จากสถานีรถไฟยาโรสลาฟสกี้ (Yaroslavsky) ซึ่งเป็นสถานีตั้งต้นของทางรถไฟสายเหนือที่สามารถไปยังสายทรานส์ไซบีเรียได้ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมงจึงจะมาถึงยาโรสลัฟล์

โดยสถานีรถไฟหลักของเมืองคือ Yaroslavl Glavny ตั้งอยู่ฝั่งเดียวกับตัวเมืองเก่าของยาโรสลัฟล์ข้ามฝั่งแม่น้ำโคตาโรสึล์ไป

ท่าเทียบเรือนักท่องเที่ยวริมแม่น้ำวอลกา
  • ทางเครื่องบิน - สนามบินของยาโรสลัฟล์คือ สนามบินทูโนชน่า (อังกฤษ: Tunoshna Airport รัสเซีย: Туношна) ตั้งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จากใจกลางเมืองราวๆ 18 กิโลเมตร เป็นสนามบินขนาดเล็กที่มักใช้ในการขนส่งสินค้ามากกว่ารองรับเครื่องบินโดยสารจึงไม่ค่อยมีเที่ยวบินโดยสารให้บริการมากนัก โดยเฉลี่ยจะมีเพียงวันละ 1-2 เที่ยวบินจากสนามบิน Domodedovo ในกรุงมอสโกหรือบางครั้งมีบริการเที่ยวบินมาจากเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ซึ่งแต่ละช่วงนั้นไม่แน่นอนว่าจะมีสายการบินใดให้บริการเที่ยวบินมายังยาโรสลัฟล์หรือไม่ ควรเช็คกับทางสายการบินหรือเว็บไซต์ของสนามบิน[30] ปรกติแล้วหากมาด้วยเที่ยวบินจากมอสโก จะใช้เวลาเพียงประมาณไม่ถึงชั่วโมงในการเดินทาง
  • ทางน้ำ - ปัจจุบันนี้การเดินทางมายังยาโรสลัฟล์โดยทางเรือเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยมักมีเรือล่องแม่น้ำให้บริการนักท่องเที่ยวจากคลองมอสโกมายังต้นแม่น้ำวอลกาแล้วล่องไปจนถึงปลายแม่น้ำซึ่งจะผ่านเมืองหลายๆเมืองเช่น ยาโรสลัฟล์ นิซนีนอฟโกรอด คาซัน ฯลฯ[31] แต่การเดินทางด้วยเรือมักใช้เวลานาน จึงเหมาะจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการทัวร์ชมวิวแม่น้ำและแวะตามเมืองริมแม่น้ำมากกว่าเป็นตัวเลือกการเดินทางให้ถึงเมืองยาโรสลัฟล์เพียงอย่างเดียวโดยใช้ระยะเวลาให้น้อยที่สุด
โทรล์เลย์บัสในเมืองยาโรสลัฟล์


ระบบขนส่งมวลชนในเมือง[แก้]

ภายในเมืองค่อนข้างจะมีระบบขนส่งมวลชนที่หลากหลาย ทั้งรถเมล์โดยสาร โทรย์เลย์บัส รถราง มินิบัส/รถตู้ และแท็กซี่

ในจำนวนนี้ ตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือรถเมล์โดยสารธรรมดา กับ มินิบัส/รถตู้ ส่วนระบบเดินรถรางไฟฟ้าของยาโรสลัฟล์เป็นหนึ่งในระบบรถรางที่เก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย แต่ในช่วงปีหลังๆได้มีการยกเลิกเส้นทางรถรางบางสายแล้วให้บริการรถเมล์โดยสารทับเส้นทางนั้นแทน เช่น ในเขตเมืองเก่าซึ่งได้มีการยกเลิกเส้นทางรถรางที่ผ่านบริเวณนั้นและเคลื่อนย้ายระบบรถรางออกโดยสิ้นเชิงหลังจากได้รับเลือกเป็นมรดกโลก

กีฬา[แก้]

ทีมฮอกกี้ประจำเมือง โลโกโมทีฟ ยาโรสลัฟล์

ยาโรสลัฟล์นั้นเป็นที่รู้จักในรัสเซียด้วยเป็นถิ่นกำเนิดของทีมฮอกกี้ Hockey Club Lokomotiv (รัสเซีย: ХК Локомотив) หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายภายนอกรัสเซียในชื่อ โลโกโมทีฟ ยาโรสลัฟล์ (อังกฤษ: Lokomotiv Yaroslavl) ซึ่งเล่นอยู่ในลีกฮอกกี้สูงสุดของทวีปยุโรปคือ ลีกKHL (Kontinental Hockey League) โดยเคยได้แชมป์ลีกฮอกกี้ของรัสเซียในฤดูกาล 1996-1997, 2001-2002 และ 2002-2003 ทว่าช่วงเริ่มต้นฤดูกาล 2011-2012 ในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) ทีมได้ประสบกับหายนะอย่างใหญ่หลวง เมื่อเครื่องบินเช่าเหมาลำที่กำลังจะพาทีมไปแข่งนัดเปิดฤดูกาลที่เมืองมินสค์ ประเทศเบลารุส ได้ประสบเหตุตกใกล้กับแม่น้ำวอลกาไม่ห่างจากสนามบินทูโนชน่าขณะพยายามจะทำการขึ้นบิน เป็นเหตุให้ผู้เล่นและสตาฟฟ์โค้ชที่อยู่บนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด 37 คน โดยมีบุคลากรของทีมเพียงสองคนเท่านั้นที่รอดชีวิตคือ Maxim Zyuzyakin ซึ่งเป็นผู้เล่นที่ไม่ได้เดินทางไปมินสค์ด้วยเนื่องจากต้องการให้พักตัวไว้สำหรับการแข่งขันเกมต่อไป[32] และ Jorma Valtonen ซึ่งเป็นโค้ชผู้รักษาประตูที่ไม่ได้มีกำหนดเดินทางไปพร้อมกับทีม[33]

เหตุการณ์นั้นทำให้ชาวเมืองตกอยู่ในภาวะโศกเศร้าเสียใจอย่างมาก[34] ทางลีก KHL ได้ประกาศให้วันที่ 7 กันยายนของทุกปีนับแต่เกิดเหตุการณ์เป็นวันที่ระลึกไว้อาลัยและงดไม่ให้มีโปรแกรมการแข่งขันในวันที่ 7 เพื่อเป็นอนุสรณ์[35][36] สำหรับทางทีมเอง หลังจากเกิดเหตุการณ์ก็ได้ระงับการเข้าร่วมแข่งขันในลีก KHL ของฤดูกาลนั้นไปถึงแม้ทางลีกจะอนุญาตการดราฟท์ฉุกเฉิน (disaster draft) ให้แก่ทีมเพื่อให้มีโอกาสได้เข้าร่วมแข่งขันในฤดูกาลนั้นต่อไป ทว่าทางทีมได้ตกลงใจที่จะขอดรอปลงไปเล่นในลีกที่ต่ำกว่าโดยใช้ผู้เล่นจากทีมเยาวชนของสโมสรเป็นหลักเพื่อค่อยๆสร้างทีมขึ้นมาใหม่ และในฤดูกาล 2012-2013 โลโกโมทีฟก็ได้กลับขึ้นมาเล่นในลีก KHL อีกครั้ง

ปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) ในวาระครบรอบสองปี ที่สนามเหย้าของโลโกโมทีฟคือ อารีนา-2000 (ARENA-2000) ได้มีการเปิดอนุสาวรีย์รำลึกถึงบุคลากรของทีมทั้ง 37 คนที่จบชีวิตไปในเหตุครั้งนั้น[37] และเหตุการณ์นี้ยังถูกนำไปสร้างเป็นตอนหนึ่งของสารคดี Air Crash Investigation ของช่อง National Geographic อีกด้วยภายใต้ชื่อตอนว่า Lokomotiv Hockey Team Disaster


ทีมกีฬาอื่นๆของเมือง[แก้]

หินจารึกรายชื่อเมืองพี่น้องของยาโรสลัฟล์และระยะทาง

รายชื่อเมืองพี่น้องของยาโรสลัฟล์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Day 13:Yaroslavl". Sochi Olympic Torch Relay website.
  2. "Yaroslavl: A cultural centre in Russia celebrates 1000 years of history". The Telegraph.
  3. "Prominent Russians: Yury Dolgoruky". RT Russiapedia.
  4. "The Time of Trouble - As Seen by Dutch Merchant Isaak Abrahamsz Massa". abcgallery.com.
  5. "Prominent Russians: Kuzma Minin and Count Dmitry Pozharsky". RT Russiapedia.
  6. 6.0 6.1 "Official portal of Yaroslavl - The history of Yaroslavl". city-yaroslavl.ru. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-29. สืบค้นเมื่อ 2014-01-26.
  7. "Fyodor Volkov - father of Russian theatre". The Voice of Russia. 24 May 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-27. สืบค้นเมื่อ 2013-11-03.
  8. "History of Yaroslavl metropolis". yareparhia.ru. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-25. สืบค้นเมื่อ 2013-11-04.
  9. "P.G. Demidov Yaroslavl State University". Demidov Yaroslavl State University website.
  10. "Hiroshima in Yaroslavl (Red Terror in Russia)". annalex's blog on Free Republic. 29 July 2013.
  11. "General info of Yaroslavl Tyre Plant". Yaroslavl Tyre Plant website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2013-12-09.
  12. "Avtodiesel Yaroslavl Motor Works (YaMZ)". GAZ Group website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-22. สืบค้นเมื่อ 2013-12-09.
  13. "Branch of Military Space Academy AF Mozhaysky (Yaroslavl)". adm.yar.ru (ภาษารัสเซีย).[ลิงก์เสีย]
  14. "Valentina Tereshkova: First Woman in Space". Space.com.
  15. "Yaroslavl', Russia: Where Russian Tradition Meets European Sensibility". voices.yahoo.com.[ลิงก์เสีย]
  16. "In Yaroslavl starts International Festival "Jazz on the Volga"". music-gazeta.com/. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-28. สืบค้นเมื่อ 2013-12-29.
  17. "The 1000-year Anniversary Celebration in Yaroslavl in 2010". Yaroslavl Oblast official website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-09. สืบค้นเมื่อ 2013-12-29.
  18. "Medvedev Demands Aviation Overhaul as Hockey Team Crash Kills 43". Bloomberg businessweek.
  19. 19.0 19.1 "Calendar of Events" (ภาษารัสเซีย). Calend.ru website.
  20. "Historical Centre of the City of Yaroslavl". UNESCO website.
  21. 21.0 21.1 21.2 "Essential Yaroslavl". In your pocket website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-27. สืบค้นเมื่อ 2013-12-25.
  22. 22.0 22.1 "Visit russian homeland of Murakami´s wild sheep". Russian Beyond the Headline. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-19. สืบค้นเมื่อ 2013-12-25.
  23. "The Yaroslavl Museum of Russian Art". Yaroslavl Oblast official website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-16. สืบค้นเมื่อ 2014-01-26.
  24. "Investment". city-yaroslavl.ru/. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-10. สืบค้นเมื่อ 2014-01-26.
  25. "In Yaroslavl opened a demonstration center of "Komatsu"". Yaroslavl region.
  26. "In Yaroslavl opened a new pharmaceutical production". Yaroslavl region.
  27. "OAO SLAVNEFT-YAROSLAVNEFTEORGSINTEZ". SLAVNEFT official website.
  28. "About the company". Yaroslavl refinery official website.
  29. "Yaroslavl: getting to and from Yaroslavl by train or by bus, schedules, timetable, prices. Getting around Yaroslavl". Way to Russia.
  30. "Tunoshna Airport, Yaroslavl". Yaroslavl Tunoshna Airport official website (ภาษารัสเซีย).
  31. "Long vacation voyages: Volga, Kama and Don cruises". russian-river-cruises.com.
  32. "Life must go on in Yaroslavl". International Ice Hockey Federation website. 8 September 2011.
  33. "Feschuk: Last-minute decision to stay spared coach's life". thestar.com. 8 September 2011.
  34. "RT's 10 that shaped 2011: Lokomotiv Plane Crash Tragedy". RT official youtube account. 23 December 2011.
  35. "Statement about September 7th". KHL official twitter account. 7 September 2013.
  36. "Day of Remembrance in honor of Lokomotiv". KHL official website. 7 September 2013.
  37. "в Ярославле открыли мемориал «Хоккейное братство»". Yaroslavl: Yaroslavl region. 7 September 2013. สืบค้นเมื่อ 15 October 2013.
  38. "FK SHINNIK YAROSLAVL". Soccerway.com.
  39. "Volleyball Club 'Yaroslavich'". Yaroslavich official website.
  40. "Palermo and Yaroslavl are twin cities". The Voice of Russia. 12 December 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-06. สืบค้นเมื่อ 2013-11-05.


ข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]