มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ
ไฟล์:Mitsuo Gavesako bhikkhu.jpg
มิตซูโอะ เมื่อครั้งเป็นสมณเพศ
เกิด28 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 (72 ปี)
จังหวัดอิวะเตะ ประเทศญี่ปุ่น
มีชื่อเสียงจากอดีตเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม
คู่สมรสสุทธิรัตน์ ชิบาฮาชิ[1]

มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ[1][2] (ญี่ปุ่น: 柴橋 光男โรมาจิShibahashi Mitsuo; มิตสึโอะ ชิบาฮาชิ) หรือ อดีตพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เป็นอดีตพระภิกษุชาวญี่ปุ่น บวชในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท คณะมหานิกาย ท่านเป็นศิษย์รุ่นแรกของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)

ชาติภูมิ[แก้]

มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ เป็นชาวจังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 สำเร็จการศึกษาในระดับไฮสคูล (เทียบเท่าระดับ ปวช. หรือ มศ.5 ตามระบบการศึกษาไทย) สาขาเคมี ณ เมืองโมริโอกะ จังหวัดอิวาเตะ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงทำงานจนสามารถเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง และออกเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. 2514

การอุปสมบท[แก้]

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) (กลางภาพ) และคณะพระลูกศิษย์ชาวต่างชาติ ในจำนวนนี้มีอดีตพระมิตซูโอะ คเวสโก (ยืนแถวหน้า ซ้ายสุด) รวมอยู่ด้วย

พระอาจารย์มิตซูโอะ ได้เดินทางมาสู่ประเทศไทย หลังจากได้เดินทางแสวงหาธรรมะที่แท้จริงมาแล้วจากหลายประเทศทั่วโลกทั้งอินเดีย, เนปาล, อิหร่าน, ยุโรป แล้วเปลี่ยนความตั้งใจที่เดิมจะไปยังแอฟริกา ไปเป็นที่อินเดียอีกครั้งในปี พ.ศ. 2517 แต่ได้เปลี่ยนใจเมื่อระลึกได้ถึงพุทธคยา เห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ก็ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าและประจักษ์ต่อใจตนเองว่า แท้จริงแล้วความสุขที่แท้จริงอยู่ที่จิตใจภายในตนเอง จึงหยุดการแสวงหาจากภายนอก มาสู่การแสวงหาจากภายใน

ในชั้นแรกท่านไปฝึกโยคะอยู่ที่สำนักโยคีแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย และเกิดความพอใจที่จะเป็นโยคีอยู่ที่อินเดียตลอดชีวิต แต่ต่อมาเกิดปัญหาว่าวีซ่าของท่านหมดอายุ ท่านจึงเดินทางมาประเทศไทยอีกครั้งเพราะมีผู้แนะนำให้ท่านไปศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศไทย เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ หลังจากนั้นเมื่อท่านบรรพชาได้ 3 เดือน ท่านได้แสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม มีผู้แนะนำท่านให้ไปกราบหลวงพ่อชา สุภทฺโท ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านก็ได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อตั้งแต่บัดนั้น และได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ได้รับฉายา "คเวสโก" หมายถึง "ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง"

พระอาจารย์มิตซูโอะเป็นผู้บุกเบิกวัดป่าสุนันทวนาราม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นวัดป่านานาชาติ และเคยดำรงสถานะเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งนับเป็นสาขาที่ 117 ของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้แล้วในปี พ.ศ. 2533 ยังเป็นผู้ริเริมมูลนิธิมายา โคตมี ที่ให้การช่วยเหลือด้านการให้ทุนการศึกษาแก่เด็ก ๆ ที่ขาดโอกาส ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งของวัดหนองป่าพง ที่ท่านได้อุปสมบทมาก่อน[3]

การลาสิกขา[แก้]

ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556 พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโกได้ปรากฏเป็นข่าวว่าได้ลาสิกขาแล้วอย่างกะทันหัน โดยที่ลูกศิษย์และผู้ที่นับถือหลายคนไม่ทราบมาก่อน ขณะที่ผู้ใกล้ชิดได้ยืนยันว่า พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโกได้ลาสิกขาจริง และเดินทางกลับไปประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยเป็นเพราะต้องการไปรักษาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคประจำตัว และต้องการกลับไปช่วยเหลือผู้คนในประเทศญี่ปุ่น[4]

ชีวิตส่วนตัวภายหลังการลาสิกขา[แก้]

ต่อมาหลังจากนี้ไม่นาน ได้มีการเผยแพร่ภาพทางโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า อดีตพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้ถ่ายรูปร่วมกันหลายรูปกับผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อ นางสุทธิรัตน์ มุตตามระ อายุ 52 ปี เป็นนักธุรกิจหญิง ด้านความงาม ที่อ้างว่าเป็นคู่รัก และทั้งคู่ก็ได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วที่จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556 [5] ซึ่งอดีตพระอาจารย์มิตซูโอะก็ได้เปิดเผยว่า ที่ลาสิกขาไปเพราะต้องการมีครอบครัว[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "อุทธรณ์คุก 1 ปี 'แอน เมียมิตซูโอะ' คดีใช้เอกสารปลอม". ไทยรัฐ. 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. "บันทึกสยิว "แอนบลูสกาย-นายมิตซูโอะ" (ครั้งแรกของหนุ่มสาว)". ASTVผู้จัดการรายวัน. 12 ตุลาคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-10. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ประวัติจากปกหลังหนังสือ เรื่องของ "ใจ" โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก พิมพ์ครั้งที่ 17 โดยมูลนิธิมายา โคตมี (มิถุนายน พ.ศ. 2554)
  4. "เผยพระมิตซูโอะลาสิกขาปัญหาสุขภาพ จากโพสต์ทูเดย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-16. สืบค้นเมื่อ 2013-06-10.
  5. มิตซูโอะ หน้า 1 ต่อหน้า 16, เดลินิวส์ฉบับที่ 23,270: เสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2556 แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเส็ง
  6. เคาะข่าวสุดสัปดาห์ ทางช่อง 7: เสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2556

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]