มะเมียะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดของมะเมียะในจินตนาการ

มะเมียะ (พ.ศ. 2430 - พ.ศ. 2505) เป็นสาวแม่ค้าชาวพม่าที่อยู่ในเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นเชียงใหม่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในมลฑลพายัพของสยาม มะเมียะปรากฏตัวครั้งแรกอยู่ในหนังสือ "เพชรลานนาเล่ม 1" ของนายปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ที่กล่าวถึง ความรักของมะเมียะหญิงสาวชาวพม่ากับกับเจ้าอุตรการโกศลแห่งนครเชียงใหม่ เมื่อครั้งที่เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า แต่ความรักต้องจบลงด้วยความโศกสลด อันเป็นที่มาของตำนานความรักที่เล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน[1]

ความรักของมะเมียะ[แก้]

มะเมียะเป็นแม่ค้าสาวชาวพม่า พบรักกับเจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) เจ้าอุตรการโกศลแห่งนครเชียงใหม่ เมื่อเจ้าน้อยฯ อายุ 19 ปี ขณะที่เจ้าน้อยศุขเกษมฯ ได้ออกเดินเที่ยวในตลาด จึงได้คบหากันและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา โดยทั้งสองได้สาบานต่อกัน ณ ลานหน้าพระธาตุใจ้ตะหลั่น ว่า จะรักกันตลอดไปและจะไม่ทอดทิ้งกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรักที่มีให้กัน ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น[2]

การปลอมตัวเข้ามายังเชียงใหม่[แก้]

เมื่อเจ้าน้อยฯ อายุครบ 20 ปี และมีกำหนดต้องเดินทางกลับเชียงใหม่ มะเมียะก็ได้ปลอมตัวเป็นชายติดตามขบวนเพื่อกลับไปยังเมืองเชียงใหม่ ในฐานะเพื่อนหนุ่มชาวพม่า ตามความต้องการของเจ้าน้อยฯ โดยทั้งสองไม่รู้เลยว่าเจ้าพ่อและเจ้าแม่ของเจ้าน้อยฯ ได้หมั้นหมายเจ้าหญิงบัวนวลให้เจ้าน้อยฯ ไว้แล้ว

มะเมียะต้องแอบซ่อนในบ้านหลังเล็ก ในขณะที่เจ้าน้อยศุขเกษมได้ใช้เวลาคิดใคร่ครวญและตัดสินใจเล่าความจริงให้ทั้งสองฟัง แต่เมื่อคืนหนึ่งเจ้าน้อยฯ กลับไปยังที่พักแล้ว มะเมียะได้รับการเกลี้ยกล่อมโดยหญิง-ชาย ชาวพม่า ให้นางกลับไปรอเจ้าน้อยฯ ที่เมืองมะละแหม่ง มิฉะนั้นบ้านเมืองอาจเดือดร้อน นางได้เอ่ยขึ้นด้วยความเสียใจและยินยอมจากไปเพื่อมิให้ผู้ใดได้รับความเดือดร้อน แม้ตัวนางจะจากไกล แต่ความรักอันมั่นคง ยังคงอยู่ดังคำสาบานที่เคยให้ไว้แก่กันและกัน ฝ่ายเจ้าน้อยฯ ยังคงยืนยันในความรักที่มีต่อมะเมียะ และขอให้นางกลับไปรอที่บ้านก่อน หากมีวาสนาจะกลับไปรับนางมาอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่ให้ได้

มะเมียะเดินทางกลับ[แก้]

เช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน พ.ศ. 2446[2] นับเป็นวันเดินทางกลับเมืองมะละแหม่งของมะเมียะ อันจะกลายเป็นการจากลาชั่วนิรันดร์ ณ ประตูหายยาที่เนืองแน่นไปด้วยประชาชนที่ใคร่เห็นโฉมหน้าของมะเมียะ ที่ลือกันว่างามนักงามหนา บรรยากาศเต็มไปด้วยความหดหู่และเศร้าหมอง เมื่อเจ้าน้อยฯ พูดภาษาพม่ากับมะเมียะได้เพียงไม่กี่คำ นางผู้มีใจรักมั่นได้ร่ำไห้ด้วยความอัดอั้นตันใจ ในอ้อมแขนที่ยากจะแยกจากกันได้ เวลานั้นก็ล่วงเลยไปมากแล้ว เจ้าน้อยฯ ได้รับปากกับมะเมียะว่าตนจะยึดมั่นในคำปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อหน้าพระพุทธรูปวัดใจ้ตะหลั่นจนกว่าชีวิตจะหาไม่ หากท่านนอกใจมะเมียะโดยสมรสกับหญิงอื่น ขอให้ชีวิตของตนประสบแต่ความทุกข์ทรมานใจ แม้แต่อายุก็จะไม่ยืนยาว เจ้าน้อยฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าภายในเดือนจะกลับไปหามะเมียะให้จงได้ นางจึงคุกเข่าลงกับพื้น ก้มหน้า สยายผมออกเช็ดเท้าเจ้าน้อยฯ ด้วยความอาลัยหา ก่อนที่เธอจะขึ้นไปบนกูบช้าง

เมื่อกลับไปถึงเมืองมะละแหม่งแล้ว มะเมียะได้มอบเงินทองจำนวนหนึ่งซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐและแม่เจ้าจามรีมหาเทวี มอบให้นางก่อนเดินทางกลับเป็นการปลอบขวัญแก่พ่อแม่และน้อง จากนั้นนางได้แต่เฝ้ารอคอยเจ้าน้อยฯ จนครบกำหนดเดือนที่ท่านได้รับปากไว้ แต่กลับไร้วี่แววใดๆ มะเมียะจึงตัดสินใจเข้าพึ่งใต้ร่มพุทธจักร ครองตนเป็นแม่ชีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่านางยังซื่อสัตย์ ต่อความรักที่มีต่อเจ้าน้อยศุขเกษม

หลังจากที่ทราบข่าวการเข้าพิธีมงคลสมรส ระหว่างร้อยตรีเจ้าอุตรการโกศลฯ กับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ แม่ชีมะเมียะจึงเดินทางมายังเมืองเชียงใหม่และขอเข้าพบเจ้าน้อยฯ เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อแสดงความยินดีกับชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์ องค์อดีตสวามีผู้เป็นที่รัก ก่อนที่ตนจะตัดสินใจครองตนเป็นแม่ชีไปตลอดชีวิต แต่เจ้าน้อยศุขเกษมผู้ยึดสุราเป็นที่พึ่งดับความกลัดกลุ้มอันเกิดจากความรักอาลัยในตัวมะเมียะ ชีวิตที่ไม่เคยมีความสุขในชีวิตสมรส ท่านไม่สามารถหักห้ามความสงสารที่มีต่อมะเมียะได้ จึงไม่ยอมลงไปพบแม่ชีมะเมียะตามคำขอร้อง เพียงแต่มอบหมายให้เจ้าบุญสูง พี่เลี้ยงคนสนิท นำเงินจำนวน 80 บาท ไปมอบให้กับแม่ชีมะเมียะเพื่อใช้ในการทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าน้อยฯ ให้กับแม่ชีมะเมียะ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มะเมียะและเจ้าน้อยต่างสะเทือนใจเป็นที่สุด หลังจากเดินทางถึงเมืองมะละแหม่ง มะเมียะได้ครองชีวิตเป็นแม่ชีตามความตั้งใจ จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2505[2] รวมอายุได้ 75 ปี[1] ต่อมาได้มีการตั้งข้อสงสัยว่ามีการนำอัฐิของมะเมียะมาบรรจุไว้ที่กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่วัดสวนดอก แต่ได้รับการยืนยันจากเจ้านายฝ่ายเหนือว่าไม่เป็นความจริง[3]

ข้อถกเถียงวาทกรรมมะเมียะ[แก้]

ประเด็นถกเถียงมากมายถึงตัวตนจากตำนานว่ามะเมียะเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์หรือไม่เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนและเป็นคำบอกเล่าสืบ ๆ ต่อกันมา ทำให้มีผู้คนเกิดความสนใจตามหาข้อเท็จจริงดังนี้

  1. การสืบต่อเป็นเจ้าหลวงในอนาคตเจ้าน้อยสุขเกษมที่จะได้เป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความรักดังเรื่องเล่าที่แต่งขึ้น เพราะเจ้าเลาแก้วผู้เป็นพี่มียศตำแหน่งทางการเมืองที่สูงกว่า การสืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองล้านนาจึงมักจะเป็นการสืบทอดจากพี่ไปน้อง ดังนั้นที่อ้างกันว่าเจ้าศุขเกษมจะได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อนั้นก็ไม่จริงถ้าหากเรียงตามลำดับศักดิ์ ประกอบกับชีวิตที่ไม่ได้เรื่องของเจ้าน้อยฯ จากคำบอกเล่าของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่[4]
  2. เรื่องจริงปนนิยายจาก จากคำให้การของ เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ กล่าวในฐานะคนในว่า “เรื่องมันไม่ได้เป็นนิยายอย่างนั้น มันไม่ได้ใหญ่โตจนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เพียงแต่มันไม่เหมาะสม เพราะตามตำแหน่ง เจ้าน้อยฯ ต้องเป็นเจ้าหลวงในอนาคต หลายคนคงลำบากใจที่ได้เมียเป็นชาวพม่า และที่สำคัญ อุตส่าห์ส่งไปเรียนหนังสือ กลับได้เมียมา เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ต้องไม่พอใจ คงเหมือนสมัยนี้แหละ บางคนก็ต่อว่าเจ้าปู่เรา (เจ้าหลวงแก้วนวรัฐ) ว่าแบ่งขีดแบ่งชั้นกีดกันความรัก ความจริงอีกอย่างคือเจ้าอาว์ (เจ้าน้อยศุขเกษม) ก็รูปหล่อ เป็นลูกเจ้าอุปราชฯ ท่านก็เป็นคนสำราญตามประสาเจ้าชายหนุ่ม และตามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง ท่านมิได้หมกมุ่นตรอมใจจนตายอย่างนิยายว่า เรื่องเพิ่งจะมาเศร้าโศกปวดร้าวเมื่อคุณปราณี ขยายให้เป็นนิยายนี่เอง และถ้าเรื่องนี้เป็นไปตามนั้น ไม่มีทางจะปิดชาวเชียงใหม่ได้มิดหรอก”[3]
  3. เหนือฟ้า ปัญญาดี เคยสัมภาษณ์กับปราณีว่าแท้จริงแล้ว ชื่อของมะเมียะมีที่มาจากชื่อหญิงไทใหญ่ที่อยู่บ้านละแวกเดียวกันในย่านวัดป่าเป้าอันเป็นชุมชนชาวไทใหญ่ในเชียงใหม่ หญิงไทใหญ่ มีชื่อจริงว่า "แม่นางเมียะ" การใช้คำว่า "มะ" ที่ภาษาเป็นพม่าใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงตั้งแต่เด็กจนเป็นสาว ส่วนข้อสันนิษฐานที่พบมะเมียะในพม่า ชื่อว่า "แม่ชีด่อนางเหลียน" โดย "ด่อ" จะใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงที่แต่งงานแล้วหรือมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้น ด่อนางเหลียนจึงอาจไม่ใช่ตัวจริง[5]
  4. เรื่องเจ้าน้อยศุขเกษมนั้นน่าจะเป็นเรื่องจริงของเจ้าราชบุตรเสีย มากกว่า และเป็นเรื่องจริงที่นำเหตุการณ์จริงหลายเรื่องมาปะติดปะต่อจึงทำให้พบข้อสันนิษฐานหรือข้อพิรุธอยู่หลายจุด[2] คือ
    1. เรื่องเจ้าน้อยฯ ไปเรียนที่มะละแหม่ง คุณปราณีเล่าว่าเจ้าน้อยอายุ 15 ปี แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลเรื่องอายุแล้ว ปีที่อ่างว่าไปเรียนนั้นเจ้าน้อยมีอายุจริงได้ 19 ปี ซึ่งน่าจะเลยเวลาเล่าเรียนไปแล้ว
    2. เรื่องเจ้าน้อยฯ ไปส่งมะเมียะขึ้นช้างกลับมะละแหม่งที่ประตูหายยา เรื่องนี้ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง เพราะการเดินทางไปมะละแหม่งนั้น จะต้องล่องเรือตามลำน้ำปิงไปเมืองระแหงหรือเมืองตาก แล้วเดินบกไปมะละแหม่ง การเดินทางจากเชียงใหม่ไปเมืองตากโดยทางบกนั้นไม่มีใครทำกัน
    3. คุณปราณีว่า เจ้าแก้วนวรัฐฯ และเจ้าน้อยฯ มอบเงินให้มะเมียะติดตัวกลับไปเป็นเงิน 800 และ 80 บาท ข้อนี้ก็พิรุธเพราะสมัยนั้นทางล้านนาไม่มีการใช้เงินบาท แต่ใช้เงินรูเปียอินเดียที่อังกฤษเอามาใช้ที่พม่า ที่เรียกกันว่า "เงินแถบ" เงินบาทเพิ่งจะขนขึ้นไปใช้จนแพร่หลายในช่วงหลัง พ.ศ. 2459 หรือในช่วงกลางรัชกาลที่ 6 มาแล้ว
    4. "ประตูหายยา" ที่เจ้าน้อยศุขเกษมไปส่งมะเมียะ และชาวเมืองเชียงใหม่จำนวนมากไปเฝ้ารอดูว่าเธอสวยเพียงใดนั้นเป็นเรื่องผิดวิสัย ตามความเชื่อของคนเชียงใหม่ ประตูหายยาเป็น "ประตูผี" สำหรับส่งศพออกนอกเมือง ยิ่งเป็นการเดินทางไปเมืองมะละแหม่ง ควรเลือกใช้ "ประตูท่าแพ" เพื่อลงเรือแม่ปะตามแม่น้ำปิงไปเมืองระแหง แล้วเปลี่ยนไปใช้ทางบก ใช้ช้างเดินทางไปด่านแม่สอดสู่เมืองมะละแหม่ง เป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุด (นักวิชาการท้องถิ่นบางคนสันนิษฐานว่าการเดินทางของมะเมียใช้เส้นทางจากสันป่าตองสู่บ้านกาดถึงเมืองวินต่อไปที่แม่นาจรจนถึงขุนยวมแล้วลงเรือบ้านต่อแพเพื่อออกแม่น้ำสาละวิน)
    5. เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ลงมาเล่าเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัยเมื่ออายุ 14 ปี เป็นปีเดียวกับที่คุณปราณีระบุว่าเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่มะละแหม่ง
    6. ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ยังพบความ "เรื่องประหลาด" ในพระราชบันทึกส่วนพระองค์ ที่ทรงกล่าวถึงเจ้าราชบุตรจะสมรสกับหญิงคนหนึ่งที่เป็นธิดานอกสมรสของพระบรมวงศ์พระองค์หนึ่ง โดยในชั้นต้นเข้าใจกันว่าเป็นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์ จึงมีพระราชดำริที่จะจัดการสมรสพระราชทาน แต่เมื่อตรวจสอบแล้วสตรีนั้นเป็นบุคคลที่บิดาไม่รับเป็นบุตร จึงมิได้เป็นหม่อมเจ้า ในเมื่อมิได้เป็นเจ้าจึงต้องทรงวางเฉยในเรื่องนี้ และไม่ปรากฏว่าเจ้าราชบุตรได้สมรสกับหญิงคนนี้
    7. เหตุการณ์การสยายผมของมะเมียะเหมือนกับเหตุการณ์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้สยายพระเกษาเช็ดพระบาทให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะเสด็จกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนครเชียงใหม่
  5. รายการทางช่องยูทูบ Mr.Hotsia[6] ได้เดินทางไปตามหาเรื่องราวของมะเมียะและไปสัมภาษณ์แม่ชีที่เป็นลูกศิษยแม่ชีมะเมียะ (เชื่อกันว่าเป็นมะเมียะ) จนได้พบรูปถ่ายที่เชื่อว่าเป็นภาพของมะเมียะตอนอายุ 20 ปีซึ่ง ผู้หญิงในรูปมีประวัติว่าเคยมีสามีเป็นคนไทยและก่อนมาบวชเคยมีลูกและนำทารกไปให้ผู้อื่นเลี้ยงและทารกได้เสียชีวิตเพียงอายุ 9 เดือน ข้อเท็จจริงจากภาพถ่ายพบความคลาดเคลื่อนว่า มะเมียะในรูปเกิดปี พ.ศ. 2445 (ไม่ตรงกับเรื่องเล่าว่ามะเมียเกิดปี พ.ศ. 2430) แต่เจ้าน้อยฯ เดินทางไปเรียนพม่าเมื่อ ปี พ.ศ. 2445 จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่มะเมียและเจ้าน้อยจะได้พบกันในช่วงเวลาดังกล่าว

มะเมียะในสื่อต่าง ๆ[แก้]

  1. หนังสือเพ็ชรลานนาเล่ม 1 (2507)
  2. หนังสือเพ็ชรลานนาเล่ม 2 (2538)
  3. หนังสือชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่ (2523)
  4. เพลง "มะเมี๊ยะ" แต่ง/ขับร้องโดย จรัล มโนเพชร และ สุนทรี เวชานนท์ (2520)
  5. ละครสั้น ปากกาทอง ตอน "มะเมี๊ยะ" ออกอากาศทางช่อง 7 (2537)
  6. หนังสือการ์ตูน "มะเมี๊ยะ" เรื่อง/ภาพโดย นรวรรณ ฉกรรจ์แดง ตีพิมพ์โดย สยามอินเตอร์คอมมิก (พ.ค.2557)

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "โศกนาฏกรรมรักอันใหญ่หลวงของเจ้าชายล้านนา - เจ้าน้อยศุขเกษม+มะเมียะ ความรักที่โศกสลด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-28. สืบค้นเมื่อ 2009-10-01.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 วรชาติ มีชูบท, เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ, กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊ค, 2556[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  3. 3.0 3.1 เจ้าน้อยศุขเกษมกับนางมะเมีย เก็บถาวร 2011-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิตยสารเข็มทิศเชียงใหม่
  4. นานาทัศนะตำนานรัก "มะเมียะ" กับ "เจ้าน้อยศุขเกษม" สังคมไทยคิดเห็นอย่างไร?
  5. มะเมี๊ยะ ไม่มีจริง?
  6. มะเมียะ ยูทูบ