มหาศีล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาศีล แปลว่า ศีลอย่างใหญ่ หมายถึงศีลที่มีระดับสูงสุด ที่ควรประพฤติงดเว้น และเพื่อเป็นการขัดเกลาจริยวัตรให้มีความละเอียดปลอดจากอกุศลอย่างยิ่ง เพื่อยังประโยชน์แก่การดำรงสมณเพศ โดยทรงเตือนมิให้ภิกษุทั้งหลาย เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ คือถ้อยคำที่พระไม่ควรพูด จึงจัดเป็นติรัจฉานกถา คือถ้อยคำที่ขวาง หรือขัดกับสมณสารูป และวิชาที่ขวาง หรือขัดกับความเป็นพระ [1]

มหาศีล นี้ คือศีลที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในพรหมชาลสูตร (เถรวาท) โดยมีที่มา จากการที่ทรงเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ แล้วตรัสว่า คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล 3 ชั้น คือศีลอย่างเล็กน้อย (จุลศีล) ศีลอย่างกลาง (มัชฌิมศีล) และศีลอย่างใหญ่ (มหาศีล) โดยทรงชี้ว่า พระองค์ปฏิบัติศีลเหล่านี้จนเป็นที่สรรเสริญของชาวโลก และศีลเหล่านี้จะเป็นแนวทางการปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ได้ปฏิบัติตอ่ไป [2]

มหาศีล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงในพรหมชาลสูตร (เถรวาท) มีรายละเอียดดังที่ปรากฏในพรหมชาลสูตร (เถรวาท) ของพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มีดังต่อไปนี้

  1. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะพื้นที่ ดูลักษณะที่ไร่นาเป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัดเป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอดูรอยเท้าสัตว์
  2. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉัน โภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาสตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมารทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้างทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโคทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะช่อฟ้า ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค
  3. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายในจักเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักเข้าประชิด พระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาพระองค์นี้จักมีชัย พระราชาพระองค์นี้จักปราชัยเพราะเหตุนี้ หรือเหตุนี้
  4. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉัน โภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราสดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทางดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาดจักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลอย่างนี้นักษัตรคราสจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลอย่างนี้ อุกกาบาตจักมีผลอย่างนี้ ดาวหางจักมีผลอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลอย่างนี้.
  5. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือพยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายต-ศาสตร์.
  6. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้าบวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหมร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ.
  7. พระสมณะโคดมเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล [3]

อ้างอิง[แก้]

  1. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 102
  2. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 102
  3. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 11 - 15

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
  • พระพุทธโฆสะ. สุมังคลวิลาสินี ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.