หน่วยความยาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มาตราวัดความยาว)

หน่วยสากล[แก้]

ปัจจุบันนี้เราใช้ระบบ SI (มาจากคำฝรั่งเศส Systeme International ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า International System) กันมาก หน่วยของระบบนี้คล้ายกับระบบเมตริก ขนาดที่ใช้ก็เป็นเมตร (metre) ใหญ่ขึ้นไปก็มีหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่ก็ใช้กิโลเมตร (kilometre) เป็นหลัก ถ้าเล็กกว่า metre ก็มีเช่น centimetre (10^-2 เมตร) , millimetre (10^-3 เมตร) , micrometre (10^-6 เมตร) , nanometre (10^-9 เมตร) , picrometre (10^-12 เมตร) เป็นต้น

หน่วยความยาวระบบอังกฤษ[แก้]

อังกฤษเคยเป็นจักรวรรดิโลกใหม่ที่แผ่อำนาจคลุมไปเกือบทั่วโลก ระบบอังกฤษจึงค่อนข้างแพร่หลายมากที่สุด หน่วยความยาวระบบอังกฤษมี ฟุต (foot) ใหญ่ขึ้นไปก็เป็น หลา (yard) เป็นไมล์ (mile) เล็กลงไปกว่าฟุตก็มี นิ้ว (inch) ซึ่งหน่วยสมัยโบราณนั้นโดยทั่วไปตามประเทศต่าง ๆ ก็จะใช้ความยาวของส่วนของร่างกายของคนทั่ว ๆ ไปเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นการวัดโดยประมาณเพราะร่างกายของคนแต่ละคนมีขนาดแตกต่างกัน ต่อมาจึงเริ่มมีการทำให้เป็นมาตรฐานขึ้น มีการสร้างไม้วัดขนาดมาตรฐานขึ้นมา เช่น ความยาว 1 ฟุตนั้นว่ากันว่าใช้ความยาวของพระบาทของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ความยาว 1 หลาได้มาจากรอบพระองค์ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 1 (หรือบ้างก็ว่าเป็นความยาววัดจากปลายจมูกถึงปลายหัวแม่มือเมื่อเหยียดตรง) [1] หรือมีการใช้ขนาดพืชผลเทียบ เช่น ความยาว 1 นิ้ว เป็นความยาวของข้าวบาร์เลย์ 3 เมล็ดเรียงกัน [1] ความสัมพันธ์ของหน่วยพวกนี้ เราก็ทราบกันดีว่า 12 นิ้วเป็น 1 ฟุต 3 ฟุตเป็น 1 หลา และ 1760 หลาเป็น 1 ไมล์

ในเรื่องของ ไมล์ ก็ยังมีทั้ง ไมล์บก ไมล์ทะเล ไมล์บก หรือ statute mile (ไมล์ตามกฎหมาย) นั้น เท่ากับ 1,760 หลา หรือ 5,280 ฟุต ถ้าคิดเป็นกิโลเมตร จะได้ 1.61 กิโลเมตร ส่วนไมล์ทะเล nautical mile หรือ geographical mile นั้นยาวกว่าไมล์บก คือเท่ากับ 2,025 หลา หรือ 6,076 ฟุต ถ้าคิดเป็นกิโลเมตร จะได้ 1.852 กิโลเมตร และยังมีไมล์อากาศ (air mile) อีก แต่ดีหน่อยที่ไมล์อากาศ ก็เท่ากับ ไมล์ทะเล นั่นเอง

หน่วยทางทะเล[แก้]

เรื่องหน่วยที่เกี่ยวกับทะเลนี้ มีเรื่องการวัดความลึกตามมาตราโบราณคำหนึ่ง คือ ลีก (league) ซึ่งจะเห็นจากหนังสือของจูลส์ เวิร์น (Jules Verne) นักเขียนชาวฝรั่งเศสเรื่อง 20,000 leagues under the sea ซึ่งถ้าเป็นชื่อหนังสือฝรั่งเศสจะเป็น Vingt mille lieues sous les mers ดังนั้น หน่วย league นี้ถ้าเป็นภาษาฝรั่งเศสก็จะเป็น lieue (ส่วนไทยที่เคยมีการแปลชื่อหนังสือหรือหนังเรื่องนี้ได้ปรับไปใช้ชื่อหน่วยแบบไทย ๆ คือใช้ชื่อว่า ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ ซึ่งความจริงแล้ว league หรือ lieue นี้ไม่ได้เท่ากับโยชน์) 1 league นี้เท่ากับประมาณ 3 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 5.556 กิโลเมตร

หน่วยที่ใช้วัดความลึกทะเลยังมีอีกคำคือ ฟาทอม (fathom) 1 ฟาทอมเท่ากับ 6 ฟุต หรือ 1.83 เมตร

หน่วยความยาวขนาดเล็กมาก[แก้]

หน่วยวัดขนาดที่เคยมีการใช้กันอีกหน่วยคือ อังสตรอม (Angstrom) ซึ่งตั้งตามชื่อของนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนที่ชื่อ อันเดอรส์ โยนาส อองสเตริม (Anders Jonas Angstrom) 1 อังสตรอมเท่ากับ 10^- 8 ซม หรือ 10^- 10 เมตร

หน่วยความยาวไทย[แก้]

หน่วยความยาวของไทย พัฒนาการมาจากการใช้สิ่งแวดล้อม และ ร่างกายในการวัด เช่น

8 ปรมาณู เป็น 1 อณู
5 อณู เป็น 1 ธุลี
8 ธุลี เป็น 1 เส้นผม
8 เส้นผม เป็น 1 ไข่เหา
8 ไข่เหา เป็น 1 ตัวเหา
8 ตัวเหา เป็น 1 เม็ดข้าว
8 เม็ดข้าว เป็น 1 นิ้ว
12 นิ้ว เป็น 1 คืบ
2 คืบ เป็น 1 ศอก
4 ศอก เป็น 1 วา
20 วา เป็น 1 เส้น
400 เส้น เป็น 1 โยชน์

หน่วยความยาวจีนโบราณ[แก้]

หน่วยของจีนดั้งเดิมที่เราเคยได้พบกันสำหรับผู้ที่ชอบอ่านหนังสือกำลังภายในก็เห็นจะมีอยู่ 2 คำ คือ ลี้ กับ เชียะ ลี้นั้นเป็นความยาวของระยะทางประมาณครึ่งกิโลเมตรหรือ 500 เมตร เช่น “กำแพงเมืองจีนที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้นยาวกว่าสมัยราชวงศ์ฉินมากนัก กล่าวคือมีความยาวสองหมื่นกว่าลี้ นับเป็นราชวงศ์ที่สร้างกำแพงเมืองจีนได้ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์” [2]ส่วน เชียะ (บางทีก็เขียนเป็น เฉียะ หรือ เฉี้ยะ) นั้นยาวเท่ากับ 33.33 ซม. เช่น “กระบี่เล่มนี้ยาวสี่เชียะสามนิ้ว หนักสามสิบเก้าชั่ง ตอนหลอมกระบี่เล่มนี้ได้เหล็กมาจากเก้าแคว้นสิบสามมณฑล รวมเหล็กกล้าดีที่สุดของเก้าแคว้นสิบสามมณฑล ถลุงเป็นร้อยครั้ง กระหน่ำเป็นพันค้อน จึงหลอมได้กระบี่เหล็กใหญ่เล่มนี้มา” [3]

หน่วยทางดาราศาสตร์[แก้]

หน่วยที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดทางดาราศาสตร์ คือ ปีแสง (light – year หรือ light year) ระยะทางที่แสงเดินทางในสุญญากาศในเวลา 1 ปี แสงมีความเร็ววินาทีละ 186,000 ไมล์ ดังนั้น ระยะทาง 1 ปีแสง มีค่าประมาณ 5.88 ล้านล้านไมล์ (5.88 x 10^12 ไมล์) หรือ 9.46 ล้านล้านกิโลเมตร (9.46 x 10^12 กิโลเมตร)

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 สานิตย์ โภคาพันธ์, “ประวัติและวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์”, สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, พ.ศ. 2530
  2. สุภาณี ปิยพสุนทรา (ผู้แปล) หยางซื่อเฟิง และคณะ (ผู้เขียน) , “กำแพงเมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์สองพันปี”, สำนักพิมพ์ธรรมชาติ, พ.ศ. 2537
  3. ว. ณ เมืองลุง (ผู้แปล) โกวเล้ง (ผู้เขียน) , “ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ” สำนักพิมพ์สร้างสรรค์-วิชาการ, พ.ศ. 2534