มหาวิทยาลัยมคธ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยมคธ (Magadh University)
ประเภทรัฐ
สถาปนา1962
ที่ตั้ง,
วิทยาเขตชนบท
เครือข่ายUGC
เว็บไซต์http://www.magadhuniversity.ac.in/

มหาวิทยาลัยมคธ (อังกฤษ: Magadh University) เป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาล อยู่ในเมืองโพธิคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติมหาวิทยาลัยแห่งรัฐพิหาร พ.ศ. 2519 ทั้งนี้ โดยพฤตินัยแล้วมหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2505 โดยนายสัตเยนทรา นารายัณ สิงห์ (อังกฤษ: Satyendra Narayan Singha) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของอินเดีย มีวัตถุประสงค์แรกเริ่มเพื่อการเผยแผ่พุทธศาสนา มหาวิทยาลัยเปิดทำการครั้งแรกในวันที่ 2 มีนาคม ปีก่อตั้งนั้นเอง ปัจจุบัน จัดการเรียนการสอนในสาขาเศรษฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ คอมพิวเตอร์ศึกษา วิทยาการคอมพิวเตอร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และบริหารศาสตร์

ประวัติ[แก้]

เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2505 หรือ ค.ศ. 1962 มีท่าน สารวปัลลี เรธะ ขิสษานัน (Sarvapalli Redha Khisshanan) ขณะดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของประเทศอินเดีย เป็นผู้มาวางศิลาฤกษ์ และมี ดร. เค เค ทุตตะ (Dr. K. K. Dutta) ผู้มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์โลก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีท่านแรก ในระยะแรกได้ดำเนินงานด้านการศึกษา 7 ภาควิชา 2 วิทยาเขต และ 27 วิทยาลัยในเครือข่ายเท่านั้น มหาวิทยาลัยมคธเป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้ดี ทั้งชาวอินเดียและชาวต่างประเทศ ในปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่ มีวิทยาเขตถึง 45 แห่ง และวิทยาลัยในเครือข่ายอีก 96 แห่ง นอกจากนี้ยังมีวิทยาลัยทางแพทยศาสตร์อีก 2 แห่ง วิทยาลัยทางวิศวกรรมศาสตร์อีก 2 แห่ง มีพื้นที่ก่อสร้างของมหาวิทยาลัยทั้งหมดประมาณ 500 เอเคอร์ หรือประมาณ 1,250 ไร่ มหาวิทยาลัยมคธนับเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของประเทศอินเดีย และเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลอินเดีย และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจำนวนมากกว่า 300 คน โดยคณะสังคมศาสตร์ (Social Sciences) เป็นคณะที่มีนักศึกษาไทยมากที่สุด

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2010 มีคนไทยที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปี 2007-2010 เข้าพิธีรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยมคธ จำนวน 31 คน [1]

งานมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมคธ โดยผู้ว่าการรัฐพิหาร Sri Devanand Konwar

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-08. สืบค้นเมื่อ 2010-12-26.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]