มัสยิดบ้านฮ่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิกัดภูมิศาสตร์: 18°47′12.07″N 99°0′4.49″E / 18.7866861°N 99.0012472°E / 18.7866861; 99.0012472

มัสยิดบ้านฮ่อ
มัสยิดบ้านฮ่อ

มัสยิดเฮดายาตูลอิสลามบ้านฮ่อ (จีน: 王和清真寺; พินอิน: wánghéqīngzhēnsì) หรือเรียกสั้น ๆ ว่ามัสยิดบ้านฮ่อ ตั้งอยู่ในตำบลช้างคลาน ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ใกล้กับไนท์บาซาร์ มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยชาวจีนมุสลิมที่อพยพมาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน หรือที่เรียกว่า จีนฮ่อ[1]

การก่อตั้งมัสยิด[แก้]

ในปี พ.ศ. 2458 ชาวจีนมุสลิมที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ ตกลงกันร่วมบริจาคเงินซื้อที่ดิน และสำหรับการก่อสร้างตัวอาคารของมัสยิดเป็นอาคารที่ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นจำนวนเงินประมาณ 3,000 รูปี (ประมาณ 2,400 บาท) ซึ่งถือว่าเป็นอาคารมัสยิดหลังแรกของชาวยูนนานมุสลิม ที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ในจังหวัดเชียงใหม่ ย่านเวียงพิงค์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “มัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ” โดยมีบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างอาคารมัสยิดครั้งนี้ 8 ท่าน ได้แก่

  1. ท่านขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ (เจิ้งชงหลิน 鄭崇林) ต้นตระกูล “วงศ์ลือเกียรติ”
  2. ท่านเย่ เอ๋อโกเถ่อว (葉二哥頭)
  3. ท่านเย่ ฮั่วเถี่ยน (葉華庭) ต้นตระกูล “พงษ์พฤษฑล”
  4. ท่านนะสือชิง (納仕興) ต้นตระกูล “ธีระสวัสดิ์”
  5. ท่านหมู่ หย่งชิน (沐荣興) ต้นตระกูล “อนุวงค์เจริญ”
  6. ท่านม้า สุซาน (馬澤山)
  7. ท่านลี หวิ่นโซะ (李文學) ต้นตระกูล “ลีตระกูล”
  8. ท่านม้าฝูเม้ย (馬富美) ต้นตระกูล “อินทนันท์”

ต่อมา ชาวจีนยูนนานรุ่นสุดท้ายที่อพยพออกจากประเทศจีนช่วงหลังเปลี่ยนการปกครองปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2492) เข้าสู่พม่าและภาคเหนือของไทย เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ประชากรจีนมุสลิมยูนนานมุสลิมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ. 2509 สัปปุรุษของมัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ จึงได้รื้อถอนอาคารมัสยิดหลังเดิมที่ไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจ อาคารมัสยิดหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นโดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 750,000 บาท ปัจจุบันอาคารมัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ ตั้งอยู่บนถนนเจริญประเทศ ซอย 1 ตำบลช้างคลาน จังหวัด เชียงใหม่[2]

รายชื่ออิหม่ามมัสยิดเฮดายาตูลอิสลาม (บ้านฮ่อ) ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน[แก้]

มัสยิดแห่งนี้มีอิหม่ามมาทั้งสิ้น 10 คน ดังนี้

ที่ อิหม่าม วาระการดำรงตำแหน่ง
1 อิหม่ามมู่เป้าเถียน (沐寶庭)
2 อิหม่ามมู่หยินจะ (沐英乍)
3 อิหม่ามมาไถหลิ่ง (馬太林)
4 อิหม่ามม้าจิปิน (馬吉彬)
5 อิหม่ามม้ายีถิ่ง (馬雨亭) พ.ศ. 2468 - 2490
6 อิหม่ามลีเหวิ่นฟู่ (李仁莆) พ.ศ. 2490 - 2519
7 อิหม่ามมาจงเหลี่ยง (馬叔良) พ.ศ. 2519 - 2523
8 อิหม่ามมาติ่งฮั่ว (馬定華) พ.ศ. 2523 - 2536
9 อิหม่ามหน่าชิงชิง (納順興) พ.ศ. 2536 - ?
10 อิหม่ามซางฟู แซ่พาน ? - ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติการอพยพของจีนมุสลิม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-25. สืบค้นเมื่อ 2009-01-11.
  2. หนังสือมรดกศาสนาในเชียงใหม่ภาค 2 ประวัติและการพัฒนาการของศาสนาในเชียงใหม่ จัดทำโดย คณะทำงานฝ่ายรวบรวมประวัติและพัฒนาการของศาสนาในเชียงใหม่ ภาคศาสนาอิสลาม โดย สุชาติ เศรษฐมาลินี และคณะ ในโอกาสสมโภชน์เชียงใหม่ 700 ปี (1839-2539) จัดพิมพ์โดย คณะอนุกรรมการด้านศาสนางานสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่