มัทมอนส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มัทมอนส์
Maat Mons
จุดสูงสุด
ยอด≈8 กิโลเมตร (เหนือเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย)
พิกัด0°30′N 194°36′E / 0.5°N 194.6°E / 0.5; 194.6
ข้อมูลทางธรณีวิทยา
ประเภทภูเขาภูเขาไฟชนิดกรวยสลับชั้น

มัทมอนส์ (อังกฤษ: Maat Mons) เป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดบนดาวศุกร์ และเป็นภูเขาที่สูงเป็นอันดับที่ 2 ของดาว รองจากแมกซ์เวลมอนทีส ตั้งอยู่ที่พิกัด 0°30′N 194°36′E / 0.5°N 194.6°E / 0.5; 194.6 ของดาวศุกร์ ภูเขาไฟลูกนี้มีความสูง 8 กิโลเมตรเหนือระดับเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยของดาวศุกร์ ชื่อของภูเขาไฟมีที่มาจากเทพีแห่งความจริงและความเที่ยงตรงของอียิปต์นามว่า มัท (Maat)

ลักษณะทางภูมิศาสตร์[แก้]

มัทมอนส์เป็นภูเขาไฟชนิดกรวยสลับชั้น มีแอ่งภูเขาไฟรูปกระจาด (Caldera) ขนาดใหญ่ กว้าง 28 กิโลเมตร × 31 กิโลเมตร ภายในแอ่งประกอบด้วยปล่องย่อยอีกอย่างน้อย 5 แห่ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุดถึง 10 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแนวของหลุมขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 กิโลเมตร ทอดตัวยาวกว่า 40 กิโลเมตรไปตามแนวด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขาไฟ ไม่ปรากฏการระเบิดของภูเขาไฟจากแนวหลุมดังกล่าว ในขณะเดียวกันกลับพบการก่อตัวของหลุมจากการยุบตัว ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากยานสำรวจแมเจลแลนบ่งชี้ว่าไม่พบหลักฐานของธารลาวาจากแนวหลุมดังกล่าว

สถานะของภูเขาไฟ[แก้]

การสำรวจด้วยเรดาร์ของยานแมเจลแลนเผยหลักฐานความเคลื่อนไหวเมื่อไม่นานมานี้ของมัทมอนส์ หลักฐานที่ว่าคือร่องรอยการตกของเถ้าภูเขาไฟบริเวณปากปล่องและด้านทิศเหนือของภูเขาไฟ สิ่งหนึ่งบนดาวศุกร์ที่ทำให้นักธรณีวิทยาดาวเคราะห์ (planetary geologist) ฉงนใจคือ ความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และมีเทน (CH4) ระหว่างชั้นบรรยากาศระดับกลางและระดับสูงของดาวศุกร์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลดังกล่าวได้จากการสำรวจวิเคราะห์บรรยากาศโดยกลุ่มยานสำรวจไพโอเนียร์วีนัส (Pioneer Venus) เมื่อต้นทศวรรษที่ 1980 นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าในอดีต มัทมอนส์อาจเกิดการปะทุแบบพลิเนียน แล้วปล่อยแก๊สภูเขาไฟจำนวนมากขึ้นสู่บรรยากาศดาวศุกร์

ถึงแม้ว่าดาวศุกร์ยังมีภูเขาไฟปะทุอยู่ทั่วไป แต่สำหรับมัทมอนส์แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าตอนนี้มีการปะทุอยู่หรือไม่

อ้างอิง[แก้]

  1. Robinson C.A., Thornhill G.D., Parfitt E.A. (1995), Large-scale volcanic activity at Maat Mons: Can this explain fluctuations in atmospheric chemistry observed by Pioneer Venus?, Journal of Geophysical Research, v. 100, หน้า 11755-11764
  2. Mouginis-Mark P.J. (1994), Morphology of Venus Calderas: Sif and Maat Montes, Abstracts of the 25th Lunar and Planetary Science Conference, held in Houston, TX, 14-18 มีนาคม 1994., หน้า 949

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]