มาสด้า คาเพลลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาสด้า คาเพลลา
ภาพรวม
บริษัทผู้ผลิตมาสด้า
เริ่มผลิตเมื่อพ.ศ. 2513 - 2545
ตัวถังและช่วงล่าง
ประเภทรถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car)
รูปแบบตัวถังคูเป้ 2 ประตู
ซีดาน 4 ประตู
แฮทช์แบค 5 ประตู
สเตชันวากอน 5 ประตู
รุ่นที่คล้ายกันโตโยต้า โคโรน่า/คัมรี่
ฮอนด้า แอคคอร์ด
นิสสัน เซฟิโร่/เทียน่า
มิตซูบิชิ กาแลนต์
ซูบารุ เลกาซี
ซูซูกิ คิซาชิ
อีซูซุ อาสก้า
ฮุนได โซนาต้า/ไอ40
เกีย ออพติมา
แดวู เอสเปอโร/เลกันซา/แม็กนัส/ทอสก้า
โฟล์กสวาเกน พัสสาท
วอลโว่ S60
โอเปิล เวคตร้า/ซิกนัม/อินซิกเนีย
เปอโยต์ 405/406/407/508
ซีตรอง BX/ซองเทีย/C5/DS5
โฮลเดน คอมมอเดอร์
เชฟโรเลต มาลีบู
ฟอร์ด มอนดิโอ/ทอรัส
ระยะเหตุการณ์
รุ่นก่อนหน้าไม่มี
รุ่นต่อไปมาสด้า6

มาสด้า คาเพลลา (อังกฤษ: Mazda Capella) เป็นรถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) ที่ผลิตโดย มาสด้า ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น เริ่มการผลิตในปี พ.ศ. 2513 ขายในประเทศญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ มาสด้า คาเพลลา และในต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยจะใช้ชื่อที่เป็นตัวเลข (ซึ่งก็ตามปกติที่รถยนต์ของมาสด้าในตลาดโลกหลายรุ่นจะขายโดยใช้ตัวเลข เช่น Demio = 2 Axela = 3 Atenza = 6 Familia = 323 Capella = 626 และ Luce = 929 เป็นต้น) โดยใช้ชื่อ มาสด้า 626 ที่มาของการพัฒนาคาเพลลา คือ ในช่วงปี พ.ศ. 2512-2516 มาสด้าได้วางแผนในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ด้านรถยนต์ให้มากขึ้น เพิ่มขนาดเครื่องยนต์ให้กับมาสด้า ลูเช่เป็น 1.8 ลิตร ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างทางการตลาดระหว่างลูเช่และแฟมิเลีย จึงได้มีการพัฒนาคาเพลลาขึ้นมา เพื่ออุดช่องว่างทางการตลาดดังกล่าว

รุ่นที่ 1 (พ.ศ. 2513-2521)[แก้]

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 1

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 1 เริ่มผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2513 ด้วยตัวถังคูเป้ 2 ประตูและซีดาน 4 ประตู ใช้โครงสร้างตัวถังแบบโมโนค็อก มีเครื่องยนต์ 1,490 ซีซี และ 1,586 ซีซี ระบบเกียร์เป็นเกียร์ธรรมดา 4 สปีด รุ่นนี้ เวอร์ชันส่งออกจะใช้ชื่อ 616 ไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 และไมเนอร์เชนจ์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2518 ก่อนจะเลิกผลิตในปี พ.ศ. 2521 รวมยอดการผลิต 254,919 คัน

นอกจากนี้ ยังมีรุ่น RX-2 ซึ่งเป็นรุ่นที่ใช้เครื่องโรตารี 12A(1,146 cc) และเกียร์ RE-MATIC โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากเมื่อเปิดตัวไปได้ 2 ปี วิกฤติการณ์น้ำมันได้เกิดขึ้น หลายประเทศรณรงค์ด้านการประหยัดน้ำมัน ขณะเดียวกันเครื่องยนต์โรตารีได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดย EPA ของอเมริกาว่าเป็นเครื่องยนต์ที่กินน้ำมันมาก และก่อมลพิษมาก และในญี่ปุ่นก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ลูกค้าไม่ควรใช้ความเร็วสูงโดยไม่จำเป็น เนื่องจากประสิทธิภาพของแซสซีส์สู้ Mazda RX3 และ Mazda R100 ไม่ได้ ทางมาสด้าได้เคยนำเข้า Capella และ RX2 มาทำตลาดในประเทศไทย และไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากรูปทรงไม่น่าใช้เท่ากับคู่แข่งในสมัยนั้น และเหตุผลอื่นๆ ที่กล่าวมาในข้างต้น

รุ่นที่ 2 (พ.ศ. 2521-2525)[แก้]

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 2

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 2 เริ่มผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2521 เป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง รุ่นนี้ไม่มีการผลิตรุ่นเครื่องยนต์โรตารีแล้ว เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์ที่กินน้ำมันและปล่อยมลพิ๋ษ รวมถึงสถานการณ์ของบริษัทในขณะนั้น เป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อส่งออกว่า 626 มีรุ่นเครื่องยนต์ 1,586 ซีซี และ 1,769 ซีซี ระบบเกียร์เป็นเกียร์ธรรมดา 4 และ 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด ไมเนอร์เชนจ์เมื่อปี พ.ศ. 2523 ก่อนจะยุติการผลิตในปี พ.ศ. 2525 ด้วยยอดจำนวนการผลิตทั้งหมด 723,709 คัน

ในประเทศไทย คาเพลลารุ่นที่ 2 เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2522 ด้วยเครื่องยนต์ 1,586 ซีซี 4 สูบ SOHC 90 แรงม้า ระบบเกียร์เป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด มีตัวถังซีดานเพียงตัวถังเดียว และคว้ารางวัลจากนิตยสารยวดยานไปครองทันที ก่อนไมเนอร์เชนจ์ในปี พ.ศ. 2524

รุ่นที่ 3 (พ.ศ. 2525-2530)[แก้]

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 3

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 3 เริ่มผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2525 เป็นคาเพลลารุ่นแรกที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า มีตัวถัง 3 แบบคือซีดาน 4 ประตู คูเป้ 2 ประตูและแฮทช์แบค 5 ประตู มีรุ่น 1,789 และ 1,998 ซีซี ไมเนอร์เชนจ์เมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยเพิ่มตัวถังแฮทช์แบคในตลาดญี่ปุ่น เป็นรุ่นแรกที่ได้มีการพัฒนาร่วมกับฟอร์ด และมีขายในอเมริกาในชื่อฟอร์ด เทลสตาร์

ในประเทศไทย คาเพลลารุ่นที่ 3 เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2526 ที่โรงแรมรามา การ์เด้น และเป็นรุ่นที่ประสบความสำเร็จในตลาดไทยอีกรุ่นหนึ่ง เพราะลูกค้าต้องสั่งจองล่วงหน้านานเป็นเดือน เนื่องจากผลิตไม่ทันต่อยอดจอง ชูจุดขายที่หน้าปัดดิจิตอล สัญญานเตือนอัตโนมัติ และห้องโดยสาร มีตัวถัง 3 แบบคือซีดาน แฮทช์แบคและคูเป้ ไมเนอร์เชนจ์ในปี พ.ศ. 2529 ยังคงมีตัวถังเช่นเดิม แต่ไม่มีรุ่นคูเป้ สำหรับรุ่นนี้เป็นแบบ 5 ประตูที่วางเครื่องยนต์แถวเรียง 4 สูบ SOHC แบบ F8 ความจุ 1.8 ลิตร (1,789 ซีซี) ให้กำลังสูงสุด 92 แรงม้าที่ 6, 000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 13.9 กิโลกรัมเมตร (136 นิวตันเมตร) ที่ 3,500 รอบต่อนาที จ่ายน้ำมันด้วยคาร์บูเรเตอร์แบบท่อคู่ดูดลงราคาขายในตอนนั้นอยู่ที่ 361,500 บาท

รุ่นที่ 4 (พ.ศ. 2530-2534)[แก้]

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 4

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 4 เริ่มผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2530 เป็นรุ่นแรกที่มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อมาให้เลือก มีตัวถัง 4 แบบคือคูเป้ 2 ประตู ซีดาน 4 ประตู แฮทช์แบค 5 ประตูและสเตชันวากอน 5 ประตู มีเครื่องยนต์ 2.0 และ 2.2 ลิตร ยังคงใช้แพลตฟอร์มร่วมกับฟอร์ด เทลสตาร์เช่นเดิม

ในประเทศไทย เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2531 ด้วยตัวถังซีดาน 4 ประตูและแฮทช์แบค 5 ประตู ชูจุดขายที่ระบบ TTL INTRA 4WS จึงเป็นที่มาของตลาดรถมือสองที่นิยมเรียกว่า Mazda 626 TTL ระบบเกียร์เป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีดและเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ไมเนอร์เชนจ์เมื่อปี พ.ศ. 2533 ยังคงมีระบบดิสก์เบรก 4 ล้อมาให้เลือกเช่นเดิม ถือเป็น 626 รุ่นสุดท้ายที่ประกอบในประเทศไทย

หลังจากนั้น คาเพลลาก็ยังคงทำตลาดมาอย่างต่อเนื่องโดยใช้ชื่อ มาสด้า โครโนส ซึ่งโครโนสก็เคยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยด้วย เมื่อปี พ.ศ. 2535-2538

รุ่นที่ 5 (GE; พ.ศ. 2534-2540)[แก้]

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 5

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 5 เริ่มผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2534 ในชื่อ มาสด้า โครโนส แม้จะอยู่ในช่วงปลายๆของสุโกศลที่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายมาสด้าในเมืองไทยแต่ก็ได้รถดีๆมาทำตลาดหนึ่งในนั้นคือ มาสด้า โครโนส ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งขนาดกลางที่ผลิตโดยมาสด้าในช่วงระหว่างปี 2534 – 2538 รถรุ่นนี้มีทั้งตัวถัง 4 ประตูและ 5 ประตู โดยใช้เครื่องยนต์ 2000 ซีซี ที่มีให้เลือกทั้งFS-DE 4 สูบเรียงและKF-ZE V6 ระบบส่งกำลังมีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ในเมืองไทยถูกนำมาขายแบบรถนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งคันหลังจากที่เปิดตัวในญี่ปุ่นได้ 1 ปี โดยมีทั้งรุ่น 4 ประตูและ 5 ประตู ซึ่งก็ได้รับความนิยมมากพอสมควร

หลังจากที่ยุติการผลิตโครโนสทั้งในญี่ปุ่น ไทยและทั่วโลก ก็ได้มีการนำมาสด้า คาเพลลามาผลิตขายต่อก่อนที่จะเลิกผลิตคาเพลลาในปี พ.ศ. 2545

รุ่นที่ 6 (พ.ศ. 2537-2540)[แก้]

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 6

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 6 เริ่มผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยเปิดตัวหลังจากใช้ชื่อโครโนสอยู่ 3 ปี และใช้ชิ้นส่วนร่วมกับมาสด้า 323F เนื่องจากต้องเปิดตัวในช่วงที่ญี่ปุ่นประสบภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้ต้องลดต้นทุนให้มากที่สุด มีเครื่องยนต์ 1.8 และ 2.0 ลิตร ใช้เกียร์ธรรมดา 5 สปีดและเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และในปี พ.ศ. 2539 ก็ได้มีการเพิ่มถุงลมนิรภัยด้านคนขับก่อนยุติการผลิตในปี พ.ศ. 2540

รุ่นที่ 7 (พ.ศ. 2540-2545)[แก้]

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 7

มาสด้า คาเพลลา รุ่นที่ 7 เริ่มผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยเปิดตัวพร้อมกันทั่วโลก ชูจุดขายที่ด้านการออกแบบและโครงสร้างนิรภัย รวมถึงระบบเบรก ABS และถุงลมนิรภัยคู่หน้า มีตัวถัง 3 แบบคือซีดาน 4 ประตู แฮทช์แบค 5 ประตูและสเตชันวากอน 5 ประตู แต่รุ่นแฮทช์แบคไม่มีจำหน่ายในญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และมีการเพิ่มรุ่นมาเรื่อยๆ ก่อนไมเนอร์เชนจ์ในปี พ.ศ. 2542 และเลิกผลิตในปี พ.ศ. 2545 เพื่อเปิดทางให้กับมาสด้า อเท็นซา (หรือมาสด้า 6 ในตลาดโลก)

ในประเทศไทย คาเพลลารุ่นที่ 6 เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 ด้วยตัวถังซีดาน 4 ประตูและแฮทช์แบค 5 ประตู และมีจำนวนจำกัดเพียง 200 คันเท่านั้น เนื่องจากต้องเปิดตัวในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของเอเชีย ทำให้ต้องนำเข้าในจำนวนจำกัด และตั้งราคาขายแบบพอได้ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอยู่ในช่วงผันผวนอย่างรุนแรง และสต็อกอะไหล่เท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้ต้นทุนสูงเกินไป และอยู่ในช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนถ่ายการบริหารจากกิจกมลสุโกศลมาสด้าที่เดิมเคยเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายต้องถูกลดบทบาทมาเป็นดีลเลอร์รายหนึ่ง เมื่อมาสด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนเองในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2542 626 รุ่นนี้จึงเป็นรุ่นที่หายากมาก