มหาวิทยาลัยดืสบวร์ค-เอ็สเซิน

พิกัด: 51°27′50″N 7°00′22″E / 51.46389°N 7.00611°E / 51.46389; 7.00611
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยดืสบวร์ค-เอ็สเซิน
Universität Duisburg-Essen
คติพจน์Wissenschaft an Rhein und Ruhr
คติพจน์อังกฤษ
Art and Science on the Rhine and the Ruhr
ประเภทมหาวิทยาลัยรัฐ
สถาปนา1 มกราคม ค.ศ. 2003
(มหาวิทยาลัยดืสบวร์คเดิม ค.ศ. 1654)
ทุนทรัพย์426.7 ล้านยูโร [1]
อธิการบดีDr. Rainer Ambrosy
พระอธิการProf. Dr. Ulrich Radtke
อาจารย์419 คน ( ค.ศ. 2009)
ผู้ศึกษา31,005 คน ( ค.ศ. 2009)
ที่ตั้ง, ,
ธงของประเทศเยอรมนี เยอรมนี 51°27′50″N 7°00′22″E / 51.46389°N 7.00611°E / 51.46389; 7.00611
วิทยาเขตเขตเมืองและชานเมือง
สีน้ำเงินและขาว   
เครือข่ายUAMR - University Alliance Metropolis Ruhr [2], DAAD, DFG, IRUN
เว็บไซต์www.uni-duisburg-essen.de

มหาวิทยาลัยดืสบวร์ค-เอ็สเซิน (เยอรมัน: Universität Duisburg-Essen, Uni-DUE) เป็นมหาวิทยาลัยใหญ่แห่งหนึ่งในรัฐนอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลิน ประเทศเยอรมนี เป็นมหาวิทยาลัยที่แบ่งเป็นสองวิทยาเขตคือ วิทยาเขตเมืองดืสบวร์คและวิทยาเขตเมืองเอ็สเซิน

ประวัติมหาวิทยาลัย[แก้]

มหาวิทยาลัยดืสบวร์ค-เอ็สเซินนั้นมีประวัติที่น่าสนใจและน่าสับสนอยู่ไม่น้อยเพราะมีการย้ายที่ การรวมมหาวิทยาลัย และเปลี่ยนชื่ออยู่เป็นระยะ ๆ โดยประวัติของมหาวิทยาลัยโดยสังเขปเป็นไปดังต่อไปนี้ [1]

มหาวิทยาลัยดืสบวร์คเดิม[แก้]

ประวัติของมหาวิทยาลัยนั้นย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1655 โดยเจ้าชายของอาณาจักรนัสเซา-ซีเกิน (Nassau-Siegen) นามว่าโยฮัน โมริทซ์ (Johann Moritz Fürst von Nassau-Siegen) เป็นผู้ก่อนตั้งมหาวิทยาลัยแรกขึ่นในดืสบวร์ค ทว่าในช่วงปี ค.ศ. 1798 หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส พื้นที่ในเขตไรน์ลันท์ ถูกฝรั่งเศสครอบครองและทำให้มหาวิทยาลัยทั้งหมดในเขตนี้ต้องปิดไป ต่อมาในปี ค.ศ. 1818 มหาวิทยาลัยในเขตไรน์ลันท์ได้ถูกเปิดขึ้นใหม่อีกครั้งโดยใช้ชื่อว่ามหาวิทยาลัยไรน์ (Rhein-Universität) ทว่าเป็นการยุบรวมมหาวิทยาลัยดืสบวร์คเดิม มหาวิทยาลัยโคโลญเดิม และมหาวิทยาลัยบ็อนเดิมเข้าไว้ด้วยกัน โดยเลือกเมืองบ็อนเป็นสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยใหม่เพราะมีความเป็นกลางทางศาสนาในสมัยนั้นขณะที่เมืองโคโลญเป็นคาทอลิกและดืสบวร์คเป็นโปรแตสแตนต์ โดยไม้คทาสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยดืสบวร์คเดิมและทรัพยากรห้องสมุดส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยดืสบวร์คเดิมถูกนำไปสร้างเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยไรน์ [1] ภายหลังเมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยดืสบวร์คใหม่ และมหาวิทยาลัยไรน์ได้เปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยบ็อน (ใหม่) มหาวิทยาลัยดืสบวร์คได้มีการขอนำไม้คทาสัญลักษณ์และทรัพยากรบางส่วนคืนจากมหาวิทยาลัยบ็อนแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ไม้คทาสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยดืสบวร์คยังอยู่ที่เมืองบ็อนจนถึงทุกวันนี้

มหาวิทยาลัยดืสบวร์คยุคต่อมา[แก้]

หลังจากการยุบรวมของมหาวิทยาลัยดืสบวร์คเดิม ก็เกิดวิทยาลัยขนาดเล็ก ๆ หลายแห่งเกิดขึ้นในดืสบวร์ค และในปี ค.ศ. 1891 Rheinisch-Westfälische Hüttenschule ได้ย้ายจากเมืองโบคุมมายังดืสบวร์คและในเวลาไม่นานก็เปลี่ยนชื่อเป็น Königlich-Preußischen Maschinenbau- und Hüttenschule หลังจากนั้นในปี 1938 วิทยาลัยนี้ก็ได้ใช้ชื่อว่าวิทยาลัยวิศวกรรม (Staatliche Ingenieurschule) ในปี ค.ศ. 1960 วิทยาลัยครูแห่งเขตรัวร์ (Pädagogischen Hochschule Ruhr) ได้รับการจัดตั้งขึ้นในเมืองดืสบวร์ค และในปี ค.ศ. 1972 วิทยาลัยครูแห่งเขตรัวร์และวิทยาลัยวิศวกรรมก็ได้รวมตัวกันเป็นมหาวิทยาลัยโดยใช้ชื่อ Gesamthochschule Duisburg ไม่นานหลังจากนั้นวิทยาลัยอื่น ๆ ในดืสบวร์คก็ถูกรวมเข้ากับมหาวิทยาลัยนี้อีก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1980 มหาวิทยาลัยนี้ก็ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Universität-Gesamthochschule Duisburg

หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1994 มหาวิทยาลัยดืสบวร์คได้เปลี่ยนชื่อเป็น Gerhard-Mercator-Universität เพื่อให้เกีรยติแก่นักสร้างแผนที่ผู้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกมหาวิทยาลัยดืสบวร์คเดิม และเป็นผู้คิดค้นระบบการสร้างแผนที่โลกที่ใช้กันในปัจจุบัน นามว่า เคราร์ดึส แมร์กาตอร์

มหาวิทยาลัยเอ็สเซิน[แก้]

มหาวิทยาลัยเอ็สเซินนั้นเริ่มขึ้นจากการเป็นสถานีอนามัยเอ็สเซิน (Städtischen Krankenanstalten Essen) ซึ่งในปี ค.ศ. 1963 นั้นถูกโอนไปให้เป็นสาขาวิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัยมึนสเตอร์ (Westfälischen Wilhelms-Universität Münster) แต่ต่อมาอีกไม่นานสาขาวิชาทางการแพทย์นี้ก็ถูกเปลี่ยนไปสังกัดกับมหาวิทยาลัยโบคุม (Ruhr-Universität Bochum) ในปี ค.ศ. 1972 มหาวิทยาลัยเอ็สเซิน (Universität-Gesamthochschule Essen) ได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะต้องการเปลี่ยนย่านอุตสหกรรมเหล็กและถ่านหินเดิมให้กลายสถานศึกษาขั้นสูงของรัฐ และในปีเดียวกันนี้เองที่สถาบันการแพทย์จากมหาวิทยาลัยโบคุมได้โอนกลับมายังเมืองเอ็สเซินดังเดิมโดยสังกัดมหาวิทยาลัยเอ็สเซิน

มหาวิทยาลัยดืสบวร์ค-เอ็สเซิน[แก้]

มหาวิทยาลัยดืสบวร์คและมหาวิทยาลัยเอ็สเซินได้รวมกันในปี ค.ศ. 2002 ภายใต้ชื่อใหม่ว่ามหาวิทยาลัยดืสบวร์ค-เอ็สเซิน (Universität Duisburg-Essen) ซึ่งการรวมกันของทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้ทำให้ลดต้นทุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยทั้งสอง อีกทั้งยังทำให้ขยายศักยภาพและเพิ่มจำนวนสาขาวิชาให้กับมหาวิทยาลัย และสร้างความพร้อมในการเปิดหลักสูตรภาษาต่างชาติอีกด้วย

ในช่วงแรกของการรวมมหาวิทยาลัยนั้นทางมหาวิทยาลัยดืสบวร์ค-เอ็สเซินได้เปิดสอนอยู่สี่สาขาวิชาหลัก คือสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรม และสาขาวิชาแพทยศาสตร์ โดยมีแผนที่จะให้แต่ละสาขาวิชาไปรวมกันอยู่ที่วิทยาเขตใดวิทยาเขตหนึ่งโดยไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน โดยวิทยาเขตเอ็สเซินจะเปิดสอนสาขาวิชาแพทยศาสตร์ และสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ส่วนวิทาเขตดืสบวร์คจะเปิดสาขาทางวิทยาศาสตร์และสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ทว่าก็ยังมีข้อยกเว้นในบางสาขาวิชา เช่นวิศวกรรมโยธานั้นยังคงอยู่ที่เอ็สเซิน ภาควิชารัฐศาสตร์และภาควิชาสังคมศาสตร์นั้นอยู่ที่ดืสบวร์ค

ด้วยเหตุจากการรวมมหาวิทยาลัยนี้ มหาวิทยาลัยดืสบวร์ค-เอ็สเซินจึงมีจำนวนห้องสมุดหลักอยู่ถึงหกแห่งกระจายในสองวิทยาเขต

หน่วยงาน[แก้]

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยดืสบวร์ค-เอ็สเซิน ประกอบด้วยหน่วยงานต่อไปนี้[2]

คณะวิชา[แก้]

  • คณะมนุษยศาสตร์
  • คณะสังคมศาสตร์
  • คณะศึกษาศาสตร์
  • คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ
  • วิทยาลัยการจัดการแมร์กาตอร์
  • คณะคณิตศาสตร์
  • คณะฟิสิกส์
  • คณะเคมี
  • คณะชีววิทยาและภูมิศาสตร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์
  • คณะแพทย์ศาสตร์

สถาบันวิจัย[แก้]

  • ศูนย์วิทยาศาสตร์การคำนวณและการจำลอง (CCSS)
  • ศูนย์การวิจัยการศึกษาเชิงประจักษ์ (ZeB)
  • ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีนาโน ดืสบวร์ค-เอ็สเซิน (CeNIDE)
  • ศูนย์โลจิสติกและการขนส่ง (ZLV)
  • ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (ZMB)
  • ศูนย์การวิจัยทางน้ำและสิ่งแวดล้อม (ZWU)
  • สถาบันเพื่อการวินิจฉัยด้วยสนามแม่เหล็ก แอร์วีน เอ็ล. ฮาน (ELH)
  • วิทยาลัยเพศศึกษา เอ็สเซิน (EKfG)
  • สถาบันคณิตศาสตร์การทดลอง (IEM)
  • สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา (IN-EAST)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]