มาตราโตรีโน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มาตราโทริโน)

มาตราโตรีโน (อังกฤษ: Torino scale) เป็นมาตราที่นักดาราศาสตร์ใช้จำแนกความอันตรายของวัตถุใกล้โลก เช่น ดาวเคราะห์น้อย และดาวหาง อาศัยข้อมูลสองส่วนคือโอกาสในการชนโลก และพลังงานจลน์ของวัตถุซึ่งบอกถึงความเสียหายหากเกิดการชน มาคำนวณเป็นเลขระดับ 0 ถึง 10 ซึ่งบอกถึงความอันตรายจากน้อยไปมาก

มาตราโตรีโนในปัจจุบัน[แก้]

มาตราโตรีโนใช้สีขาว สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง เพื่อจำแนกความเป็นอันตรายของวัตถุดังกล่าว

ไม่อันตราย (สีขาว)
0. มีโอกาสชนโลกเป็นศูนย์ หรือน้อยมากจนอาจเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ และหมายถึงวัตถุที่มีขนาดเล็กจนสามารถเผาใหม้จนหมดในชั้นบรรยากาศ หรือเกือบหมดจนไม่อาจสร้างความเสียหายได้
ปกติ (สีเขียว)
1.

พบเห็นเป็นประจำ จากการคำนวณเบื้องต้นวัตถุที่มีวงโคจรใกล้โลกเหล่านี้ไม่มีอันตรายมากจนสร้างความกังวลให้กับประชาชนทั่วไป อาจจะมีการศึกษาเพิ่มเติมด้วยกล้องโทรทรรศน์และน่าจะปรับลดเป็นระดับ 0 ได้

ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ (สีเหลือง)
2. ค้นพบวัตถุใกล้โลกดวงใหม่ที่อาจจะมีวงโคจรผ่านใกล้โลกซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาจากนักดาราศาสตร์ให้แน่ชัดต่อไป แต่ไม่อันตรายมากจนสร้างควาวมกังวลให้กับประชาชนทั่วไป การศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์ในอนาคตน่าจะปรับลดเป็นระดับ 0 ได้
3. วัตถุมีวงโคจรใกล้โลก ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์​ การคำนวณในปัจจุบันบอกได้ว่ามีโอกาส 1% หรือมากกว่าที่จะเกิดการชนและสร้างความเสียหายในวงจำกัด การศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์ในอนาคตน่าจะปรับลดเป็นระดับ 0 ได้ หากการเข้าใกล้โลกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าจะมีการประกาศให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ
4. วัตถุมีวงโคจรใกล้โลก ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ การคำนวณในปัจจุบันบอกได้ว่ามีโอกาส 1% หรือมากกว่าที่จะเกิดการชนและสร้างความเสียหายระดับภูมิภาค การศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์ในอนาคตน่าจะปรับลดเป็นระดับ 0 ได้ หากการเข้าใกล้โลกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าจะมีการประกาศให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ
เป็นภัยคุกคาม (สีส้ม)
5. วัตถุมีวงโคจรใกล้โลกในระดับที่เป็นอันตราย หากเกิดการชนจะสร้างความเสียหายระดับภูมิภาค นักดาราศาสตร์จะต้องศึกษาอย่างจริงจังเพื่อสรุปว่าจะเกิดการชนขึ้นจริงหรือไม่ หากการชนจะเกิดก่อน 10 ปีข้างหน้าจะมีการแจ้งให้รัฐบาลวางแผนในการรับมือ
6. วัตถุขนาดใหญ่มีวงโคจรใกล้โลกในระดับที่เป็นอันตราย หากเกิดการชนจะสร้างความเสียหายระดับโลก นักดาราศาสตร์จะต้องศึกษาอย่างจริงจังเพื่อสรุปว่าจะเกิดการชนขึ้นจริงหรือไม่ หากการชนจะเกิดก่อน 30 ปีข้างหน้าจะมีการแจ้งให้รัฐบาลวางแผนในการรับมือ
7. วัตถุขนาดใหญ่มีวงโคจรใกล้โลกในระดับที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง หากเกิดการชนจะสร้างความเสียหายระดับโลก หากมีโอกาสชนก่อน 100 ปีข้างหน้าจะมีการแจ้งให้รัฐบาลทั่วโลกวางแผนในการรับมือ ไม่ว่าการชนจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม
สร้างความเสียหายแน่นอน (สีแดง)
8. การชนเกิดขึ้นแน่นอน หากตกลงบนพื้นดินจะสร้างความเสียหายในบริเวณจำกัด หากตกลงในทะเลอาจเกิดสึนามิได้ การชนแบบนี้โดยทั่วไปเกิดเป็นประจำในรอบ 50 ปี ถึง หลายพันปี
9. การชนเกิดขึ้นแน่นอน หากตกลงบนพื้นดินจะสร้างความเสียหายระดับภูมิภาค หากตกลงในทะเลจะเกิดสึนามิขนาดยักษ์ การชนแบบนี้โดยทั่วไปเกิดเป็นประจำในรอบ 10,000 ปี ถึง 100,000 ปี
10. การชนเกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่าตกลกบนพื้นหรือตกลงในทะเลก็จะสร้างความเสียหายระดับโลก ถึงขั้นสามารถทำลายอารยธรรมของมนุษย์ได้ การชนแบบนี้โดยทั่วไปเกิดเป็นประจำในรอบ 100,000 ปี หรือ มากกว่านั้น

อ้างอิง[แก้]