อนุโมทนากถา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ยถา-สัพพี)

อนุโมทนากถา เป็นบทสวดมนต์ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่สวดเพื่อมุ่งประสงค์ให้ผู้ถวายทานแก่พระสงฆ์เกิดความยินดีในทาน หรือเพื่อแสดงธรรมแก่ผู้ถวาย ในสมัยพุทธกาล พระสูตรสำคัญ ๆ เกิดจากคำอนุโมทนากถาของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงแก่ผู้ถวายทานตามสถานที่ต่าง ๆ ที่พระองค์เสด็จไปรับบิณฑบาต[1] ปัจจุบันพระสงฆ์มีบทสวดสำหรับอนุโมทนาโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จะตัดตอนมาจากพระสูตรในพระไตรปิฎก ซึ่งมีบทที่พระสงฆ์ใช้สวดเป็นประจำไม่กี่พระสูตร แต่บทที่พระสงฆ์สวดนำเป็นปกติทุกครั้งก่อนที่จะสวดเนื้อหาในพระสูตรคือบทอนุโมทนารัมภกถา และบทสามัญญานุโมทนากถา (แปลว่าบทสวดเริ่มต้นและบทสวดปกติ) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ยถา-สัพพี ซึ่งเป็นบทสวดที่ไม่ใช่พระพุทธพจน์ โดยบทยถาเป็นการให้พรอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว บทสัพพีมีเนื้อหากล่าวถึงการอำนวยมงคลและอวยพรให้ผู้ถวายทานปราศจากอันตรายทั้งหลาย

อนุโมทนากถา นอกจากจะหมายถึงบทสวดภาษาบาลีของพระสงฆ์แล้ว ยังอาจหมายถึงคำกล่าวของพระสงฆ์ที่แสดงในงานต่าง ๆ เพื่อขอบคุณเจ้าภาพอีกด้วย

บทสวดนำ (อนุโมทนารัมภาสามัญญานุโมทนกถา)[แก้]

บทที่เริ่มต้นว่า “ยถา” มีชื่อเรียกว่า บทอนุโมทนารัมภคาถา หมายถึง คาถาที่เริ่มก่อนการอนุโมทนา กล่าวคือ ก่อน ที่พระสงฆ์จะอนุโมทนาในบุญกุศลที่อุบาสกอุบาสิกาได้ทำแล้ว พระสงฆ์จะกล่าวบทอนุโมทนารัมภคาถานี้ เพื่อให้อุบาสกอุบาสิกาได้เตรียมตัวตั้งใจรับพรสืบไป บทนี้เป็นภาษาบาลี ดังนี้

ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ

เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ

อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ

สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา มณิ โชติรโส ยถา

แปลเป็นไทยได้ว่า “ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ฉันนั้น ขออิทธิผลที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน ขอความดำริทั้งปวงจงบริบูรณ์ เหมือนดังพระจันทร์วันเพ็ญ (และ) เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสว”

ส่วนบทที่เริ่มต้นว่า “สัพพี” มีชื่อเรียกว่า บทสามัญญานุโมทนาคาถา หมายถึง คาถาที่พระสงฆ์ใช้สวดทุกครั้งที่อนุโมทนาในบุญกุศลที่อุบาสกอุบาสิกาได้ทำแล้ว บทนี้เป็นภาษาบาลี ดังนี้

สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ สพฺพโรโค วินสฺสตุ

มา เต ภวตฺวนฺตราโย สุขี ทีฆายุโก ภว

อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน

จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ

แปลเป็นไทยได้ว่า “ความจัญไรทั้งปวงจงบำราศไป โรคทั้งปวงจงหายไป อันตรายอย่ามีแก่ท่าน ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืน ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการอภิวาทเป็นปรกติ อ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์”.

ซึ่งบทสวดนี้มักเรียกกันตามความหมายของคำอวยพรและผู้ที่จะรับพรนั้นว่า "ยถาให้ผี-สัพพีให้คน"

บทสวดอนุโมทนากถาที่มีที่มาจากในพระสูตร[แก้]

บทสวดในพระสูตรที่พระสงฆ์นิยมนำมาสวดต่อจากบทสามัญญานุโมทนากถา

  • กาลทานสุตฺตกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย: กาเล ททนฺติ สปญฺญํ...)

บทสวดนี้พระสงฆ์นิยมสวดในงานทำบุญที่กำหนดตามกาล เช่น กฐิน, สลากภัต เป็นต้น

บทสวดนี้พระสงฆ์นิยมสวดในงานศพ และงานทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย

  • อคฺคปฺปทานสุตฺตกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย: อคฺคโต เว ปสนฺนานํ...)
  • โภชนทานานุโมทนกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย: อายุโท พลโท ธีโร...),

บทสวดนี้พระสงฆ์นิยมสวดหลังฉันอาหารบิณฑบาตทั่วไป

  • อาฏานาฏิยปริตฺตํ (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย: สพฺพโรควินิตฺมุตฺโต...)

บทนี้พระสงฆ์นิยมสวดหลังฉันอาหารบิณฑบาตทั่วไป โดยไม่ต้องขึ้นอนุโมทนารัมภาสามัญญานุโมทนกถา

  • เทวตาทิสฺสทกฺขิณานุโมทนกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย: ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ...)
  • อาทิยสุตฺตกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย: ภุตฺตา โภคา ภฏา ภจฺจา...)
  • วิหารทานกถา (บทสวดที่ขึ้นต้นด้วย: สีตํ อุณฺหํ ปฏิหนฺติ...)

บทสวดนี้พระสงฆ์นิยมสวดหลังในงานถวายอาคารเป็นสาธารณะทานหรือถวายแก่สงฆ์[2]

ปัญหาเรื่องสถานที่สวดของภิกษุ[แก้]

ปัญหาเกิดมาจากหลังจากตักบาตรเสร็จพระภิกษุมักสวดอนุโมทนารมภคาถาและสามัญญานุโมทนาคาถาหรือยถา-สัพพี ให้พรที่ข้างถนน ซึ่งมีผู้ที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมในเรื่องดังกล่าว อยู่สองฝ่ายด้วยกันคือ[ต้องการอ้างอิง]

ฝ่ายหนึ่งมองว่า การออก บิณฑบาตร เป็นการออกกำลังกายด้วยความมีสติ เท่ากับเดินจงกรมของพระ และโปรดเวไนยสัตว์ ตลอดจนภูตผี สัมภเวสีเร่ร่อน เทพ เทวา ไปด้วยการแผ่เมตตาไปตลอดทางทั้งขาไป-ขากลับ พระจะ สวดยะถาสัพพี-ให้พรแก่คนตักบาตรทำบุญและผีทั้งหลาย เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วที่วัด ภูตผี วิญญาณเร่ร่อน เปรต ก็มารอขอส่วนบุญกันตอนนั้นเอง จึงไม่ควรสวดข้างถนน

อีกฝ่ายมองว่า เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนายินดีด้วย การบิณฑบาตรตอนเช้าไม่ใช่เพียงแค่คนที่นำอาหารมาใส่บาตรที่จะได้รับอานิสงส์ผลบุญ แต่ถือเป็นการโปรดสัตว์ด้วย

ในต่างจังหวัด เช่นแถวภาคอิสาณหรือภาคเหนือ เช้าตรู่พระท่านเข้าแถวออกบิณฑบาต ผู้คนจะนั่งคุกเข่า ค่อยๆบรรจงหยิบอาหารหรือข้าว ใส่ลงในบาตร เป็นภาพที่สวยงามมาก พอพระท่านรับเสร็จ ท่านก็จะให้พร แต่สิ่งที่สำคัญเราจะลืมไม่ได้ คือ อย่าอยู่สูงกว่าพระ เช่นสวมรองเท้าใส่บาตร หรือบางทีก็ถอด แต่ทว่า ยืนบนรองเท้า แบบนี้จึงจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นการไม่เคารพพระ บางแห่งพระท่านจะเมตตามากกว่านั้นอีก คือ เมื่อรับบาตรเสร็จ ท่านจะนั่งในที่เหมาะสม เช่นศาลาพักริมถนน ญาติโยมก็จะนั่งประนมมือฟังเทศน์อบรมธรรมะจากท่าน ก่อนที่ท่านจะกลับวัด[ต้องการอ้างอิง]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. อรรถกถา ธรรมบท ธัมมัฏฐวรรควรรณนา เรื่องเดียรถีย์
  2. พระวิสุทุธิสมโพธิ (เจีย ป.๙). ชุมนุมสวดมนต์ฉบับหลวง. ๒๕๒๐. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธรรมบรรณาคาร