มะเกลือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มะเกลือ
ต้นมะเกลือในประเทศเวียดนาม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: แอสเทอริด
อันดับ: อันดับกุหลาบป่า
วงศ์: วงศ์มะพลับ
สกุล: สกุลมะพลับ
Griff.[1]
สปีชีส์: Diospyros mollis
ชื่อทวินาม
Diospyros mollis
Griff.[1]

มะเกลือ เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Ebenaceae พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มกลมกิ่งอ่อนมีขนนุ่ม ผลดิบของมะเกลือมีสรรพคุณเป็นยา จัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง สมัยก่อนนิยมใช้ยางผลมะเกลือไปย้อมผ้า ผลที่เปลือกเป็นสีดำ เมื่อรับประทานทำให้หน้ามืด ตาลายตาพร่ามัว อาเจียน ท้องเดินและตาบอดได้[2]

มะเกลือเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดสุพรรณบุรี [3] ในภาคเหนือเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า มะเกีย มะเกือ หรือ ผีผา [4][5] ทางใต้เรียกว่า เกลือ [5] แถบเขมร-ตราดเรียก มักเกลือ [5]

ลักษณะทั่วไป[แก้]

มะเกลือไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-30 เมตร ใบกว้าง 3.5-4.0 ซม. ยาว 9-10 ซม. เปลือกต้นมีสีดำแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ใบเป็นใบเดียวรูปรี ปลายใบแหลม ผลกลมผิวเกลี้ยง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีดำ ผลแก่จัดจะแห้ง มีกลีบเลี้ยงติดบนผล 4 กลีบ ผลแก่ราวเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เมล็ด แบน สีเหลือง 4-5 เมล็ด ขนาดกว้าง 0.5-0.7 ซม. ยาว 1-2 ซม. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด [5]

การปลูก[แก้]

มะเกลือเป็นไม้ที่ปลูกโดยการใช้เมล็ด ขึ้นได้ดีกับดินแทบทุกชนิดเหมาะที่จะปลูกในฤดูฝน ต้นมะเกลือนี้หากถ้าโดนแดดจัดจะทำให้ผลดกมากแต่ใบไม่ค่อยงาม วิธีการปลูกให้เพาะกล้าเสียก่อนเช่นเดียวกันกับต้นไม้อื่น ๆ แล้วนำเอาไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้[6]

สรรพคุณ[แก้]

สรรพคุณจากส่วนต่าง ๆ มีดังนี้

  • ผล มะเกลือดิบมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิที่คนไทยรู้จักและใช้กันมานาน ผลมะเกลือมีรสเมาเบื่อ ขับพยาธิในลำไส้ ถ่ายตานซาง ถ่ายกระษัยโดยมากใช้กับเด็ก วิธีการคือ เอาลูกสดใหม่ไม่ช้ำ ตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำกะทิมะพร้าวดื่มทันที ห้ามเก็บไว้ จะเกิดพิษ ขับพยาธิไส้ เดือน พยาธิปากขอ พยาธิตัวตืด พยาธิเส้นด้าย จำนวนลูกเอาเท่าอายุ แต่ไม่เกิน 25 ลูก เอาดีเกลือ ฝรั่ง 10 กรัม ละลายน้ำสุก 1 แก้ว ดื่มตามหลัง 30 นาที[7]อย่าปล่อยให้เป็นสีดำ เพราะอาจเป็นพิษ ปัจจุบัน มีการสกัดสารที่มีฤทธิ์ขับพยาธิจากผลมะเกลือแล้วผลิตเป็นยาเม็ดสำเร็จรูปใช้รับประทาน
  • เมล็ด รสเมามัน ขับพยาธิในท้อง
  • เปลือกต้น รสฝาดเมา เป็นยาช่วยบูด แก้กระหาย ขับพยาธิ แก้พิษ ตานซาง
  • ทั้งต้น รสฝาดเมา ขับพยาธิ แก้ตานซาง แก้กระษัย
  • แก่น รสฝาดเค็มขมเมา ขับพยาธิ แก้ตานซาง
  • ราก รสเมาเบื่อ ฝนกับน้ำข้าวกิน แก้อาเจียน แกเป็นลม หน้ามืด แก้กระษัย แก้ริดสีดวงทวาร แก้พิษตานซาง ขับพยาธิ[7]

วิธีการย้อมผ้าด้วยมะเกลือ[แก้]

วิธีแรก คือนำผลดิบมาตำให้ละเอียด กรองเอาแต่น้ำสีเหลืองมาใช้ย้อมผ้า ผ้านั้นจะมีสีเหลือง แต่เมื่อตากให้แห้งจะมีสีเขียวจะต้องย้อมและตากแห้งอย่างนี้ซ้ำ ๆ กัน 5 - 6 ครั้ง ผ้าจะเปลี่ยนสีจนกระทั่งกลายเป็นสีดำตามต้องการ อีกวิธีหนึ่ง คือ นำผลสุกสีดำมาบดละเอียด กรองแต่น้ำสีดำมาย้อมผ้า โดยย้อมแล้วตาก แล้วนำกลับมาย้อมซ้ำอีกประมาณ 3 ครั้ง ถ้าจะให้ผ้ามีสีดำสนิทและเป็นมันเงาด้วย ให้นำผ้าไปหมักในดินโคลน 1 – 2 คืน หรืออย่างน้อย 5 ชั่วโมงแล้วจากนั้นจึงนำมาซักให้สะอาด การย้อมผ้าด้วยมะเกลือ ค่อนข้างที่จะใช้เวลามาก ปัจจุบันจึงมีการเปลี่ยนไปใช้สีสังเคราะห์แทน เพราะสะดวกและใช้เวลาไม่มาก แต่ปัญหาที่พบ คือ สีสังเคราะห์ ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ย้อม ซึ่งอาการ คือ ผิวหนังเป็นผื่นอักเสบและติดเชื้อได้ง่าย ตาอักเสบ จึงมีการนำมะเกลือมาใช้ย้อมผ้ากันเช่นเดิม

อ้างอิง[แก้]

  1. "Diospyros mollis". Plants of the World Online (ภาษาอังกฤษ). Royal Botanic Gardens, Kew. สืบค้นเมื่อ 8 February 2023.
  2. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552
  3. "มะเกลือ"
  4. "มะเกลือ"
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ""พืชสมุนไพร มะเกลือ"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-02. สืบค้นเมื่อ 2009-04-07.
  6. ""การปลูกมะเกลือ"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-20. สืบค้นเมื่อ 2009-04-07.
  7. 7.0 7.1 ""สรรพคุณของมะเกลือ"". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-24. สืบค้นเมื่อ 2009-02-24.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Diospyros mollis ที่วิกิสปีชีส์